“นิยม” ถาม “ลุงตู่” ตำรวจขับรถชนหมอกระต่ายบวชได้หรือไม่ เทียบเคียงกรณีจอมพลถนอมและกำนันสุเทพ

จอมกระทู้ถามเรื่องพระมาอีกแล้ว มหานิยม เวชกามา ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ตั้งกระทู้ถามลุงตู่อีกแล้ว ก่อนหน้านั้นตั้งหลายกระทู้ แต่ลุงตู่โยนเรื่องไปให้สำนักงานพระพุทธศาสนาตอบแทน ซึ่งก็ตอบเหมือนไม่ได้ตอบ ไม่ได้อะไรเป็นสาระ

           คราวนี้มหานิยมก็ยังไม่ย่อท้อที่จะตั้งกระทู้ถามลุงตู่อีกคราวนี้เป็นเรื่องความรู้อันไม่ถ่องแท้ในหลักพระธรรมวินัยเกี่ยวกับการบรรพชาอุปสมบทที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจงใจกระทำการให้พุทธศาสนิกชน เข้าใจคลาดเคลื่อน ส่งผลกระทบต่อการดำรงอยู่ของพระพุทธศาสนาในราชอาณาจักรไทย โดยรายละเอียดระบุว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวผ่านสื่อสารมวลชนทุกแขนง รวมทั้งสื่อออนไลน์ว่า เมื่อวันที่  ๒๕ มกราคม ๒๕๖๕ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยนายสิทธา มูลหงษ์ ผู้ตรวจราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในฐานะโฆษก พศ. ให้สัมภาษณ์กรณี ส.ต.ต.นรวิชญ์ บัวดก  ขับขี่รถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ชนแพทย์หญิง วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล เสียชีวิต ต่อมาส.ต.ต.นรวิชญ์ ได้ไปอุปสมบทเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้เสียชีวิต ว่า “เมื่อพิจารณาตามพระธรรมวินัยแล้ว ต้องถือว่า ไม่สามารถเข้าพิธีบรรพชาอุปสมบทเป็นพระได้ เพราะเป็นผู้ต้องคดีอาญาที่ยังไม่สิ้นสุด ซึ่งทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้แจ้งให้เจ้าคณะผู้ปกครองในพื้นที่เข้าไปทำความเข้าใจกับพระอุปัชฌาย์แล้ว ส่วนจะต้องสึกหรือไม่สึกนั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของทางวัดอีกที” และนายสิปป์บวร แก้วงาม ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้ให้สัมภาษณ์ในวันเดียวกันอีกว่า “ตามกฎมหาเถรสมาคม (มส.)  ฉบับที่ ๑๗ พ.ศ.๒๕๓๖ ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระอุปัชฌาย์ มส.กำหนดลักษณะของคนที่ต้องห้ามให้งดเว้นจากการบรรพชาอุปสมบทไว้ในข้อ ๑๔ ว่า “พระอุปัชฌาย์ต้องงดเว้นการอุปสมบทแก่คนต้องห้ามเหล่านี้ คือ ๑. คนทำผิดหลบหนีคดีอาญาแผ่นดิน ๒. คนหลบหนีราชการ ๓. คนต้องหาในคดีอาญา ๔. คนถูกตัดสินจำคุกโดยฐานเป็นผู้ร้ายสำคัญ ๕. คนถูกห้ามอุปสมบทเด็ดขาดทางพระพุทธศาสนา ๖. คนเป็นโรคติดต่อ เป็นที่น่ารังเกียจ อาทิ วัณโรคในระยะอันตราย และ ๗. คนมีอวัยวะพิการจนไม่สามารถปฏิบัติกิจพระศาสนาได้ โดยนายสิปป์บวรได้ให้สัมภาษณ์ต่อไปว่า ดังนั้น กรณี ส.ต.ต.นรวิชญ์ ซึ่งเป็นผู้ต้องหาขับรถชนคนเสียชีวิต จึงถือว่าอยู่ในกลุ่มคนต้องห้าม ไม่สามารถบวชได้ กรณีพระอุปัชฌาย์บวชให้ ทั้งที่รู้ว่า เป็นบุคคลต้องห้าม จะมีความผิด ผู้บังคับบัญชาอาจสั่งพักการปฏิบัติหน้าที่พระอุปัชฌาย์ แต่ไม่ถึงขั้นอาบัติ เพราะถือว่า ทำความผิดในฐานะพระอุปัชฌาย์ ส่วนกรณีที่พระอุปัชฌาย์ไม่รู้ว่า ต้องโทษแล้วหนีมาบวช ตรงนี้ พระอุปัชฌาย์จะไม่มีความผิด แต่เมื่อรู้แล้วจะต้องให้ลาสิกขา กรณี ส.ต.ต.นรวิชญ์ ที่ต้องคดีอยู่ ถือเป็นบุคคลต้องห้ามจากการอุปสมบท พระอุปัชฌาย์ต้องให้ลาสิกขา พ้นจากความเป็นสงฆ์ทันที ที่ผ่านมามีผู้ที่หนีคดีแล้วมาบวชค่อนข้างมาก ส่วนใหญ่จะเป็นกรณีที่พระอุปัชฌาย์ไม่ทราบ พอทราบ ก็ให้ลาสิกขาทันที การที่หนีคดีแล้วมาบวช ไม่ใช่ว่าจะพ้นผิด บางคนอยากบวชเพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้ผู้ที่ถูกกระทำ ซึ่งตรงนี้ อยากบอกว่า ในฐานะชาวพุทธ ต้องเข้าใจว่า กระทำความผิดระดับใด ไม่สามารถไปบวชได้ แม้จะสำนึกผิด และอยากใช้ศาสนาเป็นที่พึ่ง แต่ขอให้รับโทษทางกฎหมายให้จบก่อน  เมื่อรับโทษจบแล้ว อยากจะสร้างบุญให้กับผู้ที่ถูกกระทำ สามารถไปบวชทีหลังได้ ตรงนี้ต้องเข้าใจและลำดับขั้นตอนให้ดี เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด”  
