" Chain Boats " เรือโซ่ลากจูงของยุโรปในช่วงศตวรรษที่ 19




(ในหนังสือท่องเที่ยวของ Mark Twain เรื่อง A Tramp Abroad บรรยายถึงการเผชิญหน้ากับเรือลำหนึ่งที่น่าทึ่งในแม่น้ำ Neckar ในเยอรมนี)


สิ่งที่ Mark Twain เขียนอธิบายไว้ในหนังสือท่องเที่ยวของเขาเรียกว่า " เรือโซ่ " (chain boat) เรือเหล่านี้เคยเป็นที่นิยมอย่างมากในแม่น้ำในยุโรปช่วงศตวรรษที่ 19 - ต้นศตวรรษที่ 20 เรือประกอบด้วยโซ่แบบตายตัวที่ทำขึ้นเป็นพิเศษวางนอนตามท้องน้ำในเส้นทางที่มีน้ำไหลเชี่ยวเท่าที่จำเป็นในการนำทาง โดยเรือจะยกโซ่ขึ้นจากก้นแม่น้ำที่ปลายหัวเรือ ข้ามผ่านดาดฟ้าเรือแล้วทิ้งกลับลงไปในแม่น้ำที่ด้านหลัง  บนดาดฟ้า โซ่จะถูกพันไปรอบๆ เครื่องกว้านขนาดใหญ่ที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องจักรไอน้ำที่ดึงโซ่ ในขณะที่เรือแล่นไปข้างหน้า

ก่อนหน้านี้ในน่านน้ำภายในยุโรป ก่อนเริ่มใช้เชือกหรือโซ่ลากในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 เรือต้องลากไปตามแม่น้ำโดยมนุษย์หรือสัตว์พาหนะ สินค้าจะถูกขนส่งด้วยเรือไม้ขนาดเล็กที่บรรทุกได้ประมาณ 50 ตัน โดยการแล่นเรือ ใช้ไม้ปักดัน ลากจูงด้วยม้าหรือแม้แต่คน เรือลากจูงระบบไอน้ำลำแรกซึ่งขับเคลื่อนด้วยใบพัดแบบเกลียวหรือล้อพายนั้นอ่อนแอ และยุ่งยากเกินกว่าจะรับมือกับปริมาณสินค้าที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บนเส้นทางที่ยากลำบาก

แต่การขนส่งแบบเรือโซ่ได้ปฏิวัติการขนส่งทางบกในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรมในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 ในระดับหนึ่ง จนกระทั่งเรือที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องจักรไอน้ำกลายเป็นเรือขับเคลื่อนด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนด้วยโซ่ของเรือล่องแม่น้ำเหล่านี้ใช้ประโยชน์จากเครื่องยนต์ไอน้ำที่มีกำลังค่อนข้างต่ำในช่วงเวลานั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเหมาะอย่างยิ่งสำหรับแม่น้ำตื้นหรือแม่น้ำที่ไหลเร็วซึ่งไม่สามารถใช้เรือกลไฟได้ ด้วยเหตุนี้ 
ในไม่ช้า เรือโซ่จึงถูกใช้ในแม่น้ำหลายสายทั่วยุโรป


การขนส่งแบบลูกโซ่ (มักเรียกกันทั่วไปว่า Tauerei) เป็นรูปแบบหนึ่งของการลากจูงเรือ ถูกนำมาใช้ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19
และในครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 ที่แม่น้ำหลายสายของยุโรป 


ย้อนไปในศตวรรษที่ 15 แนวคิดนี้แสดงให้เห็นเป็นครั้งแรกโดยวิศวกรชาวอิตาลี Jacopo Mariano ในต้นฉบับซึ่งมีอายุเกือบถึงปี 1438 Mariano ได้รวมภาพประกอบที่วาดภาพเรือลำหนึ่งที่ดึงตัวเองทวนน้ำบนสายเคเบิลที่ทอดยาวไปตามแม่น้ำ สายเคเบิลถูกพันรอบเพลากลางที่ขับเคลื่อนด้วยล้อพายน้ำที่ติดตั้งสองด้านข้าง คอยถือสายให้ตึงและทำให้มั่นใจได้ถึงแรงเสียดทานที่จำเป็นกับเพลา ส่วนด้านหลังเรือมีวัตถุคล้ายเรือลำเล็กๆ ที่ถูกกระแสน้ำพัดไปมาเพื่อตรวจกระแสน้ำ 

จนในปี 1595 Fausto Veranzio ชาวโครเอเชียได้อธิบายถึงระบบการเดินเรือเคเบิลที่ช่วยให้มีความเร็วมากขึ้น ประกอบด้วยเรือสองลำเชื่อมต่อกันด้วยสายเคเบิลที่พันรอบลูกรอกที่ทอดสมอแน่นอยู่กับก้นแม่น้ำ เรือลำเล็กจะล่องลอยไปตามกระแสน้ำอย่างรวดเร็วซึ่งขับเคลื่อนด้วยใบเรือน้ำขนาดใหญ่และลากเรือลำใหญ่ขึ้นทวนกระแสน้ำ ขณะที่เรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่มีล้อน้ำสองข้าง ซึ่งนอกจากจะม้วนสายเคเบิลแล้วยังเพิ่มความเร็วให้มากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ไม่มีข้อมูลว่าระบบใช้งานได้จริงมากน้อยเพียงใด

