ลำพูน-วัดต้นแก้ว ชุมชนเก่าแก่ของชาวไทลื้อที่อพยพมาจากเมืองยองในสมัยที่พระเจ้ากาวิละ ชมผ้าโบราณที่หาชมได้ยาก


วัดต้นแก้ว สันนิษฐานว่าย้ายมาจากวัดดอนแก้ว ซึ่งสร้างเมื่อ พ.ศ.1825 
เป็นวัดที่สร้างในสมัยพระนางเจ้าจามเทวี ปฐมกษัตริย์แห่งนครลำพูน เริ่มสร้างเมืองลำพูน

เหตุที่ย้ายมาเนื่องจากวัดดอนแก้วเป็นวัดใหญ่ที่ขาดการดูแลรักษาจึงผุพังไปตามกาลเวลา
จึงได้ย้ายมาสร้างวัดต้นแก้วขึ้นใหม่ โดยมีแม่เฟยพร้อมผู้มีศรัทธาช่วยกันก่อสร้างวัด
ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.1830

ภายในวัดนี้มีกำแพงแยกส่วนของวิหารและอุโบสถ ทำให้เมื่อแรกเข้าไปเกือบเข้าใจว่ามีอุโบสถเก่าแยกต่างหากเสียอีก

แต่เมื่อได้สอบถามชาวบ้าน ก็ได้ทราบว่าอุโบสถนี้ไม่ค่อยได้เปิดใช้ เว้นเสียแต่จะมีการอุปสมบท

เป็นวัดที่ถูกใช้พื้นที่เป็นประปาหมู่บ้าน ให้กับคนในชุมชนอยู่ด้วย

มีพระที่สร้างจากปูนปั้นอยู่ด้านหน้าของประปาชุมชนนี้

อุโบสถที่วัดนี้ ถ้าจัดบริเวณรอบๆ ให้สวยงาม ถือว่ามีความสวยงามมากทีเดียวครับ

แนวกำแพงแบ่งส่วนวิหารและอุโบสถ ที่ทำให้ทีแรกเข้าไปในวัดเข้าใจผิดว่า แยกวัดอุโบสถเก่า แต่ได้รับคำอธิบายว่าเป็นวัดเดียวกัน

ภายในบริเวณวัดมีการจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านชาวยอง 
ก่อตั้งโดยพระครูไพศาลธีรคุณ เจ้าอาวาสวัดต้นแก้วเมื่อปี พ.ศ.2530

โดยเริ่มต้นเก็บสะสมของโบราณที่เป็นข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันตามวิถีชีวิตของชาวยองในอดีตในการทำไร่ ทำนา
ได้แก่ คุตีข้าว ล้อเกวียน

เมื่อมีสิ่งของมากขึ้นก็จัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์เล็กๆ ภายในวัด
หลังจากนั้นก็เริ่มมีผู้มีจิตศรัทธา นำสิ่งของเก่าๆ มาบริจาคมากขึ้นเรื่อยๆ จึงได้จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดต้นแก้ว
โดยเอาอาคารกุฏิเก่าทำเป็นพิพิธภัณฑ์รวบรวมของเก่าโบราณหายาก
ทั้งภาพโบราณเมืองลำพูน เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน พระเครื่อง พัดยศ รวมไปถึงผ้าทอโบราณ

จนกระทั่งปี พ.ศ.2545 ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูนได้ก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านชาวยองขึ้นในบริเวณวัดต้นแก้ว
เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ที่สมบูรณ์แบบ จึงได้ย้ายข้าวของเครื่องใช้ มาไว้ในตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ปัจจุบัน

ภายในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านชาวยองวัดต้นแก้วเก็บรวบรวมของโบราณหาชมยากกว่า 1,000 ชิ้น 
เช่น หีบพระธรรม พระเครื่องเก่าแก่ของลำพูน ถ้วยชาม วิทยุโทรทัศน์เก่า ภาพโบราณ เอกสารหนังสือเก่า 

รวมถึงผ้าทอโบราณของชาวเวียงยองที่ขึ้นชื่อได้แก่ ผ้าซิ่นอายุ 106 ปี ของเจ้าแม่ฟองคำ ณ ลำพูน และผ้าซิ่นของแม่บัวเขียว

ภายในวัดยังมีพิพิธภัณฑ์ที่เก็บรวบรวมสมณศักดิ์พัดยศของเจ้าอาวาสต่างๆ 
นอกจากนั้นยังมีพัดยศของเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าหลวงลำพูนที่ท่านนำมาถวายกฐินครั้งแรกของวัดต้นแก้ว
ในโอกาสทำบุญอายุของเจ้าจักรคำฯ ครบ 60 ปี เมื่อ พ.ศ.2478
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านชาวยอง "วัดต้นแก้ว" จึงถือเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านของชุมชนชาวไตลื้อที่อพยพมาจากเมืองยองไว้อย่างครบถ้วน 
ซึ่งหากเทียบเคียงก็คงคล้ายๆ กับพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านชุมชนวัดเกต จ.เชียงใหม่ 
ที่คนรุ่นหลังจะได้ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาค้นคว้าความเป็นมาของอดีตกาลแห่งชาติพันธุ์ไตลื้อที่นับว่ามีคุณค่าที่สุด
.................................

