"วัยระเริง" ภาพยนตร์วัยรุ่นปลดแอกการศึกษาไทยในยุค 80

วัยระเริง ปลดแอกการศึกษาไทยในแบบฉบับ เปี๊ยก โปสเตอร์


“วัยระเริง มันได้ความคิดมาจากตอนที่ผมทำหนังเรื่อง ดวง ผมไปอยู่ที่ญี่ปุ่นตอนทำโพสต์ ในเวลาว่างบางที ตื่นมาตอนเช้าก็คิดอะไรเรื่อยเปื่อย ก็คิดว่าระบบการศึกษาบ้านเรามันถูกรึเปล่านะ ทำไมเราจะต้องไปดักดานจนกระทั่งเรียนจบ ม. 6 และเราก็ตกเลข ตกภาษาอังกฤษ ตกแทบจะต้องสอบได้ 50 เปอร์เซ็นต์อย่างนี้ ถ้าเราสอบตกล่ะ อนาคตเราเป็นอย่างไร และเรามาจากตรงนั้นถึงตรงนี้เราใช้อะไรบ้าง เราใช้พีชคณิตหรือเปล่า ไม่เคยใช้อะไรเลย บวกลบคูณหารเราก็ไม่ต้องใช้อะไรมากมาย ทำไมเราต้องไปเสียเวลาอะไรตั้งหลายปี ทำไมพออ่านออกเขียนได้แล้วไม่แยกประเภทของคนที่ว่ารักอยากจะไปทำอะไร แล้วก็ไปเรียนตามพื้นฐานธรรมดาครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งให้เรียนวิชาชีพผสมกันไป ในใจคิดอย่างนั้น จนกระทั่งมาทำ วัยระเริง” 

บทสัมภาษณ์นี้เป็นถ้อยคำของ เปี๊ยก โปสเตอร์ เมื่อครั้งกล่าวถึงที่มาของการสร้างภาพยนตร์เรื่อง วัยระเริง ไว้ในงาน Masterclass หรือ ชั้นครู ที่หอภาพยนตร์จัดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2555 น่าแปลกใจที่คำถามเหล่านี้แทบจะเป็นสิ่งเดียวกันกับที่นักเรียนชาย 2 คนผู้มีฝันอยากจะเป็นแร็ปเปอร์ตั้งคำถามเอาไว้ ในภาพยนตร์สารคดีไทย

ปี 2563 เรื่อง School Town King ที่ว่าด้วยนักเรียนผู้ล้มเหลวในระบบการศึกษา แม้ภาพยนตร์ทั้ง 2 เรื่องจะต่างกันถึง 35 ปี แต่ราวกับสิ่งที่ถูกตั้งคำถามไม่เคยเคลื่อนที่ไปไหน และคำตอบนั้นไม่อาจเกิดขึ้นจริง


วัยระเริง ออกฉายเมื่อต้นปี พ.ศ. 2527 ในขณะที่ ดวง ซึ่งเป็นผลงานการกำกับภาพยนตร์เรื่องที่ 2 ของเปี๊ยก ออกฉายเมื่อปลายปี 2514  นั่นหมายความว่า เปี๊ยก ใช้เวลาถึง 12 ปีกว่าจะได้นำคำถามที่มีต่อระบบการศึกษาไทยที่ครุ่นคิดและเก็บงำไว้นี้มาสร้างเป็นภาพยนตร์  โดยมีผลงานเรื่องอื่น ๆ คั่นระหว่างทางอีก 15 เรื่อง


ย้อนกลับไปในปี 2513 อันเป็นปีที่ เปี๊ยก โปสเตอร์ หรือ สมบูรณ์สุข นิยมศิริ ได้ผันตัวจากการเป็นช่างเขียนใบปิดหนังมือวางอันดับหนึ่งของวงการมาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ เขาได้รับการยกย่องว่าเป็น “นิวเวฟ” หรือ “คลื่นลูกใหม่” รุ่นแรก จากการพยายามสร้างสรรค์เนื้อหาหรือแนวทางใหม่ ๆ ให้แก่วงการหนังไทย ที่ในขณะนั้นล้วนแต่วนเวียนซ้ำซากอยู่ในขนบเดิม ๆ มายาวนาน