ต่อมาในปี 1723 ศาสตราจารย์วิชาคณิตศาสตร์ Nicolaus Molwitz จากเมือง Magdeburg (เยอรมนี) ได้ทำข้อเสนอสำหรับเครื่องจักรที่จะช่วยให้เรือสามารถล่องในกระแสน้ำที่ไหลเร็วใต้สะพานของ Magdeburg ได้ เครื่องจักรของเขาประกอบด้วยเพลาแนวนอนสองอัน โดยสายเคเบิลลากจูงจะถูกหมุนรอบเพลาหน้าในลักษณะที่จะคลายออกจากมันอย่างต่อเนื่อง และเข้าสู่เพลาหลัง


แนวคิดเรื่องการขนส่งทางเรือของ Jacopo Mariano


ด้วยการใช้คันโยกเพิ่มเติม เป็นไปได้ที่ชาย 5 - 6 คนจะประสบความสำเร็จในการแล่นเรือผ่านส่วนของแม่น้ำที่ต้องใช้คนถึง 50 คนได้สำเร็จ แม้เครื่องนี้ไม่เคยสร้างมาก่อน แต่จากคำอธิบายที่นักเขียนชาวเยอรมัน Paul Jacob Marperger ทิ้งไว้เบื้องหลัง องค์ประกอบของหลักการพื้นฐานนี้ดูเหมือนจะคล้ายกับที่ใช้ในภายหลังในการสร้างเรือโซ่ และแม่น้ำส่วนนี้ในเวลาต่อมาได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของเรือโซ่ลำแรกในเยอรมนี

แต่ความพยายามอย่างจริงจังในการเคลื่อนย้ายเรือโดยใช้โซ่ล่ามเกิดขึ้นเฉพาะในทศวรรษที่ 1820 ในฝรั่งเศสเท่านั้น โดยวิศวกร 2 คนคือ Tourasse และ Courteaut  เพื่อมองหาวิธีที่จะใช้กำลังในการเคลื่อนที่ของเรือได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด พวกเขาจึงยึดป่านหรือเชือกหนึ่งเส้นยาวประมาณ 1 กม. บนฝั่งแม่น้ำ Saône ใกล้เมือง Lyon เชือกจะถูกพันรอบๆ กลองแบบหมุนบนเรือด้วยม้า 6 ตัวหมุนกลองและลากเรือไปข้างหน้า กระบวนการนี้ ต้องใช้เรืออีกลำรีบเร่งทวนน้ำไปเพื่อยึดเชือกเส้นที่สอง

Tourasse และ Courteaut ยังได้สร้างระบบอื่นบนแม่น้ำ Rhone ระหว่างเมือง Givors และ Lyon แต่แทนที่ม้าด้วยเครื่องยนต์พลังไอน้ำ จากนั้น Vinochon de Quémont ได้ทำการทดลองในแม่น้ำ Seine ซึ่งเชือกถูกแทนที่ด้วยโซ่ และในปี 1826 MF Bourdon ได้ทดสอบเรือกลไฟสองลำด้วยเครื่องยนต์ไอน้ำและโซ่ โดยเรือลำหนึ่งใช้ล้อพายแล่นไปข้างหน้าพร้อมทั้งคลายเชือกที่มีความยาว 600 เมตร หลังจากคลายเชือกจนสุดแล้ว เรือจะล่องเฉยๆ และลากเรือลากจูงลำที่สองด้วยโซ่ที่ผูกไว้กับตัวมัน ส่วนเรือลากจูงด้านหลังๆ จะช่วยในกระบวนการด้วยกำลังของมันเอง ในระยะหนึ่งเรือทั้งสองลำจะเปลี่ยนตำแหน่งกัน และทำขั้นตอนซ้ำแบบเดิม (กระบวนการนี้จะเสียเวลามาก)


แนวคิดของ Fausto Veranzio เกี่ยวกับการขนส่งทางเรือประมาณปี 1595


ในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 19 นับตั้งแต่ช่วงแรกของความพยายาม เทคโนโลยีเรือโซ่ได้รับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องและประสบความสำเร็จในการใช้ในฝรั่งเศสเป็นครั้งแรกในปี 1839  เรือกลไฟแบบโซ่ที่ประสบความสำเร็จทางเทคนิคและทางเศรษฐกิจเครื่องแรกมีชื่อว่า "Hercule" ถูกสร้างขึ้นบนแม่น้ำ Seine ที่ไหลเร็วซึ่งยาวประมาณ 5 - 6 กม.ภายในเมืองปารีส รวมทั้งในแม่น้ำและคลองอื่น ๆ ของฝรั่งเศสด้วย รวมแล้วจนถึงปี 1873 ได้มีการวางโซ่ยาวกว่า 500 กม. ตามแนวยาวของแม่น้ำ Seine 

