เขียนเสริม Chiang Mai Design Week 2021 เรื่องโรงช้างต้นใน รร.ยุพราชวิทยาลัย

สาเหตุที่เป็นแรงบันดาลใจในการเขียนกระทู้นี้
มาจากที่ได้เห็นนักท่องเที่ยวมาเดินที่บริเวณอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ หรือพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา (อาคารศาลแขวงเชียงใหม่)
หรือหลายๆ ท่านมาเดินแถบ POP MARKET ต่างก็สอบถามผมว่าฝั่งตรงข้ามเป็นโรงเรียนแต่ทำไมมีอาคารโบราณอยู่

คำถามนี้ทำให้ผมเกิดแรงบันดาลใจที่จะเขียนกระทู้นี้ขึ้นมาเป็นบทเสริมครับ
อาคารโบราณดังกล่าวก็คือ "โรงช้างต้น" ครับ
...........................................................................................................................................................................
ซึ่งผมจะเขียนทั้งเรื่องของโรงช้างต้น และเรื่องของช้างเผือกที่เกิดในเชียงใหม่ร่วมกันไปในกระทู้นี้เลยครับ
...........................................................................................................................................................................

โรงช้างต้น

..........โรงช้างต้นก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.2469 เพื่อใช้ในพระราชพิธีสมโภชพระเศวตคชเดชดิลก 
ช้างพลายซึ่งเจ้าแก้วนวรัฐพร้อมด้วยบริษัทบริติชบอร์เนียว จำกัด และเจ้านายฝ่ายเหนือทูลเกล้าฯ 
ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 เมื่อคราวเสด็จประพาสเมืองเชียงใหม่ 

ภายหลังจากพระราชพิธีสมโภชช้างพลายแล้ว ก็ได้ดัดแปลงโรงช้างต้นนี้เป็นหอสมุดแห่งชาติ สาขาจังหวัดเชียงใหม่ 
ซึ่งเป็นพระกรณียกิจในพระราชชายาเจ้าดารารัศมีฯ 
ซึ่งยังไม่เคยปรากฏในที่ใดว่า ก่อนปีสิ้นพระชนม์ไม่นานนัก คงจะระหว่าง พ.ศ.2470-2475 


สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงติดต่อชักชวนให้พระราชชายาเจ้าดารารัศมีฯ 
ทรงเป็นประธานจัดตั้ง "หอสมุดประจำจังหวัดเชียงใหม่" ขึ้นเป็นสาขาของหอสมุดสำหรับพระนคร 


เนื่องด้วยในช่วงเวลานี้เป็นเวลาที่เสด็จในกรมพระยาดำรงฯ ได้กราบบังคมทูลลาออกจากเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยแล้ว 
แต่ยังทรงรับราชการสนองพระเดชพระคุณในงานที่เกี่ยวกับกิจการหอพระสมุดซึ่งขยายวงต่อมาจนกลายเป็นราชบัณฑิตยสภา 
ต้องทรงดูแลงานทั้งด้านหอพระสมุดและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ


เห็นจะเป็นด้วยความคุ้นเคยเป็นส่วนพระองค์ประการหนึ่ง 
และด้วยทรงเห็นว่า พระราชชายาเจ้าดารารัศมีฯ ทรงมีความสนพระทัยในการศึกษาและโบราณคดี 
อีกทั้งยังเป็นเจ้านายที่มีพระบารมีอยู่ทางฝ่ายเหนืออีกสองประการ 
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ จึงทรงมีพระดำรินี้ 


และทั้งสองพระองค์ได้ดำเนินงานจนมีการดัดแปลงโรงช้างต้น ที่โรงเรียนยุพราชเป็นอาคารห้องสมุด
แต่เป็นที่น่าเสียดายที่พระดำรินี้มิทันได้บรรลุผลก็ถึงปีที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 
และในปีรุ่งขึ้น พระราชชายาเจ้าดารารัศมีฯ ก็ได้สิ้นพระชนม์ลง อาคารนี้จึงค้างอยู่ถึงปัจจุบัน


