ความจริง “วัยอลวน” ไม่น่าใช่หนังรักของวัยรุ่น เกือบจะเป็นหนังสารคดี เพราะสร้างจากเรื่องจริงจากการต่อสู้เพื่อความถูกต้องของนักศึกษาหนุ่มคนหนึ่ง ถ่ายทำในสถานที่จริง ตัวประกอบส่วนใหญ่แม้แต่สุนัขในเรื่องก็เป็นตัวจริง
“วัยอลวน” เป็นเรื่องของ บุญรักษ์ นิลวงศ์ นักเรียนจากจังหวัดเพชรบูรณ์ มาเช่าบ้านหลังหนึ่งในซอยชุ่มฤดี ซึ่งเป็นซอยร่วมของซอยเพชรเกษม ๓๐ กับเพชรเกษม ๓๒ ตั้งแต่เรียน ม. ๕ ที่โรงเรียนสวนกุหลาบ เมื่อจบได้เข้าศึกษาต่อที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วันหนึ่ง “พรรัชนี” ลูกสาวคนเล็กของเจ้าของบ้านเช่า หรือ “โอ๋” ได้เข้ามาในบ้านบุญรักษ์ หรือ “ตั้ม” ในเรื่อง ขอให้เขาช่วยสอนการบ้านให้ บุญรักษ์รักโอ๋อย่างน้อง เพราะเขาเริ่มชอบพี่สาวของเธอที่เป็น “อ้อ” และเมื่อเธอไม่เข้าใจที่สอน เขาก็ใช้วิธีรุนแรงไปหน่อย เขกหัวเธอจนเดินร้องไห้ออกไปจากบ้าน เพื่อนบ้านผู้สอดรู้สอดเห็นนำเรื่องที่โอ๋เดินร้องไห้ออกจากบ้านบุญรักษ์ไปฟ้องพ่อของเธอในวงไพ่ พร้อมกับตีความหมายเอาเองว่า โอ๋ถูกบุญรักษ์ลวนลาม พ่อจึงหาทางป้องกันลูกสาวไว้ก่อน โดยไล่บุญรักษ์ให้ย้ายออกไปจากบ้านเช่า
บุญรักษ์นักศึกษากฎหมายธรรมศาสตร์รุ่น ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ เห็นว่าตัวไม่ได้รับความยุติธรรมจึงพลิกตำรากฎหมายเข้าต่อสู้ แถมตั้งใจว่าจะพิชิตลูกสาวบ้านนี้ให้ได้ตามคำใส่ร้าย การต่อสู้ระหว่างว่าที่พ่อตากับว่าที่ลูกเขยจึงเกิดขึ้นหลายกระบวนยุทธ
ต่อมาบุญรักษ์เข้าทำงานในธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ ขณะที่ยังเรียนไม่จบ และเข้าร่วมงานกับกองถ่ายของเปี๊ยก โปสเตอร์ ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้าของโอ๋ เรื่องราวการต่อสู้ของบุญรักษ์กับพ่อที่พยายามปกป้องลูกสาว ถูกนำมาเล่ากันอย่างสนุกสนานในกองถ่าย “มีนัดไว้กับหัวใจ” จนเปี๊ยกเกิดความสนใจเรียกบุญรักษ์มานั่งเล่ารายละเอียด และลำดับเรื่องราวเขียนเป็นบทภาพยนตร์เสนอต่อบริษัทเอแพคภาพยนตร์ ซึ่งได้เซ็นสัญญาให้เปี๊ยกสร้างหนังป้อนโรงในเครือ ๓ เรื่องไว้ เอแพคจึงอนุมัติให้เปี๊ยกสร้าง “วัยอลวน” เป็นเรื่องแรกในงบ ๘๐๐,๐๐๐ บาท
เปี๊ยกได้ใช้สถานที่จริงในเรื่องเป็นฉากถ่ายทำทั้งหมด บ้านตั้มก็ใช้บ้านที่บุญรักษ์เช่าอยู่ รวมทั้งอุปกรณ์ในฉากเช่น กีต้าร์ หนังสือเพลง ตำรากฎหมาย ก็ล้วนเป็นของบุญรักษ์ทั้งนั้น บ้านโอ๋นั้นคุณแม่ของเธอเปิดให้ถ่ายจนถึงใต้ถุน และเข้าร่วมแสดงเป็นตัวประกอบด้วย ส่วนคุณพ่อได้เสียชีวิตไปก่อนแล้ว เปี๊ยกให้บุญรักษ์ผู้เป็นเจ้าของเรื่องทั้งยังรู้โลเคชั่นดี เป็นผู้ช่วยกำกับการแสดง ทำให้บุญรักษ์คุยได้ว่า