แม้ขณะที่สร้าง วัยระเริง เปี๊ยกจะมีอายุแตะหลัก 50 ปีแล้ว แต่ความคิดนอกกรอบของเขากลับไม่ได้เสื่อมถอยไปตามกาลเวลา ไม่เพียงแต่จะกำหนดให้ตัวละครหลักอยู่ในช่วงวัยที่อายุน้อยที่สุดนับตั้งแต่ที่เขาทำหนัง นั่นคือวัยมัธยม แนวคิดในการทำ วัยระเริง ของเขายังก้าวทะลุไปไกลยิ่งกว่าแค่กรอบของหนังวัยรุ่น  ด้วยการนำเสนอมุมมองและแนวคิดใหม่ ๆ ให้แก่ระบบการศึกษาไทย


วัยระเริง เปิดฉากด้วยการประชุมครูของโรงเรียนสตรีแห่งหนึ่ง เริ่มตั้งแต่เรื่องเครื่องแต่งกาย และการอภิปรายว่า ควรยกเลิกระบบการแบ่งห้องตามผลการเรียนของนักเรียนหรือไม่ (ซึ่งยังเป็นสิ่งที่ยังได้รับการพูดถึงมาจนทุกวันนี้) ก่อนจะเข้าไปสู่หัวข้อสำคัญ 2 เรื่อง คือ การหาวิธีจัดการกับกลุ่มนักเรียนหญิงมัธยมปลายห้อง 650 ที่สร้างแต่ปัญหา และการตัดสินใจว่า ครูศรีนวล ครูเก่าแก่ชราภาพที่ทำงานมาตั้งแต่ยุคบุกเบิกก่อตั้งโรงเรียน ยังมีประสิทธิภาพพอที่จะทำหน้าที่ครูอยู่หรือไม่ บทสนทนาในที่ประชุมนั้นเต็มไปด้วยความเห็นด้านลบต่อคนทั้งสองวัย ก่อนที่หนังจะใช้เวลาที่เหลืออยู่ทั้งหมดไปกับการโต้แย้งอคติในใจของบรรดาคุณครูในห้องประชุม

เมื่อที่ประชุมได้หาทางออกร่วมกันให้แก่ทั้ง 2 ปัญหา ด้วยการให้ครูศรีนวลมาเป็นผู้ดูแลเด็กเกเรห้อง 650 หนังจึงค่อย ๆ สาธยายให้เห็นความเป็น “นักเรียนเลว” ในสายตาครูของเด็ก ๆ กลุ่มนี้ เริ่มต้นด้วยครูวิชาภาษาไทยที่ตั้งมั่นมาตั้งแต่หน้าประตูว่าจะ “ปราบ” เด็กพวกนี้ให้อยู่หมัด แต่กลับถูกกลั่นแกล้งสารพัด จนไม่อาจอยู่สอนได้จนจบคาบ สิ่งที่น่าสนใจคือคำพูดของครูที่มีต่อเด็ก ๆ ทั้งการต่อว่า “หมี” นางเอกของเรื่องผู้เป็นหัวหน้ากลุ่มที่มีใจรักดนตรีสากลว่า “สะเออะฟังเพลงภาษาอังกฤษ แต่ภาษาอังกฤษยังไม่กระดิกหู”  และดุด่านักเรียนหญิงคนหนึ่งซึ่งหลับระหว่างที่เธอสอนว่า “เอาแต่เล่นกีฬาเป็นบ้าเป็นหลัง แล้วก็มาหลับในห้องเรียน” “นึกเหรอว่าวิชาพละวิชาเดียวจะทำให้เธอจบปลายปีนี้ได้” และที่สำคัญก็คือ “ขี้เกียจเรียนกันอย่างนี้ล่ะสิ ต่อไปคงไปเป็นขยะสังคมกันเป็นแถว ๆ”


คำพูดเหล่านี้สะท้อนให้เห็นวิธีคิดของเปี๊ยกที่ซ่อนนัยยะการวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำไมระบบการศึกษาถึงไม่แยกประเภทตามความรักและความสนใจที่แตกต่างกันของเด็ก แต่กลับจับให้พวกเขามาเรียนรวมกันในวิชาที่ต่างคนต่างไม่ถนัด จนถูกมองว่าไร้ค่าในสายตาของครูที่เคร่งครัดกับผลการเรียน  แนวคิดนี้ถูกตอกย้ำให้ชัดเจนขึ้น ในฉากการทัศนศึกษาท้ายเรื่อง เมื่อเด็กหญิงนักกีฬาได้ไปช่วยชีวิตเพื่อนนักเรียนที่ตกน้ำ จนครูภาษาไทยซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลเด็ก ๆ ต้องมาขอบใจเธอเป็นการใหญ่ เด็กผู้เคยถูกครูคนเดียวกันนี้มองว่าเป็นขยะสังคม จึงได้ถามคุณครูกลับด้วยความซื่อว่า “อาจารย์คิดว่าหนูมีประโยชน์กับสังคมไหมคะ”


