*** ความเสื่อม (?) ของศาสนาพุทธในญี่ปุ่น ***

เวลาพูดถึง “พุทธศาสนา” ภาพที่ทุกคนคิดถึงอย่างแรก อาจเป็น วัดที่สวยงาม และพระสงฆ์ที่สงบสำรวม ...หากผิดจากนี้ก็จะถือว่าผิดใช่หรือเปล่า?

ในบทความนี้ ผมจะเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงของพุทธศาสนาในญี่ปุ่น ซึ่ง เป็นประเทศที่มีทั้งพระเล่นดนตรี พระเปิดร้านเหล้า พระสอนแต่งหน้า …และยังมีอะไรมากกว่านั้นอีกมาก ...เราจะตีความว่าสิ่งนี้หมายถึงความเสื่อมของศาสนาพุทธได้หรือไม่? ก่อนจะตัดสินเช่นนั้น ผมอย่างให้ทุกคนได้ลองอ่านแล้วพิจารณาไปด้วยกัน


 ***จุดเริ่มต้นของศาสนาพุทธในญี่ปุ่น ***

ศาสนาพุทธเข้ามาในญี่ปุ่นยุคอาซูกะ (ค.ศ. 538 - 710) โดยการรับวัฒนธรรมผ่านจีนและเกาหลี แต่นั้นเป็นต้นมาศาสนาพุทธกับลัทธิขงจื๊อก็เริ่มมีอิทธิพลแทนศาสนาชินโต ซึ่งเป็นลัทธินับถือวิญญาณตามธรรมชาติแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น (เทียบได้กับศาสนาผีของไทย)


ภาพแนบ: วัดโทไดจิที่มีไดบุทสึหรือหลวงพ่อโตก็สร้างขึ้นในยุคนารา

ศาสนาพุทธรุ่งเรืองในญี่ปุ่นเป็นอันมาก โดยเฉพาะในยุคนารา (ค.ศ. 710 - 794) นั้นญี่ปุ่นเกิดทุพภิกขภัย ทั้งไฟป่า ภัยแล้ง ภัยอดอยาก โรคระบาด ฯลฯ จนมีผู้เสียชีวิตมากมาย จักรพรรดิเลยหันหน้าเข้าสู่ทางธรรม สนับสนุนพุทธศาสนา สร้างวัดใหม่ๆ เพิ่มขึ้นด้วย

กระนั้นเองชินโตก็ไม่เคยหายไปไหน ผสมกลมกลืนกับศาสนาพุทธจนแยกไม่ออก เช่นเดียวกับไทยที่แม้จะมีพุทธศาสนาเข้ามาหลายร้อยปี ประเทศเราก็ยังนับถือผี มีคนไหว้ศาลพระภูมิ ต้นไม้ และเจ้าป่าเจ้าเขาอยู่เสมอ



*** ความเปลี่ยนแปลงหลังการปฏิรูปเมจิ ***

หลังญี่ปุ่นต้องเผชิญวิกฤต “กองเรือสีดำ” ที่มีเรือรบจากอเมริกาที่มาบังคับให้ญี่ปุ่นเปิดประเทศในปี 1854 ทำให้ชาวญี่ปุ่นตระหนักว่าหากไม่พัฒนาประเทศให้ทันสมัยทัดเทียมฝรั่งก็จะไม่รอด

สิ่งนี้นำสู่ซีรีย์ของเหตุการณ์ที่พัฒนาจนกลายเป็นการ “ปฏิรูปเมจิ” ที่เริ่มในปี 1868 มีการล้มระบบโชกุน คืนอำนาจให้จักรพรรดิ และมีการปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยขึ้นในทุกๆ ด้าน (โชกุนหรือผู้นำทางทหารมีอำนาจเหนือจักรพรรดิมาก่อนหน้านั้นนานหลายร้อยปี จักรพรรดิจะประมาณสัญลักษณ์เฉยๆ)



ถึงญี่ปุ่นจะรับเอาความเป็นฝรั่งเข้ามา แต่ก็ยังมีความชาตินิยมสูง ดังนั้นวัฒนธรรมดั้งเดิมของญี่ปุ่นจึงไม่ได้ถูกล้างขนาดหนักเท่าการปฏิวัติวัฒนธรรมของจีน

...แต่มีประเด็นคือ แต่ก่อนตอนโชกุนมีอำนาจ วงการสงฆ์นั้นใกล้ชิดกับโชกุนมาก พอระบบเก่าโดนล้างกระดานแล้ว รัฐเลยต้องหาวิธีลดความสำคัญของศาสนาพุทธลง แล้วผลักดันชินโตเดี่ยวๆ ขึ้นมาเสีย! เพราะอย่างไรจักรพรรดิญี่ปุ่นก็มีความชอบธรรมจากการเป็นผู้สืบสายเลือดเทพเจ้าชินโต!


