เมื่อโลกไม่ได้มีแค่ชายกับหญิง: นอนไบนารี่กับการถูกกดทับจากปิตาธิปไตย

‘Non-Binary’ อาจเป็นคำที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยคุ้นชินกันนัก แต่แท้จริงแล้วการมีอยู่ของ Non-Binary นั้นมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานมากกว่าที่เราคิด ถึงแม้ว่าจะเป็นเช่นนั้นแต่ Non-Binary กลับถูกบดบังและกดทับด้วยสิ่งที่เรียกว่า ‘ปิตาธิปไตย’ และ ‘ระบบสองเพศ’ ทั้งสองสิ่งนี้หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันและฝังรากลึกอยู่ภายในวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมต่าง ๆ

          การวิจัยชิ้นนี้จึงจัดทำขึ้นเพื่อศึกษาและทำความเข้าใจ Non-Binary ภายใต้การกดทับของระบบปิตาธิปไตย โดยหลังจากการเก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้ให้ข้อมูลที่เป็น Non-Binary ผ่านวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึกจำนวน 5 คนและการทำแบบสอบถามผ่านช่องทาง google forms เป็นจำนวน 13 คน คณะผู้จัดทำอยากเชิญชวนผู้อ่านทุกท่านมาร่วมทำความเข้าใจในประเด็นดังกล่าวไปพร้อม ๆ กัน 

โลกนี้ไม่ได้มีแค่ชาย กับ หญิง
          ก่อนอื่นเลย โลกนี้ไม่ได้มีแค่ชายกับหญิง หลายคนอาจรู้อยู่แล้ว “ก็เกย์ เลสเบี้ยน ทอม กะเทยไง” แต่นั่นเป็น ‘เพศ’ เพียงมิติเดียว และการที่คนไทยใช้คำว่า ‘เพศ’ แทนทุกคำที่เกี่ยวกับเรื่องมิติทางเพศ อย่างเช่น เพศสภาพ (gender), เพศวิถี (sexuality) ทำให้เกิดความสับสน สร้างความเข้าใจผิด และลดทอนความหลากหลายของมิติเรื่องเพศไม่มากก็น้อย

ทำความรู้จักกับ SOGIESC
          หากเราต้องการทำความรู้จักกับเรื่องเพศมากขึ้น ก่อนอื่นต้องเข้าใจถึง SOGIES (โซจี้) ก่อน SOGIESC คือ เครื่องมือทางสิทธิมนุษย์ชนที่ใช้เป็นกรอบทางความคิด เพื่อทำความเข้าใจกับองค์ประกอบ ความรู้เรื่องเพศ ซึ่งมีองค์ประกอบ 4 ส่วนดังนี้
          1. Sexual Orientation (SO) เพศวิถี หรือที่เรียกกันว่ารสนิยมทางเพศ คือ อารมณ์ ความรู้สึก ความดึงดูดทางเพศ ความพึงพอใจทางเพศที่มีต่อบุคคลอื่น ซึ่งสามารถเกิดขึ้นกับเพศใดต่อเพศใดก็ได้
          2. Gender Identity (GI) อัตลักษณ์ทางเพศ หรือ สำนึกทางเพศ คือ ความรู้สึกภายในของบุคคล ความสำนึกรู้เกี่ยวกับเพศสภาวะของตัวเองซึ่งอาจจะสอดคลองหรือไม่สอดคล้องกับเพศกำหนด
          3. Gender Expression (GE) การแสดงออกทางเพศภาวะ อาจจะเป็นผ่านทางการแต่งกาย ท่าทางการพูด ซึ่งเป็นได้ทั้งมีความเป็นชาย (Masculine) มีความเป็นหญิง (Feminine) หรือ รวมทั้งสองอย่างเข้าด้วยกัน (Androgynous) และการที่บุคคลจะมีการแสดงออกทางเพศแบบใด ไม่ได้แปลว่าบุคคลนั้นจะต้องมีเพศวิถี อัตลักษณ์ทางเพศ เพศสรีระ แบบนั้น อย่างเช่น นาย A เพศสรีระชาย (Male) ชอบแต่งหญิง ไม่ได้แปลว่านาย A จะอยากเป็นผู้หญิง เป็นต้น
          4. Sex Characteristics (SC) เพศสรีระ หรือเพศกำหนด คือลักษณะทางเพศที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด อย่าง เพศชาย (male), เพศหญิง (female), เพศกำกวม (Intersex)
ข้อมูลเพิ่มเติม
(ที่มา: ทำความรู้จัก SOGIESC เครื่องมือที่จะให้เราเข้าใจสเปคตรัมแห่งความหลากหลายทางเพศ: https://www.mxphone.com/dtac-brought-to-know-sogiesc/)