ผ้าฝ้ายเวียงยอง
หัตถกรรมผ้าฝ้ายเวียงยอง เป็นศิลปการทอผ้าฝ้ายที่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของชาวยองตั้งแต่สมัยโบราณ 
มีสีสันลวดลายที่มีความประณีตงดงาม ซึ่งได้รับการคัดสรรให้เป็นสินค้า หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ระดับ 5 ดาว 
สร้างชื่อเสียงให้กับตำบลเวียงยองและจังหวัดลำพูนเป็นอย่างมาก 
แต่เดิมการทอผ้าฝ้ายมักนิยมทำกันเฉพาะในคุ้มเจ้า เพราะผ้าฝ้ายเป็นผ้าที่มีเนื้อแวววาว ได้รับการยกย่องว่าเป็นแพรพรรณชั้นสูง 
สมัยโบราณบุคคลที่สวมผ้าฝ้ายจะต้องเป็นบุคคลในระดับสูงเช่น เจ้าเมืองหรือเจ้านายชั้นผู้ใหญ่เท่านั้น 
หลังจากที่มีการฝึกสอนการทอผ้าในคุ้มหลวงลำพูนขึ้น 
โดยเจ้าหญิงส่วนบุญชายาของเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าหลวงลำพูนและพระธิดาคือ เจ้าหญิงลำเจียก 
การทอผ้าฝ้ายยกดอกจึงได้แพร่หลายออกไปในบริเวณใกล้เคียง ได้แก่ ชุมชนบ้านเวียงยอง
...................
อาคารฝั่งตรงข้ามกับพิพิธภัณฑ์ก็จะเป็นอาคารที่แสดงเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 9


เรียกว่าเป็นอาคารที่เก็บภาพประวัติศาสตร์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่เกี่ยวข้องกับลำพูน และบางภาพก็เป็นภาพที่หาดูได้ยากทีเดียวครับ

ใต้ถุนอาคารข้างเคียง จะเป็นที่ทอผ้า

ชุมชนบ้านเวียงยอง เป็นชุมชนเก่าแก่ของชาวไทลื้อ
ที่อพยพมาจากเมืองยองในสมัยที่พระเจ้ากาวิละทรงยกทัพขึ้นไปตีหัวเมืองต่างๆ ในเขตภาคเหนือ 
แล้วอพยพผู้คนเหล่านี้ให้เข้ามาอาศัยอยู่ในเขตเชียงใหม่ ลำพูนเรื่องไปถึงลำปาง
ทว่าชุมชนที่โดดเด่นในเรื่องการดำรงอยู่ของวิถึชีวิตผู้คนที่ยังคงพบเห็นสืบต่อกันมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน 
คงหนีไม่พ้นชุมชนบ้านเวียงยอง
นอกจากวิถีแห่งการดำรงชีวิตอันเรียบง่าย สงบ สวยงามแล้ว ศิลปวัฒนธรรมประเพณีของผู้คนที่นี่ก็มีความสำคัญไม่น้อย 
โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางสังคมเมือง ที่เจริญไปอย่างรวดเร็ว 
ชาวบ้านเวียงยองยังคงอนุรักษ์และสืบทอดศิลปวัฒนธรรมประเพณีของชาวเมืองยอง เอาไว้มาเป็นร้อยกว่าปีแล้ว 
มีภาษาพูดที่เรียกว่า "ภาษายอง" ซึ่งเป็นภาษาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะคน สำเนียงแปลก แตกต่างจากภาษาคำเมือง 
การสร้างบ้านจะนิยมสร้างบ้านไม้ใต้ถุนโล่ง หลังคาจะไม่มีกาแล แต่จะมีรูปนกยูง ซึ่งเป็นสัตว์สัญลักษณ์ที่ชาวยองเคารพนับถือประดับอยู่แทน
..................
(กระทู้พื้นที่ไม่พอขอต่อที่ความคิดเห็นที่ ๑ อีกนิดให้สาระครบถ้วนนะครับ)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่