£££ ตลท. เปิดเฮียริ่ง ‘การปรับปรุงเกณฑ์ดัชนี’ ถึง 1 ตุลาคม เตรียมประกาศใช้เกณฑ์ใหม่รอบเดือนธันวาคมปีนี้

กระทู้คำถาม
อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่ https://thestandard.co/wealth/ 
#TheStandardWealth

UPDATE: ตลท. เปิดเฮียริ่ง ‘การปรับปรุงเกณฑ์ดัชนี’ ถึง 1 ตุลาคม เตรียมประกาศใช้เกณฑ์ใหม่รอบเดือนธันวาคมปีนี้ สะเทือนหุ้น DELTA ร่วงหนัก
.
ตลาดหลักทรัพย์ เปิดเฮียริ่ง ‘การปรับปรุงเกณฑ์ดัชนี’ ถึงวันที่ 1 ตุลาคม เตรียมประกาศใช้เกณฑ์ใหม่รอบเดือนธันวาคมปีนี้ เตรียมถอดหุ้นที่ฟรีโฟลทต่ำ-มูลค่าซื้อขายต่ำ และหุ้นที่ติดมาตรการกำกับการซื้อขาย (Cash Balance) ทุกระดับออกจากการคำนวณดัชนี เพื่อลดความผันผวนของตลาด รวมทั้งนำเกณฑ์ Free Float Adjusted มาใช้
.
ด้านนักวิเคราะห์มอง SET Index ปรับลดลงหนักระยะสั้นเพื่อตอบรับเกณฑ์ใหม่ ส่วนหุ้น DELTA เสี่ยงหลุด SET50 สูง เหตุติด Cash Balance ยาวนาน เชื่อท้ายที่สุดแล้วเกณฑ์ Free Float Adjusted จะทำให้ดัชนีมีคุณภาพ
.
ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนปัจจุบัน ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ หรือ SET Index เคลื่อนไหวในทิศทางที่ผันผวนโดยรับอิทธิพลจากหุ้นไม่กี่ตัวเท่านั้น ที่เห็นได้ชัดคือหุ้น DELTA ที่มักจะมีผลต่อ SET Index ในสัดส่วนที่มีนัยสำคัญ ทั้งการปรับเพิ่มขึ้นและการปรับลดลง จนวงการตลาดทุนไทยเริ่มคิดเห็นในทางเดียวกันว่า SET Index นั้นค่อนข้างบิดเบี้ยว
.
ทั้งนี้ เพื่อให้ SET Index สะท้อนความจริงมากขึ้น ตลาดหลักทรัพย์จึงเปิดรับฟังความคิดเห็น หรือ Public Hearing เรื่องการปรับปรุงดัชนีของตลาดหุ้น ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน - 1 ตุลาคม 2564 เรื่องการปรับปรุงการคำนวณดัชนีหุ้นไทย โดยมีแนวทางจะถอดหุ้นที่ฟรีโฟลทต่ำ-มูลค่าซื้อขายต่ำ และหุ้นที่ติดมาตรการกำกับการซื้อขาย (Cash Balance) ทุกระดับออกจากการคำนวณดัชนี เพื่อลดความผันผวนของตลาดและสะท้อนภาพที่แท้จริง และนำเกณฑ์ Free Float Adjusted มาใช้ประกอบการพิจารณาด้วย ทั้งนี้ เพื่อใช้ในรอบคัดเลือกรอบถัดไปในช่วงเดือนธันวาคม 2564
.
ปัจจุบันเกณฑ์การคัดเลือกดัชนีของ SET Index Series ที่เป็น Tradable & Thematic Index ทั้งหมดจะมีเกณฑ์การคัดเลือกที่ประกอบด้วย
.
1. เกณฑ์ด้านปริมาณ (Quantitative) ได้แก่ Market Capitalization, Value Trade, Turnover Ratio, Free Float เป็นต้น
2. เกณฑ์เชิงคุณภาพ (Qualitative) เช่น ไม่เข้าข่ายถูกเพิกถอน ไม่ถูกสั่งพักการซื้อขาย หรือมีปัญหาด้านงบการเงิน เป็นต้น
.
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาพบว่าดัชนีเหล่านี้อาจมีความผันผวนค่อนข้างสูง และอาจไม่สามารถสะท้อนความสามารถในการลงทุนของหลักทรัพย์ได้ดี ดังนั้นตลาดหลักทรัพย์จึงได้ศึกษาแนวทางที่จะปรับปรุงเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือก เพื่อให้สะท้อนความสามารถในการลงทุนของตลาดหลักทรัพย์ได้ดีขึ้น สอดคล้องกับมาตรฐานสากล รวมถึงผลกระทบจากความผันผวนของราคาหุ้นในดัชนีที่มีสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อย (Free Float) ต่ำ
.