ภาพแนบ: การเผาทำลายของที่เกี่ยวกับศาสนาพุทธ

แต่อย่างที่ผมบอกไปตอนต้น พุทธกับชินโตมันผสมกลมกลืนกันมานับพันปีแล้ว วัดทั่วไปก็มีทั้งเทพชินโต (คามิ) กับพระพุทธเจ้าตั้งบูชาอยู่ด้วยกัน (เหมือนวัดไทยที่มีทั้งพระพุทธรูป นางตะเคียน พระราหู) การจะแยกออกย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย

ถึงรัฐจะสั่งปิดวัด, ทำลายพุทธศิลป, เผาตำรา, บังคับสึกพระ ไม่ก็บังคับให้เปลี่ยนมาเป็นนักบวชชินโตแทน แต่ศาสนาพุทธก็ยังมีคนยังศรัทธาอยู่มาก



จวบจนปี 1872 รัฐบาลญี่ปุ่นจึงประกาศนโยบายใหม่อนุญาตให้พระแต่งงานได้ กินเนื้อได้ กินเหล้าได้ จะแต่งตัวยังไงก็ได้ ...เชื่อกันว่าเพราะต้องการให้พระสงฆ์มีธรรมวินัยหย่อนยานลง เพื่อเป็นการบ่อนทำลาย และลดสถานะภิกษุจากนักบวชผู้ศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาพุทธมาเป็นเพียงอาชีพๆ หนึ่ง…

แต่ศาสนาพุทธในญี่ปุ่น “เสื่อมลง” เพราะเรื่องนี้จริงหรือ? 


ภาพแนบ: เบงเคในประวัติศาสตร์ 

*** ภิกษุในญี่ปุ่น ***

ต้องเล่าย้อนก่อนว่า ก่อนหน้านี้พระญี่ปุ่นค่อนข้างมีหลากหลายนิกาย ซึ่งแต่ละสายก็มีข้อกำหนดแตกต่างกันไป… (พุทธญี่ปุ่นมักเป็นนิกายมหายาน ข้อกำหนดมีได้หลากหลายกว่าเถรวาท มักเป็นตามอาจารย์สำนักนั้นๆ สอน)

ยกตัวอย่างเช่นในยุคเฮอัน (ค.ศ. 794 - 1185) ซึ่งเป็นยุคที่มีการศึกจากความขัดแย้งบ่อยครั้งจนลามมาถึงวงการสงฆ์ พระญี่ปุ่นก็มีการฝึกวิชาการต่อสู้เพื่อป้องกันตัว จนกลายเป็นพระนักรบ เรียกว่า โชเฮย์ (僧兵) โดยนิยมใช้หอกโง้งเป็นอาวุธ ...พระนักรบที่ดังๆ ที่หลายคนอาจเคยเห็นในการ์ตูน ก็คือ “เบงเค” ซึ่งยืนปกป้องเจ้านายจนตัวตายอย่างไรล่ะครับ


ภาพแนบ: ชิโกะ 

หรือช่วงยุคคามาคุระ (ค.ศ. 1185 - 1333) ก็มีพระชินรัน ก่อตั้งพุทธนิกายโจโด (浄土真宗) ซึ่งยอมรับการแต่งงาน เพราะคำสอนของท่านคือ แค่เชื่อในพระพุทธเจ้าก็เพียงพอให้บรรลุธรรม

ต่อมาสมัยเอโดะ (ค.ศ. 1603 - 1868) หรือช่วงปี พระส่วนหนึ่งนิยมมี “ลูกศิษย์” (ชิโกะ 稚児) ประจำกาย ซึ่งนอกจากจะมาเรียนวิชาแล้ว ยังคอยบริการทุกอย่างรวมถึงเรื่องทางเพศด้วย


ภาพแนบ: พระกับลูกสวาท

กรณีนี้คล้ายกับ “ลูกสวาท” ในไทย ช่วงยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่พระเถระชั้นผู้ใหญ่บางกลุ่ม นิยมเลี้ยงเด็กผู้ชายโดยให้แต่งตัวดี แล้วให้เด็กเหล่านี้มีหน้าที่ปรนนิบัติทางเพศ ซึ่งบางครั้งเหล่าเถระถึงกับใช้กำลังช่วงชิงลูกสวาทกันก็มี

(อัพเดทอ่านเพิ่มที่ https://www.blockdit.com/posts/602b3e999b29750bcfea6bd0) 


