สงสัยถึงประวัติศาสตร์ช่วงปลายยุคธนบุรี

หลังจากอ่านประวัติศาสตร์ส่วนที่คลุมเครือที่สุดส่วนนี้จากหลายๆแหล่งก็เกิดหลากคำถามขึ้นในใจอย่างเช่น

1. ผู้ที่ก่อจราจลจนล้มบัลลังค์ได้คือ พระยาสรรค์ แต่ตัวพระยาสรรค์เองกลับไม่ได้ตั้งตนเป็นจ้าว ราชาภิเษกตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์ แต่กลับตั้งตนเป็แค่ผู้รั้งพระนคร (ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน) รอจน เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก กลับมาแล้วถวายราชสมบัติให้จนสุดท้ายตัวเองโดนประหารเสียเอง เขาทำอย่างนี้เพื่ออะไรกัน?

2. ในแง่กำลังการทหารต่างๆ ความนับถือของทหารในกองทัพ เจ้าพระยาสุรสีห์ นั้นมีเหนือกว่า เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก แต่ทำไมบัลลังค์กลับตกไปที่คนพี่แทน แทนที่จะเป็นคนน้องที่มีแบ็คจากกองทัพ (มีดาบอยู่ในมือ) มากกว่า สุดท้ายก็ได้เป็นวังหน้า ที่มีปัญหาเรื่องอีโก้ แข่งบารมีมาตลอดรัชกาล

3. การตั้ง เจ้าพระยาจักรี ขึ้นมาเป็น "สมเด็จเจ้าพระยา" นี่คือการแต่งตั้งให้เปรียบเสมือนเป็น เจ้า แบบกลายๆ ในยุคนั้นใช่ไหม?
ความคิดเห็นจาก Expert Account
ความคิดเห็นที่ 5
1. ในบริบทของพระราชพงศาวดารที่ชำระโดยชนชั้นนำสมัยรัตนโกสินทร์   “จลาจล” เมื่อปลายรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรีเกิดจากการปกครองที่ไม่เหมาะสมของพระเจ้ากรุงธนบุรี   ในขณะที่กลุ่มการเมืองฝ่ายรัชกาลที่ 1 ที่โจมตีกรุงธนบุรีจะมีบทบาทเป็น “ผู้ปราบจลาจล” ครับ

ผมมองว่าอำนาจไม่ได้อยู่กับพระยาสรรค์อย่างแท้จริงครับ เพราะผู้ที่เริ่มก่อการวางแผนยึดอำนาจพระเจ้ากรุงธนบุรีล้วนเป็นคนในเครือข่ายการเมืองของรัชกาลที่ 1 มาแต่เดิมอย่างนายบุญนากบ้านแม่ลา ขุนสุระ ขุนชนะ ที่รวมไพร่พลเริ่มก่อกบฏที่กรุงเก่า   นอกจากนี้ยังมีนายปิ่นข้าหลวงเดิมและญาติของรัชกาลที่ 1 ที่รวบรวมไพร่พลมาช่วยยึดกรุงธนบุรีอีกกลุ่มหนึ่ง ภายหลังคือเจ้าพระยาอภัยราชา (ปิ่น) บิดาเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)   

พระยาสรรค์เป็นคนที่พระเจ้ากรุงธนบุรีส่งไปปราบกบฏที่กรุงเก่า แต่เนื่องจากขุนแก้วน้องชายอยู่ในกลุ่มกบฏด้วยเลยจับพลัดจับผลูถูกยกเป็นแม่ทัพมาตีกรุงธนบุรีเสียเอง   แต่ในกลุ่มผู้ก่อการส่วนใหญ่ยังเป็นฝ่ายรัชกาลที่ 1   เวลานั้นกองทัพส่วนใหญ่ก็อยู่ในบังคับบัญชาของรัชกาลที่ 1 ที่ยกทัพไปที่เขมรซึ่งกำลังจะยกกลับมากรุงธนบุรีตั้งแต่พระยาสรรค์ยังไม่ลงมา  และยังมีกองกำลังของพระยาสุริยอภัย (ทองอิน) หลานรัชกาลที่ 1 ที่กำลังยกทัพลงมาจากเมืองนครราชสีมาอีก    พระยาสรรค์ในเวลานั้นไม่น่าจะมีอำนาจบารมีเพียงพอที่จะยกตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์ได้    เมื่อพระยาสุริยอภัยยกลงมาถึงก็ปรึกษากันยอมตกลงจะยกบ้านเมืองให้รัชกาลที่ 1 ต่อไป   พระยาสรรค์ในเวลานั้นจึงคงได้เป็นแค่ผู้ว่าราชการแผ่นดินรอรัชกาลที่ 1 กลับมาเท่านั้น