แล้ว Non-Binary คืออะไร? 
          Non-Binary คือ อัตลักษณ์ทางเพศที่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยระบบเพศทวิลักษณ์ (gender binary) หรือระบบที่กำหนดว่าโลกนี้มีเพียงสองเพศคือ เพศชายและเพศหญิง โดยอัตลักษณ์ทางเพศนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับ gender assigned at birth หรือ เพศกำหนดที่เราได้รับตอนที่เราเกิด แต่ขึ้นอยู่กับตัวของเราเองว่ามีสำนึกทางเพศแบบไหนและมองตัวเองว่าเรานั้นเป็นใคร นอกจากนี้ผู้ให้สัมภาษณ์ท่านหนึ่งยังกล่าวว่า “Non-Binary เป็น umbrella terms หรือร่มของคำอีกมากมาย ซึ่งเป็นเสมือนประตูบานใหญ่ ๆ ที่จะเปิดไปสู่ความเข้าใจกลุ่มคนที่ไม่ได้อยู่ในระบบสองเพศและไม่ได้นิยามตัวเองว่าเป็นชายหรือหญิง”
ข้อมูลเพิ่มเติม
(ที่มา: Non-Binary Inclusion: https://lgbt.foundation/who-we-help/trans-people/non-binary)
(ที่มา: ‘Beyond the Gender Binary’ ข้ามพ้นกรอบหญิงชายเพื่อผลิบานในแบบของตัวเอง: https://themomentum.co/lostinthought-beyond-the-gender-binary/)

