อัลตร้ามาราธอน วิ่งระยะไกล หัวใจต้องพร้อม

อัลตร้ามาราธอน วิ่งระยะไกล หัวใจต้องพร้อม 
 
    🏃 การวิ่งเป็นอีกหนึ่งชนิดกีฬาที่ได้รับความนิยมในบ้านเราไม่แพ้กีฬาชนิดอื่น ซึ่งประเภทของการวิ่งก็มีหลากหลายรูปแบบทั้งมินิมาราธอน ฮาล์ฟมาราธอน มาราธอน ไตรกีฬา ไปจนถึงการวิ่งเทรล และอัลตร้ามาราธอน
     ซึ่งการวิ่งแบบอัลตร้ามาราธอนนั้นถือเป็นการวิ่งที่ค่อนข้างหนัก เพราะนักวิ่งต้องวิ่งเป็นระยะทางมากกว่า 42.195 กม. ดังนั้น นักวิ่งประเภทนี้จึงต้องเป็นผู้ที่ผ่านการฝึกซ้อมมาก่อนและมีประสบการณ์ในการวิ่งเป็นอย่างดี เพื่อหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บในขณะที่วิ่ง โดยเฉพาะอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับหัวใจ  
     เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาพี่หมอมีโอกาสได้ไปพูดคุยกับคุณหมอด้านโรคหัวใจ 💓 และเป็นผู้เชี่ยวชาญในการดูแลสุขภาพหัวใจของนักกีฬา นอกจากนี้ ยังเป็นที่รู้จักในวงการนักวิ่งเทรลและอัลตร้ามาราธอนเป็นอย่างดี ซึ่งคุณหมอได้แนะนำประเภทของการวิ่งในบ้านเรา รวมถึงวิธีเตรียมความพร้อมสำหรับนักวิ่งทั้งมือใหม่และมือเก่า โดยเฉพาะผู้ที่ชื่นชอบการวิ่งแบบอัลตร้า พี่หมอรับรองว่าจะต้องถูกใจแน่ๆ 
 
การจัดการแข่งวิ่งมีทั้งหมดกี่ประเภท
     โดยส่วนใหญ่ที่คุ้นเคยกันดีมีอยู่ 3 ประเภทคือ มินิมาราธอน ฮาล์ฟมาราธอน และมาราธอน แต่การจัดการแข่งวิ่งในประเทศไทยจะแบ่งตามระยะทางที่วิ่ง ดังนี้
    👟 ฟันรัน (Fun run) หรือเรียกอีกอย่างว่าเดิน-วิ่งการกุศล คือจะวิ่งในระยะทาง 3.5 – 5 กม. (2.17 – 3.11 ไมล์) เหมาะสำหรับผู้ที่เริ่มต้นออกกำลังกายใหม่ๆ เพราะเป็นการวิ่งที่มีความสนุก ไม่กดดัน และไม่ต้องเตรียมตัวมาก
    👟 มินิมาราธอน (Mini marathon) เป็นการวิ่งในระยะทาง 10.5 กม. หรือ 10.55 กม. (6.56 ไมล์) ซึ่งระยะนี้เป็นระยะทางที่นักวิ่งเพื่อสุขภาพนิยมมากที่สุด เพราะระยะทางกำลังพอดี ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการออกกำลังกายจริงๆ
    👟 ฮาล์ฟมาราธอน (Half marathon) เป็นการวิ่งในระยะทาง 21 กม. หรือ 21.0975 กม. (13.1 หรือ 13.11 ไมล์) บางครั้งอาจเรียกว่าการแข่งวิ่งระยะ 21K หรือ 21.1K ซึ่งเป็นระยะทางมาตรฐานที่จัดแข่งในระดับนานาชาติ เหมาะสำหรับผู้ที่ผ่านการฝึกซ้อมมาพอสมควร เพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นกับร่างกายและหัวใจในขณะแข่งขัน 
    👟 มาราธอน (Marathon) เป็นการวิ่งในระยะทาง 42.195 กม. (26.2 หรือ 26.219 ไมล์) หรือจะเรียกว่าการแข่งวิ่งระยะ 42K หรือ 42.2K ก็ได้ และเป็นอีกหนึ่งระยะทางมาตรฐานที่จัดแข่งในระดับนานาชาติเช่นกัน โดยจะมีทั้งนักวิ่งสมัครเล่นและนักวิ่งอาชีพลงแข่งขันในประเภทนี้ ดังนั้น สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยวิ่งในระดับนี้มาก่อน ควรฝึกฝนและเตรียมความพร้อมของร่างกาย รวมถึงควรผ่านการตรวจสุขภาพหัวใจมาก่อนด้วย 
    👟 อัลตร้ามาราธอน (Ultramarathon) เป็นการวิ่งระยะทางมากกว่า 42.195 กม. ซึ่งรายการที่มีการจัดการแข่งขันในบ้านเรา ได้แก่ Suanpruek 99 10 Hour Ultramarathon และ Chiangmai Ultramarathon (หรือชื่อเดิม Doi Inthanon Ultramarathon) ซึ่งผู้ที่จะแข่งในประเภทนี้ได้จะต้องผ่านการฝึกฝนและฝึกซ้อมมาเป็นอย่างดี และผ่านการวิ่งมาแล้วหลายสนามจนมีประสบการณ์ในระดับหนึ่ง โดยอาจมีการวิ่งเทรลรวมอยู่กับการแข่งขันอัลตร้ามาราธอนด้วยก็ได้ ซึ่งจะเรียกรวมว่า อัลตร้า-เทรล เช่น การแข่งขัน Ultra-Trail Chiangrai (UTCR), Ultra-Trail Nan (UTN) และ Ultra-Trail Unseen Koh Chang (UTKC) เป็นต้น
 
