ไปพระราชวังเคนซิงตัน (Kensington Palace) แล้วรำลึกถึงเจ้าหญิงไดอาน่า

ก่อนอื่นขอประชาสัมพันธ์ ว่าตอนนี้มาจากตอนอื่นๆ ที่บันทึกไว้ เกี่ยวกับ บันทึกท่องเที่ยวอังกฤษสก๊อตแลนด์ นำชมพิพิธภัณฑ์หอศิลป์ และอื่นๆ
ถ้าสนใจไปชมตรงนี้ครับ https://ppantip.com/topic/41018924


โดย Steve Cadman from London, U.K. - Kensington Palace, CC BY-SA 2.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=2782653

การเดินทางสู่เคนชิงตันนั้นต้องเดินผ่านสนามหญ้ากว้างใหญ่ อากาศฤดูใบไม้ร่วงหนาวมากสำหรับคนไทยอย่างเรา ลมก็ยิ่งพัดแรง รู้สึกว่านานแสนนานก็ไปไม่ถึงสักที แต่แล้วขาเราก็พามาจนได้เห็น พระนางวิคตอเรีย เป็นอนุสาวรีย์โดนเด่นอยู่

พระราชวังเคนซิงตันนั้นเดิมเป็นคฤหาสน์แห่งหนึ่งซี่งพระเจ้าวิลเลี่ยมทรงซื้อจากผู้สืบตระกูลของเอิร์ลแห่งนอตติงแฮมในปี ค.ศ. 1689 เนื่องจากพระองค์เป็นโรคหอบหืดและพบว่าที่นี่มีอากาศดีจึงเหมาะกับการเป็นที่พำนัก และได้รับการปรับโฉมครั้งใหญ่โดยคริสโตเฟอร์ เรน สถาปนิกเอกของกรุงลอนดอนนั่นเอง หลังจากนั้นก็มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลายครั้งเช่นเดียวกับวังเก่าอื่นๆของอังกฤษ 

เคนซิงตันถูกใช้เป็นที่ประทับมาหลายยุคสมัยจนกระทั่งในยุคของพระราชินีวิคตอเรียก็ได้รับเกียรติอันสูงยิ่งในการเป็นที่ประสูติของพระองค์ และเมื่อได้ขึ้นครองบัลลังก์แห่งสหราชอาณาจักรก็ได้ประกาศว่าตราบใดที่ยังทรงมีชีวิตอยู่พระราชวังแห่งนี้จะไม่มีวันถูกทำลายเป็นอันขาด ในรัชสมัยนี่เองที่เคนซิงตันได้เปิดให้ประชาชนได้เข้าชมเพื่อให้รัฐสภาอนุมัติเงินในการบูรณะ อย่างไรก็ตามเมื่อพ้นยุคของพระองค์ไปแล้วก็ได้รับภัยคุกคามจากการทิ้งระเบิดทำลายกรุงลอนดอนในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จนต้องถูกบูรณะอีก หลังจากนั้นก็ได้เป็นที่ประทับของเจ้าหญิงไดอาน่าในปี 1981 - 1997 ตั้งแต่อยู่กับฟ้าชายชาร์ลจนถึงทรงหย่า

จะเห็นได้ว่าพระราชวังแห่งนี้มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับกษัตริย์ในราชวงศ์ต่างๆ หลายพระองค์ แต่ที่โดดเด่นที่สุดคือควีนวิคตอเรียซึ่งประทับเป็นอนุสาวรีย์โดดเด่นอยู่หน้าพระราชวังและทรงพระสิริโฉมมากเพราะเป็นรูปควีนขณะยังเป็นสาวสวยหุ่นดีอยู่ พอมายืนอยู่ด้านหน้าก็จะได้ยินพระสุรเสียง (ซี่งเปิดจากลำโพงตัวใดตัวหนึ่งที่ซ่อนอยู่) บอกเล่าแนะนำพระองค์ ให้เราได้พอรู้จัก “เราคือควีนวิคตอเรีย...และก็....” เล่าอะไรไปเรื่อย ซึ่งเราก็ฟังไม่ค่อยชัด



ที่วังนี้มีการจัดแสดงแบบนิทรรศการ โดยมีหุ่นกระดาษขนาดเท่าคนจริงเพื่อให้จินตนาการถึงชีวิตในราชสำนักยุคนั้น การบรรยายเรื่องราวแต่ละห้องใช้การเขียนลงบนป้ายผ้าใบซึ่งแขวนตั้งไว้ แต่บางครั้งข้อความก็ปรากฏอยู่บนตัวหุ่น (เป็นเรื่องราวของคุณผู้หญิงหรือคุณผู้ชายที่หุ่นนั้นเป็นตัวแทนอยู่) และบางทีก็ปรากฏอยู่บนชามกระเบื้องในห้อง บอกเล่าของดีที่ควรได้ชม 



