JJNY : 3ใน4ผู้ป่วยใหม่ในแอฟริกาใต้เป็นโอไมครอน│ยาของบ.GSKต้านโอมิครอนได้│บิ๊กเอกชนผวา“โอไมครอน”│อินเดียพบติดโอไมครอน2

3 ใน 4 ของผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ในแอฟริกาใต้ เป็นสายพันธุ์โอไมครอน
https://www.pptvhd36.com/news/ต่างประเทศ/161718
 
โควิด-19 โอไมครอนกำลังจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักในแอฟริกาใต้ หลังพบ 3 ใน 4 ของตัวอย่างไวรัสจากผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นสายพันธุ์ดังกล่าว
 
โควิด-19 สายพันธุ์ “โอไมครอน (Omicron)” กำลังกลายเป็นสายพันธุ์หลักในประเทศแอฟริกาใต้ภายในเวลาไม่ถึง 4 สัปดาห์หลังจากมีรายงานการตรวจพบอย่างเป็นทางการ
 
สัญญาณเบื้องต้นที่บ่งชี้ว่า โอไมครอนอาจแพร่ระบาดได้มากกว่าสายพันธุ์รุ่นก่อน ๆ ส่งผลกระทบกับตลาดการเงินและตลาดหุ้นทั่วโลก จากความกังวลของนักลงทุนว่า นานาประเทศอาจกลับมาประกาศใช้มาตรการหรือข้อจำกัดต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักลง
  
สถาบันโรคติดต่อแห่งชาติแอฟริกาใต้ (NICD) รายงานว่า ข้อมูลทางระบาดวิทยาในเบื้องต้นบ่งชี้ว่า โอไมครอนสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันบางอย่างได้ แต่อย่างไรก็ตาม วัคซีนโควิด-19 ที่มีอยู่ยังคงน่าจะป้องกันการป่วยร้ายแรงและการเสียชีวิตจากโควิด-19 โอไมครอนได้
 
โดยปัจจุบัน ข้อมูลจากฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมไวรัส GISAID ระบุว่า ในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา ในแอฟริกาใต้ ตัวอย่างจีโนมไวรัสที่นำมาจัดลำดับมีอยู่ 74% เป็นสายพันธุ์โอไมครอน หรือพูดง่าย ๆ คือ 3 ใน 4 ของตัวอย่างจากผู้ติดเชื้อรายใหม่ในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่
 
ขณะที่รองลงมา ประเทศกานา พบโอไมครอนคิดเป็น 60% ของตัวอย่างจีโนมไวรัส หรือเกินครึ่งของผู้ติดเชื้อรายใหม่ในช่วง 4 สัปดาห์ และบอตสวานาพบโอไมครอน 30% ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ ส่วนประเทศที่เหลือ พบโอไมครอนในระดับ 0-1% ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศนั้น ๆ
 
ในช่วงที่มีข่าวการค้นพบโควิด-19 โอไมครอน อัตราการติดเชื้อโควิด-19 โดยภาพรวมของแอรฟาใต้ก็สูงขึ้น ในระดับที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขนิยามว่าเป็น “สถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง”
 
จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ของแอฟริกาใต้ เพิ่มขึ้นจากเฉลี่ยประมาณ 300 รายต่อวันเป็น 1,000 รายต่อวันในสัปดาห์ที่แล้ว และเมื่อวานซืน (30 พ.ย.) อยู่ที่ประมาณ 4,300 ราย แต่เมื่อวานนี้ (1 ธ.ค.) มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ถึงกว่า 8,500 ราย เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าของจำนวนผู้ป่วยใหม่ในวันก่อนหน้า
 
ดร.มิเชลล์ กรูม หัวหน้า NICD กล่าวว่า “การเพิ่มขึ้นเป็นแบบทวีคูณ และจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในแต่ละวันนั้นถูกขับเคลื่อนโดยสายพันธุ์โอไมครอน”
 
เรียบเรียงจาก Reuters / The Guardian
 

 
ยารักษาโควิดของบริษัท GSK ต้านโอมิครอนได้
https://www.nationtv.tv/news/378855249
 
บริษัท แกล็กโซสมิทไคลน์ หรือ GSK ของอังกฤษ เผยวันนี้ว่า จากผลการทดสอบเบื้องต้น พบว่า ยาโซโทรวิแมบที่ใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 สามารถต้านไวรัสโคโรนากลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ โอมิครอน
 
แกล็กโซสมิทไคลน์ (GSK) บริษัทยาสัญชาติอังกฤษ ระบุในแถลงการณ์ว่า ผลการทดสอบในสัตว์ พบว่า ยาโซโทรวิแมบ (Sotrovimab) มีประสิทธิภาพในการต้านทานการกลายพันธุ์จุดสำคัญของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โอมิครอน
 
ยาตัวนี้เป็นโมโนโคลนอล แอนติบอดี  ที่ GSK พัฒนาร่วมกับ วีร์ ไบโอเทคโนโลยี ของสหรัฐฯ เพื่อใช้รักษาโรคโควิด-19 โดยยาจะยึดจับโปรตีนหนามของไวรัสโคโรนา ซึ่งจะช่วยลดความสามารถของเชื้อในการเข้าสู่เซลล์ในร่างกาย
 