พูดง่ายๆ ว่า ถ้าว่าตามบัญญัติดั้งเดิมแล้ววงการสงฆ์ญี่ปุ่นผ่านเหตุ “อาบัติ” มาแล้วหลายรอบ แต่ศาสนาก็ยังคงอยู่ กระทั่งในปี 1873 รัฐเองต้องเป็นฝ่ายยอมรับว่านโยบายกดพุทธชูชินโตไม่ได้ผล อย่างมากที่สุดคือผลักดันให้ชินโตขึ้นมาเป็นศาสนาประจำชาติได้ เป็นที่รับรู้ของสังคม หลังอยู่ใต้เงาพุทธมานาน

...อย่างไรก็ตาม จนปัจจุบันแนวปฏิบัติที่ว่า “พระทำอะไรก็ได้” นี้ยังคงอยู่…
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ประกอบกับการเสื่อมถอยของศาสนาทั่วโลกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พุทธศาสนาในญี่ปุ่นจึงพัฒนาไปอย่างมีเอกลักษณ์ที่สุด 



*** พระ 5.0 ***

ตามที่บอกไปว่าวงการสงฆ์ญี่ปุ่นได้ปริวรรตไปมาก พระสงฆ์กลายเป็นเสมือนอาชีพหนึ่ง เช้าก็ทำวัตรพระสวดมนต์ ช่วยประชาชนทำพิธีทางศาสนาต่างๆ พอตกเย็นวัดปิดแล้วจะเปลี่ยนชุดออกไปทำอะไรก็ได้ ที่ทำอาชีพเสริมอื่นๆ ก็มี 


วัดเองก็เหมือนบริษัท ใครมาเป็นพระก็มีเงินเดือนให้ แต่ส่วนมากตำแหน่งเจ้าอาวาสยังสืบทอดกันในครอบครัว พระสามารถแต่งงานมีลูกและมักคาดหวังให้ลูกชายคนโตสืบทอดเป็นพระต่อ (ว่าไปก็เหมือนกงสีจีนหน่อยๆ)

เช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ ในโลกปัจจุบัน หลายๆ ที่ก็ต้องคิดวิธีแปลกใหม่เรียกลูกค้ามาใช้บริการ ดังนั้นพระญี่ปุ่นบางส่วนเลยลุกขึ้นมาทำอะไรหลายๆ อย่างที่กระทรวงวัฒนธรรมบางประเทศมาเห็นคงต้องเครียด ตัวอย่างดังต่อไปนี้... 


ภาพแนบ: พระคันโฮ 

พระเล่นดนตรี - ในปี 2018 ที่วัดอิมาจิ จังหวัดเอฮิเมะ (เป็นจังหวัดในเกาะชิโกกุ) มีเจ้าอาวาสหนุ่มหน้าตาดีนาม “คันโฮ ยาคุชิจิ” ซึ่งเคยเป็นนักดนตรีมาก่อน เล็งเห็นว่า ถึงคำสอนศาสนาเป็นสิ่งที่ดี แต่คนทั่วไปเข้าใจได้ยาก เลยเอาบทสวดมาแต่งเป็นเพลงธรรมะฉบับอคูสติก แล้วเล่นกีตาร์ประกอบเอง
ตอนแรกท่านก็กลัวจะมีดราม่าอยู่เหมือนกัน แต่ผลลัพธ์ออกมาดีเกินคาด ในยูทูป Japanese Zen Music - Kanho Yakushiji มีคนตามท่านเป็นแสน และหลายคลิปมีคนรับชมหลักล้าน นอกจากนี้ท่านเองยังดังไกลถึงต่างประเทศ แม้กระทั่งจีนยังเชิญท่านไปเล่นคอนเสิร์ต...จนถึงปี 2021 ท่านออกอัลบั้มมาแล้ว 9 อัลบั้มด้วยกัน (หาฟังได้ในบริการสตรีมมิ่งนะครับ)


ภาพแนบ: ทางเข้า Vowz Bar 

พระเปิดบาร์ - ตามที่เรียนไป พระญี่ปุ่นดื่มแอลกอฮอล์ได้ ดังนั้นแล้วพระบางท่านจึงผุดไอเดียเปิดร้านเหล้าเองเสียเลย แต่แน่นอนว่าเป็นนักบวชทั้งที จะเป็นบาร์ไก่กาอาราเล่ก็ไม่ได้ เลยต้องย่อมมีธีมศาสนาเข้าไปด้วย!

