Venom : ตลกร้ายในหนังแอนตี้ฮีโร่ และการท้าทายนิยาม ‘ความเป็นอื่น’


Venom เล่าเรื่องราวของ เอ็ดดี บร็อค (ทอม ฮาร์ดี) นักข่าวผู้ชอบท้าทายผู้มีอิทธิพลซึ่งได้ตามสืบข่าวองค์กร ไลฟ์ ฟาวเดชั่น ของ คาร์ลตัน เดรค (ริซ อาเหม็ด) อัจฉริยะมหาเศรษฐีผู้ส่งจรวดออกไปนอกโลก เขาได้สืบไปถึงการทดลองอันชั่วร้ายที่เดรคทำกับมนุษย์ ทำให้เขาสูญเสียทั้งการงาน คนรัก และที่อยู่ไป ในขณะเดียวกัน ดร. ดอรา เสกิร์ต (เจนนี สเลต) ผู้ช่วยของเดรคได้เปิดเผยกับเขาถึงการที่เดรคนำเชื้อปรสิตจากต่างดาวที่ชื่อ ‘ซิมไบโอต’ มาทดลองกับมนุษย์อย่างไร้ศีลธรรม ตามธรรมชาติของซิมบิโอตนั้น หากมันเข้ายึดครองร่างใดแล้วเข้ากันไม่ได้ มันจะทำให้ร่างนั้นตาย และพยายามหาร่างอื่นเข้ายึดครอง บร็อคได้เข้าไปยังห้องทดลองของเดรคแบบลับๆ และถูกเชื้อปรสิตที่ชื่อ เวนอม เข้ายึดครองร่าง ปรากฏว่ามันเข้ากันได้กับร่างของบร็อค ทำให้เขากลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีพลังเหนือมนุษย์ บร็อคใช้ความสามารถนี้ในการป้องกันไม่ให้ ไรอ็อต ปรสิตอีกตัวหนึ่งนำกองทัพปรสิตตัวอื่นๆ มาถล่มโลกได้ และใช้ชีวิตร่วมกับเวนอมราวกับมันเป็นเพื่อนสนิท


ตลกร้าย : ความสัมพันธ์แบบทั้งรักทั้งชังในความเป็นแอนตี้ฮีโร่
แอนตี้ฮีโร่ (Antihero) คือตัวเอกของเรื่องเล่าที่ไม่มีคุณลักษณะของฮีโร่ อย่างเช่น ความนิยมชมชอบในอุดมคติ ความกล้าหาญ และคุณธรรม แม้ว่าบางครั้ง แอนตี้ฮีโร่จะทำสิ่งที่ถูกต้อง แต่ก็ไม่ได้มาจากเหตุผลที่ถูกต้องเสมอไป โดยมักมาจากความต้องการส่วนตัวหรือในวิธีการที่ท้าทายกฎศีลธรรมของคนทั่วไป คนดูไม่สามารถตัดสินได้ชัดเจนว่า แอนตี้ฮีโร่ควรได้รับชะตากรรมแบบใดระหว่างการตอบแทนหรือการลงโทษ แต่บ่อยครั้ง แอนตี้ฮีโร่มักได้รับการตอบแทนที่แลกมาด้วยมูลค่าราคาแพงเสมอ เพราะเขาอยู่ในพื้นที่สีเทา อย่างเช่นที่บร็อคต้องกำราบเวนอมในตัวเขาไม่ให้ออกอาละวาดกินคน(ดี)หรือกินตัวเขาเอง เป็นต้น