ต่อมากรมศิลปากรเป็นผู้รับผิดชอบดูแล 
จนกระทั่งปี พ.ศ.2511 กรมศิลปากรได้มอบโรงช้างต้นให้เป็นสมบัติของโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย 
ซึ่งปัจจุบันได้รับการปรับปรุงให้เป็นอาคารเรียนวิชาดนตรี

..........ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของโรงช้างต้นเป็นอาคารทรงโรง ประดับยอดหลังคาด้วยช่อฟ้า 
หน้าบันใช้ไม้ปิดแบบฝาปะกน อาคารก่ออิฐถือปูนทั้งหลัง ตกแต่งด้วยลวดบัวคว่ำ-บัวหงายโดยรอบ มีมุขประตู 2 ทาง 
ด้านทิศเหนือและทิศใต้ตามด้านแปของอาคาร บานประตูไม้แบบเฟี้ยม มีหน้าต่างโดยรอบ 
ปัจจุบันอยู่ในการดูแลของโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยและกรมศิลปากรได้ดำเนินการบูรณะเมื่อปี พ.ศ.2559
.................................................................................................................................................
เล่าเรื่องช้างเผือกเกิดที่เชียงใหม่ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7
.................................................................................................................................................

พระเศวตคชเดชน์ดิลก ประชาธิปกปทุมรัตนดำริ เทวอัคนีนิรุฒชุบเชิด กำเนิดนภิสิฉวนเฉวียง ฉวีเยี่ยงบุษกรโกมลนขาขนขาว ผ่องแผ้ว แก้วเนตร์น้ำเงินงามลึก วันวณึกบรรณาการ คเชนทรยานยวดยิ่ง มิ่งมงคลฉนำเฉลิมฉัตร สัตตมกษัตทรงศร อมรรัตนโกสินทร รบือรบินบารมีทศ ยืนพระยศธรรมราชัย นิรามัยมนุญคุณ บุณยโศลกเลิศฟ้า

