เหตุผลที่ตำนาน Ghostbusters ยังไม่เสื่อมมนต์ขลัง >>11 ช่วงเวลาเด็ด ของบริษัทกำจัดผี (by Filmaneo)

ไม่ทราบปวงชนชาวสยาม เคยข้องใจแบบเดียวกันหรือเปล่า ? ว่าเพราะเหตุใด ผลงานแนวตลกปนเรื่องเหนือธรรมชาติแบบ Ghostbusters 
ซึ่งเว้นวรรคจากการมีภาพยนตร์นานเกือบ 30 ปี (Ghostbusters II ฉายค.ศ. 1989 ส่วน Ghostbusters: Answer the Call ฉาย 2016)
แล้วหนังรีบูทพลังหญิงที่ปล่อยออกมา ดันโดนแฟนคลับสาปส่ง...
ถึงยังอุตส่าห์เหลือเหล่าสาวกผู้ภักดีไม่เสื่อมคลาย (ในอเมริกา) มากพอ
ที่จะทำให้ค่ายหนังไม่ยอมถอดใจ ในการเข็นภาคใหม่มาเข้าโรงอีก

คำตอบแบบรวบรัดคือช่วงที่ดัง, หนังภาคแรก ถือเป็นปรากฏการณ์ของยุคสมัย
และเพราะแผนการตลาด, อันแทรกซึมสู่สื่อหลากช่องทาง ตลอดหลายสิบปี โดยไม่เคยหายเข้ากลีบเมฆยาวเกินไป
แต่สำหรับคนไทย ซึ่งไม่เคยมีบริษัทกำจัดผี เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตนานเหมือนชาวมะริกันแหง... ก็อาจยังนึกภาพไม่ออกอยู่ดีแหละ
จึงขอนำ 11 ช่วงเวลาเด็ดของ Ghostbusters มาตีแผ่ เผื่อใครอยากเข้าใจมากขึ้น 
ว่าทำไมตำนานของแฟรนไชส์นี้ถึง ไม่เคยเสื่อมมนต์ขลังในประเทศบ้านเกิด

***เผื่อผู้ใดจะถือวิสาสะลบแท็กใด กรุณาเลื่อนลงไปมองเนื้อหาทั้ง 11 ข้อให้ครบก่อน, ขอบอกว่าทางนี้มิได้มั่ว***
-
-
[1] การเปิดตัวของบริษัทกำจัดผี

Ghostbusters ภาคแรกสุด เผยแพร่เมื่อ 8 มิถุนายน 1984 โดยต้องประชันกับ Gremlins ของโจ ดันเต้ กับหนังฮิปฮอป/เบรคแดนซ์ดราม่า Beat Street
แต่ก็คว้าชัยชนะ บนตารางหนังทำเงินของอเมริกาเหนือมาได้อย่างสวยงาม ด้วยตัวเลขเปิดตัว 13.5 ล้านดอลลาร์ (จัดว่าปังสำหรับตอนนั้น)
แถมรั้งอันดับ 1 ต่อเนื่องรวดเดียว 7 สัปดาห์ แม้เจอผู้ท้าชิงอื่นๆ แบบ The Karate Kid, Revenge of the Nerds หรือ Bachelor Party

มิหนำซ้ำ มันยังยืนโรงฉายต่อเนื่องอยู่ตั้ง 7 เดือน กว่ากระแสจะซาจนลาโรงเมื่อเดือนธันวาคม, รายได้ทั้งหมดเวลาดังกล่าวคือราว 221 ล้านดอลล์ 
แต่เพราะความป๊อปปูลาร์จริงจัง, โคลัมเบียพิคเจอร์สจึงเปิดก๊อกสองต่อให้ ด้วยการปล่อยเข้าโรงอีกหน ตอนสิงหาคม 1985
Ghostbusters เก็บเพิ่ม 8 ล้าน, ดังนั้นจะมองยังไง ผลงานทุนสร้าง 30 ล้านนี่ ก็ฮิตถล่มทลาย
 
-
-
[2] เพลงธีม แสนติดหู

ช่วงปี 1980s ภาพยนตร์แทบทุกเรื่อง มาพร้อมอัลบั้มเพลงประกอบของตัวเอง, หรืออย่างน้อยคือไปหยิบเพลงป๊อปสักเพลง มาใช้
หลายครานักที่เพลงประกอบ บ่ได้เกี่ยวอีหยังกับเรื่องราวของหนัง
แต่ Ghostbusters น่ะเกี่ยวแน่นอน ดนตรีของเรื่องนี้สะท้อนจิตวิญญาณผลงาน

ศิลปินนาม เรย์ ปาร์คเกอร์ จูเนียร์ คือนักร้อง/นักประพันธ์ ผู้ดังทั้งตอนฉายเดี่ยว และอยู่กับวงเรย์ดิโอ (Raydio)
ปาร์คเกอร์แต่งทำนอง ซึ่งทำให้นึกถึงเสียงกริ่งเรียกบริษัทกำจัดผี สำเร็จภายในไม่กี่วัน
มันคือหนึ่งในเพลงธีมภาพยนตร์ที่อมตะข้ามกาลเวลา และเล่นวนซ้ำไปมาอยู่บน Billboard Hot 100 chart อยู่นาน 3 สัปดาห์
 