          ในประเด็นที่หนึ่ง จะกล่าวถึงความคิดเห็นของ Non-Binary เกี่ยวกับสังคมในปัจจุบันว่าคิดเห็นอย่างไรและมีความเข้าใจ Non-Binary มากน้อยเพียงใด จากการสัมภาษณ์และการเก็บข้อมูลพบว่าในสังคมยังตีกรอบเรื่องเพศให้อยู่ภายใต้ระบบสองเพศคือมีแค่เพศชายและเพศหญิง คล้ายกับคนในสังคมพยายามที่จะลบเลือนความเป็นตัวตนของกลุ่ม Non-Binary โดยมองกลุ่ม Non-Binary เป็นกลุ่มคนที่อยู่นอกกรอบและอยู่นอกเหนือบรรทัดฐานเรื่องเพศที่สังคมกำหนด ทั้งนี้สังคมในปัจจุบันยังไม่เปิดกว้างในเรื่องเพศมากพอ จึงทำให้สัดส่วนของคนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกลุ่ม Non-Binary พอสมควรหรืออาจเรียกได้ว่าแทบไม่มีความรู้และความเข้าใจในกลุ่ม Non-Binary เลย ซึ่งการขาดความรู้ความเข้าใจดังกล่าว เป็นผลมาจากความแตกต่างของเจเนอเรชั่น ในขณะที่คนในเจเนอเรชั่นใหม่ค่อนข้างมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว มีการขับเคลื่อนและรณรงค์เพื่อทำให้สังคมตระหนักถึงการมีอยู่ของกลุ่ม Non-Binary รวมถึงความเท่าเทียมในเรื่องเพศ ทว่าคนเจเนอเรชั่นเก่านั้น ยังขาดความรู้และความเข้าใจในกลุ่ม Non-Binary ค่อนข้างน้อยหรืออาจไม่มีเลย
          ประเด็นที่สอง กล่าวถึงความคิดเห็นของ Non-Binary เกี่ยวกับระบบปิตาธิปไตย ในส่วนแรกผู้ทำวิจัยจะอธิบายความหมายของปิตาธิปไตย โดยปิตาธิปไตย (patriarchy) หรือแนวคิดชายเป็นใหญ่กำหนดบรรทัดฐานว่าผู้ชาย คือศูนย์กลางของ สังคมมนุษย์ และแบ่งแยกความแตกต่างระหว่างชายหญิงเป็นสองขั้วโดย ระบุว่าผู้ชายเป็นเพศที่เข้มแข็ง มีเหตุผล เป็นผู้นำ ส่วนผู้หญิงเป็นเพศที่อ่อนแอใช้อารมณ์ การเลี้ยงลูกเป็นหน้าที่เฉพาะของผู้หญิง จึงต้องตกเป็นรองและถูกจำกัดบทบาทเอาไว้ตามที่ผู้ชายต้องการ (พลากร เจียมธีระนาถ, 2554 อ้างถึงในใกล้รุ่ง ภูอ่อนโสม. 2563, 45)
ข้อมูลเพิ่มเติม
(ที่มา: สังคมปิตาธิปไตย : ภาพสะท้อนบุรุษมีอำนาจและสิทธิเหนือสตรี จากนวนิยาย “ข้างหลังภาพ” ของศรีบูรพา: https://www.hu.ac.th/conference/conference2021/Proceeding/doc/02%20HU/037-HU%20(P.273%20-%20283).pdf)
          ในส่วนที่สอง จากการสัมภาษณ์และการเก็บข้อมูลพบว่ากลุ่ม Non-Binary มีความคิดเห็นว่าสังคมควรปราศจากระบบปิตาธิปไตยรวมถึงระบบสองเพศ ด้วยข้อเสียและปัญหาที่กลุ่ม Non-Binary ได้รับผลกระทบจากระบบนี้ จึงมองว่าปิตาธิปไตยเป็นระบบที่แบ่งเพศเป็น 2 เพศตามเพศกำหนด และแบ่งบทบาทหน้าที่ตามเพศกำหนดนั้น ซึ่งระบบดังกล่าวส่งผลทำให้เกิดการกดขี่และกดทับสังคมในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของบรรทัดฐาน ค่านิยมที่ตีกรอบเรื่องเพศ กฎหมายที่ไม่มีความเป็นกลางทั้งยังเอื้อต่อเพศใดเพศหนึ่ง หรือแม้แต่วัฒนธรรมก็ตาม กล่าวคือแนวคิดปิตาธิปไตยปลูกฝังให้เพศชายมองว่าเพศตนเองมีคุณค่ามากกว่าเพศอื่น ซึ่งอาจเรียกได้ว่าสังคมชายเป็นใหญ่กลายมาเป็นวัฒนธรรมที่สืบต่อกันมาและยากที่จะแก้ไข อีกทั้งระบบนี้ยังเกิดการริดรอนสิทธิ ความไม่เท่าเทียมทางเพศและการปฏิบัติที่ไม่ยุติธรรมต่อทุก ๆ เพศ ซึ่งนับเป็นเหตุผลหนึ่งที่ส่งผลต่อความรุนแรงเรื่องเพศในสังคมปัจจุบัน
          ประเด็นที่สาม กล่าวถึงความคิดเห็นของกลุ่ม Non-Binary ว่าระบบปิตาธิปไตยส่งผลต่อกลุ่ม Non-Binary หรือไม่ ซึ่งจากการสัมภาษณ์และการเก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่างพบว่า กลุ่ม Non- Binary ส่วนใหญ่มีความรู้สึกต่อต้านระบบปิตาธิปไตย โดยทุกคนเห็นพ้องตรงกันว่าระบบปิตาธิปไตยนั้นส่งผลกระทบต่อ Non-Binary อย่างแน่นอน เนื่องจากปิตาธิปไตยนำไปสู่ความไม่เท่าเทียมทางเพศและมีการตีกรอบบทบาททางเพศ โดยเน้นให้ความสำคัญกับเพศชายมากกว่าเพศอื่น ซึ่งกลุ่ม Non-Binary เป็นเพศที่ไม่ได้นิยามตัวเองให้อยู่แต่เพียงกรอบของระบบสองเพศ จึงถูกกีดกันออกจากสังคม ถูกมองข้าม ถูกลดความสำคัญ ทั้งยังถูกลดทอนคุณค่าความเป็นตัวตนของ Non-Binary ยกตัวอย่างเช่น ประเด็นด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรง เช่น กฎหมายข่มขืนกระทำชำเรากำหนดไว้ว่าการข่มขืนคือการที่อวัยวะเพศชายล่วงละเมิดอวัยวะเพศหญิง ทวารหนักหรือช่องปากของผู้อื่น ซึ่งกฎหมายนี้มีอคติทางเพศ กล่าวคือ กฎหมายมองว่าผู้กระทำคือผู้ที่มีองคชาติเท่านั้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดระบบสองเพศที่กดทับความเป็น Non-Binary หากมองในภาพรวม การที่ Non-Binary เป็นอื่นไม่ใช่หญิงหรือชาย อาจส่งผลทำให้ไม่ได้รับความเท่าเทียมในด้านกฎหมาย รวมถึงสิทธิหลาย ๆ อย่างจากสังคม
(To be continuous อ่านต่อใต้กระทู้)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่