“ผีเสื้อและดอกไม้” เป็นชื่อนิยายขนาดสั้นของ “นิพพานฯ” ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2521 และได้รับรางวัลจากการประกวดหนังสือแห่งชาติในปีเดียวกัน อีกทั้งกรมวิชาการ ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ก็ยังเลือกให้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาในวิชาภาษาไทย ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งต้องบอกว่าเป็นเรื่องน่าทึ่ง และพร้อมๆกันนั้น ก็ต้องปรบมือให้กับวิสัยทัศน์ของหน่วยงานราชการที่ทั้งเปิดกว้างและน่ายกย่องชื่นชม โดยเฉพาะเมื่อคำนึงว่า นี่ไม่ได้เป็นหนังสือจำพวกสั่งสอนศีลธรรม หรือสะท้อนวิธีคิดแบบอนุรักษ์นิยมหรือคร่ำครึโบราณ หากแต่เป็นการตั้งคำถามกับหลายสิ่งหลายอย่างในสังคม การปฏิบัติตามกฎหมาย, ความถูกต้อง, ความดีงาม, ความยากดีมีจน และในหลายกรณี วิพากษ์วิจารณ์ทั้งระบบเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา ณ ดินแดนที่ห่างไกลความเจริญ
นับเนื่องจนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2557) นิยายเรื่องผีเสื้อและดอกไม้ ได้รับการตีพิมพ์สิริแล้ว 19 ครั้ง ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศอย่างน้อยสองภาษา อันได้แก่ ญี่ปุ่นและจีน นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2543 “ผีเสื้อและดอกไม้” ยังได้รับเลือกให้เป็นหนังสือหนึ่งในร้อยเล่มที่เด็กและเยาวชนควรอ่าน โดยโครงการของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
กล่าวสำหรับตัวหนัง ข้อมูลหลายแหล่งระบุตรงกันว่า หนึ่งในเหตุผลที่บริษัท ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น ซึ่งในตอนนั้น (พ.ศ. 2528) อาจกล่าวได้ว่าเป็นเสมือนห้องเครื่องของอุตสาหกรรมหนังไทย และรวบรวมคนทำหนังแถวหน้าในสังกัดเอาไว้เป็นจำนวนมาก ยอมอนุญาตให้ ยุทธนา มุกดาสนิท ดัดแปลงนิยายเรื่องนี้ของนิพพานฯ เป็นหนัง ทั้งๆ ที่โอกาสในทางการตลาดของมันนับว่าริบหรี่ หรืออย่างน้อยก็ไม่สวยสดงดงาม โดยเฉพาะเมื่อเปรียบกับนิยายประโลมโลกย์ ซึ่งมักจะถูกนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการดัดแปลงเป็นหนังเป็นประจำ ก็เนื่องด้วยหนังเรื่อง “น้ำพุ” ของยุทธนา ซึ่งสร้างและออกฉายในปีก่อนหน้า (พ.ศ. 2527) เพิ่งประสบความสำเร็จทางรายได้อย่างงดงาม และนั่นทำให้ เจริญ เอี่ยมพึ่งพร ในฐานะนายใหญ่ของค่ายไฟว์สตาร์ฯ เปิดไฟเขียวให้ ทั้งๆ ที่เมื่อคำนึงในเรื่องของงบประมาณการสร้างที่สูงถึงราวๆ 25 ล้านบาท ตลอดจนความยากลำบากในการต้องยกกองลงไปถ่ายทำ ณ จังหวัดชายแดนภาคใต้จริงๆ เป็นระยะเวลาเนิ่นนานแรมเดือน ก็อาจจะเรียกได้ว่าไม่คุ้มค่าในแง่ของการลงทุน