“บางฉากพี่เปี๊ยกกำกับไม่ได้ ผมต้องกำกับแทน คือกำกับไอ้ทาร์ซานหมาของโอ๋ที่เอาตัวจริงมาเข้าฉาก มันไม่ยอมทำตามคำสั่งพี่เปี๊ยก แต่ทำตามที่ผมสั่งเพราะคุ้นกัน”
ส่วนเพื่อนบ้านของบุญรักษ์ที่เคยร่วมวงเฮฮาเล่นดนตรีกันเป็นประจำ รวมทั้งคนที่อยู่ในละแวกนั้น ต่างก็ยินดีเข้ามาเป็นตัวประกอบวัยอลวน เกือบไม่มีคนนอกซอยเข้ามาเป็นตัวประกอบเลย วัยอลวนถ่ายไปจนจบเรื่องก็เกิดปัญหา จากการเจรจาขายสายหนัง ปรากฏว่าวัยอลวนขายไม่ได้เลย เนื่องจากดาราไม่มีทั้งสมบัติ สรพงษ์ จารุณี ตามความนิยมในตอนนั้น
เปี๊ยก เองแม้จะประสบความสำเร็จจาก “โทน” ที่นำแสดงโดย ไชยา สุริยัน อรัญญา นามวงศ์ และสังข์ทอง สีใส เรื่องต่อๆ มาคือ ดวง ชู้ และ เขาสมิง ก็ไม่ได้แรงอย่างเรื่องแรก โดยเฉพาะเรื่องสุดท้าย “มีนัดไว้กับหัวใจ” รายได้ค่อนข้างจะผิดฟอร์มหนังเปี๊ยก ทั้งวัยอลวนยังใช้ดารา “โนเนม” มาแสดงเกือบทั้งหมด
พระเอกนั้นเปี๊ยกเลือก ไพโรจน์ สังวริบุตร พระเอกจากละครจักรๆ วงศ์ๆ ทางทีวีเรื่อง “โกมินทร์กุมาร” ของดาราฟิล์ม หุ่นผอมๆ ดำๆ มาเป็น “ตั้ม” เอา ลลนา สุลาวัลย์ นางเอกใหม่ที่ไม่ได้สวยเฉี่ยวแบบนางเอกหนังไทยมาเป็น “โอ๋” มีสมควร กระจ่างศาสตร์ และสมจิตร ทรัพย์สำรวย เป็นพ่อแม่ของโอ๋ ให้จิระวดี อิศรางกูร ณ อยุธยา เป็น “อ้อ” พี่สาว
สายหนังเห็นผู้กำกับทรุดจากหนังเรื่องสุดท้าย แถมยังเอาดาราหน้าใหม่มาแสดงแบบนี้ จึงอ่านว่าวัยอลวนจะต้องทรุดหนักยิ่งกว่ามีนัดไว้กับหัวใจแน่ ซื้อไปก็ขาดทุน เอแพคจึงใจเสีย ให้เปี๊ยกหยุดการสร้างอีก ๒ เรื่องต่อไปไว้ก่อน และเอาวัยอลวนไปฝากให้ไฟว์สตาร์โปรดักชั่นยุค เกียรติ เอี่ยมพึ่งพร ช่วยขาย ตอนนั้นไฟว์สตาร์มี “ชาติผยอง” หนังที่กำกับโดย รุจน์ รณภพ นำแสดงโดย จตุพล ภูอภิรมย์ กำลังมาแรง จึงเอาวัยอลวนขายควบกันไป แม้กระนั้นสายหนังบางราย อย่าง “นายห้าง ดีวันจันทร์”คนดังหลังเฉลิมกรุง ยอมรับเงื่อนไขที่ซื้อชาติผยอง จะต้องซื้อวัยอลวนควบไปด้วย แต่ก็ขอไม่รับฟิล์มวัยอลวนไปฉายให้เสียค่าใช้จ่ายพิมพ์ฟิล์มอีก
สถานการณ์ของวัยอลวน หนักหนาสาหัสถึงเพียงนี้ แต่กลับสร้างประวัติศาสตร์หนังไทยได้อย่างที่ใครก็คาดไม่ถึง พอวัยอลวนเข้าฉายที่โรงภาพยนตร์สยาม ทุกอย่างก็เป็นไปตามคาด ไม่มีพลิกล็อค ไม่มีปาฏิหาริย์ คนดูโหรงเหรงตั้งแต่รอบแรก