การวิ่งเทรลคืออะไร
     การวิ่งเทรล (Trail Running) เป็นการวิ่งแบบผสมผสานระหว่างการวิ่งและการเดินเขา ⛰️ เพราะเส้นทางส่วนใหญ่จะอยู่ในป่า ลัดเลาะไปตามเนินเขา และไม่ได้วิ่งไปบนพื้นที่เรียบๆ อย่างเดียว แต่อาจจะมีกรวด ดิน หิน ทรายปะปนอยู่บ้าง เหมาะสำหรับสายลุยหรือผู้ที่ชอบออกกำลังกายไปด้วย ชมวิวธรรมชาติไปด้วย ซึ่งการแข่งขันในประเทศไทยแบ่งออกเป็นหลายระยะทางตั้งแต่ 15 – 100 กม. ซึ่งในแต่ละเส้นทางจะมีค่าความสูงสะสม หรือระดับความชันของเส้นทางแตกต่างกันออกไปอีก ทั้งนี้ หากการวิ่งเทรลนั้นมีระยะทางมากกว่า 42 กม. เราจะเรียกว่าระยะอัลตร้า รวมเรียกว่า การวิ่งเทรล-อัลตร้า ส่วนการวิ่งผสมผสานชนิดอื่นๆ เช่น ไตรกีฬา (Triathlons) จะประกอบไปด้วย 3 ชนิดกีฬา ได้แก่ ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน และวิ่งมาราธอน ตามระยะทางที่กำหนด  
 
     ในปัจจุบันมีข่าวคนเสียชีวิตจากการวิ่งบ่อยๆ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากหัวใจหยุดเต้นหรือหัวใจวาย 💔 และพบได้ทุกช่วงอายุ คุณหมอมีคำแนะนำในเรื่องนี้อย่างไร 
     การเสียชีวิตแบบฉับพลันในขณะออกกำลังกาย ไม่ได้เกิดจากการวิ่งเท่านั้น แต่พบได้ในกีฬาทุกประเภท ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากโรคหัวใจ โดยผู้ที่อายุมากกว่า 35 ปี มักมีสาเหตุมาจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือหลอดเลือดหัวใจตีบแบบเฉียบพลัน ในขณะที่ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปี มีสาเหตุมาจากกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ หรือกลุ่มโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิดที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 1 ต่อ 100,000 คน
     ดังนั้น สำหรับผู้ที่อยากเริ่มออกกำลังกายหรือมีใจรักในการวิ่ง และอยากลงแข่งวิ่งซักหนึ่งรายการ สิ่งแรกที่ควรทำก็คือ การตรวจสุขภาพ 🩺 โดยเฉพาะการแข่งวิ่งในระยะทางมากกว่า 10 กม.ขึ้นไป ผู้ที่จะลงแข่งรายการประเภทนี้ควรได้รับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจและการเดินสายพาน ซึ่งจะช่วยให้ตรวจพบความผิดปกติที่อาจเป็นความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ อย่างไรก็ตาม แม้จะได้รับการตรวจแล้วและไม่พบความผิดปกติใดๆ แต่ก็ไม่ได้การันตี 100% ว่า ผู้วิ่งจะไม่เกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือหัวใจวายขณะวิ่ง เพราะการเกิดโรคขึ้นอยู่กับอีกหลายปัจจัย เช่น โรคไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอก่อนแข่ง การซ้อมที่หนักเกินไปจนร่างกายไม่ได้พัก ดื่มน้ำไม่เพียงพอ หรืออากาศร้อนจัดจนเกิดเป็นภาวะฮีทสโตรก ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่คาดฝันและอาจเกิดขึ้นได้ในวันแข่ง ซึ่งหากนักวิ่งรู้สึกว่าร่างกายไม่พร้อม แนะนำว่าควรงดแข่งไปก่อน นอกจากนี้ ทางผู้จัดเองก็ควรมีการเตรียมแพทย์ พยาบาล และรถพยาบาล รวมถึงเครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้า (AED) เอาไว้ด้วย เพื่อที่ทีมแพทย์จะได้ช่วยเหลือนักวิ่งได้อย่างทันท่วงที
 