ความพิเศษที่มองเห็นได้อย่างชัดแจ้งที่สุดของหนังเรื่อง ผีเสื้อและดอกไม้ ได้แก่การที่มันเป็นหนังไทยหนึ่งในน้อยเรื่องมากๆ ที่บอกเล่าเรื่องราวของชาวมุสลิม ณ จังหวัดชายแดนภาคใต้ และถึงแม้ว่าสถานการณ์ความเป็นไปของบ้านเมืองในตอนที่หนังเรื่องนี้ไปปักหลักถ่ายทำ อันน่าจะได้แก่ในช่วงราวๆ ต้นปี 2528 จะไม่คุกรุ่นและเดือดพล่านเหมือนกับช่วงหลังจากเดือนมกราคม ปี 2547 ซึ่งเป็นเสมือนจุดเริ่มต้นของความรุนแรงระลอกใหญ่ที่บานปลายมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน แต่ถึงกระนั้น ก็ใช่ว่าเราจะมองไม่เห็นรากเหง้าของปัญหา อย่างน้อยที่สุด มันก็ได้แก่เรื่องของความยากจน ซึ่งกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ไม่เพียงตัดอนาคตของเด็กหนุ่มที่เส้นทางการศึกษาของเขาน่าจะทอดไปข้างหน้าอย่างยาวไกล หากยังผลักไสไล่ส่งให้เขาต้องลงเอยด้วยการเป็นคนที่ทำตัวนอกกรอบและกฎเกณฑ์ของสังคม และเหนืออื่นใด มีชีวิตที่สุ่มเสี่ยงต่อการถูกจับกุม ตลอดจนอันตรายนานัปการทั้งจากผู้คนที่แวดล้อมและจากอุบัติเหตุไม่คาดฝันซึ่งสามารถจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
หนังเรื่องผีเสื้อและดอกไม้ ไม่ประสบความสำเร็จด้านรายได้ในตอนที่ออกฉาย ข้อมูลระบุว่า หนังทำเงินประมาณเดียวกับทุนสร้าง ซึ่งก็แปลว่าเมื่อคำนวณร่วมกับงบโฆษณาประชาสัมพันธ์ และการแบ่งรายได้กับโรงภาพยนตร์-ก็ถือว่าล้มเหลวในแง่ของการลงทุน แต่ก็ไปได้สวยบนเวทีรางวัล หนังคว้า 7 รางวัลตุ๊กตาทองของสมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทย รวมถึงหนังยอดเยี่ยมและผู้กำกับยอดเยี่ยม นั่นคือช่วงก่อนหน้าที่จะมีงานมอบรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติสุพรรณหงส์ และรางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิง
อีกทั้งตัวหนังยังถูกส่งไปประกวดในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติฮาวาย และชนะเลิศรางวัลที่ใช้ชื่อว่า East-West Center Award ซึ่งเปรียบได้กับหนังยอดเยี่ยมของเทศกาล ข้อที่ควรระบุก็คือ หนังอีกเรื่องหนึ่งที่ร่วมประกวดในเทศกาลเดียวกันก็คือ A Time to Live, A Time to Die ของ โหวเสี่ยวเชี่ยน
อีกทั้งเมื่อวันคืนผ่านพ้นไป หนังก็ไม่ได้ตกหล่นหรือสูญหายไปในกาลเวลาและจากการระลึกถึงของผู้ชม นักดูหนังจำนวนไม่น้อยยังคงยกให้ “ผีเสื้อและดอกไม้” เป็นผลงานที่ดีที่สุดของ ยุทธนา มุกดาสนิท และในช่วงต้นปี พ.ศ. 2548 หอภาพยนตร์แห่งชาติ (ชื่อในขณะนั้น) ก็เลือกให้ผีเสื้อและดอกไม้ อยู่ในลิสต์รายชื่อ “100 ภาพยนตร์ไทยที่คนไทยควรดู” รวมทั้งในปี พ.ศ. 2554 เมื่อหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) จัดทำโครงการขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์แห่งชาติเป็นครั้งแรก ผีเสื้อและดอกไม้ ก็เป็นหนึ่งในหนัง 25 เรื่องแรก ที่ได้รับการค้ำประกันว่า มันจะถูกเก็บรักษาไปตราบนานเท่านาน รวมทั้งเป็นผลงานที่สมควรแนะนำให้ผู้ชมรุ่นหลังได้ยลโฉมในฐานะผลงานที่ทรงคุณค่าของยุคสมัย