         จึงขอเรียนถามว่า ๑. นายกรัฐมนตรี ทราบหรือไม่ว่า สิ่งที่นายสิปป์บวร แก้วงาม และนายสิทธา มูลหงษ์ ออกมาให้สัมภาษณ์ตามความที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนี้ เป็นการให้สัมภาษณ์ที่ไม่ครอบคลุมข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วน เพราะหากจะทบทวนในอดีตที่ผ่านมา มีบุคคลสำคัญระดับประเทศอย่าง จอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ต่างประเทศ ด้วยข้อหาปราบปรามนิสิตนักศึกษาในช่วงเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ก็บวชแล้วเดินทางกลับมาในราชอาณาจักรไทยทั้งผ้าเหลือง หมายจะจำวัดที่วัดบวรนิเวศวิหาร แล้วกรณีเช่นนี้ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จะกล่าวหาเช่นไร และนายกรัฐมนตรีจะมีความเห็นเป็นประการใด ในฐานะที่เป็นนายทหารระดับสูงแห่งกองทัพบกด้วยกัน และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเช่นเดียวกัน 
         ๒. เมื่อพิจารณาจากคำให้สัมภาษณ์ของนายสิปป์บวร แก้วงาม และนายสิทธา มูลหงษ์ แห่งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ตามข้อความดังกล่าวข้างต้นนี้แล้ว ขอถามนายกรัฐมนตรีว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ จำเลยในคดีที่ถูกอัยการเป็นโจทก์ฟ้องฐานร่วมกันก่อการกบฏในราชอาณาจักร คดียังไม่ถึงที่สุดและได้รับการอุปสมบทมาแล้วนั้น ก็จะต้องเข้าเกณฑ์ต้องห้ามอุปสมบทตามที่นายสิปป์บวร แก้วงาม และนายสิทธา มูลหงษ์ แห่งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ออกมาให้สัมภาษณ์กระนั้นหรือ หากเข้าเกณฑ์ต้องห้าม แล้วทำไมในขณะที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เข้ารับการบรรพชาอุปสมบทนั้น สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จึงไม่ออกมาแสดงความเห็นท้วงติง ขอคำอธิบายโดยละเอียด 
         ๓. กรณีการอุปสมบทของนายสนธิ ลิ้มทองกุล จำเลยในคดีอาญาหลายคดีที่คดียังไม่ถึงที่สุด ได้ทำการอุปสมบทเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๕๐ เหตุใดสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจึงไม่ส่งข้าราชการในหน่วยงานนี้ ออกมาว่ากล่าวท้วงติง ขอทราบเหตุผลและคำชี้แจงโดยละเอียด 
         ๔. จากข้อคำถามทั้ง ๓ กรณี ที่ถามมานี้ จึงเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า กฎมหาเถรสมาคมที่ว่าด้วยการให้การบรรพชาอุปสมบทของพระอุปัชฌาย์ มีปัญหาในทางปฏิบัติ และเปิดโอกาสให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติตีความตามอำเภอใจให้มีการเลือกปฏิบัติ  เป็นการปิดกั้นศรัทธาของกุลบุตรผู้มีความเลื่อมใสต่อพระพุทธศาสนา เป็นมูลเหตุให้การสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาในราชอาณาจักรไทยให้สิ้นสุดลงอย่างรวดเร็ว จนอาจถึงการเสื่อมสลายไป ในที่สุด ขอถามว่า นายกรัฐมนตรีเห็นด้วยกับความเห็นของนายนายสิปป์บวร แก้วงาม และนายสิทธา มูลหงษ์ แห่งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในเรื่องดังกล่าวข้างต้นนี้หรือไม่ หากเห็นด้วย ขอทราบว่า เพราะเหตุใด จึงเห็นด้วย หากไม่เห็นด้วย ขอทราบว่า จะดำเนินการกับหน่วยราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติที่เป็นหน่วยงานขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ต่อไปอย่างไร ขอทราบรายละเอียด 