ความสัมพันธ์ระหว่างบร็อคและเวนอมเป็นไปในแบบทั้งรักทั้งชัง จะเห็นได้ว่าในช่วงแรกที่บร็อคถูกยึดครองร่าง เขาพยายามต่อสู้กับเวนอมอย่างเต็มที่ให้มันออกจากร่างเขาไป แต่ในที่สุดแล้ว ทั้งสองก็อยู่ร่วมกันได้ หนังแสดงให้เห็นถึงการที่บร็อคทุ่มเถียงกับเวนอม (ซึ่งมีกิริยาเหมือนกับการพูดคนเดียว) และฉากหนึ่งที่เรียกเสียงฮาได้ก็คือฉากที่เวนอมเรียกบร็อคว่า ‘ไอ้ปอดแหก’ (pussy) เมื่อบร็อคไม่ยอมกระโดดลงจากหน้าต่างตึกสูงเสียดฟ้า จะเห็นได้ว่า การที่ความสัมพันธ์ประเภทนี้เรียกเสียงฮาจากผู้ชมได้ถือเป็นตลกร้ายประเภทหนึ่ง มันเป็นตลกแบบที่คนดูไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนไปเป็นเรื่องเครียดได้เมื่อไหร่ เพราะมันเกิดจากความไม่คงเส้นคงวาของพฤติกรรมตัวละคร

ในทฤษฎีว่าด้วยความขบขัน อาจแบ่งสาเหตุของความขบขันได้ 2 ประเภท นั่นคือ ความขบขันที่เกิดจากความรู้สึกเหนือกว่า และความขบขันที่เกิดจากความไม่เข้ากัน ความขบขันแบบแรกก็อย่างเช่นเวลาเราเห็นคนเดินตกท่อ ถูกแกล้ง (prank) หรือมุกตลกแบบเอาถาดตีหัวในแบบของไทย ก็จัดเข้าในความขบขันประเภทนี้ได้เช่นกัน ความขบขันเช่นนี้เกิดขึ้นเพราะคนดูแยกตัวเองออกมาจากผู้ถูกกระทำ และรู้สึกเหนือกว่าผู้ถูกกระทำ เสียงหัวเราะที่ปล่อยออกมาจึงเป็นความโล่งใจที่ตัวเองไม่ต้องประสบกับชะตากรรมนั้น และอาจแฝงความรุนแรงอยู่ในที เพราะผู้ขบขันมีความพึงพอใจที่เห็นใครสักคนตกอับ ส่วนความขบขันแบบที่สองนั้นก็อย่างเช่นที่เราเห็นคนแต่งกายแบบผิดฝาผิดตัว ซึ่งทำให้คนนั้นดูประหลาด และเป็นความขบขันที่เราใช้อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างบร็อคและเวนอม เพราะพวกเขาไม่ได้เข้าใจกันและกัน และก็มีอยู่หลายฉากที่เวนอมให้บร็อคทำอะไรประหลาดๆ เช่น ลงไปแช่น้ำในภัตตาคารหรู การทะเลาะวิวาทระหว่างเขากับเวนอมก็เป็นสาเหตุของความขบขันด้วยเช่นกัน เพราะทั้งสองฝ่ายต่างพูดอะไรให้อีกฝ่ายเข้าใจผิดอยู่ตลอดเวลา และมีการสลับระหว่างช่วงเวลาที่เครียดแบบทีเล่นทีจริงและช่วงที่ผ่อนคลาย

ในแง่หนึ่ง แอนตี้ฮีโร่ก็เป็นเหมือนภาพสะท้อนของมนุษย์ทั่วไปอย่างพวกเราเองที่อยู่ในพื้นที่สีเทา มีหลายครั้งที่เรามีความสัมพันธ์แบบทั้งรักทั้งชังกับตัวเอง หรือไม่เข้าใจว่าที่ตัวเองทำสิ่งต่างๆ ลงไปนั้นเป็นเพราะเหตุใด แอนตี้ฮีโร่สะท้อนอัตลักษณ์ที่เต็มไปด้วยปัญหาและบอบบางของมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ แอนตี้ฮีโร่หลายๆ ตัว เช่น เดอะ พันนิเชอร์ หรือแม้กระทั่ง แบตแมน (ซึ่งบางคนอาจไม่จัดเข้าพวกแอนตี้ฮีโร่) จึงเป็นที่ชื่นชอบของใครหลายๆ คน


การท้าทายนิยาม ‘ความเป็นอื่น (Otherness)’

