บุคคลต้นแบบของเจอร์เก้น คล็อปป์ คือ....

ถ้าใครไม่มีเวลาอ่าน สรุปบุคคลต้นแบบของคล็อปคือ โวล์ฟกัง แฟรงค์  อดีตผู้จัดการทีมไมนส์05  ไม่ใช่ ลาบอะไรนั่นนะครับ🤣

----------
ในชีวิตการทำงาน คุณมีใครเป็นต้นแบบไหมครับ

และหากถามคำถามนี้กับ เจอร์เก้น คล็อปป์ เขาก็จะตอบว่าไอดอลในสายงานโค้ชฟุตบอลคือเจ้านายของเขาเอง



"เขาคือ โวล์ฟกัง แฟร้งค์ น่าเสียดายที่เขาเสียชีวิตเร็วไป" กุนซือเยอรมันตอบด้วยน้ำเสียงที่เปี่ยมไปด้วยความเคารพหลังจาก เจมี่ คาร์ราเกอร์ ถามถึงเรื่องนี้

ในวงการฟุตบอล สำหรับ คล็อปป์ ไม่มีใครที่มีอิทธิพลต่อตัวเขามากไปกว่า โวล์ฟกัง แฟร้งค์ อีกแล้ว

ถ้าไม่มี โวล์ฟกัง แฟร้งค์ แล้วล่ะก็ ถาดแชมป์ บุนเดสลีกา ที่ คล็อปป์ ทำได้กับ โบรุสเซียร์ ดอร์ทมุนด์ หรือแชมป์พรีเมียร์ลีก ที่ทำได้กับ ลิเวอร์พูล ก็อาจไม่เกิดขึ้น

"ตอนที่ผมเป็นกุนซือน่ะผมใช้หลายอย่างที่ได้เรียนรู้จากเขา"

"เขาเป็นแบบอย่างที่สมบูรณ์แบบเลยล่ะ" คล็อปป์ ยืนยันแบบนั้น

...

ก่อนหน้านี้ ชื่อของ แฟร้งค์ แทบไม่เป็นที่รู้จักเท่าไหร่ คนที่รับรู้คงมีเพียงคนที่เคยเกี่ยวข้องกับตัวเขาเท่านั้น

จนกระทั่งเมื่อไม่กี่ปีมานี้ จากการที่ คล็อปป์ มีชื่อเสียงโด่งดังก็ช่วยให้ แฟร้งค์ ได้รับการรู้จักมากขึ้นทั้งในประเทศตัวเอง หรือแม้แต่นอก เยอรมนี ก็ตาม

ชีวิตการคุมทีมของ แฟร้งค์ มีทั้งช่วงขาขึ้นและขาลงเหมือนกับกุนซือคนอื่นๆ

หากสภาพแวดล้อมของที่นั่นไม่เหมาะสมกับตัวเขา แฟร้งค์ มักจะไม่อยู่กับสโมสรใดสโมสรหนึ่งนานนัก

งานคุมทีมครั้งแรกของ แฟร้งค์ เกิดขึ้นที่ เอฟซี กลารัส ในสวิตเซอร์แลนด์ ที่นี่ถือว่าเขาประสบความสำเร็จอย่างมาก

แนวคิดของ แฟร้งค์ ถือเป็นไอเดียที่แปลกใหม่สำหรับลีกสวิส เขานำทีมก้าวจากทีมระดับโนเนมขึ้นไปเล่นในระดับ เนชันนอลลีกา บี หรือลีกระดับสองของสวิตเซอร์แลนด์ได้ภายในระยะเวลาเพียง 4 ปี

ผลงานของ แฟร้งค์ ทำให้ในปี 1989 เขาก้าวไปคุมทีม เอฟซี อารัว ในลีกสูงสุดของ สวิส แต่ แฟร้งค์ อยู่กับทีมแค่ 1 ฤดูกาลเศษๆ แล้วก็ย้ายไปคุม เอฟซี เว็ตติงเก้น กับ เอฟซี วินเตอร์ตูร์ ระยะสั้นๆ

เขาใช้เวลากับสองทีมนั้นรวมแล้วไม่เกิน 2 ฤดูกาล โดยไม่สามารถทำผลงานที่น่าประทับใจได้เลย ก่อนจะย้ายกลับมายังบ้านเกิด เพื่อมาคุม ร็อต-ไวส์ เอสเซ่น ทีมในลีกระดับ 2 เยอรมัน

