เกษียณสำราญสำหรับคนโสด

เมื่อวานเปิดห้องใน CH คุย เป็นการเปิดประสบการณ์การเป็น Modulator ครั้งแรก ไม่ค่อยมีคนเข้ามาฟังหรอก มีเพื่อน ๆ ในห้องหุ้นเข้ามาสนทนาด้วยนิดหน่อย มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ ขอรีแคปเก็บไว้แบ่งปัน 

Topic: การวางแผนเกษียณอายุของคนโสดแบบเกษียณสำราญ
Time: 22:00 – 24:00

การวางแผนเกษียณอายุของคนที่มีครอบครัวกับคนโสดมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน คนที่มีครอบครัวอาจจะต้องเก็บมากขึ้นเพราะไม่ได้แค่รับผิดชอบตัวเอง แต่ในทางกลับกันก็มีคนในครอบครัวให้ฝากผีฝากไข้ได้ กรณีนี้ถ้าลูกหลานมีศักยภาพในการดูแลพ่อแม่ได้ก็ไม่น่าเป็นห่วงแต่ถ้าไม่ก็เป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะลูกหลานก็ต้องมีครอบครัวที่ต้องรับผิดชอบการฝากความหวังไว้ที่ลูกหลานที่แม้จะเป็นเรื่องปกติในสังคมไทยแต่เหรียญอีกด้านคือการสร้างภาระให้ลูกหลาน

นอกจากการวางแผนเกษียณอายุแล้วก็เป็นเรื่องการวางแผนละสังขาร คนที่มีครอบครัว แม้เราจะเจ็บปวดจากโรคต่าง ๆ ที่ทับถมเข้ามาในวันที่สังขารร่วงโรย แต่ลูกหลานก็จะยื้อไว้ด้วยคำว่ารักและกตัญญู ในขณะที่คนโสดสามารถจัดการและตัดสินใจเรื่องนี้ได้ง่าย ๆ แม้จะเหงา ๆ อยู่บ้างแต่ก็เป็นการตัดสินใจครั้งสุดท้ายที่ได้เคารพร่างกายตัวเอง

การวางแผนเกษียณอายุมีไม่กี่ปัจจัยที่ต้องคำนึงและจัดเตรียมเพื่อการแก่อย่างสง่าและชราอย่างมีคุณภาพ
#การเงิน ต้องมีเงินเท่าไหร่ถึงจะพอในการใช้ชีวิตบั้นปลาย? ไม่มีสูตรสำเร็จที่ตายตัว ขึ้นอยู่กับเป้าหมายส่วนบุคคล เมื่อก่อนมีสูตรง่าย ๆ คือเอาเงินที่คิดว่าต้องการใช้ต่อเดือนคูณด้วย 200 เช่น ตั้งเป้าว่าเดือนละ 3 หมื่น x 200 = 6 ล้าน แต่!200/12 = 16.6 ปี เราคิดว่าจะตายภายใน 16.6 ปีหลังเกษียณอายุจริงหรือ? ไหนจะเงินเฟ้ออีก สูตรใหม่คือ คูณ 300 = 9ล้าน ขยายระยะเวลาเกษียณอายุออกไปอีก 25 ปี หลายคนคิดจะ Early 45 ปี ถ้าใช้สูตรนี้ก็ห้ามตายก่อน 70!!!

ดังนั้นการลงทุนอย่างต่อเนื่องแม้จะเกษียณอายุแล้วจึงมีความจำเป็น ใครคิดว่ามีเงิน 9 ล้านแล้วพอ แค่ใช้เงินไปวัน ๆ ดึงเงินเก่าไปเรื่อย ๆ วันนึงเงินเก็บก็หมดแล้วถ้าไม่ตาย ภายใน 70 จะอยู่ยังไง? โดยเฉพาะคนโสด?