โดยตลาดหลักทรัพย์ได้มีการศึกษาแนวทางในการปรับปรุงหลักเกณฑ์ทั้งที่เป็นเกณฑ์เชิงปริมาณ (Quantitative) และเกณฑ์เชิงคุณภาพ (Qualitative) และเห็นควรเสนอแนวทางปรับปรุงโดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
.
1. ปรับเกณฑ์สภาพคล่องการคัดเลือกหุ้นในดัชนี Tradable Index
การคัดเลือกหุ้นเพื่อให้เป็นองค์ประกอบของดัชนี Tradable Index เกณฑ์ด้านสภาพคล่องควรสะท้อนมูลค่าการซื้อขายที่สม่ำเสมอและเป็นไปตามสภาพปกติเท่านั้น เพื่อให้เป็น Investable Universe ที่ผู้ลงทุนสามารถลงทุนได้จริง ตลาดหลักทรัพย์จึงมีแนวทางเพิ่มเกณฑ์คุณภาพในการพิจารณาสภาพคล่องที่ใช้ในการคัดเลือกหุ้น ตามหลักการ ดังนี้
.
1.1 นำข้อมูลหลักทรัพย์ที่มีการซื้อขายผิดไปจากสภาพปกติของตลาด ซึ่งหมายถึงหลักทรัพย์ที่เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขายหลักทรัพย์ (Market Surveillance Measure List) มาประกอบการพิจารณา
.
1.2 การคัดเลือกหลักทรัพย์ที่เป็นองค์ประกอบในดัชนี Tradable Index ตามรอบการคัดเลือก จะไม่พิจารณาปริมาณการซื้อขายของหลักทรัพย์ช่วงเดือนที่เข้ามาตรการดังกล่าวตั้งแต่ Level 1 ขึ้นไป
.
2. ปรับการคำนวณดัชนีเป็น Free Float Adjusted Market Capitalization Weighted
การให้น้ำหนักของหุ้นในดัชนีควรสะท้อนความสามารถในการลงทุนได้ของหุ้นที่เป็นองค์ประกอบของดัชนี ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีชั้นนำในต่างประเทศ ตลาดหลักทรัพย์จึงมีแนวทางดำเนินการ ปรับวิธีการคำนวณน้ำหนักของหุ้นในองค์ประกอบของดัชนี จากเดิมที่ใช้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดในการคำนวณดัชนี (Full Market Capitalization) เป็นการใช้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่ปรับด้วยสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อยในการคำนวณดัชนี (Free Float Adjusted Market Capitalization) สำหรับทุกดัชนี
.
และในการดำเนินการปรับปรุงด้วยวิธี Free Float Adjusted Market Capitalization นี้ อาจต้องมีกระบวนการพิจารณาข้อมูลเพิ่มเติมดังนี้
.
2.1 ศึกษาและพิจารณาความเหมาะสมของนิยาม Strategic Partner เพื่อให้สัดส่วนการกระจายการถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) สามารถนำมาใช้เป็นตัวแปรในการคำนวณเพื่อให้น้ำหนักของหุ้นที่เป็นองค์ประกอบของดัชนีมีความเหมาะสมและสะท้อนความสามารถในการลงทุนได้ (Investable) ของหุ้นได้ดียิ่งขึ้น
.
2.2 ศึกษาแนวทางการนำสัดส่วนการกระจายการถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) มาใช้เป็นตัวแปรในการคำนวณน้ำหนักของหุ้นในดัชนี
.
2.3 กำหนดแนวทางการดำเนินการเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ที่เป็นองค์ประกอบของดัชนีเพื่อ Rebalance หรือปรับสถานะจำนวนมาก (Index Turnover สูง) และอาจส่งผลกระทบต่อราคาหลักทรัพย์ เพื่อทำให้การเปลี่ยนผ่านมีความราบรื่น
.
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการปรับวิธีการคำนวณด้วย Free Float Adjusted นั้น ยังมีประเด็นที่จะต้องดำเนินการ และรายละเอียดที่จะต้องกำหนดเพิ่มเติม เพื่อให้ข้อมูลสัดส่วนการกระจายการถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) ที่นำมาใช้มีความเหมาะสมกับลักษณะของตลาดทุนไทย และเทียบเคียงกับแนวทางสากล และใช้ในการคำนวณน้ำหนักของดัชนีได้ดี ในส่วนนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะศึกษาและกำหนดรายละเอียดในการดำเนินการและจะแจ้งให้ทราบในรายละเอียดต่อไป
.