          ๕. นายกรัฐมนตรี ทราบหรือไม่ว่า กฎมหาเถรสมาคมว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระอุปัชฌาย์ ฉบับที่กล่าวถึงนี้ เป็นกฎมหาเถรสมาคมที่ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ในมาตรา ๒๙ วรรคสองที่บัญญัติว่า “ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่า บุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้น เสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้” ซึ่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๗ พ.ศ.๒๕๓๖ ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระอุปัชฌาย์ ได้กำหนดลักษณะของคนที่ต้องห้ามให้งดเว้นจากการบรรพชาอุปสมบทไว้   ในข้อ ๑๔ ว่า พระอุปัชฌาย์ต้องงดเว้นการอุปสมบทแก่คนต้องหาในคดีอาญานั้น เป็นการออกกฎที่ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญอย่างแจ้งชัด และจะไม่มีผลบังคับตามบทบัญญัติในมาตรา ๕ ของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติว่า “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้น เป็นอันใช้บังคับมิได้” ขอถามนายกรัฐมนตรีว่า จะส่งข้อปัญหาในทางปฏิบัตินี้ แจ้งไปให้มหาเถรสมาคมได้รับทราบเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องและข้อผิดพลาดของกฎมหาเถรสมาคมฉบับนี้อย่างไรหรือไม่ ขอคำอธิบายโดยละเอียด โดยไม่ตอบแบบเลี่ยงบาลีว่า เป็นเรื่องของคณะสงฆ์ที่มีมหาเถรสมาคมเป็นผู้ปกครองอยู่แล้ว รัฐบาลไม่เกี่ยว หรือไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ นั้น กรณีในข้อคำถามข้อนี้ รัฐบาลไม่สามารถจะกระทำเช่นนั้นได้ เหตุเพราะเกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ในกรณีที่มีกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือกฎหมายใด มีบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ จะไม่มีผลบังคับ จึงเท่ากับไม่มีกฎมหาเถรสมาคมในเรื่องดังกล่าวนี้  
          ๖. นายกรัฐมนตรี เห็นสมควรประการใดหรือไม่ ที่จะเสนอความเห็นไปยังมหาเถรสมาคม ให้ยกเลิกกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๗ พ.ศ.๒๕๓๖ ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระอุปัชฌาย์ ได้กำหนดลักษณะของคนที่ต้องห้ามให้งดเว้นจากการบรรพชาอุปสมบทไว้ในข้อ ๑๔ (๓) ว่า พระอุปัชฌาย์ต้องงดเว้นการอุปสมบทแก่คนต้องหาในคดีอาญา นั้นโดยพลัน เพราะไม่มีผลในทางปฏิบัติ และเปิดโอกาสให้ข้าราชการในสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แสดงความไม่ประสีประสาในหลักพระธรรมวินัยอย่างแท้จริง ซึ่งในพระวินัยได้มีพระบรมพุทธานุญาตไว้อย่างชัดเจนแล้ว เช่นกรณีของพระองคุลีมาลซึ่งได้ฆ่าคนมาเป็นจำนวนมากแล้ว พระพุทธเจ้าก็ยังอุปสมบทให้ ขอทราบว่า นายกรัฐมนตรีรู้เรื่องนี้มาก่อนหรือไม่ หากไม่รู้ และเมื่อได้รู้คราวนี้แล้ว จะยกเลิกกฎมหาเถรสมาคมที่กล่าวในคำถามข้อที่ ๖ นี้หรือไม่ ขอทราบแนวทางการดำเนินการโดยละเอียด 
         ขอให้ตอบในราชกิจจานุเบกษา
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่