ผลงานของ แฟร้งค์ กับที่ ร็อต-ไวส์ เอสเซ่น นี่เองที่ไปเข้าตาของ คริสเตียน ไฮเดิล ผู้อำนวยการทั่วไปของ ไมน์ซ

แฟร้งค์ พา ร็อต-ไวส์ เอสเซ่น ไปถึงรอบชิงชนะเลิศของศึก เดเอฟเบ-โพคาล ได้ทั้งที่เป็นเพียงทีมระดับดิวิชั่น 2

แม้นัดชิงฯ ทีมของ แฟร้งค์ จะแพ้ต่อ แวร์เดอร์ เบรเมน 1-3 แต่ผู้อำนวยการทั่วไปของ ไมน์ซ ยังประทับใจผลงานของ แฟร้งค์ เอามากๆ

ก่อนที่สุดท้าย ไมน์ซ จะได้คนที่ต้องการในช่วงเดือนกันยายน ปี 1995

...

ตอนที่ แฟร้งค์ เข้ามาคุม ไมน์ซ นั้น พวกเขาจมบ๊วยของ ลีกา 2 และกำลังหาทางดิ้นรนสุดชีวิต

สำหรับ ไฮเดิล นี่คือการเดิมพันที่เสี่ยงสุดๆ เพราะแนวทางของ แฟร้งค์ เป็นแนวทางที่แปลกใหม่

ถ้าให้เปรียบก็เหมือนกับเป็นแนวทางที่มาจากอีกโลกหนึ่ง

การเอา แฟร้งค์ เข้ามาคุมทีมทำให้เกิดความแคลงใจ แต่ถึงอย่างไร ไมน์ซ ตอนนั้นไม่มีอะไรจะเสียอีกแล้ว

ไฮเดิล เข้าใจได้อย่างรวดเร็วว่า แฟร้งค์ มีบางอย่างที่ต่างไปจากคนอื่น เพราะโค้ชคนใหม่รายนี้จริงจังกับการทำงานมากๆ

เขาใช้เวลาหลายชั่วโมงทั้งช่วงก่อนและหลังการซ้อมในการคิดค้นวิธีการใหม่ๆ หมกมุ่นกับการทำงานและมุ่งมั่นกับการสร้างทีมให้ออกมาตามแบบที่ตัวเองวาดภาพไว้

นี่เป็นครั้งแรกในอาชีพการคุมทีมของ แฟร้งค์ ที่เขาได้รับอิสระอย่างเต็มที่ และที่จริงมันก็อาจเป็นครั้งเดียวที่เขาได้รับโอกาสนั้นด้วย

"แฟร้งค์ ต้องการให้สโมสรต่างๆ ที่เอาเขาไปคุมทีมช่วยอดทนกับเขาสักหน่อยเมื่อถึงเวลาที่ต้องทำการเปลี่ยนแปลงเรื่องต่างๆ" ไฮเดิล เคยพูดในตอนที่ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร บอลเอสเตอเรอร์

"แต่เขาเองกลับไม่ค่อยมีความอดทนมากเท่าไหร่ เมื่อเขาต้องการอะไรก็ตามเขาก็ต้องได้มันในทันที เขาเป็นคนที่บ้ามากๆ แต่ผมหมายถึงบ้าในทางที่ดีนะ"

"สำหรับเขาแล้วสิ่งที่สำคัญมีเพียงฟุตบอลเท่านั้น ถ้าจะบอกว่าเขาใช้ชีวิตอยู่ใน บรูชเว็กสตาดิโอน (สนามเหย้าของ ไมน์ซ) เลยมันก็ไม่ผิดนัก"

...

ที่ ไมน์ซ 05 นักเตะทุกคนมีอาการล้ากันมากๆ หลังจากเจอการฝึกซ้อมภายใต้เทรนเนอร์คนใหม่

พวกเขาถูกกักตัวอยู่ในห้องเป็นเวลา 2 ชั่วโมงเพื่อรับฟังคำแนะนำเรื่องแท็กติกอันมากมายประหนึ่งตำราพิชัยสงครามของ ซุนวู

พอถึงเวลา 11 โมงเช้า ผู้เล่นก็เริ่มเดินลงสนามโดยในหัวมีแต่ด้วยข้อมูลต่างๆ ที่อัดแน่นเต็มไปหมด

วิธีการทำทีมของ แฟร้งค์ คือเขาจะไม่ให้ลูกทีมได้สัมผัสกับลูกฟุตบอลจนกว่าจะมองว่าตัวเองสามารถทำให้ลูกทีมเข้าใจไอเดียของตนได้อย่างถ่องแท้