พระราชพงศาวดารระบุว่าต่อมาพระยาสรรค์กลับคิดจะยึดราชสมบัติไว้เสียเอง  โดยดึงพระยามหาเสนา และพระยารามัญวงศ์จักรีมอญ (ซึ่งก่อนหน้านี้เคยรบกับพระยาสรรค์เพื่อปกป้องพระเจ้ากรุงธนบุรีมาก่อน) มาเป็นพวก แล้วเอาเงินในท้องพระคลังที่เร่งรัดมาจากราษฎรมาแจกจ่ายข้าราชการและทหารเพื่อดึงไปเป็นพรรคพวกจำนวนมาก  จนข้าราชการในเวลานั้นแตกเป็นสองฝ่ายคือฝ่ายพระยาสรรค์ กับฝ่ายพระยาสุริยอภัย   จากนั้นจึงลอบปล่อยกรมขุนอนุรักษ์สงครามออกจากคุกให้มารบกับพระยาสุริยอภัยกลางเมือง  โดยตัวพระยาสรรค์อยู่เบื้องหลังไม่ได้ออกหน้าชัดเจน    ทั้งนี้พวกผู้เริ่มต้นก่อการอย่างนายบุญนาก ขุนสุระ ขุนชนะ ขุนแก้ว ต่างไม่ได้เข้าร่วมกับพระยาสรรค์และอยู่ฝ่ายรัชกาลที่ 1 ตามเดิม

ทั้งนี้มีการวิเคราะห์ว่าพระยาสรรค์อาจอาศัยขุนนางที่ภักดีต่อพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นเครื่องมือขึ้นสู่อำนาจ   แต่ก็มีการสันนิษฐานว่าพระยาสรรค์อาจต้องการแย่งอำนาจคืนให้พระเจ้ากรุงธนบุรี   ทั้งนี้เมื่อยึดอำนาจได้พระยาสรรค์แม้จะขึ้นว่าราชการแผ่นดินแล้วก็ยังไม่เข้าไปอยู่ในฝ่ายในเหมือนพระเจ้าแผ่นดิน อยู่แต่ฝ่ายหน้าเหมือนขุนนางปกติ  ฟังละครในจากฝ่ายหน้า   เมื่อมีนางห้ามคลอดพระราชกุมารของพระเจ้ากรุงธนบุรี พระยาสรรค์จะให้ประโคมตามธรรมเนียม แต่พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงห้ามไว้   เหมือนยังให้เกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรีอยู่บ้าง   เมื่อเกิดศึกกลางเมืองแล้วพระยาสรรค์ยังให้กรมขุนอนุรักษ์สงครามไปขอให้พระเจ้ากรุงธนบุรีลาผนวช แต่พระเจ้ากรุงธนบุรีปฏิเสธ

ตอนแรกเหมือนฝ่ายรัชกาลที่ 1 จะยังไม่รู้ด้วยว่าพระยาสรรค์อยู่เบื้องหลังกรมขุนอนุรักษ์สงคราม  หลังจากรัชกาลที่ 1 กลับมาถึงพระนครให้สำเร็จโทษพระเจ้ากรุงธนบุรีแล้วให้ทำการสอบสวนกรมขุนอนุรักษ์สงคราม กรมขุนอนุรักษ์สงครามให้การซัดทอดถึงพระยาสรรค์กับพวก จึงถูกประหารในที่สุด

อ่านเพิ่มเติมที่บทความ จลาจล กบฏพระยาสรรค์ อวสานกรุงธนบุรี
https://www.facebook.com/WipakHistory/posts/3463838813679564/