ใครที่เคยได้อ่านหนังสือผีเสื้อและดอกไม้ ของนิพพานฯ คงจะสังเกตเห็นได้ว่า ผู้เขียนไม่เคยบอกอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรว่า ฉากหลังของเรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้น ณ แห่งหนตำบลใด เรารู้เพียงแค่ว่ามันได้แก่ซักอำเภอหนึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และอยู่ไม่ห่างไกลจากประเทศมาเลเซีย ทว่าตัวหนังเปิดเผยให้ได้รับรู้ตรงๆ ว่า มันคืออำเภอเทพา ซึ่งตั้งอยู่ตอนล่างของจังหวัดสงขลา ใกล้กับยะลา และปัตตานี และแน่นอนว่า ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ขณะที่ช่วงเวลาของเรื่องราวทั้งหมด-เป็นเหตุการณ์ร่วมสมัย หรือในตอนที่การลักลอบขนสินค้าหนีภาษี และนั่นรวมถึงข้าวสารและน้ำตาลไปขายชายแดน ยังคงหล่อเลี้ยงวิถีชีวิตของกลุ่มคนยากไร้ที่ใครๆ เรียกขานพวกเขาเหล่านั้นว่า “กองทัพมด” ข้อน่าสังเกตก็คือ ในเครดิตช่วงต้นเรื่องที่หนังขึ้นตัวหนังสือขอบคุณหน่วยงานทั้งหลายที่ให้ความช่วยเหลือในการถ่ายทำ “ขบวนการกองทัพมด” ก็เป็นหนึ่งในรายชื่อผู้สนับสนุนการสร้างหนังเรื่องนี้
ตัวเอกของเรื่องได้แก่เด็กหนุ่มอายุ 13 ปีที่ชื่อ ฮูยัน (สุริยา เยาวสังข์) ผู้ซึ่งในตอนเริ่มต้น หนังให้เห็นว่าเขาเป็นเด็กโข่งและนั่งอยู่หลังสุดของห้องเรียน ซึ่งรายละเอียดในหนังสือของ “นิพพานฯ” แจกแจงให้รับทราบว่า ฮูยันเข้าเรียนช้ากว่าเด็กรุ่นราวคราวเดียวกัน เนื่องจากแม่ของเขาเสียชีวิตตั้งแต่เขายังเล็กๆ และในฐานะของพี่ชายคนโต เขาต้องช่วย ปุนจา (สุเชาว์ พงษ์วิไล) พ่อของเขาซึ่งเป็นกุลีแบกหามที่สถานีรถไฟ-เลี้ยงน้องชายและน้องสาวอีกสองคน แต่ถึงกระนั้น เขาก็เป็นเด็กหัวดี และในความคิดเห็นของทั้งคุณครู (ดวงใจ หทัยกาญจน์) และเพื่อนร่วมชั้นเรียน ต่างก็พากันเชื่อว่า ถ้าหากจะมีใครซักคนในห้องที่มีศักยภาพจะเรียนหนังสือชั้นสูงๆ หรือแม้กระทั่งไปต่อเมืองนอกเมืองนา คนๆ นั้นก็ได้แก่ฮูยัน
แต่ก็อีกนั่นแหละ ไม่มีใครรู้เรื่องนี้ดีกว่าตัวฮูยันเอง ผู้ซึ่งอย่าว่าแต่ศึกษาต่อในชั้นสูงๆ ขึ้นไปเลย ลำพังแค่เรียนหนังสือให้จบชั้นประถมปีที่ 4 ก็ทำท่าว่าเป็นไม่ได้ เหตุผลไม่มีอะไรซับซ้อนมากไปกว่าความขัดสนและฝืดเคือง จนแม้กระทั่งค่ากระดาษสอบที่โรงเรียนทวงแล้วทวงอีก ก็ยังติดค้างจนกระทั่งวันสุดท้าย และสถานการณ์ก็ทำท่าว่าจะย่ำแย่ลงไปเรื่อยๆ เมื่อปุนจาบ่นให้ได้ยินว่า ผู้คนหันไปใช้รถยนต์กันหมด และไม่ค่อยมีข้าวของให้ขนที่สถานีรถไฟ
ความผิดแผกแตกต่างไปจากหนังไทยประเพณีนิยมอีกประการหนึ่งของผีเสื้อและดอกไม้ นอกเหนือจากความเป็นหนังที่เกี่ยวข้องกับคนมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเรื่องของกลวิธีในการบอกเล่าและนำเสนอนั่นเอง พูดง่ายๆ ก็คือ หนังไม่ได้มีสิ่งที่เรียกว่าพล็อต หรือโครงเรื่องที่แต่ละเหตุการณ์ล็อคหรือผูกมัดกันอย่างแน่นหนาและตายตัวเหมือนกับการเกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ และนำไปสู่ไคลแม็กซ์ของเรื่องที่จำเป็นต้องระเบิด, แตกหัก