ในด้านของครูศรีนวล ครูที่ครูคนอื่น ๆ มองว่าแก่เกินกว่าที่จะตามวิธีการสอนแบบใหม่ ๆ ได้ทัน หนังเริ่มต้นด้วยการจับเธอเข้าคู่กับดนตรีไทย ให้เห็นว่าเป็นสิ่งที่เธอรัก ราวกับจะตอกย้ำให้คนดูเชื่อว่าคุณครูเป็นคนหัวโบราณตามอย่างเขาว่าจริง ๆ  และยิ่งดูขัดแย้งกับบรรดานักเรียนหญิงจอมแสบห้องที่เธอประจำชั้น ที่ล้วนสนใจดนตรีร็อก ในอีกทางหนึ่ง ครูศรีนวล ก็มีสถานะเป็นแม่ของนายทุนเจ้าของธุรกิจค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ ที่กำลังมีปัญหากับ “เอ” ลูกชายหัวแก้วหัวแหวน ซึ่งเอาแต่โดดเรียนไปซ้อมดนตรีร็อกกับเพื่อน ๆ และโยนภาระให้ครูผู้เป็นย่าต้องออกไปตามหาหลานชายที่หนีออกจากบ้านไปหลายวัน

จุดศูนย์กลางของวัยระเริง จึงอยู่ที่บทบาทของครูศรีนวล ผู้ต้องแก้ปัญหาทั้ง 2 ทาง ซึ่งเธอก็สามารถเอาชนะคำสบประมาททั้งหมด ด้วยการหาทางออกที่ลงตัวให้แก่วัยรุ่นที่ต่างถูกผู้ใหญ่มองว่าไม่มีอนาคตทั้งสองกลุ่ม เริ่มต้นจากการให้หลานชายและเพื่อนร่วมวงออกจากห้องเช่าคับแคบ มาอยู่ร่วมในรั้วบ้านเดียวกันกับเธอ และสนับสนุนให้พวกเขาได้ซ้อมดนตรีที่ใจรักอย่างเต็มที่ ก่อนที่คุณครูจะผุดไอเดียจากการฟังหลานชายซ้อมดนตรี ด้วยการแต่งเนื้อร้องจากเนื้อหาวิชาสังคมศึกษาที่เธอสอน มาให้พวกเขาใส่ทำนองเป็นดนตรีร็อกตามที่บรรดาลูกศิษย์หญิงชื่นชอบ เริ่มต้นด้วยเพลงยุโรป ที่ว่าด้วยความรู้รอบตัวเกี่ยวกับทวีปยุโรป เพื่อดึงดูดให้พวกเธอหันมาสนใจตำราเรียนแและสามารถทำข้อสอบได้ดีจนสร้างความประหลาดใจให้แก่ครูคนอื่น ๆ


ความแตกต่างของครูศรีนวลกับครูคนอื่น ๆ ในเรื่องก็คือ ในขณะที่คุณครูทั่วไปต่างพยายามจัดระเบียบให้เด็กทุกคนเข้ามาอยู่ในกรอบที่มีไว้เพื่อควบคุมความประพฤติและวัดคุณค่าพวกเขาด้วยตัวเลขที่มีจากผลการเรียน ครูศรีนวลกลับเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าทุกคนมีความแตกต่างกัน ในฉากเล็ก ๆ อันน่าประทับใจฉากหนึ่ง ที่ครูศรีนวลเปิดบ้านให้ลูกศิษย์ทุกคนเข้ามาสนุกสนานกันอย่างสุดเหวี่ยงกับวงดนตรีของหลานชาย เมื่องานปาร์ตี้จบลง เด็ก ๆ ได้ล้อมวงเล่าความฝันให้คุณครูฟังว่าเมื่อเรียนจบ ม.6 แล้วพวกเธอจะไปทำอะไร ครูศรีนวลได้กล่าวให้ลูกศิษย์เห็นว่าไม่ว่าจะเป็นอะไรก็มีความสำคัญตั้งแต่คนกวาดถนนไปจนถึงรัฐมนตรี และเปรียบเทียบความแตกต่างของคนกับนิ้วมือทั้ง 5 ที่มีขนาดไม่เท่ากัน แต่ก็มีความเหมาะสมและคุณค่าในตัวของมัน