2. เท่าที่ศึกษาหลักฐานต่างๆ ก็ไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าในสมัยธนบุรีเจ้าพระยาสุรสีห์มีกำลังทหารและได้รับความนับถือเหนือกว่าครับ   ทั้งสองมักได้เป็นแม่ทัพออกศึกคู่กันเสมอตั้งแต่ต้นรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรีและมีผลงานในระดับใกล้เคียงกัน  

แต่เจ้าพระยาสุรสีห์รับราชการกับพระเจ้ากรุงธนบุรีอยู่ก่อนและในช่วงต้นรัชกาลดูเหมือนจะได้เลื่อนยศเร็วกว่า เพราะพบหลักฐานว่าได้เป็นเจ้าพระยาสุรสีห์ไม่ช้าไปกว่า พ.ศ. 2314    ในขณะที่รัชกาลที่ 1 ได้เลื่อนยศช้ากว่า แม้พระราชพงศาวดารที่ชำระสมัยรัตนโกสินทร์จะอ้างว่าได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยาจักรีนานแล้ว  แต่เมื่อตรวจสอบกับหลักฐานชั้นต้นคือหมายรับสั่งพระราชทานเพลิงศพหม่อมเจ้าเสง พระยาสุโขทัย และพระยาพิชัยไอศวรรย์ และบัญชีช้างหลวง พ.ศ. 2320 ยังคงระบุบรรดาศักดิ์ของพระองค์ว่า “พระยาจักรี”   ต่อหมายในรับสั่งงานศพมารดาเจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์ และตำรากระบวนเสด็จพระราชดำเนินครั้งกรุงศรีอยุธยาที่แต่งเมื่อ พ.ศ. 2323 จึงปรากฏเรียกว่า “เจ้าพระยาจักรี”  จึงเข้าใจว่าน่าจะได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยาระหว่างนี้  (ในพระราชพงศาวดารระบุว่าได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกใน พ.ศ. 2320 หลังจากยกทัพไปปราบกบฏที่เมืองจำปาศักดิ์ เมืองโขง เมืองอัตปือ และระบุว่า “ใหญ่ยิ่งกว่าท้าวพญาข้าทูลลอองทุลีพระบาททั้งปวง”)

ในช่วงปลายรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรี  รัชกาลที่ 1 มีผลงานจากสงครามหลายครั้ง นอกจากนี้ยังพบว่ามีเครือข่ายเกี่ยวดองกับขุนนางกรุงเก่าจำนวนมาก น่าจะเป็นช่องทางให้อำนาจบารมีเพิ่มพูนมากขึ้นจนกลายเป็นเสนาบดีที่มีอำนาจสูงสุดในราชธานี  ตำแหน่งของรัชกาลที่ 1 ก็สูงกว่าเจ้าพระยาสุรสีห์เพราะเป็นสมุหนายกอัครมหาเสนาบดีฝ่ายพลเรือน ได้ว่าราชการกรมมหาดไทยและบังคับการหัวเมืองที่ขึ้นกรมมหาดไทย  กิจการทหารพลเรือนของหัวเมืองที่ขึ้นกรมมหาดไทยจึงอยู่ใต้อำนาจรัชกาลที่ 1 ทั้งหมด  รวมถึงเมืองพิษณุโลกของเจ้าพระยาสุรสีห์ด้วย   

พบหลักฐานว่ารัชกาลที่ 1 ได้ใช้ตำแหน่งราชการของพระองค์สร้างเครือข่ายทางอำนาจด้วย เช่น เอกสาร “ราชสัมภารากรลิขิต” เรื่องตระกูลขุนสุระสงคราม ระบุว่าขุนสุระที่เป็นต้นคิดก่อกบฏล้มพระเจ้ากรุงธนบุรีรู้จักกับรัชกาลที่ 1 ตั้งแต่ยังเป็นปลัดเมืองราชบุรี ต่อมาย้ายไปอยู่ตำบลบ้านม่วง กรุงเก่า  ยังไปเฝ้าแหนรัชกาลที่ 1 อยู่เสมอ  เมื่อรัชกาลที่ 1 เป็นเจ้าพระยาจักรีจึงตั้งให้เป็นขุนสุระสงคราม นายกองนอกตำบลบ้านม่วง ขึ้นสังกัดกรมมหาดไทยของเจ้าพระยาจักรี

