ลอยกระทงอย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย

“วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำก็นองเต็มตลิ่ง ....” เพลงที่ทุกท่านคงคุ้นหูคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เมื่อถึงเทศกาลวันลอยกระทง การลอยกระทงจะทำกันในวันเพ็ญเดือน 12 หรือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ซึ่งเป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวง และน้ำเต็มตลิ่ง สำหรับการเลือกกระทงไปลอยนั้น แต่ไหนแต่ไรมาเราจะใช้กระทง ที่ประดิษฐ์จากใบตอง แต่เมื่อความทันสมัยเริ่มเข้ามาในปัจจุบันหลายคนก็เลือกใช้กระทงที่ทำจากโฟม เพราะน้ำหนักเบา ราคาถูก จนกระทั่งเกิดปัญหาขยะจากกระทงตามมา และทำให้หลายปีมานี้ทุกฝ่ายร่วมกันสร้าง มาตรการเกี่ยวกับการลดขยะจากกระทง โดยส่งเสริมให้ใช้กระทงจากวัสดุธรรมชาติหรือกระทงขนมปัง แต่เมื่อผู้คนส่วนใหญ่หันมาลอยกระทงที่ไม่ทำลายธรรมชาติมากขึ้นแล้ว  แต่วันลอยกระทงเพียงแค่วันเดียวก็สามารถทำให้ เกิดขยะกองโตขึ้นได้ จนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ต้องออกมาช่วยกันรณรงค์ให้ลอยกระทง 1 ใบ ต่อ 1 ครอบครัว หรือหันไปลอยกระทงออนไลน์แทนเพื่อแก้ปัญหา

     และสิ่งที่ขาดเสียไม่ได้ในงานลอยกระทงอันรื่นเริงนี้ เห็นจะเป็นการจุดพลุ ดอกไม้เพลิง เป็นประกายสวยงามเต็มท้องฟ้า ซึ่งเมื่อจุดแล้วก็มักจะมีข่าวที่น่าสะเทือนใจออกมาให้ทราบกันทุกปี นั่นคือ จุดพลุแล้วพลุระเบิด จึงได้มีประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 36 (พ.ศ. 2556) เรื่อง ให้ดอกไม้เพลิงเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก โดยมีข้อแนะนำในการใช้ที่จะต้องระบุรายละเอียดอย่างน้อยดังต่อไปนี้
     (1) ผู้เล่นดอกไม้เพลิงที่มีอายุต่ำกว่า 14 ปี ต้องอยู่ในการกำกับดูแลของผู้ใหญ่
     (2) ควรเก็บให้พ้นมือเด็ก
     (3) ไม่ควรเก็บรักษาไว้ในที่มีอุณหภูมิสูง
     (4) ไม่ควรจุดไฟใหม่ หากจุดชนวนแล้วไม่ติด                    
     (5) ควรเล่นในที่โล่งกว้าง ห่างไกลจากวัตถุไวไฟ อีกทั้งยังต้องมีคำเตือนระบุไว้ด้วยว่า “อันตรายอาจถึงตาย หรือพิการหากเล่นไม่ถูกวิธี หรือคึกคะนอง” โดยข้อความต้องใช้ตัวอักษรเส้นทึบขนาดใหญ่กว่าตัวอักษรอื่น ในกรอบสี่เหลี่ยมสีและข้อความตัดกับสีพื้นของฉลาก แม้สินค้าเหล่านี้จะมีฉลากกำกับก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่มีอันตราย หากเล่นด้วยความประมาท และไม่ระมัดระวังว่าก็สามารถสร้างความเดือดร้อนให้กับตนเองและผู้อื่นได้เหมือนกัน ปัจจุบันในหลายพื้นที่ เช่น กรุงเทพมหานคร ได้มีการออกประกาศห้ามจุดพลุ โคมลอย ช่วงเทศกาลวันลอยกระทง หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุก ไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท รวมทั้งห้ามขาย ห้ามเล่นประทัดทั้งหมด เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อนั่นเอง

     หากพบเห็นอุบัติเหตุจากพลุดอกไม้เพลิง ให้แจ้งที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติโทร 1669 แต่ถ้าเป็นการแจ้งความบอกเหตุตำรวจให้แจ้งที่หมายเลข 191 หรือหากผู้บริโภคท่านใดที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือมีข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับฉลากและสินค้าอันตรายสามารถขอรับคำปรึกษาและร้องเรียนได้ที่ สคบ. หรือสายด่วน 1166 หรือแอปพลิเคชั่น OCPB Connect

ข้อมูลอ้างอิง: หนังสือ ARE YOU READY? ฉบับติดอาวุธผู้บริโภค, 2560 หน้า 43 และ www.Khaosod.co.th วันที่ 21 ตุลาคม 2563 …
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่