“การที่หมดความสำคัญในโครงสร้าง นี่คือถูกกีดกันออกจากสังคม หรือเรียกว่า ความเป็นอื่น (The Otherness) …ระบบวัฒนธรรมของสังคม ได้สร้างความเป็นอื่น อีกหลายประการ ได้แก่ คนบ้าจิตเวช เกย์ คนพิการ ชาวเขา ผู้อพยพ ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ชนิดหนึ่ง สิ่งสำคัญที่สุดแห่งความเป็นอื่น คือ พหุวัฒนธรรม วัฒนธรรมรองในวัฒนธรรมหลัก การกีดกันคนออกไปจากสังคมไปสู่ความเป็นอื่น นั้นมีความเนียนแม้แต่ผู้ถูกกีดกันก็ยังยอมรับในตำแหน่งแห่งที่ที่สังคมกำหนดให้เขา” 

หากมีสิ่งมีชีวิตจากต่างดาวตกลงมาในสวนหลังบ้านเรา สิ่งแรกที่เราจะทำก็คือแปะป้ายให้สิ่งนั้นกลายเป็นอื่น (the other) จากตัวเรา เพราะมันไม่อยู่ในความเข้าใจทางวัฒนธรรมเดียวกันกับเรา เราจะผลักไสให้มันอยู่ในตำแหน่งแห่งที่ใดๆ ก็ได้ที่ไม่ใช่ ‘พวกเรา’ – ซิมไบโอตในหนัง คือ ‘ความเป็นอื่น’ ที่ว่านั้น ทั้งสำหรับผู้ชมและบร็อค เพราะเราไม่สามารถเข้าใจธรรมชาติของมันได้อย่างถ่องแท้ บางครั้งเราไม่เพียงปฏิเสธความเป็นอื่น แต่อาจถึงขั้นหวาดกลัว อย่างเช่นที่มีการหวาดกลัวคนมุสลิม หรือคนผิวสี (ในบางวัฒนธรรม) และการที่บร็อคหวาดกลัวเวนอม แต่ในขณะเดียวกัน บร็อคก็ ‘เป็นอื่น’ สำหรับเวน่อมด้วยเช่นกัน มันจึงมีความปรารถนาจะทำลายล้างเขาในทีแรก เพราะบร็อคไม่ใช่พวกเดียวกับมัน

อันที่จริงแล้ว การมีอยู่ของ ‘ความเป็นอื่น’ นั้นมีนัยยะสำคัญกับการนิยามตัวตนของมนุษย์เป็นอย่างมาก เพราะมันอยู่ในคอนเซ็ปต์เรื่องการแยกประเภทของเรา เราสามารถที่จะบอกได้ว่าเราเป็นอะไรได้จากการที่เราบอกว่าเราไม่เป็นอะไรบ้าง เช่น คนผิวขาวสามารถบอกว่าตัวเองเป็นคนผิวขาวได้เพราะเขาไม่ใช่คนผิวสี และในแง่หนึ่ง การกันให้ใครสักคนกลายเป็นอื่นก็แฝงความสัมพันธ์เชิงอำนาจไว้ เพราะมันทำให้ผู้นิยามนั้นดูสูงส่งกว่า เช่นที่ผู้ล่าอาณานิคมในสมัยก่อนบอกว่า ชนพื้นเมืองไร้การศึกษาและป่าเถื่อน เพื่อให้ตนเองมีอัตลักษณ์ที่ชัดเจน และยัง “ดูเป็นอารยชน” อีกต่างหาก


อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างบร็อคและเวนอมได้พัฒนาขึ้นมาเป็นมิตรภาพอย่างรวดเร็วเพราะพวกเขาต้องการบรรลุจุดประสงค์ร่วมกัน มีมากกว่าหนึ่งครั้งที่บร็อคเรียกรวมตัวเองกับเวนอมว่าเป็น ‘พวกเรา’ (we) ซึ่งทำให้เส้นแบ่งของความเป็นอื่นนั้นเบาบางลงไป และเวนอมนั้นก็พยายามจะท้าทายหรือทำลายเส้นแบ่งนี้ด้วยการแสดงความไม่พอใจเมื่อบร็อคเรียกมันว่า ‘ปรสิต’ ในแง่หนึ่ง การที่เวนอมเป็นปรสิตนั้น มันต้องพึ่งพาอาศัยบร็อคในการมีชีวิตอยู่รอดต่อไป เพราะถ้าบร็อคตาย มันเองก็จะต้องตายลงไปด้วย และบร็อคก็ต้องพึ่งพาอาศัยเวนอมเพื่อให้ตัวเองมีพลังเหนือมนุษย์ไปกอบกู้โลกได้ ความสัมพันธ์ของทั้งสองจึงมีความลักลั่นอยู่ระหว่างการกีดกันให้อีกฝ่ายเป็นอื่น และภาวะพึ่งพาอาศัยกัน (หรือซิมไบโอซิส – symbiosis ซึ่งน่าจะเป็นคำต้นกำเนิดของคำว่าซิมไบโอต) ในแง่นี้ หนังได้ท้าทายนิยามของ ‘ความเป็นอื่น’ ในความเข้าใจของคนทั่วไป ซึ่งก็เป็นความย้อนแย้งที่มักปรากฎอยู่ในหนังแอนตี้ฮีโร่อยู่แล้ว และยังเป็นที่มาของความขบขันที่ผู้เขียนได้อธิบายไปแล้วด้านบนด้วย

มีบางประเด็นที่เราสามารถคิดต่อยอดจากหนังเรื่องนี้ได้ นั่นคือ เมื่อบร็อคต้องอยู่ร่วมกับเวนอม เขาจะต้องเผชิญกับวิกฤตทางด้านตัวตนอย่างหนัก เพราะเขาไม่รู้ว่าเขาเป็นใครกันแน่ อีกทั้งซิมบิโอตก็ได้เข้ามาในหัวเขาและคอยบงการให้เขาทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ แน่นอนว่าหนังแสดงให้เห็นว่าเขามีลักษณะเหมือนคนมีอาการทางจิต (เช่น พูดกับตัวเอง หรือมีพฤติกรรมผิดแปลกไป) แต่ท้ายที่สุดเขาก็กลับมามีชีวิตปกติได้ดังเดิม (และอาจจะดีกว่าเดิม) เขาได้แฟนสาวคืนมา แถมด้วยพลังพิเศษที่จะปราบคนชั่วให้หมดไป ซึ่งหากเป็นเรื่องจริง ตลกร้ายที่เราเกริ่นเอาไว้ตั้งแต่ต้นอาจพัฒนาไปเป็นความเลวร้ายที่แท้จริง(ที่ไม่ตลกอีกต่อไป) เพราะบร็อคไม่น่าจะสามารถจัดการการอยู่ร่วมกันกับเวนอมได้ หรือหากได้ก็ไม่ใช่ในระยะเวลาที่รวดเร็วเช่นนี้ แต่ก็เช่นเดียวกับหนังซูเปอร์ฮีโร่(หรือในที่นี้คือแอนตี้ฮีโร่)ทั่วไป ตัวเอกมักจะเรียนรู้ที่จะอยู่กับพลังของตนเองได้อย่างรวดเร็วเสมอ ทั้งที่พลังเหล่านั้นน่าจะทำให้พวกเขามีวิกฤตอัตลักษณ์เสียมากกว่า แต่ในกรณีของบร็อคนั้นชัดเจนกว่าซูเปอร์ฮีโร่อื่นๆ เพราะพลังที่เขาได้มานั้นแฝงความน่ากลัวไว้ด้วย


ติดตามรับชม

Venom : เวน่อม
วันพฤหัสบดีที่ 18 พฤศจิกายน เวลา 18.00 น. ทางช่อง MONO29

สามารถชมทางออนไลน์ได้ที่ : https://mono29.com/livetv

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ


ขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์
: https://bioscope.mthai.com/

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่