บทบาทครูศรีนวลนี้ได้รับการถ่ายทอดออกมาอย่างเปี่ยมไปด้วยความเมตตาและเจนโลก โดย สุลาลีวัลย์ สุวรรณทัต ดาราอาวุโสที่คร่ำหวอดในวงการมายาวนาน ส่วนบทตัวละครวัยรุ่น เปี๊ยก โปสเตอร์ ได้เลือกใช้นักแสดงหน้าใหม่ทั้งหมด ฝ่ายวัยรุ่นหญิงคือ วรรษมน วัฒโรดม และผองเพื่อนที่เขาใช้วิธีการรับสมัครจากทั่วประเทศกว่า 200 คน โดยให้เด็ก ๆ ทั้งหมดมาพูดคุยกัน และถ่ายวิดีโอบันทึกไว้ว่าแต่ละคนมีมนุษยสัมพันธ์กันอย่างไร ก่อนจะค่อย ๆ ตัดออกอย่างพิถีพิถันจนเหลือเพียง 12 คน ในขณะที่กลุ่มวัยรุ่นชายได้ อำพล ลำพูน ซึ่งต้องมาฝึกหัดตีกลองที่บ้านเปี๊ยก นาน 2 เดือน มาแสดงร่วมกับผองเพื่อนวง “ไมโคร” ซึ่งขณะนั้นยังรวมตัวกันเล่นอยู่ตามร้าน นอกจากนี้ เขายังให้บรรดานักแสดงวัยรุ่นทั้งหมดได้พากย์เสียงจริงในบทบาทของตัวเอง เพื่อความเป็นธรรมชาติของตัวละคร แตกต่างจากหนังไทยส่วนมากที่ใช้เสียงนักพากย์ (การถ่ายทำหนังไทยในยุคนั้นส่วนใหญ่ไม่บันทึกเสียงขณะถ่ายทำ แต่ใช้วิธีการพากย์ทับในภายหลัง)


จุดเด่นสำคัญอีกอย่างหนึ่งของ วัยระเริง คือเพลงประกอบภาพยนตร์  เปี๊ยกได้ชื่อว่าเป็นคนทำหนังที่ฟังเพลงหลากหลาย และมักจะกำหนดแนวเพลงให้สอดคล้องไปกับภาพยนตร์ที่เขากำกับอยู่เสมอ ซึ่งใน วัยระเริง เขาได้เลือกแนวฮาร์ดร็อก ที่ยิ่งขับให้หนังมีความเป็นขบถแตกต่างไปจากหนังวัยรุ่นเรื่องอื่น ๆ และนำเสนอให้เห็นว่า เพลงสามารถเป็นสื่อการสอนที่มีประสิทธิภาพได้ หากเป็นแนวเพลงที่เข้ากับความสนใจของวัยรุ่น โดยได้เต๋อ เรวัตร พุทธินันท์ ที่กำลังร่วมปลุกปั้นค่ายเพลงแกรมมี่ มาเป็นผู้ดูแลด้านเพลงประกอบ ก่อนที่ในเวลาต่อมาไม่นาน วงไมโครในเรื่องจะได้ออกอัลบั้มในฐานะวงดนตรีร็อกวงแรก ๆ ของแกรมมี่ และกลายมาเป็นตำนานตราบจนปัจจุบัน


วัยระเริง จึงถือเป็นผลงานที่สะท้อนให้เห็นความคิดอันก้าวหน้าของเปี๊ยก ทั้งในแง่การสร้างภาพยนตร์ รสนิยมทางดนตรี รวมไปถึงทัศนคติในการมองสังคม การวิพากษ์ระบอบการศึกษาไทยด้วยการเชื้อเชิญให้ผู้ใหญ่หันมามองวัยรุ่นด้วยสายตาที่เข้าอกเข้าใจ และกล้าที่จะให้พวกเขาได้แสดงออกตามกระแสสังคมที่เปลี่ยนไป ถือเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่เคยล้าสมัย โดยเฉพาะในยุคที่นักเรียนกำลังลุกฮือขึ้นมาจากการตั้งคำถามเดียวกับที่เปี๊ยกเคยครุ่นคิดเมื่อเกือบ 50 ปีที่แล้ว

ขอขอบพระคุณบทความจากหอภาพยนตร์

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่