นอกจากนี้มีการศึกษาว่าเดิมในต้นรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรีเจ้าเมืองฝ่ายเหนือที่เป็นข้าหลวงเดิมของพระเจ้ากรุงธนบุรีมาก่อนมักมีบรรดาศักดิ์สูงและจำนวนไพร่พลในสังกัดมากกว่าเสนาบดีในกรุงที่ไม่ได้เป็นคนสนิทของพระองค์แต่เดิม  แต่ผลจากสงครามอะแซหวุ่นกี้ทำให้หัวเมืองฝ่ายเหนือได้รับความเสียหายมาก เมืองพิษณุโลกที่เป็นเมืองเอกถูกเผาทำลาย  ทำให้พระเจ้ากรุงธนบุรีต้องทรงเปลี่ยนยุทธศาสตร์มาเสริมความแข็งแกร่งที่บริเวณหัวเมืองชั้นในใกล้กรุงธนบุรีแทน  โดยมีการกวาดต้อนราษฎรจากหัวเมืองฝ่ายเหรือลงมาอยู่ที่ภาคกลางมากขึ้น  เป็นเหตุให้บรรดาเจ้าเมืองฝ่ายเหนือมีไพร่สมในบังคับบัญชาน้อยลง  เพราะถูกเปลี่ยนมาเป็นไพร่หลวงของระบบราชการส่วนกลางมากขึ้น  เป็นเหตุให้กลุ่มเสนาบดีในกรุงที่มีรัชกาลที่ 1 เป็นศูนย์กลางมีไพร่พลในบังคับมากขึ้นตามไปด้วย




3.  อันที่จริงถ้าศึกษาจากพระราชพงศาวดารสมัยรัตนโกสินทร์ที่เป็นฉบับเก่าๆ จะไม่ระบุว่ารัชกาลที่ 1 ได้เป็น “สมเด็จเจ้าพระยา” เลยครับ   

ถ้าเป็นพงศาวดารฉบับรุ่นที่ชำระสมัยรัชกาลที่ 1 ระบุว่าเป็น “สมเด็จพระเจ้ากษัตริย์ศึก”   แต่พระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับตัวเขียน ซึ่งมีบานแพนกระบุว่าชำระโดยสมเด็จพระวันรัตน์ในสมัยรัชกาลที่ 1 และสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรสผู้เป็นศิษย์ สันนิษฐานว่าชำระเสร็จในรัชกาลที่ 3 กับฉบับพระราชหัตถเลขาที่ชำระในรัชกาลที่ 4  แก้ใหม่โดยระบุว่าเป็นเพียง “เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก” เท่านั้น     เพิ่งมาเริ่มเขียนว่าเป็น “สมเด็จเจ้าพระยา” ในหนังสือสมัยรัชกาลที่ 4-5 เป็นต้นมา โดยเริ่มจากในพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 4

พระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ระบุว่า “ในเดือนหก ปีระกา นพศก ศักราชพันร้อยสามสิบเก้าปี จึ่งทรงพระกรุณาโปรดปูนบำเหนจ์เจ้าพญาจักรี ตั้งให้เปนเจ้าพญามหากระษัตรศึก พิฦกมหิมา ทุกนัคราระอาเดช ณะเรศราชสุริวงษ์ องค์อัคบาทมุลิกากร บวรรัตนบรินายก ณะ กรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุทธยา แล้วพระราชทานพานทองเครื่องยศเหมื่อนหย่างจ้าวต่างกรม ใหญ่ยิ่งกว่าท้าวพญาข้าทูลลอองทุลีพระบาททั้งปวง”

ปฐมวงศ์ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 4 ระบุว่า “ได้ทรงพระเสลี่ยงงา กั้นพระกลด แลมีเครื่องทองต่าง ๆ เปนเครื่องยศเสมอเจ้าต่างกรม”

มีการวิเคราะห์อยู่ว่าตำแหน่งของรัชกาลที่ 1 เทียบเท่ากับ “เจ้าพระยามหาอุปราช” สมัยอยุทธยาที่เป็นอัครมหาเสนาบดีผู้เป็นประธานของขุนนางสูงกว่าสมุหนายกกับสมุหพระกลาโหมขึ้นไปอีก    ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศมีการวิเคราะห์ว่าเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ว่าที่โกษาธิบดีได้ว่าที่ตำแหน่งเจ้าพระยามหาอุปราชด้วย เมื่อถึงแก่อสัญกรรมให้เรียกศพว่า “พระศพ” เหมือนเจ้า