เป็นลูกช้างพลายเผือกตรี ของบริษัทบอร์เนียว อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ 
ซึ่งมิสเตอร์ ดี เอฟ แมคฟิ ผู้จัดการป่าไม้บริษัทบอร์เนียว จังหวัดเชียงใหม่ น้อมเกล้าฯ ถวาย 
และขึ้นระวางสมโภชเมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๗๐
ช้างเผือกเป็นช้างที่เกิดมาพร้อมด้วยคุณลักษณะพิเศษแตกต่างไปจากช้างทั่วไป
คุณลักษณะพิเศษดังกล่าวแสดงถึงการเป็นช้างที่หาได้ยากยิ่ง นานแสนนานทีเดียวจึงจะมีช้างเผือกถือกำเนิดสักตัวหนึ่ง 
และการมีช้างเผือกมาเกิดในรัชสมัยของพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลใดถือว่าเป็นช้างคู่พระบารมีของรัชกาลนั้น
.
การถือกำเนิดของช้างเผือกโดยทั่วไปจะเป็นช้างเผือกที่เกิดกับช้างป่าในป่าลึก แล้วพรานป่าหรือกลุ่มพวกคล้องช้างป่าไปพบเห็นเข้า 
จะทำการคล้องหรือรายงานให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองรับรู้ เพื่อจะได้ติดตามไปคล้องเอามาต่อไป เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
.
ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ปรากฎมีช้างเผือกคู่พระบารมีถือกำเนิดมาหนึ่งเชือก 
และเป็นช้างเผือกที่เกิดผิดแปลกจากช้างเผือกเชือกก่อนๆ แทนที่จะเกิดในป่าเขาห่างไกล กลับมาเกิดในเขตเมืองของนครเชียงใหม่
.
กล่าวคือที่ตำบลแม่ยางมิ้น อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ช้างเพศเมียชื่อ "พังล่า" ซึ่งเป็นช้างของบริษัทบอร์เนียว แผนกเมืองเหนือ 
ซึ่งได้รับสัมปทานทำไม้ ได้ตั้งท้อง เมื่อครบกำหนดคลอดก็ตกลูกช้างออกมาเป็นเพศผู้ เวลาเช้าของวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2469
.
ลูกของพังล่าตัวนี้มีรูปร่างลักษณะและผิวสีแตกต่างจากช้างทั่วไป ควาญช้างและพนักงานดูแลช้างของบริษัทจึงรายงานให้ มร.แม็คฟี ผู้จัดการบริษัทบอร์เนียวได้รับทราบ 
เมื่อ มร.แม็คฟีมาดูลูกช้างก็พบเห็นความแตกต่างดังกล่าว จึงสั่งกำชับให้คนงานดูแลเป็นพิเศษ
.
หลังจากนั้น มร.แม็คฟีได้เชิญบรรดาหมอช้างเมืองเหนือที่มีความรู้เรื่องสกุลของช้าง มาพิจารณาดูรูปร่างลักษณะลูกช้างอย่างละเอียดรอบคอบ 
หมอช้างทุกคนลงความเห็นว่า ลูกช้างเป็นช้างเผือกแน่นอน แต่ยังไม่สามารถระบุแน่ชัดได้ว่าเป็นช้างเผือกตระกูลใดชั้นใด
.
มร.แม็คฟีจึงทำหนังสือรายงานการมีแม่ช้างพังของบริษัทตกลูกเป็นช้างเผือก ขอให้ดำเนินการตรวจสอบให้ด้วย 
หากเป็นช้างเผือกจริงก็จะขอพระราชทานน้อมเกล้าฯ ถวายช้างเผือกตัวนี้แด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อไป
.
สำนักพระราชวังจึงมีคำสั่งให้ผู้เชี่ยวชาญเรื่องคชลักษณ์เดินทางไปยังจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อตรวจสอบลูกช้างตัวนั้นว่าจะเป็นช้างเผือกหรือไม่ 
ผู้เชี่ยวชาญได้ตรวจสอบลักษณะของลูกช้างอย่างละเอียด 
ได้บันทึกส่งไปยังกรมช้างต้นว่า ลูกช้างอายุ 4 เดือน ของพังล่าตัวนี้อยู่ในตระกูลช้างเผือกชั้นสูง ลำดับ "อัคนิพงศ์" 
ผิวหนังเป็นสีดอกบัวโรย ขนตามตัวและศีรษะเป็นสีแดงปลายขาว ดวงตาสีฟ้าอ่อน 
(ในตำนานช้างตระกูลอัคนิพงศ์ มีตาดุจน้ำผึ้งรวง ผิวพรรณละเอียดเกลี้ยง) 
เพดานขาวขนที่หูขาว เล็บขาว อัณฑโกสขาว ขนที่หางแดงปลายขาว เป็นเศวตกุญชร มีมงคลลักษณะ โดยสงเคราะห์เข้าในอัคนิพงศ์ ต้องตามตำรับเป็นปทุมหัตถี จัดเป็นลักษณะงดงามยิ่ง
.
การตรวจสอบลักษณะตามตำรับคชลักษณ์ครั้งแรกนั้น ผู้เชี่ยวชาญบันทึกไว้ว่า ลูกช้างยินยอมให้ตรวจโดยสงบนิ่งอย่างเรียบร้อย ไม่แสดงอาการตื่นกลัวคนแปลกหน้าหลายคน 
ระหว่างการตรวจภายในปาก พลิกดูหลังหูและส่วนอื่นๆ ตามซอกต่างๆ ของร่างกาย ลูกช้างก็ไม่แสดงอาการรำคาญหรือขัดขืน
.
รายละเอียดของลูกช้างเผือกตัวนี้น่าสนใจหลายอย่าง เช่น รักความสะอาด และไว้ตัวตั้งแต่ยังไม่หย่านม เด็กที่มอมแมมแต่งตัวสกปรกช้างจะไม่ยอมเข้าใกล้และไม่ยอมเล่นด้วย 
แต่จะเล่นกับลูกๆ ของ มร.แม็คฟีเท่านั้น ยอมให้เด็กกอดใกล้ชิดและสนิทสนมด้วย เวลาลงไปอาบน้ำกับแม่พังล่า หากที่ท่าน้ำมีช้างอื่นถ่ายมูลทิ้งไว้ลูกช้างจะไม่ยอมลงน้ำ 
ต้องย้ายไปลงที่ท่าอื่นที่สะอาด หรือแม้กระทั่งมีมูลของแม่ก็จะไม่ยอมลงน้ำเช่นกัน
.
เมื่อประจักษ์ชัดและเป็นที่รับรองยืนยันแล้วว่าลูกพังล่าเป็นช้างเผือกแน่นอน ได้สร้างความปีติยินดีแก่ชาวเมืองเชียงใหม่กันทั่วหน้า 
มีการจัดพิธีแห่รับขวัญและเฉลิมฉลองลูกช้างเผือกอย่างมโหฬาร พร้อมกับเคลื่อนย้ายลูกช้างและแม่พังล่ามาอยู่ที่เชิงดอยสุเทพ 
ประชาชนชาวเชียงใหม่พากันมาต้อนรับและมาดูลูกช้างเผือกตัวแรกของจังหวัดเชียงใหม่อย่างแน่นขนัด ตลอดทางที่ลูกช้างเผือกเดินผ่าน 
เป็นความสุขและความภาคภูมิใจของชาวเชียงใหม่อย่างยิ่งในขณะนั้น