ฝ่ายวิจัย บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า การปรับเปลี่ยนเกณฑ์การคัดเลือกคำนวณดัชนีของตลาดซึ่งขณะนี้อยู่ช่วง Public Hearing นั้น สะท้อนว่า
.
1. ตลาดฯ ตั้งใจปรับปรุงดัชนีสำหรับ Index Fund ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
.
2. จะมีการนำเกณฑ์หุ้นที่มีการซื้อขายผิดปกติมาร่วมการคัดเลือก กล่าวคือกรณีติด T1-3 ในเดือนใดๆ จะไม่นำเดือนนั้นมาพิจารณาเกณฑ์สภาพคล่อง ทำให้หุ้นที่ติด T1-3 เสี่ยงที่จะไม่ผ่านเกณฑ์สภาพคล่อง
.
3. คาดว่าจะนำ Free Float Adjusted มาคิดในส่วนน้ำหนักในดัชนี และเตรียมนิยามของคำว่า Free Float ใหม่ให้เหมาะสมมากขึ้น
.
4. น่าจะประกาศใช้รอบการคำนวณครึ่งปีแรก 2565 คือประกาศรายชื่อกลางธันวาคม 2564 นี้
.
การปรับเกณฑ์ดัชนีครั้งนี้น่าจะกระทบต่อหุ้นที่ติด Trading Alerts หรือ Cash Balance โดยทำให้เข้าคำนวณในดัชนี SET50/100 ได้ยากขึ้น ประกอบด้วย
.
1. DELTA ซึ่งที่ผ่านมา DELTA ติด Cash Balance 5 ครั้ง เสี่ยงถูกถอดออกจาก SET50 รอบถัดไป กรณีใช้เกณฑ์ใหม่ คาดเงินออก 2.9 พันล้านบาท และ NRF ติด Cash Balance 6 ครั้ง เสี่ยงหลุด SET100 ส่วน PSL ติด Cash Balance 3 ครั้ง มีโอกาสหลุด SET100
.
หุ้นที่เสี่ยงถูกลดน้ำหนักการลงทุน มีดังนี้ AOT, GULF, OR, SCGP, ADVANC, INTUCH, SCGP, PTTEP, BJC และหุ้นที่น่าจะได้รับน้ำหนักลงทุนเพิ่มขึ้น ดังนี้ BBL, SCB, SCC, KBANK, BDMS, CPALL, PTT, CPN, MINT, PTTGC, LH, TISCO, BTS, TU, KCE
.
กรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน-กลยุทธ์การลงทุน บล.โนมูระ พัฒนสิน กล่าวว่า หากนำเกณฑ์ Free Float Adjusted มาใช้จริง การตอบรับของ SET จะผันผวนลดลงก่อนในช่วงแรก เพราะหุ้นใหญ่ถูกเทขาย โดยเฉพาะ DELTA โดยหาก DELTA ถูกถอดออกจาก SET50/100 จริง เงินลงทุนของกองทุนดัชนี (Index Fund) จะขายออกราว 4 พันล้านบาท แต่ถ้า DELTA ยังอยู่ และมีการประกาศใช้เกณฑ์ Free Float Adjusted เงินลงทุนของ Index Fund จะขายออกราว 1.5 พันล้านบาท
.
ทางด้าน ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ จำกัด กล่าวว่า หากนำเกณฑ์สภาพคล่องและการติด Cash Balance มาใช้ หุ้นที่กระทบมากสุดก็คือ DELTA โดยอาจจะทำให้หลุดจากดัชนี SET 50/100 ได้ เพราะ DELTA ติด Cash Balance หลายครั้ง
.
“เกณฑ์สภาพคล่องและการติด Cash Balance นั้น จะมีกับ DELTA มาก และจะทำให้ SET โดยรวมปรับลดลงหนักในช่วงแรกที่ประกาศใช้ เนื่องจากกองทุนดัชนีจะปรับพอร์ตเพื่อเคลียร์พอร์ตตัวเองให้เป็นไปตาม Benchmark ดังนั้นในช่วงเดือนสุดท้ายของปี นักลงทุนอาจต้องมองข้ามความผันผวนของดัชนีไปก่อนและเน้นพิจารณาการลงทุนรายตัวดีกว่า”
.
การเปิดเฮียริ่งการปรับปรุงเกณฑ์ดัชนีของตลาดหลักทรัพย์ ส่งผลโดยตรงต่อราคาหุ้น DELTA ในวันนี้ (21 กันยายน) ล่าสุด เวลา 15.20 น. ราคาหุ้น DELTA ลดลงไปราว 9.71% มาอยู่ที่ 502 บาท

แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  การเงิน การลงทุน หุ้น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่