ทั้งนี้คำว่า “สมเด็จเจ้าพระยา” ก่อนรัชกาลที่ 4  น่าจะเป็นเพียงการเรียกลำลองเท่านั้น  ยังไม่ใช่บรรดาศักดิ์ในทำเนียบกฎหมายอย่างเป็นแบบแผนซึ่งเพิ่งปรากฏเมื่อตั้งสมเด็จเจ้าพระยาสกุลบุนนาคในรัชกาลที่ 4    โดยใช้เปรียบเปรยเจ้าพระยาที่ได้รับเกียรติยศสูงเป็นพิเศษเสมอเจ้านาย มีตัวอย่างคือเจ้าพระยาอภัยราชา (ปิ่น) ได้เป็นสมเด็จเจ้าพระยาวังหน้าในรัชกาลที่ 2  เมื่อถึงแก่อสัญกรรมแล้วศพได้พระราชทานเกียรติยศอย่างเจ้า  แต่ในทางปฏิบัติก็ยังคงมีบรรดาศักดิ์เป็น “เจ้าพระยา” เท่านั้น   

อีกท่านหนึ่งคือเจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย) สมุหนายกในรัชกาลที่ 2-3   เมื่อรัชกาลที่ 3 ครองราชย์ได้พระราชทานให้ขึ้นเสลี่ยงงากั้นกลดเข้ามาในพระราชวังทุกวัน   เซอร์เฮนรี่ เบอร์นีย์ที่เข้ามาในสยามเมื่อต้นรัชกาลที่ 3 เรียกท่านว่า "เจ้าพญาจักรี" (Chou Pya Chakri)  และระบุว่าท่านมีสถานะเป็น "เจ้า" (Prince) หรือ "สมเด็จ" (Sumdet)  เมื่อจะเข้าพบต้องมีพิธีรีตองมาก ตัวเจ้าพระยาอภัยภูธรนั่งบนแท่นสูงมีคนอยู่ล้อมรอบจำนวนมากราวกับเป็นเจ้านาย    มีอิทธิพลสูงมากจนแม้แต่เอากรมหมื่นสุรินทรรักษ์ที่กำกับราชการกรมท่า  กรมหมื่นรักษรณเรศที่กำกับกรมพระกลาโหม  เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) และพระยาศรีพิพัฒน์ (ทัต บุนนาค) มารวมกันยังไม่เทียบเท่าท่านคนเดียว      

รัชกาลที่ 1 ตอนเป็น "สมเด็จเจ้าพระยา" น่าจะไม่ต่างจากเจ้าพระยาอภัยภูธร    คือในทางปฏิบัติมีบรรดาศักดิ์เพียงเจ้าพระยา  แต่ได้รับเกียรติยศเพิ่มเติมให้มีฐานะเสมอเจ้าต่างกรม จึงถูกเรียกอย่างลำลองว่าเป็น "สมเด็จ" ครับ

เหตุที่เอกสารรุ่นหลังเรียกรัชกาลที่ 1 ว่า “สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก”  เข้าใจว่าจะเริ่มมาจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ซึ่งอาจจะเป็นเพียงการเรียกอย่างลำลอง (เพราะในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาที่ทรงชำระก็ยังระบุว่าเป็น ‘เจ้าพระยา’) หรืออาจจะทรงเรียกโดยเทียบกับบรรดาศักดิ์ “สมเด็จเจ้าพระยา” ที่เพิ่งตั้งให้กับสกุลบุนนาคในรัชกาลของพระองค์  จึงอาจเป็นสาเหตุให้คนชั้นหลังเรียกขานตามไปโดยเข้าใจว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงเคยเป็น “สมเด็จเจ้าพระยา” ในรูปแบบเดียวกับสมเด็จเจ้าพระยาสกุลบุนนาคครับ


อ่านเพิ่มเติมที่บทความ "บรรดาศักดิ์ “สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก” ของรัชกาลที่ 1"
https://www.facebook.com/WipakHistory/posts/1952203758176418/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่