รำลึกวันมหิดล รำลึกพระบิดา และรำลึกศิริราช

วันที่ 24 กันยายน ของทุกปีเป็นวันสวรรคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ซึ่งท่านทรงเป็นผู้ที่วางรากฐานการแพทย์ไทย และก่อตั้งโรงพยาบาลศิริราช ท่านได้พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนหนึ่งในการก่อตั้งโรงพยาบาลศิริราช และพระองค์ทรงไปศึกษาต่อทางด้านการแพทย์ที่ต่างประเทศ และได้เสด็จนิวัติประเทศไทยเพื่อมาพัฒนาการแพทย์ไทย

ในฐานะที่ คุณป้าเป็นลูกหลานชาวมหิดล เพราะเรียนจบจากที่นี่ จะรำลึกถึงพระองค์ท่านทุกปี และในระหว่างเรียนอยู่ที่ศิริราชนั้น ได้ร่วมทำกิจกรรม ทำธงมหิดล และนำไปจำหน่ายให้กับประชาชนที่ต้องการซื้อไว้เป็นที่ระลึก โดยรายได้ทั้งหมดนำไปช่วยผู้ป่วยที่ยากไร้ในโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งเมื่อ สามสิบกว่าปีที่แล้วนั้น โรงพยาบาลศิริราชยังไม่มี ศิริราชปิยมหาการุณย์ และเป็นโรงพยาบาลที่มีโรงเรียนแพทย์ขนาดใหญ่ี่สุดในประเทศด้วยปริมาณเตียงกว่าพันเตียง ทุกครั้งที่เราชาวมหิดลที่จบไป และทำงาน เราจะมีคำขวัญที่ท่านได้พระราชทานให้พวกเราทุกคนเสมอว่า "ขอให้ถือประโยชน์ตนเปนที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เปนกิจที่หนึ่ง ลาภทรัพย์และเกียรติยศจะตกมาแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งวิชาชีพย์ไว้ให้บริสุทธิ์" และเมื่อมาปฏิบัติงานเราไม่เคยลืมคำสอนนี้ และนำมาปฎิบัติในเวลางานเสมอ

สมัยเรียนที่ศิริราชเมื่อสามสิบปีก่อนั้น จะมีตึกที่มี ward หลายตึกมาก แต่ละตึกมีชื่อที่แตกต่างกันไป แต่จะจำได้ไม่ลืมอยู่ตึกหนึ่ง คือตึก "มหิดลบำเพ็ญ" ซึ่งลักษณะตึกนั้นเป็นอาคารเรือนไม้ และถูกปรับให้เป็น ward ศัลยกรรมชาย โดยเฉพาะศัลยกรรมกระดูก ทุกครั้งที่ขึ้นไป ราวด์วอร์ด กับอาจารย์ จะพบผู้ป่วยชายนอนเต็มไปหมด ตึกนี้บางส่วนเป็นศัลยกรรมกระดูก มีผู้ป่วยผ่าตัดกระดูก เคสยาก ๆ เยอะมาก เช่น ผู้ป่วยเป็นกระดูกสันหลังคดชนิดรุนแรงที่รอผ่าตัดเพื่อแก้ไข ผู้ป่วยเป็นมะเร็งกระดูกที่รอตัดขา หรืออีกมาก ตึกนี้เก่าแก่มาก เวลาขึ้นบันไดจะมีเสียง เอี๊ยดอาด เวลาเดินไปรู้สึกขลังดีแท้ และทราบมาว่าเดิมตึกนี้ พระบิดาท่านทรงบริจาคทุนทรัพย์เพื่อเป็นหอพักให้แพทย์ พยาบาล ต่อมาถูกปรับเป็นตึกรับผู้ป่วย

นอกจากนี้มีตึกที่มีชื่อไพเราะมากมาย เช่น ตึกปาวา ตึกนี้จะเป็นตึกที่มีผู้ป่วยทางระบบประสาทที่นอนติดเตียงเยอะมาก เวลาขึ้นตึก จะต้องสงบเสียงเนื่องจากผุ้ป่วยอาการหนักที่นอนติดเตียง เจาะคอ และบางคนเกิดภาวะแผลกดทับที่ต้องได้รับการรักษาต่อเนื่อง

ตึกหริศจันทร์ เป็นตึกผู้ป่วยหญิงที่เป็นหลากหลายโรค มีผู้ป่วยมารักษามากมาย บางเคสเป็นมาก ตอนนั้นจำได้ว่าที่ไปดูแลเป็นวัณโรคหลายเคส อาการหนักบ้างเบาบ้าง 

ตึกสยามมินทร์  ตึก 84 ปี และตึกอัษฎางค์ ที่เพิ่งสร้างเสร็จ, OPD เก่ารับเคสฟื้นฟู ตึกศรีสังวาลย์ และตึกที่ทรงพลังขลังที่สุดคือ ตึก Gross ซึ่งเป็นสถานที่ให้ นักศึกษาเรียนมหกายวิภาคศาสตร์ที่นี่ และพิพิธภัณฑ์คองดอน

เคยขึ้นไปสยามมินทร์ ไปดูผู้ป่วยหลังผ่าหัวใจ จำได้ว่าเป็นผู้ป่วยอายุมากแล้วเป็นโรคลิ้นหัวใจตีบ มาผ่าตัดและอาการดีขึ้น เขายากจนมาก แต่ได้อานิสงค์ของเงินขายธงจากพวกเรานี่แหละที่ทำให้ผู้ป่วยนั้นได้ผ่าตัด และกลับไปใช้ชีวิต

ทกวันนี้ศิริรราชเปลี่ยนไปมาก อาคารมากมาย ระบบดีขึ้น  และผู้ป่วยเยอะขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนเลยคือปณิธานของลูกหลานมหิดล-ศิริราชทุกคนที่จะเจริญรอยตามพระบิดา เราท่องไว้เสมอว่า การสร้างตึกขนาดใหญ่ ต้องวางฐานรากที่แข็งแรงแข็งแกร่ง เสาเข็มต้องลึก และรับน้ำหนักได้fu เมื่อตึกมีฐานรากแข็งแรงแล้ว สิ่งปลูกสร้างด้านบนย่อมสร้างต่อไปได้อย่างสง่างาม และมั่นคง  ทุกวันนี้เราขอน้อมรำลึกถึงพระคุณของพระบิดา และการวางฐานรากของพระองค์ท่าน  ถึงแม้คนบางกลุ่มจะมองเห็นแค่ตึกงดงามที่ตระหง่านเต็มไปหมด แต่บางคนอาจลืมไปว่าทุกตึกต้องมีเสาเข็มเสมอ และมันต้องมีใครสักคนริเริ่มตอกมันลงไปในแผ่นดินไทย.....น้อมรำลึกพระองค์ท่านมิเสื่อมคลาย จากใจลูกหลานมหิดล-ศิริราช
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่