สำหรับนักเตะบางคน มันอาจเป็นวิธีการที่ยากเกินกว่าที่พวกเขาจะรับไหว การที่ แฟร้งค์ เป็นคนละเอียดสุดๆ และให้ความสำคัญกับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อาจทำให้ผู้เล่นบางคนไม่ชอบ รวมถึงอาจส่งผลให้พวกเขาล้าตั้งแต่ก่อนจะได้สัมผัสกับลูกบอล

อย่างไรก็ตาม เจอร์เก้น คล็อปป์ ที่ตอนนั้นเข้าสู่วัยเลขสามนำหน้า คือคนที่เห็นดีเห็นงามกับไอเดียนี้

คล็อปป์ เป็นกองหลังจอมขยัน แต่เรื่องเทคนิคนั้นไม่ค่อยแพรวพราวเท่าไหร่นัก

คล็อปป์ สนใจไอเดีย และต้องการเรียนรู้แนวทางของเจ้านายคนนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับอาชีพการคุมทีมในอนาคต ซึ่งเขาก็ไม่มีปัญหาเลยกับการที่ต้องมานั่งฟังแท็กติกต่างๆ ตั้งแต่เช้าตรู่

"ทุกคนที่ไปประชุมทีมตอน 7 โมงเช้าต่างก็มีอาการสลึมสลือกันทั้งนั้น แต่ทุกครั้งคนเหล่านั้นก็จะได้เห็น แฟร้งค์ กับ คล็อปป์ นั่งวิเคราะห์เรื่องต่างๆ ต่อหน้าทุกคนในทีมเป็นเวลา 2 ชั่วโมง" ทอร์สเท่น ไลเบอร์เน็คช์ อดีตเพื่อนร่วมทีมของ คล็อปป์ ที่ ไมน์ซ ในยุคนั้น โดยภายหลังเขาก็ผันตัวไปเป็นเทรนเนอร์เช่นกัน

"เห็นได้ชัดตั้งแต่ตอนนั้นแล้วว่าวันหนึ่ง คล็อปป์ จะทำงานด้านกุนซือแน่ๆ"

อันที่จริง คล็อปป์ ไม่ใช่นักเตะคนเดียวที่ได้รับแรงบันดาลใจจากไอเดียของ แฟร้งค์

อ้างอิงจากรายงานของ ยาน บุดด์ ในรายการ พ็อดแคสต์ "ดี ฮินเตอร์ฮอฟซิงเกอร์ Die Hinterhofsänger) แล้วล่ะก็ ขุมกำลังของ ไมน์ซ ในยุคของ แฟร้งค์ มีเกินครึ่งทีมเลยทีเดียวที่เวลาต่อมากลายเป็นเทรนเนอร์

"ผมได้เรียนรู้หลายอย่างจากเขา และเอาหลายอย่างมาใช้กับตัวเอง" ไลเบอร์เน็คช์ เผย

"ในมุมหนึ่งนั้นเขาเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์มากๆ ในเรื่องของแท็กติก แถมเขายังเป็นผู้นำของทีมในแบบที่น่าทึ่งด้วย เขามักจะสนิทสนมกับนักเตะอยู่เสมอ"

"แต่ในขณะเดียวกันก็เว้นระยะห่างกับลูกทีมในแบบที่เหมาะสมด้วย เขาสามารถแสดงให้นักเตะทุกคนเห็นได้ว่าแต่ละคนต่างก็เป็นส่วนสำคัญของทีม เขามีสไตล์ความเป็นผู้นำที่น่าทึ่ง และต่างไปจากกุนซือ ไมน์ซ คนก่อนๆ "

...

สำหรับ ไมน์ซ แฟร้งค์ เป็นเหมือนผู้กอบกู้สโมสรแห่งนี้ เขาเข้ามาคุมทีมโดยที่มีพื้นเพไม่ได้โด่งดังกับเส้นทางการเป็นเทรนเนอร์

หลังจากแขวนสตั๊ด แฟร้งค์ เป็นจอมพเนจรที่ไม่สามารถหาสถานที่ที่เหมาะสมเป็นหลักแหล่ง