การลงทุนในหุ้นปันผลที่มีผลตอบแทน 6-8% จึงเป็นคำตอบให้คนที่วางแผนเกษียณได้มี Cash Flow เอาเงินปันผลมาใช้จ่ายในขณะที่เงินต้นยังคงที่หรืออาจจะมี Cap Gain ถ้าเป็นหุ้นที่มีพื้นฐานดีมีการเติบโตต่อเนื่อง

คนโสดแม้จะไม่ต้องวางแผนเผื่อลูกหลาน แต่ต้องวางแผนให้มีรายได้เพียงพอที่จะมีใครมาดูแลในบั้นปลาย คนที่มีบ้าน 2 ชั้นก็อาจจะไม่ตอบโจทย์แล้ว การหาบ้านชั้นเดียวในกรุงเทพฯก็เป็นเรื่องยาก ต้องออกไปอยู่ต่างจังหวัด หรืออยู่บนคอนโดที่มีลิฟต์ขึ้น-ลง

ถ้าดูแลตัวเองไม่ได้สุดท้ายก็ต้องไป Nursing Home เงินเก็บ 9 ล้านอาจจะไม่พอ เพราะ 9 ล้านมาจากประมาณการค่าใช้จ่ายรายเดือนที่เดือนละ 3 หมื่นบาท เราจะไปหา Nursing Home เดือนละ 3 หมื่นบาทได้ที่ไหนหากอยากมีคุณภาพชีวิตที่ดี ตัวเลขที่เป็นไปได้ที่รวมเงินเฟ้อไว้ด้วยคือ 15-20 ล้าน ที่จะทำให้มี Cash Flow เดือนละ 1 แสนบาท หักค่า Nursing Home แล้วยังมีเหลือนิดหน่อยไป Reinvest เพื่อหนีเงินเฟ้อต่อ

คำถาม: จะไปเอาเงินขนาดนั้นมาจากไหนสำหรับมนุษย์เงินเดือนคนชั้นกลาง
คำตอบ:เริ่มลงทุนตอนนี้! เด๋วนี้! ทันที!

#ค่าใช้จ่าย การใช้ชีวิตหลังเกษียณแบบเกษียณสำราญได้เราต้องปลอดหนี้ ที่ไม่ได้มีแค่บ้านหรือรถ ถึงแม้เราจะเกษียณ แต่เรายังมีภาระในการจ่ายประกันสุขภาพที่เป็นการซื้อหลักประกันว่าเงินต้นเราจะไม่ลดลงจากเหตุอันประเมินไม่ได้ถ้าต้องเจ็บป่วย หลายคนลืมนึกไปมองแค่ว่าถ้าอายุเยอะก็กินน้อยใช้น้อย ยิ่งอยู่ต่างจังหวัดค่าครองชีพต่ำ 3 หมื่นนี้เหลือ ๆ Cash Flow ที่ได้มาจากการลงทุนอย่างต่อเนื่องคือการเอามาใช้จ่ายและส่วนนึงต้องเอาไป Re-Invest ต่อเพื่อไม่ให้เงินต้นลดลงและวิ่งหนีเงินเฟ้อให้ทัน

ถ้าเราไม่ลงทุนแต่เราไปซื้อประกันบำนาญไปเลยดีมั้ย? ลดหย่อนภาษีได้ด้วย ประกันบำนาญบางประเภทเป็นแบบชำระ 10 ปีแล้วไปรอรับเงินบำนาญตอน 55 ที่ได้ Yield แค่ 3% เฮลโหววววววว 3% เงินเฟ้อท่วมไปตั้งกะปีไหนแล้วละคะคุณขา ถามนี้ นี้บ้งมาแล้ว ซื้อประกันบำนาญไว้มากมาย พอมาคำนวณ Yield ชะนี้รีบเวนคืนเอาออกมาไปลงทุนในหุ้นปันผลรับปันผล 8% ณ ตอนนี้ ไม่ใช่ 3% ตอนอายุ 55

