บันทึกการเดินทาง “ครูอาสาโจ๊ะโจ๊ะ”

บันทึกการเดินทางย้อนหลัง
เรื่องราวของครูอาสาโจ๊ะโจ๊ะ 🐰🌵🌈🤍👽
ณ บ้านสบลาน อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่
07-12•พฤศจิกายน•2020
07•11•2020 | Day0
ตอน ขอบคุณที่มาส่ง
ย้อนกลับไปเมื่อ...วันเสาร์ ที่ 7 พฤศจิกายน 2563
พี่เอ๋ พี่สายลม พี่ปุ๋ย เจนนี่ และน้องฝึกงานได้เดินทางจากอำเภอฝาง มาส่งเราที่สะเมิง ฟีลประมาณว่าพี่มาส่งน้องเข้าหอโรงเรียนประจำ ทีแรกไม่เศร้าหรอก บอกทุกคนว่าโอเค แค่นี้เองอยู่ได้ฮะ ขอบคุณทุกคนมากนะที่มาส่ง หลังจากที่ทุกคนกลับไปแล้ว มันก็ดูเหงาๆ อยู่เหมือนกัน ฮืออ

ในคืนนั้นเราได้ทำความรู้จักกับ พือตาแยะ(ส่วนใหญ่จะเรียกว่าพะตี้ตาแยะ) อีกคนคือพ่อกรุงและแม่เดือน ซึ่งทั้งหมดเป็นปู่ พ่อแม่ของน้องกุ๊กไก่นักเรียนที่โจ๊ะ

ภาษาปกาเกอญอ
พือ=คุณตา
พะตี้=ลุง
โจ๊ะ=โรงเรียน

——————---🌈🌲🌻————————-

ไปมายังไงถึงได้มาโจ๊ะ ?
ก่อนจะมาที่นี่ เราในวัย 23 ปีเพิ่งเรียนจบและได้ทำงานครูที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดนครนายก แต่เห็นโพสต์นึงที่หน้าฟีตเด้งขึ้นว่า มีศูนย์การเรียนแห่งหนึ่งทางภาคเหนือ มีเด็กนักเรียนแค่ 4 คน และที่สำคัญคือไม่มีครูประจำมานานแล้ว เด็กจะได้เรียนก็ต่อเมื่อมีครูอาสามาสอนเท่านั้น

เราสงสารน้องๆ บวกกับความตั้งใจตั้งแต่เด็กว่าอยากเป็นครูดอย ก็เลยตัดสินใจลาออกจากงานประจำที่เงินเดือนพอกินพอใช้ ไปทำงานเป็นครูดอยที่ไม่ได้คาดหวังว่าจะได้เงินเดือน คือใช้ใจนำทางล้วนๆ หลายคนถามว่าเป็นบ้าหรอ อยู่ในเมืองดีอยู่แล้ว ดิ้นรนหาที่ลำบากทำไม ตอนนั้นเราก็ไม่รู้หรอกว่าเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดหรือยัง แต่อย่างน้อยการตัดสินใจครั้งนี้คงทำให้เราได้พบกับประสบการณ์บางอย่างที่ทำให้เราเข้าใจในการใช้ชีวิตสักข้อสองข้อแหละ

หลังจากกินข้าวเย็นกับลาบหมู โดยใช้มือตามวิถีชีวิตของชาวปกาเกอญออิ่มแล้ว พวกเราก็นั่งพูดคุยกันสักพัก “วันนี้ครูนอนกับน้องกุ๊กไก่ข้างบนนะ” แม่เดือนกล่าว ใช่ค่ะ วันนี้เราพักที่บ้านของแม่เดือน ซึ่งที่นี่เป็นบ้านสองชั้น ด้านล่างมี2ห้องนอน 1ห้องครัว และอีก 1ห้องน้ำ ส่วนด้านบนมี 1 ห้องนอน และชานบ้าน เราพึ่งทราบตอนมาถึงว่าใช้พื้นที่ส่วนนี้สอนหนังสือน้องๆ
08•11•2020 | Day1
ตอน ยินดีที่ได้รู้จัก
วันนี้เป็นวันหยุดจึงไม่มีการเรียนการสอน เราลงไปข้างล่างเห็นแม่เดือนกำลังทำแกงกะเปาะ หรือข้าวกะโละโป๊ะ จะเป็นข้าวต้มเหมือนโจ๊ก ใส่เครื่องเทศ ผัก เนื้อสัตว์ตามที่มี เหมือนที่เราเคยกินตอนไปอาสาที่อุ้มผาง ส่วนชื่อเรียกก็จะแตกต่างกันไปแต่ละพื้นที่