การเตรียมความพร้อมสำหรับอาชีพเทรนเนอร์เริ่มขึ้นในตอนที่เขายังเป็นผู้เล่นที่ประสบความสำเร็จ แฟร้งค์ เคยเป็นกองหน้าที่ทำประตูได้ต่อเนื่อง เคยเล่นให้หลายทีม อาทิ สตุ๊ตการ์ท, อาแซด อัลค์มาร์ และ ดอร์ทมุนด์

ในช่วงระหว่างการค้าแข้ง แฟร้งค์ หันมาสนใจอาชีพเทรนเนอร์ และช่วงไม่กี่เดือนสุดท้ายของการเป็นนักเตะอาชีพ เขาสอบวิชาชีพครูผ่าน โดยมีความเชี่ยวชาญด้านกีฬาและศาสนา ซึ่งนั่นนับมีส่วนช่วยในมุมมองการทำงานด้านโค้ช

แฟร้งค์ เป็นคนที่มีระเบียบวินับสูง มีสมาธิทำงานแน่วแน่ และมุ่งมั่นกับการหาแนวคิดใหม่ๆ รวมถึงพยายามที่จะพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ

อย่างไรก็ดี เขาแทบไม่มีอารมณ์ขันเท่าไหร่นัก ต่างจาก คล็อปป์ ราวฟ้ากับเหว

ราล์ฟ โฮนิกสไตน์ ผู้เขียนหนังสือชื่อ คล็อปป์ : บริง เดอะ นอยส์ (Klopp: Bring the Noise) บอกว่า แฟร้งค์ มีปัญหาในด้านการสื่อสานกับคนอื่น เขาไม่สามารถทำแบบเดียวกับ คล็อปป์ ได้

"แฟร้งค์ เป็นพวกที่มีนิสัยเก็บตัวมากกว่า, กังขาในตัวเองง่ายกว่า, อ่อนไหวกับปฏิกิริยาที่คาดไม่ถึงได้ง่ายกว่า ผมคิดว่า คล็อปป์ มองเห็นถึงเรื่องอื่นๆ นอกเหนือจากความเป็นอัจฉริยะของ แฟร้งค์ มันไม่ใช่ว่าทุกคนจะมองเห็นแบบเดียวกับ คล็อปป์ ผมคิดว่าคงเป็นเพราะเขาเป็นคนที่เข้าใจได้ยากและซับซ้อนสุดๆ" โฮนิกสไตน์ กล่าวในหนังสือ

...

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของ แฟร้งค์ เป็นการเปลี่ยนแปลงในเรื่องที่หลายคนคาดไม่ถึง

ถ้าจะกล่าวง่ายๆ ก็เป็นเหมือนข้อเสนอที่ฟังดูเป็นเรื่องไร้สาระ เขาอยากให้ ไมน์ซ ลงเล่นโดยที่ไม่มีนักเตะในตำแหน่งสวีปเปอร์หรือลิเบโร่ รวมถึงอยากให้ทีมเปลี่ยนไปใช้ระบบ 4-4-2 ทั้งที่ตอนนั้นใน เยอรมนี การจัดแผนโดยที่มีสวีปเปอร์เป็นเทรนด์ยอดฮิตที่ทุกทีมใช้กัน

ทว่า แฟร้งค์ ยืนกรานว่าเขาต้องการให้ทีมเล่นด้วยแผน 4-4-2

ไอเดียเกี่ยวกับแท็กติกของ แฟร้งค์ มีต้นเหตุมาจากการที่ตัวเองนับถือ อาร์รีโก้ ซาคคี่ อดีตยอดโค้ชของ เอซี มิลาน ในช่วงทศวรรษ 1980 กับ 1990 เอามากๆ

แฟร้งค์ อยากให้ทีมของเขาเล่นด้วยความลื่นไหล และกดดันคู่แข่งอย่างต่อเนื่องในทุกๆ พื้นที่ของสนาม

เขาอยากให้ทีมเล่นด้วยความดุดันและไม่ยอมแพ้ใครง่ายๆ นอกจากนี้ยังอยากให้ทีมคุมพื้นที่ว่างให้ได้ชนิดที่ว่าทำให้คู่แข่งหายใจไม่ออก และที่ ไมน์ซ เขาก็ได้โอกาสทำแบบนี้

"สำหรับวงการฟุตบอลเยอรมนีแล้ว แฟร้งค์ มีไอเดียด้านฟุตบอลที่ถือว่าเป็นเหมือนการปฏิวัติเลย เพราะเขายึดหลักในการทำทีมจากสไตล์การเน้นกดดันและเกมรับเป็นหลักของ อาร์รีโก้ ซาคคี่" ปีเตอร์ คราเวียตซ์ ผู้ช่วยผู้จัดการทีม ลิเวอร์พูล ซึ่งเป็นอดีตหัวหน้าแมวมองของ ไมน์ซ เผยกับ เดอะ เทเลกราฟ เมื่อปี 2016