GSK ระบุว่า จนถึงขณะนี้ยาโซโทรวิแมบสามารถต้านไวรัสโคโรนากลายพันธุ์ทั้งสายพันธุ์ที่น่ากังวลและสายพันธุ์ที่น่าสนใจที่กำหนดโดยองค์การอนามัยโลก และกำลังเดินหน้าทดสอบเพื่อยืนยันว่า ยาตัวนี้สามารถลบล้างฤทธิ์จากการกลายพันธุ์ทุกอย่างของโอมิครอน โดยคาดว่าจะเผยแพร่ความคืบหน้าได้ภายในสิ้นปีนี้
 
ในวันเดียวกันสำนักงานกำกับดูแลยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพของอังกฤษ มีมติอนุมัติให้ใช้ยาโซโทรวิแมบ รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลางและมีความเสี่ยงสูงที่จะมีอาการรุนแรง  เนื่องจากพบว่ายามีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพลดความเสี่ยงเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลและการเสียชีวิต
 

 
บิ๊กเอกชนผวา “โอไมครอน”ทุบซํ้า GDP ไทย ลุ้นวัคซีนเอาอยู่
https://www.thansettakij.com/economy/505270
 
บิ๊ก “สรท.-หอการค้า-สภาอุตฯ” ประสานเสียงโควิดสายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน”เสี่ยงสุดฉุดเศรษฐกิจ-การค้าโลกชะลอตัว ผวาทุบจีดีพี-ส่งออกไทยปี 65 หดตัว ลุ้นบริษัทวัคซีนเอาอยู่ คาดจีดีพีไทยปีหน้าขยายตัวได้ 2-6% ส่งออกโต 5% จากฐานปี 64 สูง แข่งขันส่งออกโลกเพิ่มอุณหภูมิเดือด
 
ทิศทางขยายตัวเศรษฐกิจ(จีดีพี) ไทยปี 2565 เบื้องต้น ทุกสำนักชี้มีทิศทางสดใส จะปรับตัวดีขึ้นจากปี 2564 โดยส่วนใหญ่คาดจีดีพีปีหน้าจะขยายตัวได้เฉลี่ย 2-6% จากภาคส่งออกยังขยายตัวต่อเนื่อง ภาคบริการท่องเที่ยว ลงทุน และการบริโภคในประเทศจะกลับมาฟื้นตัวหลังเปิดประเทศ แต่ล่าสุดมีปัจจัยเสี่ยงใหม่ที่ทั่วโลกจับตามองคือ โควิดสายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน” ที่ระบาดได้รวดเร็ว พบผู้ติดเชื้อแล้วเกือบ 20 ประเทศ หากวัคซีนเอาไม่อยู่และมีการล็อกดาวน์ประเทศกันอีกครั้ง อาจส่งผลให้เศรษฐกิจ การค้า การบริโภค การท่องเที่ยวของโลกกลับมาชะลอตัวอีกครั้ง
 
“โอไมครอน” เสี่ยงสุด
 
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจัยเสี่ยงมากสุด 5 อันดับแรกต่อเศรษฐกิจและการส่งออกของไทยในปี 2565 จากสถานการณ์ ณ ปัจจุบันได้แก่ 
 
1. การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่และสายพันธุ์ใหม่ (โอไมครอน) ในหลายพื้นที่ อาทิ ยุโรป ซึ่งแพร่ระบาดได้รวดเร็วในวงกว้าง หากเชื้อเข้าสู่ไทยได้และเกินกำลังความสามารถในการรับมือด้านสาธารณสุข จะส่งผลให้ภาครัฐต้องออกมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด อาทิ ล็อกดาวน์หรือปิดประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักหรือมีการชะลอตัวลง ไม่ว่าจะเป็นภาคบริการ การท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรม การผลิต การขนส่ง ท้ายที่สุดแล้วจะกระทบเศรษฐกิจของประเทศไทยไม่สามารถขยายตัวมากขึ้นได้ติดต่อกันเป็นเวลานาน
 
2. ปัญหาคอขวดห่วงโซ่อุปทานที่ยืดเยื้อ จากการขาดแคลนตู้สินค้าซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้ค่าระวางเรือทรงตัวอยู่ในระดับสูงเป็นระยะเวลานานอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2565 การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ต้นทุนวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งกดดันให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้นตามมา ส่งผลกระทบต่อกำลังการซื้อของผู้บริโภค
 
3. วิกฤติพลังงานของประเทศจีนที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อการส่งออก-นำเข้าของโลก 4.สถานการณ์การเงินของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ เนื่องจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศและความสามารถในการชำระหนี้ และความคล่องตัวของเงินทุนโดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจ SME มีจำกัด ทำให้ภาคการบริโภคของเอกชนยังคงซบเซา และ 5.การขาดแคลนแรงงาน จากการปิดประเทศส่งผลให้แรงงานต่างด้าวที่เดินทางกลับประเทศ ไม่สามารถกลับเข้ามาทำงานได้ตามปกติ ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ ปัจจุบันยังขาดแคลนแรงงานประมาณ 4-5 แสนคน ส่งผลต่อเนื่องถึงภาคส่งออกที่เป็นภาคหลักในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศ
 