พอกินข้าวเสร็จพ่อแม่ของน้องๆ ก็จะออกไปไร่ไปนา เพราะช่วงนี้เป็นช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต ทุกคนก็จะไม่ค่อยอยู่บ้านกันเราเองก็เก็บของใช้ส่วนตัวและไปเก็บหนังสือของน้อง ดูว่าที่ผ่านมาเรียนอะไรไปแล้วบ้าง ส่วนน้องๆ วันนี้ก็ไม่ได้ไปไหน เนื่องจากยังไม่คุ้นเคยกันน้องๆ ก็ยังไม่ได้เข้ามาพูดคุย 

ผ่านไปประมาณบ่าย 4 โมงเย็น มีอาสาสมัครทีมนึงเดินทางเข้ามายังหมู่บ้านพร้อมกับของบริจาคเป็นจำนวนมาก มีพี่บี พี่เบ้นซ์ พี่หมอ พี่จอร์น พี่แชมป์ พี่ยิ้ม และพี่ไบรท์ เราก็เล่าคร่าวๆ ให้พี่บีฟังว่าน้องๆ เรียนที่บ้าน “มีโรงเรียนทำไมไม่เรียนที่โรงเรียนนะ” พี่บีพูดขึ้นพร้อมกับถามต่อว่า“น้องอยากสอนที่บ้านหรือโรงเรียน” เราก็เลยตอบไปว่า “เราตั้งใจมาสอน เรามาเป็นครู นักเรียนก็ต้องเรียนที่โรงเรียน เราอยากให้โรงเรียนเป็นโรงเรียน” 
แต่ด้วยความที่ว่าโรงเรียนไม่ได้มีใครมาสอนนานแล้ว ส่วนใหญ่จะสอนที่บ้านกันหมด จะมีก็แต่พือตาแยะ และพ่อๆ ที่แวะไปเอาข้าวให้ไก่ แวะไปกินน้ำตอนไปทำไร่อยู่บ้าง สภาพโจ๊ะหรือโรงเรียนจึงค่อนข้างทรุดโทรม “ป่ะ ไปสอนบนโจ๊ะ พี่จะช่วยน้องเอง” พอพี่บีบอกแบบนี้ทุกคนก็พร้อมใจช่วยกันขนของทุกอย่างขึ้นไปบนโจ๊ะ โดยใช้รถมอเตอร์ไซค์พี่บีและรถของพ่อด้านล่างช่วยกันขนขึ้นไป ในส่วนเรา พี่บี พี่เบ้นซ์ก็เดินตามหลังกันไป (รถ4x4 ขึ้นได้แต่ต้องชำนาญมากๆ) 