หุ่นกระดาษบางตัว ก็มีข้อความบรรยายไว้ อย่างเช่นอันนี้ เล่าเรื่องสตรีสูงศักดิ์ และวีรกรรมที่ทำไว้


บางทีก็เล่าเรื่องบนจานเซรามิค อย่างเช่นใบนี้เล่าเรื่องกิจกรรมที่ควีนแมรี่มักทำในห้อง

ห้องที่น่าชมนั้นมีหลายห้องตัวอย่างเช่น ควีนแกลอรี่ มีพรมตุรกีล้ำค่าแขวนอยู่บนผนังและเครื่องฟอซเลนสวยงามมาก เช่นเดียวกับห้องรับแขก (Drawing Room) ของควีนแมรี่ ที่มีเครื่องฟอซเลนชิ้นงามอยู่เต็มไปหมด 



ส่วนห้องรับแขกของกษัตริย์ (King’s Drawing Room)  มีจิตรกรรมล้ำค่าอยู่บนผนัง เขียนโดย Giorgio Vasariโดยมีต้นแบบจากภาพร่างของไมเคิลแองเจโล เป็นภาพเทพวีนัสร่างท้วมเอนกายนอนเปลือยมีกามเทพน้อยกำลังหยอกล้อโอบกอดจากทางด้านหลังเพื่อจุมพิตมารดาของเธอ ด้านซ้ายมีโต๊ะที่มีผ้าคลุมวางแจกันกุหลาบอยู่ แขวนคันธนูกับหน้ากากไว้สองอัน กล่าวกันว่าเป็นสัญลักษณ์ของพลังแห่งความงามที่จะสามารถปลดปล่อยอาวุธแห่งรักได้


ห้องรับแขกของกษัตริย์ (King’s Drawing Room)


จิตรกรรมวีนัสและกามเทพ โดย Giorgio Vasari https://www.rct.uk/collection/405486/venus-and-cupid

ห้อง Privy Chamber เป็นอีกห้องที่น่าสนใจเนื่องจากมุ่งเน้นการตกแต่งในสไตล์อังกฤษโดยเฉพาะ เหตุผลนั้นมิได้ขึ้นกับความชอบหรือรสนิยมส่วนพระองค์เลย แต่เกิดจากความต้องการเสริมภาพลักษณ์ของพระเจ้าจอร์จที่ 2 เนื่องจากในรัชกาลก่อน พระเจ้าจอร์จที่ 1 ทรงมีปัญหารุนแรงในด้านความเป็นอังกฤษ เนื่องจากเป็นกษัตริย์อังกฤษที่ไม่สามารถตรัสภาษาอังกฤษได้ !!! เพราะพระองค์เติบโตที่เยอรมัน ดังนั้นเมื่อถึงยุคของพระราชโอรสจึงต้องพยายามสร้างพระองค์ให้มีความเป็นอังกฤษอย่างแรงโดยโปรดให้มีการพูดเป็นภาษาอังกฤษในราชสำนักแทน และยังได้อุปถัมภ์ค้ำชูศิลปินอังกฤษจำนวนมากอีกด้วย 

หนึ่งที่ขอนำชมคือห้องเข้าเฝ้า (Presence Chamber) จากบันทึกที่มีอยู่ทำให้ทราบว่าจุดประสงค์ของการมาเฝ้านั้นมีต่างๆนานา เช่น มีการขอยกโทษประหาร การขอให้มอบสิทธิบัตรเครื่องปั่นฝ้ายแบบใหม่ กลุ่มแม่หม้ายทหารเรือมาขอรับบำนาญต่อจากสามีซึ่งเสียชีวิตไป ซึ่งกษัตริย์ได้ทรงมาดูแลด้วยตัวพระองค์เอง


https://www.rct.uk/collection/922150/the-presence-chamber-kensington-palace

ส่วนห้อง King Callery นั้นเป็นที่สะสมงานศิลปะจำนวนมาก ความน่าสนใจคือ ตั้งแต่พระนาง Caroline ซึ่งเป็นราชินีสมัยพระเจ้าจอร์จที่ 2 สวรรคต สิ่งของในห้องก็ถูกทิ้งไว้ให้อยู่ในสภาพเดิม แม้แต่ฟืนในเตาผิงก็ไม่มีการขยับเขยื้อน


แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่