จริงหรือไม่ที่มีคนบอกว่า วิ่งมากไปไม่ดีต่อหัวใจ เพราะอาจทำให้หัวใจบาดเจ็บได้ 
     ที่บอกว่าวิ่งมากไปอาจต้องดูก่อนว่า เป็นการวิ่งแบบไหน เพราะถ้าเป็นการวิ่งระยะไกลต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ หัวใจข้างขวาจะรับภาระหนักกว่าหัวใจข้างซ้าย ส่งผลให้เกิดแรงเค้นและความเครียดในผนังหัวใจข้างขวา ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดการบาดเจ็บที่ผนังหัวใจได้ ซึ่งปัจจุบันมีรายงานพบว่า ในกลุ่มนักกีฬาและนักวิ่งระยะไกล การบาดเจ็บมีความสัมพันธ์ทางตรงกับระยะเวลาที่จบในการแข่งขันแต่ละครั้ง และจำนวนครั้งที่ลงแข่ง อย่างไรก็ตาม หัวข้อนี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ เนื่องจากจำนวนประชากรที่ศึกษามีจำนวนน้อยและไม่ได้มีการศึกษาในระยะยาว ซึ่งข้อสรุปเดียวที่พอจะระบุได้ว่า การบาดเจ็บที่หัวใจเกิดจากการออกกำลังกายหนักๆ ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ น่าจะมีแค่การเกิดภาวะหัวใจสั่นพริ้วที่พบได้มากขึ้นประมาณ 5-6 เท่า เมื่อเทียบระหว่างนักกีฬาประเภท Endurance กับคนปกติที่สุขภาพแข็งแรง
 
คำแนะนำสำหรับคนที่รักการวิ่ง แต่ไม่อยากเสี่ยงให้หัวใจบาดเจ็บ
     สำหรับคนทั่วไป การออกกำลังกายถือเป็นเรื่องที่ดีต่อสุขภาพ แถมยังช่วยส่งเสริมหัวใจให้แข็งแรงขึ้นอีกด้วย แต่สำหรับคนที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคหัวใจ เบาหวาน และโรคไต ที่อยากออกกำลังกายที่เข้มข้นมากกกว่าที่องค์การอนามัยโลกแนะนำคือ 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือนักกีฬาที่ต้องการออกกำลังกายหนัก เช่น วิ่งฮาล์ฟมาราธอน หรือลงแข่งไตรกีฬา แนะนำให้ตรวจสุขภาพกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อคัดกรองและประเมินความเสี่ยงของการเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นหรือหัวใจขาดเลือด เพื่อวางแผนการออกกำลังกายที่เหมาะสมต่อไป 
 
     การออกกำลังกายเป็นเรื่องที่ดีทั้งต่อร่างกายและจิตใจ แต่ก็ต้องไม่หักโหมเกินไปจนร่างกายรับไม่ไหวด้วย มิฉะนั้น แทนที่จะได้ประโยชน์ก็อาจกลายเป็นว่าเราต้องไปเจ็บตัวแทน ที่สำคัญ อย่าลืมเตรียมความพร้อมให้กับร่างกายด้วยการตรวจสุขภาพ โดยเฉพาะสุขภาพหัวใจอย่างที่คุณหมอแนะนำด้วยนะครับ 🏃‍♂️🏃🏃🏻‍♀️
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  Trail Running โรคหัวใจ มาราธอน โรงพยาบาล นักกีฬา
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่