ในย่านชินจูกุ หรือแหล่งธุรกิจอันพลุกพล่านของโตเกียว มีร้านเหล้าเล็กๆ ตั้งอยู่ชื่อ Vowz Bar (อ่านแบบสำเนียงญี่ปุ่นว่า “โวซึ บาร์” เป็นการเล่นคำกับ โบซึ 坊主 ที่แปลว่าพระสงฆ์)


ภาพแนบ: พระบาร์เทนเดอร์

 ดูเผินๆ ก็เหมือนร้านเหล้าสไตล์ญี่ปุ่นทั่วๆ ไป แต่เมื่อลองสังเกตให้ดี จะพบว่าของประดับร้านนั้นล้วนเป็นพุทธศิลป เช่น พระพุทธรูปน้อยใหญ่ตรงเคาเคอร์ ผ้ายันต์ที่ข้างฝา ภาพเขียนลายดอกบัวบนกำแพง ฯลฯ แต่ที่สำคัญที่สุดคือ… บาร์เทนเดอร์เป็นพระสงฆ์ที่สวมจีวรเต็มยศ! 

นอกจากการเสิร์ฟเครื่องดื่มยังมีธีมจากเรื่องเล่าทางพุทธศาสนา พร้อมกับแกล้มมังสวิรัติแบบอาหารพระ ในร้านเหล้านี้ยังมีการเทศนา, พาคอเหล้าสวดมนต์ทำวัตร, และเปิดโอกาสให้ทุกคนได้สนทนาธรรมหรือปัญหาชีวิตกับพระสงฆ์อีกด้วย ...ถือเป็นการนำศาสนาไปให้ใกล้ชิดกับกลุ่มคนที่น่าจะห่างไกลศาสนาที่สุด

 
ภาพแนบ: พระนิชิมุระ

พระสอนแต่งหน้า - โคโด นิชิมุระ เป็นช่างแต่งหน้าระดับต้นๆ ของญี่ปุ่น เขาสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนศิลปะชื่อดังในนิวยอร์ก และเป็นเกย์
...อย่างไรก็ตามนิชิมุระเกิดในครอบครัวพระ ซึ่งหมายความว่าเขาก็ต้องบวชเช่นกัน

ตอนแรกชายหนุ่มก็ยังลังเล แต่ก็ตัดสินใจมุ่งสู่ทางธรรมเมื่อพระอาจารย์ท่านหนึ่งได้บอกกับเขาว่า “ทุกคนมีเสรีภาพเท่ากันทั้งนั้นแหละโยม… พุทธศาสนาคือการยอมรับ ...ศาสนามิได้กีดกันคนเพราะเพศสภาพ, สีผิว, สัญชาติ หรือความสมบูรณ์ของร่างกาย”

หลังสำเร็จการศึกษาเป็นพระในปี 2015 พระนิชิมุระได้สนับสนุนพุทธศาสนาควบคู่ไปกับความสวยงาม คือเป็นทั้งพระและช่างแต่งหน้า


ท่านเห็นว่าแม้ทั้งสองศาสตร์จะเหมือนอยู่กันคนละโลก แต่แท้จริงแล้วมีแก่นเดียวกัน คือต้องการทำให้คนเกิดความสบายใจ มีความมั่นใจในตัวเองทั้งภายนอกและภายใน

จนถึงตอนนี้ พระนิชิมุระได้เสวนาประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศและศาสนา โดยหวังว่าสักวันรัฐจะเปลี่ยนแปลงกฎหมาย ให้มีการป้องกันกลุ่ม LGBTQ จากการโดนเหยียดมากขึ้น โดยท่านถือว่าตนมีภารกิจที่จะเผยแพร่คำสอนเรื่องความเท่าเทียมตามหลักศาสนาพุทธนั่นเอง

...จึงเป็นคำถามแก่ท่านผู้อ่านทั้งหลาย ท่านคิดว่าเหล่าพระญี่ปุ่นที่ยกตัวอย่างมานี้ ทำให้ศาสนาเสื่อมลงหรือเปล่าครับ?... 


ภาพแนบ: เซนโตคุง มาสคอตเมืองนารา เป็นพระพุทธเจ้ามีเขากวาง 

*** พุทธคัลเจอร์ ***

วัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของญี่ปุ่นที่เราไม่อาจมองข้าม คือการนำทุกอย่าง (เน้นว่าทุกอย่าง) ตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ ไปแปลงหรือนำเสนอผ่านวัฒนธรรมร่วมสมัย (ป๊อปคัลเจอร์) แบบล้ำๆ ที่เรามักเห็นตามสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเกม, อนิเมะ, การ์ตูนเล่ม, สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ

...และแน่นอนว่าพุทธศาสนาเองก็ไม่อาจรอด...

*** อ่านต่อใน comment นะครับ ***
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่