หรือนำไปสู่คำตอบบางอย่างในแบบที่ไม่มีทางหลีกเลี่ยง ทว่าแต่ละเหตุการณ์ที่เรียงร้อย ได้รับการถ่ายทอดในลักษณะที่ละม้ายคล้ายคลึงกับความเป็นจริงตามวิสัยของหนังในแบบเรียลิสต์หรือสัจนิยม มันเกาะเกี่ยวกันอย่างหลวมๆ และกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็มีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ข้อสำคัญก็คือ ไม่มีการใส่เหตุบังเอิญเข้ามาหันเหหรือบีบบังคับทิศทางของการเล่าเรื่องตามอำเภอใจ และ/หรือ เพื่อสร้างความหวือหวาหรือน่าตื่นเต้นจนทำให้หนังสูญเสียทั้งโมเมนตั้มและความเป็นธรรมชาติโดยไม่คำนึงถึงความเป็นไปได้ของเหตุการณ์ทีละน้อย
อย่างไรก็ตาม ระดับของความเหมือนจริงของหนังก็ยังไปไม่ถึงขั้นของการใช้นักแสดงสมัครเล่น หรือการกำหนดให้ตัวละครพูดภาษาท้องถิ่น และภาษาที่ตัวละครสื่อสารทั้งที่โรงเรียนและบ้านก็เป็นภาษากลางของคนกรุงเทพฯ
ผู้ชมก็สรุปได้ไม่ยากเย็นว่าส่วนหนึ่งของเนื้อหาบอกเล่าในสิ่งที่เรียกว่า ชีวิตที่ต้องดิ้นรนกระ
กระสนเพื่ออยู่รอดของฮูยัน ซึ่งก็เป็นอย่างที่หนังแสดงให้เห็น ไม่มีอะไรง่ายดาย รวมถึงไม่มีทางออกหรือคำตอบที่สำเร็จรูปและตายตัว แต่ถึงกระนั้น ข้อที่ควรกล่าวถึงอย่างยิ่งยวดก็คือ ทั้งหนังของยุทธนา และหนังสือของนิพพาน กลับสะท้อนความเชื่อมั่นและศรัทธาในเพื่อนมนุษย์ด้วยการแสดงให้เห็นว่า อย่างน้อยที่สุด ผู้คนรอบตัวของหนุ่มน้อย-ก็ไม่ได้ใจไม้ไส้ระกำและแห้งแล้ง และต่างก็หยิบยื่นความช่วยเหลือให้แก่กันและกันตามสมควร ในกรณีของคุณครู เธอไม่เพียงช่วยออกค่ากระดาษสอบให้กับฮูยัน
ทั้งๆ ที่ผู้ชมรู้อยู่แก่ใจว่าเธอเองก็ย่อมจะต้องมีค่าใช้จ่ายจิปาถะส่วนตัว และไม่สามารถจะทำเช่นนี้กับนักเรียนยากจนทุกคน และยังเป็นธุระจัดการให้หนุ่มน้อยได้ขายไอศกรีมแท่งในโรงเรียน ด้วยปรารถนาให้เขาได้มาสอบไล่เพื่อจะได้มีใบสุทธิรับรองวุฒิการศึกษา หรือตัวครูใหญ่เองซึ่งแม้ว่าบทบาทจะน้อยนิด แต่การที่เขาอนุโลมให้เด็กหนุ่มขายไอศกรีมทั้งๆ ที่ผิดกฎระเบียบของโรงเรียน ก็กลับทำให้ผู้ชมรู้สึกได้ถึงความเป็นมนุษย์มนาของตัวละคร
แต่ก็อีกนั่นแหละ นั่นนำไปคำถามที่ใหญ่โตกว่านั้นมากนัก ว่าทำไมระบบการศึกษาในตอนนั้นถึงไม่เหลียวแลนักเรียนที่มีปัญหาบีบคั้นในทางเศรษฐกิจแบบนี้ และปล่อยให้พวกเขาต้องต่อสู้กับความยากไร้แต่เพียงลำพัง ทั้งๆ ที่วุฒิภาวะยังนับว่าอ่อนด้อยนัก
หรือกล่าวให้ครอบคลุม บรรดาตัวละครที่พระเอกของเราได้พานพบในตอนหลัง ซึ่งสมมติว่ามองอย่างผิวเผินแล้ว คนเหล่านั้นก็มีสถานะไม่แตกต่างไปจากกากเดนหรือแม้กระทั่งตัวสร้างปัญหาให้กับสังคม แต่เมื่อหนังพาผู้ชมไปพบและได้ใช้เวลาคลุกคลีตีโมง มันก็แทบจะทำให้พวกเราในฐานะผู้ชมรู้สึกผิดที่ตีตราหรือยัดเยียดข้อกล่าวหาคนเหล่านั้นโดยที่ไม่ทันได้ลองสวมใส่รองเท้าที่พวกเขาใช้ในการก้าวเดิน
"ผีเสื้อและดอกไม้" พวกเราต่างล้วนใฝ่หาความดี อีกหนึ่งผลงานภาพยนตร์ไทยทรงคุณค่า