เชลซี เตรียมเจอ!ระบบช่วยตัดสินที่ ฟีฟ่า จะทดลองใช้ในศึกชิงแชมป์สโมสรโลก

ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมกับเกมฟุตบอลมากขึ้น อย่างเช่นการที่ทุกวันนี้หลายลีกหรือรายการฟุตบอลถ้วยรายการใหญ่ๆ ทั่วโลกมีทีมงาน วีเออาร์ ที่คอยตรวจจังหวะการเล่นย้อนหลังตั้งแต่ระหว่างการแข่งขัน

แน่นอน มันมีทั้งการตรวจที่สุดท้ายแล้วทำให้เกิดคำตัดสินที่ถูกต้อง และการตรวจที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนคำตัดสินที่น่ากังขาสำหรับหลายคน แต่ทุกวันนี้โลกฟุตบอลก็ยังมีการพยายามคิดค้นหาเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้กับเกมฟุตบอลมากขึ้น ด้วยความหวังว่าจะช่วยลดการตัดสินที่ผิดพลาดให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) คิดค้นเทคโนโลยีใหม่ขึ้นมาที่จะนำมาทดลองใช้ในศึกชิงแชมป์สโมสรโลก ซึ่งจะฟาดแข้งกันที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระหว่างวันที่ 3-12 กุมภาพันธ์นี้ โดยมันถูกเรียกแบบเล่นๆ ว่า "กรรมการหุ่นยนต์"

แน่นอน มันไม่ใช่การเอาหุ่นยนต์ลงมาเป่าแทนคนจริงๆ แต่จะเป็นระบบที่ใช้ตามดูการเคลื่อนที่ของอวัยวะต่างๆ เพื่อที่จะได้ช่วยทำการตัดสินได้ง่ายขึ้นว่าจังหวะนั้นๆ ถือเป็นจังหวะล้ำหน้าหรือไม่ โดยมีการโฆษณาว่ามันจะช่วยทำการตัดสินอย่างแม่นยำได้ภายในครึ่งวินาทีเท่านั้น

สำหรับส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดระบบแบบนี้ขึ้นมาได้คือการที่จะมีการติดตั้งกล้องเอาไว้บนหลังคาของสนามเพื่อจับการเคลื่อนไหวของกระดูกของนักเตะทุกคน โดยภาพที่ออกมาก็จะละเอียดยิบมากๆ เพราะมีการตั้งโปรแกรมเอาไว้แบบล้ำสมัยและครอบคลุมสุดๆ

เมื่อได้ภาพแล้วนั้นเทคโนโลยีก็จะทำการตัดสินใจเอาเองว่ามันถือเป็นจังหวะล้ำหน้าหรือไม่ หลังจากนั้นก็จะมีการแจ้งเตือนไปยังทีมกรรมการในห้อง วีเออาร์ แบบแทบจะทันทีหลังจากระบบประมวลผลเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยพอได้รับการประมวลผลจากเทคโนโลยีแล้วนั้นทางทีมงานในห้อง วีเออาร์ ก็จะส่งคำตัดสินไปยังกรรมการในสนามต่ออีกที



ทั้งนี้ การทดสอบระบบนี้จะเริ่มใช้ตั้งแต่รอบรองชนะเลิศของศึกชิงแชมป์สโมสรโลกเป็นต้นไป หรือก็คือ เชลซี สโมสรยักษ์ใหญ่แห่งเวที พรีเมียร์ลีก อังกฤษ จะเป็นหนึ่งในทีมที่ได้ลงเล่นภายใต้เทคโนโลยี "กรรมการหุ่นยนต์" หลังจากพวกเขาได้ลงเล่นรายการดังกล่าวในฐานะแชมป์ของศึก ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก จากฤดูกาลก่อน

 แถลงการณ์ของ ฟีฟ่า ระบุว่า "เทคโนโลยีแบบใหม่นี้จะทำให้ทั้งโค้ช, ทีมแพทย์ และแฟนบอลมีความเข้าใจถึงจังหวะต่างๆ มากขึ้น มันจะช่วยทำให้สตาฟฟ์ของแต่ละทีมสามารถวิเคราะห์การเคลื่อนไหวของนักเตะแต่ละคนบนสนามได้เป็นอย่างดีด้วย พวกเขาจะสามารถวิเคราะห์จังหวะที่ถืออเป็นจังหวะเปลี่ยนเกมได้จากมุมที่ดีที่สุด หรือจากมุมบนของสนาม"

ขณะที่ โยฮันเนส โฮลซ์มุลเลอร์ หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีและนวัตกรรมของ ฟีฟ่า บอกว่า "เราเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่าการเข้าถึงฐานข้อมูลใหม่ๆ แบบนี้จะมีผลในด้านดีกับเกมฟุตบอลอย่างมาก ด้วยการทำให้เกิดกระบวนการตัดสินที่ดีที่สุดและทำให้การตัดสินมีความเป็นธรรมมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เราเพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาเทคโนโลยีนี้เท่านั้น และมันต้องมีการประเมินศักยภาพของมันอย่างละเอียดเพื่อที่จะนำมันมาใช้จริงๆ ในภายภาคหน้า"



ที่จริง ฟีฟ่า เคยทดสอบระบบนี้ไปบ้างแล้วในรายการ อาหรับ คัพ ที่เพิ่งจบลงไปไม่นานมานี้ ซึ่งตามแผนนงานเดิมนั้นพวกเขาตั้งใจที่จะเอาระบบนี้มาใช้อย่างเต็มตัวในศึก ฟุตบอลโลก ที่ประเทศกาตาร์จะเป็นเจ้าภาพ ในช่วงปลายปีนี้ แต่ก็ต้องรอดูการทดสอบเพิ่มเติมในศึกชิงแชมป์สโมสรโลกด้วยว่ามันจะเวิร์คมากแค่ไหน เพราะหลายคนไม่อยากให้มันเป็นประเด็นร้อนเหมือนอย่างการใช้ วีเออาร์ ในช่วงที่ผ่านมาแน่ๆ

credit : www.siamsport.co.th
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่