“โควิดสายพันธุ์โอไมครอนเป็นตัวแปรสำคัญที่ต้องจับตามองว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรปมากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะมีผลต่อการส่งออกของไทย ทั้งนี้ปี 2564 คาดการส่งออกไทยจะขยายตัวได้ 12-14% ส่วนปีหน้าคาดจะขยายตัวได้ในเบื้องต้นประมาณ 5%  จากฐานตัวเลขส่งออกปี 64 ที่สูง และทั่วโลกแข่งขันส่งออกมากขึ้น ส่วนจีดีพีปีนี้คาดขยายตัวได้ 0.7-1% และปีหน้าจะขยายตัวได้ 2% เป็นอย่างต่ำ (ยังไม่นับรวมปัจจัยเสี่ยงจากโควิดสายพันธุ์โอไมครอนที่ต้องประเมินกันอีกครั้ง)”
 
ลุ้นบริษัทวัคซีนเอาอยู่
 
 สอดคล้องกับนายวิศิษฐ์  ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทย 5 อันดับแรก ณ เวลานี้ อันดับ 1 คือ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิดซึ่งต้องจับตาโควิดสายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน” จะมีผลกระทบต่อเนื่องไปถึงการเปิด-ปิดประเทศของประเทศต่าง ๆ คาดใน 5-10 วันนับจากนี้จะมีความชัดเจนถึงแนวโน้มความรวดเร็ว รุนแรงของการระบาด รวมทั้งผลการวิจัยของบริษัทผู้ผลิตวัคซีนว่าจะเอาอยู่หรือไม่
 
2. ต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นในทุกสาขาภาคการผลิต จากมีความต้องการใช้กันทั่วโลกพร้อมๆ กัน เช่น ชิปที่ยังขาดแคลน ในอุตสาหกรรมรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ไอโอที รวมถึงวัตถุดิบทางการเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม วัตถุดิบฝ้ายที่ใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่ส่วนใหญ่นำเข้าจากจีนมีไม่เพียงพอ เป็นต้น
 
3. ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมัน ถ่านหิน และค่าขนส่ง 4.ปัญหาขาดแคลนแรงงานภาคการผลิต 5. พื้นที่ระวางเรือ และตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้ายังขาดแคลน และค่าระวางเรือที่ทรงตัวในระดับสูง
 
“ปี 2564 คาดจีดีพีไทยจะขยายตัวได้ 1% หรือมากกว่า 1% ซึ่งต้องลุ้น โดยยังมีโอกาสอีกหนึ่งช่วงคือ ช่วงเทศกาลปลายปีทั้งคริสต์มาส ปีใหม่ที่จะมีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น แต่ต้องรอดูว่าสถานการณ์จะเอื้อหรือไม่โดยมีเรื่องโควิดเป็นตัวแปร ส่วนปี 2565 เบื้องต้นจีดีพีไทยถ้าทำได้ 2% ขึ้นไปก็ถือว่าน่าพอใจ เพราะเศรษฐกิจปกติในช่วงที่ผ่านมาขยายตัวได้เฉลี่ย 3% ถ้าไม่ต่ำกว่านี้ก็ถือว่ามีความก้าวหน้าระดับหนึ่ง แม้จะไม่หวือหวา แต่ถือว่าประคองตัวไปได้ ส่วนส่งออกปี 2564 น่าจะขยายตัวได้บวก-ลบ 15% ส่วนปี 2565 คาดจะขยายตัวได้ประมาณ 5% จากทุกประเทศกลับมาผลิตส่งออก และมีการแข่งขันกันมากขึ้น”
 
ศก.จีนหดตัวแปรฟื้นตัวโลก
 
ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยมากสุด 5 อันดับแรกเวลานี้ได้แก่ 
 
1. ความเสี่ยงจากการกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้งการกลายพันธุ์ของไวรัส โดย ล่าสุดสายพันธุ์ “โอไมครอน” จัดอยู่ในสายพันธุ์ที่น่ากังวล ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ต้องจับตาดูว่า จะเกิดการระบาดใหญ่อีกครั้ง จนนำไปสู่การล็อกดาวน์ครั้งใหม่หรือไม่ 
 
2. ปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ กระทบต่อการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม
 
3. ปัญหาด้านโลจิสติกส์ระหว่างประเทศจากต้นทุนการขนส่งสินค้าทางเรืออยู่ในระดับสูง ราคาค่าขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 40% รวมทั้งการเพิ่มขึ้น ของราคาค่าบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่าประกันภัยทางทะเล ค่าประกันสินค้าที่ ขนส่งทางทะเล ฯลฯ 4.อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นขณะที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวจากราคาน้ำมันดิบที่พิ่มขึ้น ต้นทุนวัตถุดิบต่างๆ ที่เร่งตัวขึ้นตามอุปสงค์ในตลาดโลก 5.เศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ซึ่งอาจจะกระทบต่อเส้นทางการฟื้นตัวของ เศรษฐกิจโลก
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่