เพิ่มเติม: 
โจ๊ะเคยมียุครุ่งเรืองด้วยนะ มีหลักสูตรที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชน เรียนวิชาพื้นฐานควบคู่กับภาษา และภูมิปัญญาท้องถิ่นจากผู้เฒ่าผู้แก่ สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ใน Google และ YouTube แต่น่าเสียดายเพราะด้วยปัญหาบางอย่างเลยทำให้โจ๊ะกลายสภาพมาเป็นแบบปัจจุบัน และคนที่เสียผลประโยชน์มากที่สุดคือเด็ก
โจ๊ะ หรือศูนย์การเรียนโจ๊ะมาโลลือหล่า ตั้งอยู่บนภูเขา ในบ้านสบลาน อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ โจ๊ะห่างจากหมู่บ้านประมาณ 500 เมตร เดินขึ้นไปบนภู สองข้างทางเป็นป่า วันแรกใช้เวลาเดิน บวกนั่งพักไปเกือบชั่วโมง หลังๆ เดินบ่อยใช้เวลาประมาณ 25-30 นาที เส้นทางชัน บางช่วงชันมาก บางช่วงชันโคตรๆ เหนื่อย หัวใจเต้นแรง หน้าแดงทุกที ใช่เธอหรือนี่ บ้าา ! นี่มันเพลงแล้ว555 สรุปอีกที เหนื่อยค่าา
วันนี้ข้าวสารอาหารแห้ง เสื้อผ้า ของบริจาคจากคนใจดีที่พี่บีรวบรวมมาเยอะมาก พร้อมกับอภินันทนาการ Wi-Fi จากพี่หมอ พอขนของเสร็จพี่หมอกับพี่จอร์นก็ลากลับไปก่อน ตอนนี้เหลือเรา พี่บี พี่เบ้นซ์ และพี่ๆ อีกสามคนนั่งพักเหนื่อยกันอยู่บนโจ๊ะ ยังขาดพี่โจอีกคนที่ตอนนี้ยังมาไม่ถึง (ส่วนในรูปคือพือ/พะตี้ตาแยะ เพิ่งกลับมาจากไร่ก็มาช่วยสอนพวกเราหุงข้าวแบบเช็ดน้ำ) 
ทีแรกพี่ๆ 3 คน(พี่แชมป์ พี่ยิ้ม พี่ไบร์ท)จะกลับด้วย แต่พวกเราดึงดันไม่ให้กลับ ให้อยู่เป็นเพื่อนกันก๊อนนนน ส่วนอาหารค่ำวันนี้พี่บีนำเสนอเมนูหมูกระทะ(ซึ่งมีแต่หมูจริงๆ) ผักไม่มีเพราะยังไม่ได้ซื้อ ฮาาาาา เพิ่งรู้ว่าพี่ไบรท์(คนในรูป)เป็นคนดัง เห้ยย ว่าไป ไม่ใช่ดังแบบเน็ตไอดอลอะไรนะ ดังไฟเนี่ย !!! (ดัง = จุด)
ประมาณ 2 ทุ่ม พี่โจ หนุ่มวิศวะที่ข้าน้อยขอคารวะสามยก แล้วกระโดดตบให้อีกยี่สิบที ยอมใจมากเพราะพี่แกขับรถมอเตอร์ไซค์ยี่ห้อแพงๆ มาจากกรุงเทพ(กรุงเทพ-เชียงใหม่) โคตรไกล ไกลมากอ่ะ สภาพถนนก็ไม่ใช่จะดีด้วยนะไม่พอยังได้รับการตอนรับโคตรดีด้วยการเดินขึ้นภูมาอีก 500 เมตร

มาถึงทุกคนก็กินหมูกระทะรออยู่แล้ว จู่ๆ แม่เดือนกับพ่อกรุงก็ขึ้นมาที่โจ๊ะ มาทำความเข้าใจกันหลายเรื่อง โอเค พอคุยกันเข้าใจแล้ว แกก็กลับไป พวกเราก็มานั่งล้อมวงกินหมูกระทะกันต่อ คุยกันสัพเพเหระ และวนกลับมาเรื่องเดิมบ่อยๆตอนนั้นโคตรคิดมาก พอตอนนี้กลับไปนึกถึงแล้วก็ขำดี😂
เรายกให้คืนนี้เป็นอีกคืนที่โคตรดี เพราะแต่ละคนไม่รู้จักกันเลย(ยกเว้นพี่สามหน่อ) คือมารู้จักกันที่นี่ แล้วเราเองก็มาแบบไม่ได้นัดกับใครเลย บังเอิญมาเจอกัน มากินหมูกระทะด้วยกัน แลกเปลี่ยนเรื่องราวต่างๆ พูดคุย หัวเราะ ปลอบใจให้กันและกัน จนถึงประมาณตี 3 อากาศเริ่มหนาวมากก็เลยแยกย้ายกันไปนอน(ไม่ให้หนาวได้ไงก็นั่งตากหมอกกันทั้งคืน)โอ้ย5555

คืนนี้นอนเต็นท์ เป็นจุดกางเต็นท์ที่แฮปปี้มาก
ดีใจที่ได้เจอ “ยินดีที่ได้รู้จักนะคะพี่ๆ” 💓

เรื่องราวของการเดินทางไปเป็นครูอาสาของเรายังไม่จบแค่นี้เพราะเราใช้ชีวิตอยู่ที่นี่อาทิตย์นึง ไว้จะเล่าต่อในคอมเม้นนะคะ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่