จัดการประกันสินเชื่อบ้าน (MRTA) อย่างไร เมื่อจะรีไฟแนนซ์บ้าน

ประกัน MRTA เป็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับการขอสินเชื่อบ้าน ซึ่งประกัน MRTA หรือการทำประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อพร้อมกับการกู้ซื้อบ้าน เปิดโอกาสให้ผู้กู้สามารถเลือกได้ว่าจะทำหรือไม่ทำก็ได้ แต่หากคุณตัดสินใจทำประกัน MRTA แล้วจะเป็นอย่างไรถ้าผู้กู้ทำประกัน MRTA แล้ว และคิดว่าจะรีไฟแนนซ์บ้านกับธนาคารอื่น แล้วผู้กู้ต้องทำอะไรกับกรมธรรม์ที่ยังผูกอยู่กับธนาคารเดิมบ้าง หาคำตอบได้ที่นี่
 
ประกัน MRTA คืออะไร?
ประกัน MRTA ย่อมาจาก Mortgage Reducing Term Assurance ซึ่งในภาษาไทยมักจะเรียกว่าประกันชีวิตแบบคุ้มครองสินเชื่อหรือประกันสินเชื่อ โดยประกัน MRTA คือประกันชีวิตประเภทหนึ่งที่ออกแบบมาเพื่อคุ้มครองความเสี่ยงให้กับผู้กู้ในช่วงระยะเวลาที่ต้องผ่อนบ้าน หากมีเหตุที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น ผู้กู้ก็สามารถอุ่นใจได้ตลอดว่าตนเองจะไม่ทิ้งภาระการผ่อนบ้านให้กับครอบครัวที่อยู่เบื้องหลัง
 
ประกัน MRTA มีกี่แบบ?
โดยทั่วไป ธนาคารสามารถเสนอประกัน MRTA คู่กับสินเชื่อบ้านได้หลากหลายรูปแบบตามความเหมาะสมและกำลังทรัพย์ของผู้กู้ เช่น การคุ้มครองด้วยวงเงินลดลงทุกปีตามยอดหนี้สินคงเหลือหรือคุ้มครองด้วยวงเงินคงที่ตลอดสัญญากู้ และผู้กู้สามารถเลือกจำนวนปีที่คุ้มครองให้น้อยกว่าจำนวนปีในสัญญาได้หากคิดจะปิดบัญชีผ่อนบ้านก่อนกำหนด
 
ทำไมต้องซื้อประกัน MRTA ?
แน่นอนว่าประกันสินเชื่อบ้าน MRTA นั้นจะมีประโยชน์มากเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันต่อชีวิตของผู้กู้ ซึ่งเงินประกันอาจทำให้ผู้กู้ ครอบครัว หรือทายาทของผู้กู้ไม่ต้องผ่อนบ้านหลังนั้นอีกเลย แต่ด้วยเบี้ยประกันที่สูงมากเมื่อเทียบกับประกันประเภทอื่น ๆ จึงเป็นเรื่องที่น่าลังเลใจในการตัดสินใจซื้อด้วยเช่นกัน
แต่เจ้าหน้าที่สินเชื่อก็มักชักจูงในเชิงที่ว่าถ้าทำประกัน MRTA แล้วจะช่วยให้ขอสินเชื่อบ้านได้ง่ายขึ้น หรือจูงใจผู้กู้ด้วยอัตราดอกเบี้ยบ้านที่ถูกกว่าถ้ากู้พร้อมกับการทำประกัน MRTA ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะ MRTA คือประกันที่สมัครใจทำหรือไม่ก็ได้ และอาจไม่ช่วยประหยัดดอกเบี้ยอย่างที่โฆษณาไว้
 
ข้อแนะนำเพิ่มเติม : กู้ซื้อบ้านพร้อมทำประกัน MRTA ประหยัดดอกเบี้ยกว่าจริงหรือไม่
 
 
ทำอย่างไรกับประกัน MRTA เมื่อต้องรีไฟแนนซ์?
ปัญหาหนึ่งหลังจากผู้กู้ยินยอมทำประกัน MRTA กับธนาคารผู้ให้กู้ไปแล้วก็คือ ไม่รู้ว่าต้องจัดการกับประกัน MRTA อย่างไรเมื่อถึงเวลาต้องรีไฟแนนซ์เปลี่ยนธนาคารใหม่ ซึ่งผู้รับผลประโยชน์ที่ระบุในกรมธรรม์ยังคงเป็นธนาคารเดิมอยู่ แต่ปัญหานี้ก็มีทางออกอยู่ 2 แบบที่จะช่วยให้ผู้กู้จัดการกับ MRTA ของตนเองได้อย่างเหมาะสมดังนี้

