สปสช. พิจารณาช่วยด่วน นศ.หญิง อายุ 20 ปี ถูกตัดขาหลังฉีดวัคซีน



อนุกรรมการช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีรับวัคซีนโควิด 19 เขต 11 สุราษฎร์ธานี เตรียมนำคำร้องกรณีนักศึกษาหญิงพังงาถูกตัดขาจากภาวะหลอดเลือดอุดตัน หลังฉีดวัคซีนโควิด เข้าพิจารณา 14 ต.ค. นี้ 

เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 3564 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ฐานะโฆษก สปสช. เผยถึงกรณี น.ส.เกตน์สิรี กองแก้ว อายุ 20 ปี นักศึกษาสาขาวิชาการปกครองท้องถิ่นของวิทยาลัยชุมชนพังงา เกิดภาวะโรคหลอดเลือดแดงอุดตันเฉียบพลัน (acute arterial occlusion) ที่ขาทั้ง 2 ข้าง ภายหลังจากที่ฉีดวัคซีนโควิดเข็ม 2 แอสตร้าเซเนก้าแบบสูตรไขว้ ต่อมาแพทย์ต้องตัดขาซ้ายเหนือเข่า โดยขณะนี้ยังรักษาตัวอยู่ที่รพ.ศรีนครินทร์สงขลา นั้น

สปสช. เขต 11 สุราษฎร์ธานี ได้ประสานข้อมูลไปยังวิทยาลัยชุมชนพังงา ซึ่งอาจารย์ของ น.ส.เกตน์สิรี ให้ข้อมูลว่าก่อนหน้านี้ผู้ป่วยไม่มีโรคประจำตัวใด ๆ แต่หลังจากฉีดวัคซีนโควิด เพียง 5 วัน เกิดอาการภาวะหลอดเลือดแดงอุดตันเฉียบพลันขึ้น จนต้องเข้ารักษาตัวที่ รพ.พังงา เพื่อผ่าตัดเส้นเลือดที่อุดตัน แต่ปรากฏว่าอาการไม่ดีขึ้น จึงส่งต่อไปรักษาที่ รพ.กระบี่ และได้รับการดูแลต่อโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหลอดเลือด ซึ่งได้มีการผ่าตัดซ้ำ 2 ครั้ง และส่งกลับมาดูแลที่ รพ.พังงา แต่ด้วยอาการที่แย่ลง เมื่อวันที่ 5 กันยายน จึงส่งต่อไปรักษาที่ รพ.สงขลานครินทร์ และรักษาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

จากข้อมูลเบื้องต้นที่ได้รับ กรณีนี้เข้าข่ายกรณีความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 สามารถรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นจากความเสียหายภายหลักการฉีดวัคซีนโควิด 19 เบื้องต้นได้ประสานญาติยื่นคำร้องและเอกสาร โดยจะมีการนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระดับเขตพื้นที่ สปสช. เขต 11 สุราษฎร์ธานี ในวันที่ 14 ตุลาคมนี้ เพื่อให้ครอบครัวผู้ป่วยได้รับการเยียวยาและช่วยเหลือดูแลโดยเร็วที่สุด” โฆษก สปสช. กล่าว

นอกจากนี้ ทพ.อรรถพร กล่าวว่า การฉีดวัคซีนโควิด 19 ที่ผ่านมา ภาวะไม่พึงประสงค์จากวัคซีน เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้แต่จากรายงานเป็นส่วนที่น้อยมาก อาจเป็นกรณีเฉพาะรายบุคคลและมีหลายปัจจัยประกอบ แต่เมื่อเกิดเหตุขึ้นผู้ที่เกิดภาวะไม่พึงประสงค์หลังการฉีดวัคซีนโควิด 19 จำเป็นต้องได้รับการดูแล โดยเร็ว ไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อน ซึ่งเป็นกลไกภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล

สำหรับรายละเอียดการจ่ายเงินช่วยเหลือนั้น ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 19 พ.ค. - 12 ต.ค. 2564 สปสช. ช่วยเหลือเบื้องต้นผู้มีอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนโควิดไปแล้ว 293,042,200 บาท จาก คำร้องทั้งหมด 5,715 ราย ได้รับการอนุมัติจ่ายชดเชย 3,972 ราย ไม่ผ่านการอนุมัติ 1,196 ราย รอการพิจารณา 547 ราย และในจำนวนที่ไม่ผ่านการอนุมัติ อุทธรณ์389 ราย ประเภทความเสียหาย แบ่งเป็น เสียชีวิต/ทุพพลภาพ 580 ราย พิการ 47 ราย บาดเจ็บ 3,345 ราย

ทั้งนี้ หากเกิดอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนโควิด 19 ตามแผนงานโครงการที่รัฐจัดให้ฟรี ประชาชนทุกสิทธิสามารถยื่นเรื่องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกับ สปสช.ได้ (ยกเว้นสิทธิประกันสังคมที่ขณะนี้สำนักงานประกันสังคมอยู่ระหว่างแก้ไขประกาศเพื่อให้ผู้ประกันตนกลับมาได้รับสิทธิช่วยเหลือเบื้องต้นกับ สปสช.ได้) 

โดยยื่นเรื่องที่ โรงพยาบาลที่ฉีด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) หรือที่สำนักงาน สปสช.สาขาเขตพื้นที่ทั้ง 13 เขต โดยมีระยะเวลายื่นคำร้องได้ภายใน 2 ปีนับแต่วันที่ทราบความเสียหาย เมื่อมีผู้มายื่นคำร้องแล้ว คณะอนุกรรมการฯ ระดับเขตพื้นที่จะเร่งพิจารณาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งในกรณีที่ผู้ยื่นคำร้องไม่เห็นด้วยกับผลการวินิจฉัย ก็มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อเลขาธิการ สปสช. ได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ทราบผลการวินิจฉัย

หลักเกณฑ์การพิจารณาจ่ายเงินเยียวยาเบื้องต้นจะแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ

ระดับ 1 มีอาการป่วยต้องรักษาต่อเนื่อง จ่ายไม่เกิน 1 แสนบาท

ระดับ 2 เกิดความเสียหายถึงขั้นสูญเสียอวัยวะหรือพิการจนมีผลต่อการดำรงชีวิต จ่ายไม่เกิน 2.4 แสนบาท และ

ระดับ 3 กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร จ่ายไม่เกิน 4 แสนบาท 

ที่มา : https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E/158350

ปล. เคสนี้เกิดเหตุหลังฉีดวัคซีน แต่ยังไม่ได้พิสูจน์ว่าเป็นสาเหตุเกี่ยวเนื่องจากวัคซีนจริง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่