ตอนนั้นทีมโฆษณาประชาสัมพันธ์ของ “เครือเอแพค” แข็งและเฉียบมาก เชื่อมั่นในเนื้อหนัง จึงใช้กลยุทธฉุดวัยอลวน โดยเชิญผู้แทนสถาบันการศึกษาต่างๆ มาชมที่ห้องฉายเล็กของบริษัททุกวัน เสียงชมจึงร่ำลือไปในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างๆ อีกทั้งเพลง “สุขาอยู่หนใด” ก็เกิดดังกระหึ่มเมืองขึ้นมา โรงหนังสยามโรงเดียวถึงกับเอาไม่อยู่ ต้องขยายไปฉายโรงต่างๆ ในเครือและนอกเครือ แม้แต่โรงหนังสกาล่าที่ไม่เคยฉายหนังไทย ยังต้องฉายวัยอลวน เรียกว่ายิ่งฉายยิ่งแรง ยุทธวิธีนี้ได้ถูกนำมาใช้อีกครั้งกับ “แฟนฉัน” โดย “แคมปัสทัวร์” ซึ่งก็ได้ผลอีกเช่นกัน
ถึงตอนนี้อะไรๆ ที่เกี่ยวกับวัยอลวนดูดีไปหมด ไพโรจน์ที่ว่าไม่หล่อ ลลนาที่ว่าไม่สวย กลับมีบทบาทประทับใจกลายเป็นขวัญใจแฟนหนัง ใครๆ ก็อยากเห็นตัว คิวโชว์ตัวทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดไม่ว่างเลยสักวัน สายหนังที่ไม่ยอมรับฟิล์มก็ต้องวิ่งกลับมาเอาฟิล์ม รวมทั้งนายห้างดีวันจันทร์ก็กลายเป็นดีทุกวัน ไม่ได้ดีแค่วันเดียว
ตอนนั้น โรเบิร์ต อี เรียลเยต์ ผู้อำนวยการสร้างของฮอลลีวูด กำลังเข้ามาหาโลเคชั่นถ่ายทำเรื่อง “เดอะเดียร์ ฮันเตอร์” หนังตุ๊กตาทองในปี ๑๙๗๘ ผู้เขียนและภรรยาซึ่งรับหน้าที่หาสถานที่ถ่ายทำให้เขา เรียลเย่ต์ถามไถ่เรื่องหนังไทย ผู้เขียนจึงพาไปดูวัยอลวนที่กำลังครึกโครม ภรรยาผู้เขียนอธิบายบางตอนที่เขาไม่เข้าใจเท่านั้น เรียลเย่ต์นั่งดูด้วยความเพลิดเพลิน และหัวเราะเป็นระยะตลอดเรื่อง เขาบอกว่าหนังที่ไม่มีผู้ร้ายแบบนี้ฮอลลีวูดลืมสร้างไปนานแล้ว หนังไทยควรจะสร้างหนังแนวนี้ออกสู่ตลาดโลก เพราะดูบริสุทธิ์ น่ารัก แสดงบุคลิกของตะวันออก แต่หนังที่ไม่ควรสร้างก็คือหนังบู๊ ทั้งการลงทุนและอุปกรณ์การถ่ายทำไม่มีทางสู้ฮอลลีวูดได้เลย
ถ้าเรียลเย่ต์มาเมืองไทยใหม่ ผู้เขียนคงต้องขอพาไปดู “องค์บาก” หรือ “ต้มยำกุ้ง” หรือหนังบู๊ของไทยอีกหลายเรื่อง หวังว่าเขาอาจเปลี่ยนคำแนะนำ
ความสำเร็จของวัยอลวน นอกจากจะทำให้เปี๊ยกกลับมาดังระเบิด ไพโรจน์-ลลนา เกิดอย่างสวยหรูแล้ว ยังทำให้ความรักของ “ตั้มและโอ๋ตัวจริง” ที่ยังไม่ได้แต่งงานตอนสร้างวัยอลวนได้แต่งงานกันเมื่อหนังประสบความสำเร็จด้วย
หลังจากนั้น เปี๊ยก ก็สร้าง “รักอุตลุต” ตามมาเป็นเรื่องที่ ๒ โดยเป็นเรื่องจริงจากชีวิตของบุญรักษ์ นิลวงศ์ เช่นเดิม ใช้พระนางคู่เก่าที่ไม่ได้ “โนเนม” แล้ว แต่กำลังเป็นดาราคู่ขวัญพูดถึงกันทั้งเมือง และได้ย้ายมาสังกัดค่ายไฟว์สตาร์โปรดักชั่น ปรากฏว่ารักอุตลุตทำรายได้น้องๆ วัยอลวน เปี๊ยกจึงสร้าง “ชื่นชุลมุน” ต่อเป็นตอนที่ ๓