1. เปลี่ยนชื่อผู้รับผลประโยชน์
ผู้กู้สามารถแจ้งความประสงค์เปลี่ยนชื่อผู้รับผลประโยชน์ในประกัน MRTA ได้ โดยในกรณีนี้ผู้กู้จะยังคงได้รับความคุ้มครองอย่างต่อเนื่องเหมือนเดิมแต่เปลี่ยนชื่อผู้รับเงินประกันจากธนาคารเก่าเป็นธนาคารใหม่

แต่ทั้งนี้ทุนประกันของกรมธรรม์ที่เปลี่ยนชื่ออาจน้อยกว่าวงเงินกู้บ้านหลังรีไฟแนนซ์ ซึ่งจะเป็นปัญหากับผู้ที่ขอวงเงินกู้กับไฟแนนซ์ใหม่เกินยอดหนี้เก่าเพื่อต่อเติมบ้านหรือใช้จ่ายส่วนตัว หรือหากทุนประกันเป็นแบบวงเงินลดลงทุกปีและวงเงินที่มีอยู่ ณ ขณะนั้นน้อยกว่ายอดเงินกู้กับธนาคารใหม่ กรมธรรม์ MRTA ก็จะไม่ครอบคลุมถึงส่วนเกินนี้

วิธีนี้เหมาะสำหรับ กรมธรรม์ MRTA ที่ยังมีทุนประกันครอบคลุมวงเงินทั้งหมดหลังรีไฟแนนซ์ หรือผู้ที่ไม่ต้องการเสียเงินทำประกันเพิ่มอีกแต่ก็ยังต้องการให้มีประกันเดิมเอาไว้ให้อุ่นใจ เพราะอย่างน้อยก็ยังช่วยบรรเทาปัญหาได้เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน แม้ทุนประกันอาจไม่เต็มยอดหนี้ก็ตาม
 
2. เวนคืนกรรมธรรม์เก่า
ผู้กู้สามารถแจ้งความประสงค์ขอเวนคืนประกัน MRTA ที่ยังไม่สิ้นสุดความคุ้มครองเพื่อรับเงินส่วนต่างคืนได้ แต่จำนวนเงินจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ผ่านการคุ้มครองไปแล้ว แต่เงินที่ได้จากการเวนคืนประกันนั้นอาจน้อยกว่าที่จ่ายไปตามระยะเวลาที่คุ้มครองไปแล้วและตามเงื่อนไขที่ผู้ให้ประกันกำหนด แต่เงินที่ได้อาจเป็นเงินก้อนโตที่สามารถนำมาทำประกัน MRTA กับธนาคารใหม่ หรือนำมาใช้ลดหนี้กู้บ้านให้น้อยลง หรือนำเงินไปใช้ประโยชน์อื่น ๆ ตามความจำเป็นก็ได้

วิธีนี้เหมาะสำหรับ กรมธรรม์ MRTA ที่มีเงินเวนคืนมากพอสำหรับการนำไปทำประกันกับธนาคารที่รีไฟแนนซ์ใหม่ หรือผู้ที่ไม่ต้องการทำประกันแล้วและจะนำเงินก้อนไปใช้ประโยชน์อื่น เช่น นำเงินไปจ่ายธนาคารเก่าเพื่อลดยอดเงินกู้กับธนาคารใหม่ ซึ่งทำให้เสียดอกเบี้ยน้อยลง หรือใช้เพื่อตกแต่งต่อเติมบ้าน เป็นต้น
 
ข้อแนะนำเพิ่มเติม : เวนคืนกรมธรรม์ MRTA ประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อบ้าน ได้เงินคืนเท่าไหร่?
 
สุดท้ายนี้ขอให้ผู้ที่กำลังจะรีไฟแนนซ์ชั่งน้ำหนักระหว่างการเวนคืนประกัน MRTA และการเปลี่ยนชื่อผู้รับผลประโยชน์ว่า วิธีไหนจะเหมาะสมกับผู้กู้มากที่สุด แต่ไม่ว่าจะใช้กรมธรรม์เดิม เวนคืนเงินเพื่อซื้อประกันใหม่ หรือเวนคืนเงินเพื่อเก็บไว้ใช้อย่างอื่น ผู้กู้ก็สามารถเลือกจัดการกับประกัน MRTA ของตนเองได้อย่างอิสระ

หากมีปัญหาก็สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือจาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ทันทีที่สายด่วน 1186
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่