แล้วถ้าอยากซื้อประกันบำนาญเพื่อลดหย่อนภาษีก็ยังมีทางเลือกอีกเยอะ เช่น RMF หรือ Unit Link ที่เป็นประกันชีวิตควบการลงทุน ให้เลือกกองทุนดัชนีหุ้นนอก เพราะวันที่เราเกษียณผลตอบแทนมันไปไกลมากแล้ว เช่น SP500 ผลตอบแทนย้อนหลัง 10 ปีเท่ากับ 265% หรือจะดูดัชนีบ้านเราปู่ SET ยังให้ 42% เอาอะไรมามั่นใจและฝากความหวังไว้กับ 3% หลังเกษียณ ใครมาถามว่าซื้อประกันบำนาญดีมั้ยจะโดนตี!

#สุขภาพ การลงทุนเพื่อวางแผนเกษียณกับการลงทุนเพื่อสุขภาพ มีความคล้ายกันอยู่มาก การลงทุนเพื่อเกษียณ เราต้องอดออม มัธยัสถ์ ทำอะไรตามใจตัวเองมากไม่ได้ ถ้ายังไม่ถึงเป้าหมายในวันที่จะมี Cash Flow มาใช้หลังเกษียณ การลงทุนในสุขภาพก็เช่นกัน เราจะกินอะไรตามใจปากไม่ได้ เพราะเป้าหมายคือการมีสุขภาพที่ดีเพื่อใช้ชีวิตแบบเกษียณสำราญ ชีวิตหลังเกษียณควรได้เที่ยว ได้มีความสุขกับกิจกรรมที่ชอบ ไม่ใช่เทียวไปเทียวมาหาหมอหัวใจ ไต เบาหวาน ความดัน

การอดออม มัธยัสถ์ เป็นเรื่องที่ดี แต่เป็นศัตรูกับระบบทุนนิยม หุ้นที่เราลงทุนกันหลาย ๆ ตัวก็ไม่ได้ทำธุรกิจที่ส่งเสริมให้มีสุขภาพดี แต่เราก็ยังลงทุน เช่นเดียวกับอาหารที่ดีอร่อยถูกปากมักเป็นศัตรูกับสุขภาพ บางคนกินอาหารคลีนทั้งน้ำตาและรู้ซึ้งว่าการตกนรกมันคืออะไร แต่การคำนึงถึงอนาคตโดยที่ปราศจากความสุขในระหว่างทางก็เป็นเรื่องที่ต้องขบคิดว่าความสมดุลย์อยู่ตรงไหน

#กิจกรรมหลังเกษียณ หลายคนมีแผนในใจไว้แล้วว่าจะทำอะไรหลังเกษียณ บางคนตั้งใจว่าจะไปทำสวนทำไร่ หรือสร้างโฮมสเตย์เพื่อให้มีอะไรทำแก้เหงา อยากให้มองว่าเราเกษียณแล้ว ไม่ว่าเราจะเลือกทำอะไรรายได้ไม่ใช่เป้าหมาย เช่นเดียวกับค่าใช้จ่ายต้องไม่มารบกวนเงินต้นที่เป็นตัวสร้าง Cash Flow

อย่าลงทุนอะไรที่ไปรบกวนเงินต้น ถ้าเรายังต้องเครียดกับรายได้ที่ไม่เข้าเป้าในขณะที่มีค่าใช้จ่าย Fix Cost แล้วสุดท้ายต้องขายหุ้นเอามาประคองกิจการ มันคือหายนะ มันคือหลุมดำในการทำธุรกิจหลังเกษียณ และไม่ควรให้กิจกรรมนั้น ๆ เบียดเบียนความสุขของชีวิตหลังเกษียณ ต้องออกแบบการใช้ชีวิตให้ดีเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตแบบเกษียณสำราญได้จริง ๆ

#เกษียณสำราญ
#โสดเกษียณ
#การลงทุนต่อเนื่องทั้งชีวิต

นี้เป็นกระทู้ใน Pantip อันแรกของเรา Tag ผิดยังไงขอโทษด้วยนะคะ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่