ส่วนในเยอรมนี การเดินเรือด้วยเรือโซ่เริ่มขึ้นในปี 1866 โดยมีการวางโซ่เหล็กในแม่น้ำ Elbe ระหว่างเมือง Magdeburg-Neustadt และ Buckau ระยะทางประมาณ 6 กม. เรือบรรทุกได้มากถึง 250 ตันเป็นประจำโดยใช้เครื่องยนต์ให้กำลังเพียง 60 แรงม้า เมื่อถึงปี 1871 เรือโซ่ได้ขยายจาก Magdeburg ไปยัง Schandau ที่ชายแดน Bohemian และไปยังแม่น้ำ Saale ในปี 1873 โดยวิ่งจากปากแม่น้ำไปยัง Calbe จนถึงในปี 1903 ได้ขยายบริการไปยังเมือง Halle รวมระยะทางทั้งหมด 105 กม. ทั้งนี้ การขนส่งแบบโซ่บนแม่น้ำ Saale ลดลงอย่างมากจากการปะทุของสงครามโลกครั้งที่ 1 และหยุดให้บริการโดยสิ้นเชิงในปี 1921

สามปีต่อมาเส้นทางขยายไปทางตะวันตกเฉียงเหนือที่ Hamburg โดยเรือโซ่จำนวน 28 ลำแล่นทวนน้ำตลอดความยาวรวม 668 กม. เรือเหล่านี้ถูกใช้จนถึงช่วงปลายทศวรรษ 1920 หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองถือเป็นจุดสิ้นสุดของเรือ โซ่ขนาดใหญ่ถูกยกขึ้นมาจากน้ำและเก็บรักษาไว้เฉพาะในส่วนที่แข็งแกร่งที่สุดเท่านั้น

เรือลากจูงแบบโซ่เรือ Kettenschiff กับเรือบรรทุกบนแม่น้ำ Neckar ใกล้เมือง Heilbronn ในประเทศเยอรมนี ก่อนปี 1885
นอกจากเรือโซ่ลากจูงได้ปฏิวัติการขนส่งของแม่น้ำ Elbe หนึ่งในแม่น้ำสายหลักของเยอรมนี ซึ่งตอนนั้นได้มีการลากจูงมาหลายศตวรรษแล้ว การลากด้วยโซ่ยังลดจำนวนลูกเรือบนเรือสินค้าลงกว่าครึ่ง พร้อมย่นเวลาการส่งมอบ ซึ่งทำให้กัปตันสามารถเดินทางได้มากถึงสามเท่าของจำนวนการเดินทางก่อนหน้านี้ ทำให้การขนส่งสินค้าโดยเรือโซ่กลายเป็นสินค้าที่น่าเชื่อถือมาก จนสินค้าจำนวนมากที่ขนส่งทางรถไฟถูกเปลี่ยนกลับไปใช้ทางน้ำที่ถูกกว่า

อย่างไรก็ตาม เรือโซ่เริ่มล้าสมัยในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เนื่องจากเครื่องยนต์ไอน้ำมีประสิทธิภาพมากขึ้น เรือกลไฟรุ่นใหม่สามารถให้แรงฉุดมากขึ้นด้วยการใช้ถ่านหินที่ลดลง และเครื่องยนต์แบบผสมบนเรือกลไฟซึ่งใช้กำลังขับนั้นต้องการถ่านหินเพียงครึ่งเดียว ในขณะที่เครื่องพ่นไอน้ำแบบโซ่ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากเครื่องยนต์ไอน้ำแบบผสมเหล่านี้ได้ เนื่องจากการทำงานที่ไม่สม่ำเสมอ

นอกจากนี้ การสร้างเขื่อนและประตูน้ำยังสร้างสิ่งกีดขวางที่กั้นไม่ให้เรือโซ่ทำงานได้เต็มที่ บริษัทขนส่งสินค้าแบบโซ่ลากจึงประสบปัญหาจากการลงทุนและค่าบำรุงรักษาที่สูง ทั้งนี้ การลากจูงด้วยเรือโซ่มักจะใช้เฉพาะการทวนกระแสน้ำขึ้นไปเท่านั้น ในกรณีที่กระแสน้ำไหลแรงมาก การลากจูงยาวจะเป็นอันตรายได้ และหากโซ่ลากจูงถูกบังคับให้หยุดกะทันหันจากสิ่งกีดขวางใดๆ ความเสี่ยงนั้นจะยิ่งใหญ่มากเพราะนั่นคือหายนะ 


ห่วงโซ่ของเรือโซ่ที่คลอง Burgundy ประเทศฝรั่งเศส Cr.ภาพ: Veit Feger / Wikimedia Commons


โปสการ์ดแสดงเรือกลไฟโซ่ในแม่น้ำ Seine ในฝรั่งเศส
คำบรรยายใต้ภาพเขียนว่า "Conflans Sainte-Honorine – แขนของแม่น้ำแซน รถไฟบรรทุกสินค้า




(ขอขอบคุณที่มาของข้อมูลทั้งหมดและขออนุญาตนำมา)

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่