"ในเยอรมนี การใช้ระบบแผงหลัง 4 คนมันเป็นเรื่องแปลกใหม่ ไมน์ซ เป็นทีมแรกที่ใช้แผนแบบนั้น และความสำเร็จที่เกิดขึ้นมันก็น่าเหลือเชื่อมากๆ แฟร้งค์ เป็นคนที่สำคัญกับเราทุกคนในตอนที่เขาเข้ามาคุม ไมน์ซ"

แน่นอนล่ะ ความสำเร็จมันไม่ได้เกิดขึ้นทันทีหรอก

แฟร้งค์ เข้ามาคุม ไมน์ซ ในตอนที่ทีมกำลังดิ้นรนหนีการตกชั้น และผลการแข่งขันก็ไม่ได้ดีขึ้นทันตาเห็น สายพานด้านแท็กติกค่อยๆ ดำเนินไปอย่างช้าๆ แต่ว่าสุดท้ายแล้ว คล็อปป์ กับบรรดาเพื่อนร่วมทีมของเขาก็ชื่นชอบแนวทางการเล่นแบบนี้

ท้ายที่สุด แฟร้งค์ พา ไมน์ซ รอดตายได้แบบฉิวเฉียด และพอฤดูกาลต่อมาเขาก็เกือบพาทีมเลื่อนชั้นสู่ บุนเดสลีกา สำเร็จ

การเปลี่ยน ไมน์ซ ของ แฟร้งค์ มันไม่ได้ทำให้ทีมได้ถ้วยแชมป์หรือได้รับการยอมรับในวงกว้างก็จริง แต่เขาก็ทำให้สโมสรเกือบได้ขึ้นไปเล่นในลีกสูงสุด ซึ่งนั่นก็เป็นการตั้งมาตรฐานให้กับโค้ชรุ่นใหม่ตามไปด้วย

...

แฟร้งค์ บอกลา ไมน์ซ ในปี 1997 เพื่อไปคุม เอฟเค ออสเตรีย เวียน แต่เขาก็ห่างเหินจาก ไมน์ซ ได้ไม่นาน เพราะในปีต่อมาเขาได้รับโอกาสที่จะได้กลับไปคุมทีมอีกครั้งโดยครั้งนี้เขาสามารถพาสโมสรจบฤดูกาลในศึก ลีกา 2 ด้วยการติด 10 อันดับแรกของตารางคะแนนได้อีก 2 ซีซั่น

"ในฐานะโค้ชแล้วนั้น แฟร้งค์ ให้ความสำคัญกับทีมของเขาเป็นอันดับแรกอยู่เสมอ" ไลเบอร์เน็คช์ ระบุ

"นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้เขามักจะมีปัญหากับคนใหญ่โตของสโมสรที่เขาไปรับงานด้วย แต่มันก็เป็นการทำให้สโมสรมีความเป็นมืออาชีพมากกว่าเดิมและแข็งแกร่งขึ้นทุกครั้ง เขาเป็นคนที่มีความคิดลึกซึ้ง เขามองไกลกว่าเรื่องฟุตบอลอยู่เสมอ"

อย่างไรก็ตาม แฟร้งค์ บอกลา ไมน์ซ อีกครั้งในปี 2000 และหนนี้ก็ไม่มีภาค 3 อีกต่อไป

สาเหตุที่เขาบอกลาทีมเป็นเพราะไม่อยากตัดโอกาสอันหอมหวานของการไปคุม ดุยส์บวร์ก ทีมในระดับ บุนเดสลีกา แต่พอไปทำงานกับที่นั่นแล้วเขากลับโดนปลดหลังจากเริ่มฤดูกาลไปได้เพียง 4 เดือน

ต่อมา แฟร้งค์ ก็ไปคุม เอสพีวีจีจี อุนเตอร์ฮัคกิ้ง พร้อมกับพาทีมเลื่อนชั้นจากลีกระดับ 3 ขึ้นมาเล่นใน ลีกา 2 ได้ ทว่าสุดท้ายเขาก็โดนไล่ออกอีกเพราะไม่สามารถหาสูตรสำเร็จแบบเดียวกับที
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่