พระครูพราหมณ์รดน้ำสังข์และเจิมเสาเบญพาต พระเศวตคชเดชน์ดิลก ที่โรงช้างต้น

ในวาระเดียวกัน ราษฎรชาวเชียงใหม่ก็มีโอกาสเฝ้าชมพระบารมี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชินีจะเสด็จประพาสเชียงใหม่ 
และทรงรับการน้อมเกล้าฯ ถวายลูกช้างเผือกของบริษัทบอร์เนียว


กระบวนช้างแห่นำช้างสำคัญ พระเศวตคชเดชน์ดิลก ที่จังหวัดเชียงใหม่


กระบวนแห่พระเศวตคชเดชน์ดิลก กับพังแม่ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนการประกอบพระราชพิธีรับและขึ้นระวางสมโภชช้างสำคัญ


ประตูป่าที่ประตูช้างเผือก ในคราวแห่ช้างสำคัญ (พระเศวตคชเดชน์ดิลก)
จากเชิงดอยสุเทพเข้าสู่โรงพิธีหน้าศาลารัฐบาลมณฑลพายัพ เมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ.2469



พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว กับพระเศวตคชเดชน์ดิลก ที่เชียงใหม่


พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินยังจังหวัดเชียงใหม่ ในการพระราชพิธีรับและขึ้นระวางสมโภช พระเศวตคชเดชน์ดิลก

ครั้นลูกช้างเผือกหย่านมแล้วจะต้องส่งตัวเข้ากรุงเทพฯ การล่ำลาระหว่างลูกช้างเผือกกับลูกๆ ของ มร.แม็คฟีเป็นภาพที่น่าตื้นตัน 
เด็กๆ พากันเข้าไปกอดรัดพลางร่ำไห้ ฝ่ายลูกช้างพูดไม่ได้ก็ใช้งวงโอบรัดเด็กๆ เอาไว้ แสดงถึงความรักอาลัยที่ผูกพันกันอย่างลึกซึ้ง
.
พระเศวต คชเดชน์ดิลก ช้างเผือกคู่พระบารมีจากเชียงใหม่ ขึ้นระวางอยู่ในโรงช้างหลวงจนมีอายุ 20 ปี 
ภายหลังเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จสวรรคต ณ ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2484 พระเศวตฯ เริ่มมีอาการไม่ปกติ


พอถึง พ.ศ.2485 เกิดน้ำท่วมใหญ่ที่กรุงเทพฯ พระเศวตฯ มีอาการผิดปกติมากขึ้นเนื่องจากขาดการเอาใจใส่ดูแลเท่าที่ควร พอถึง พ.ศ.2489 พระเศวตฯ ไม่จับหญ้า ในที่สุดก็ล้มในปี พ.ศ.นั้น
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่