“เรื่องนี้ผมไม่อยากสร้างแล้ว ไพโรจน์เขาก็ไม่อยากแสดง กลัวว่าจะซ้ำซากไป แต่ฝ่ายขายเขาบอกแค่ประกาศว่าจะสร้างก็ขายหมดแล้ว เลยต้องสร้างให้เขา” กลับเป็นงั้นไป รายได้ของชื่นชุลมุนแผ่วกว่า ๒ ภาคแรก เปี๊ยกเลยขอหยุดไว้เพียง ๓ ตอนเท่านั้น ทิ้งระยะมาเกือบ ๓๐ ปี วัยอลวนจึงนำ ตั้มและโอ๋มารีเทิร์นอีกในปี ๒๕๔๘
น่าเสียใจที่ความรักอันเป็นต้นตำนานของวัยอลวน ซึ่งทำให้หนังเป็นอมตะ แต่ชีวิตจริงของตั้มและโอ๋กลับต้องแตกสลายลงในเวลาเพียง ๗ ปี หลังจากที่มีลูกด้วยกัน ๓ คน เป็นชาย ๑ หญิง ๒
“เราขัดแย้งกันในเรื่องเลี้ยงลูก” ตั้มตัวจริงบอก “เขาต้องการประคบประหงมลูกทุกอย่าง แต่ผมต้องการให้ลูกรู้จักสู้ชีวิตเหมือนอย่างที่ผมสู้มา”
“โอ๋” หรือ “พรรัชนี” ไปเปิดภัตตาคารอาหารไทยอยู่ที่ลอนดอน จนเธอเป็นหัวหน้าเชฟในอังกฤษ ส่วนบุญรักษ์ยังเวียนว่ายอยู่ในวงการบันเทิงควบคู่กับอาชีพทนายความ ลูกของตั้มและโอ๋ ทั้ง ๓ ต่างจบปริญญาตรีทุกคน ผู้ชายคนโตทำปริญญาเอกที่นิวซีแลนด์ ซึ่งป้าหรืออ้อ พี่สาวของโอ๋ในเรื่อง และเป็นอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงเกษตรฯ ไปเปิดภัตตาคารอาหารไทยอยู่ที่นั่น ลูกสาวคนที่ ๒ ทำปริญญาโทอยู่ที่นิวซีแลนด์เช่นกัน ส่วนลูกสาวคนเล็กจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำงานอยู่ที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
“แม่เค้าส่งเสียลูกจนเรียนจบทุกคน ส่วนผมไม่มีปัญญา” ตั้มตัวจริงสารภาพ
บุญรักษ์ นิลวงศ์ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “บุญญรักษ์” เพิ่ม ญ มาอีกตัว ป่วยด้วยเส้นโลหิตในสมองแตก ผจญกับอาการอัมพฤกษ์อยู่หลายปี เขาต่อสู้กับโรคร้ายจนเกือบหายเป็นปกติ จะกลับมาสู้ชีวิตในวงการบันเทิงและอาชีพทนายความอีก แต่ก็เสียชีวิตเสียก่อนด้วยโรคหัวใจ
“วัยอลวน” ไม่ใช่ตำนานความรักหวานชื่นของหนุ่มสาว แต่เป็นตำนานการต่อสู้เพื่อความถูกต้องและเอาชนะ ของนักศึกษาหนุ่มผู้มีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร เรื่องของความรักจึงลงเอยแบบนี้ แต่อย่างไรก็ดีวัยอลวนก็เป็นบทเรียนของวัยรุ่น และเป็นตำนานที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของหนังไทย
ขอขอบพระคุณผู้จัดการออนไลน์
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000099843
“วัยอลวน” ตำนานรักที่สร้างประวัติศาสตร์หนังไทย แต่ชีวิตจริงกลับอลเวง!