-
-
[3] โทรศัพท์ ที่มีเสียงตอบรับปลายทาง

การโทรตามปกติน่ะ ถ้าปลายสายรับช้า เราอาจน้อยใจ 
แต่สำหรับเบอร์โทรที่ปรากฏในหนัง, ปกติคนโทรคงไม่คิดว่าจะมีใครรับจริง 
หรืออยากเล่นสนุกแบบไม่ทันคิดว่า อาจก่อความเดือดร้อนต่อคนที่บังเอิญเบอร์ตรงกันกับในสื่อ...
อย่างไรก็ตาม นั่นมิใช่เรื่องอันอุบัติขึ้นกับ Ghostbusters

ในภาพยนตร์ Ghostbusters จะมีฉากสมาชิกบริษัทกำจัดผี โฆษณากิจการผ่านโทรทัศน์ 
และประกาศว่าหากผู้ใดประสบเหตุการณ์เหนือธรรมชาติ จงต่อสายเรียกหาพวกเขา
ผกก. อีวาน ไรท์แมน จึงนึกไอเดียการตลาดแสนบรรเจิด (สำหรับยุคโน้น) ออก
นั่นคือการให้หมายเลขโทรศัพท์ในหนังมีจริง และที่ปลายสายจะมีเทปตอบรับอัตโนมัติ 
อันบันทึกเสียงของเรย์ แสตนซ์ (แดน แอครอยด์) กับปีเตอร์ เวงค์แมน (บิล เมอร์เรย์) คอยตอบกลับอยู่

ลูกเล่นดังกล่าวผลลัพธ์ดี เกินความคาดหมายของอีวาน ไรท์แมน
มีสายเรียกเข้า 1,000 ครั้งต่อชั่วโมง, ตลอด 24 ชั่วโมง, ต่อเนื่อง 6 สัปดาห์ ก่อนการปิดรับสาย
สาวกทั้งหลายชอบใจไอเดียโฆษณา ที่ตนสามารถมีส่วนร่วมจัด, มันคือประสบการณ์หรรษาของพวกเขา

-
-
[4] เข้าชิงรางวัลออสการ์

Ghostbusters ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ 2 สาขา ในงาน Academy Awards ประจำปีครั้งที่ 57 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อค.ศ. 1985
แม้จะชวดทั้งรางวัลวิชวลเอฟเฟ็คท์ยอดเยี่ยม (Best Visual Effects) และเพลงประกอบยอดเยี่ยม (Best Original Song)
ทว่านี่คืออีกหนึ่งข้อพิสูจน์ ถึงความเป็นที่ถูกจับตามองจากวงการฮอลลีวูด ของแฟรนไชส์

-
-
[5] ภาคต่อ

หลังทิ้งช่วงห้าปี, Ghostbusters II เผยแพร่เมื่อ 16 มิถุนายน 1989
ด้านรายได้สุดสัปดาห์เปิดตัว, ภาคสองคือปังเหมือนภาคแรก เนื่องจากเก็บไป 29.5 ล้าน
แต่การทำเงินระยะยาวคือเทียบภาค 1 ไม่ติด, กระแสแผ่วลงค่อนข้างไว
ในด้านคำวิจารณ์ก็เสียงแตก และโกยตังค์สู้เรื่องอื่น ณ ช่วงเดียวกันอย่าง Batman ของทิม เบอร์ตัน กับ Lethal Weapon 2 ไม่ได้

Ghostbusters II ยืนโรงถึงแค่ตอนหมดช่วงซัมเมอร์ และเก็บเงินสำเร็จเพียง 112 ล้าน -- ต่ำกว่าครึ่งนึงของภาคแรก
สาเหตุส่วนหนึ่งคงเกี่ยวข้องกับความคาดหวัง อันสูงลิบลิ่วจากชาวประชา ในช่วงที่ฉาย
เพราะหลังลาโรงนานไป, เหล่าสาวกกลับค้นพบว่า ภาคต่อมีองค์ประกอบที่พวกเขาชอบ แฝงอยู่เยอะแยะ
และมอง Ghostbusters II ในแง่ดีขึ้นมาก ภายหลัง
 
-
-
[6] เพลงประกอบ (อีกรอบ)

ในแง่เพลงธีมของ Ghostbusters อาจกล่าวได้ว่า ไม่มีวันที่ผลงานของเรย์ ปาร์คเกอร์ จูเนียร์ จะถูกก้าวข้าม
จึงถือว่าบ๊อบบี้ บราวน์ ตัดสินใจอย่างฉลาด ที่เลือกผลิตผลงานด้วยแนวทาง ซึ่งแตกต่างจากปาร์คเกอร์
"On Our Own" ประพันธ์โดยแอล.เอ.รี้ด, เบบี้เฟซ, แดริล ซิมมอนส์ (L.A. Reid, Babyface, Daryl Simmons)
มันฮิตติดอันดับ 2 บน Billboard Hot 100 นานสามสัปดาห์ (และติดอันดับ 1 บน R&B chart)

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่