มาดูเบื้องลึกเบื้องหลังรายการเด็กในความทรงจำ "หนูทำได้" : ป้าจิ๊ก็ทำได้!!!

"โทรทัศน์" กับ "เด็ก" นั้นดูเหมือนจะใกล้ชิดกันยิ่งกว่าเด็กกับพ่อแม่หรือครูเสียอีก โทรทัศน์จึงนับว่ามีอิทธิพลต่อเด็กมาก ไม่ว่าจะในด้านลบหรือด้านบวก

"รายการสำหรับเด็ก" นั้นโดยวัตถุประสงค์แล้วก็เพื่อปลูกฝังทัศนคติที่ดีแก่เด็ก เป็นรายการที่พยายามให้ประโยชน์ แต่ก็มักจะไม่มีใครเห็นประโยชน์และความสำคัญกันอย่างจริง ๆ จัง ๆ อันนับเป็นเรื่องน่าห่วงมาก

ในช่วงปี 2532 รัฐบาลโดยคณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ (กบว.) ได้มีมติให้สถานีโทรทัศน์ไทยทุกช่องมีรายการสำหรับเด็กออกอากาศในช่วงเวลา 18.30-19.30 น. ซึ่งก็ปรากฏว่าสถานีโทรทัศน์ช่องต่าง ๆ ได้จัดให้มีรายการเด็กขึ้น

เท่าที่ปรากฏก็นับว่ารายการเด็กเริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นกว่าเก่า ในจุดนี้ต้องขอขอบคุณรัฐบาลที่เล็งเห็นความสำคัญของเด็กและเยาวชนของชาติในการกำหนดช่วงเวลาดังกล่าว

ประกอบกับมีนักจัดรายการหลาย ๆ คนหันมาผลิตรายการสำหรับเด็กอย่างจริงจังและมุ่งมั่นที่จะทำเพื่อเด็ก จึงมีส่วนผลักดันให้ระยะนี้มีรายการประเภทนี้มากขึ้น อาจเรียกได้ว่าเป็น "ยุครายการเด็กเบ่งบาน" นับแต่นั้นมา

ซึ่งก็มีบุคคลอยู่กลุ่มหนึ่งที่เล็งเห็นคุณค่าและอยากจะทำรายการเด็กด้วยความเต็มใจ โดยมุ่งให้ทั้งความสนุกสนานเพลิดเพลินแต่ไม่ทิ้งสาระ ด้วยการกล้าแสดงออกของเด็ก ๆ จึงให้กำเนิดรายการที่ชื่อดูง่าย ๆ แต่มีความหมายว่า..."หนูทำได้"

นับเป็นรายการเด็กที่มีอายุการออกอากาศยาวนานอีกรายการหนึ่ง ถึงแม้จะเลิกผลิตรายการไปนานกว่าอายุของรายการแล้ว แต่ก็เชื่อว่ายังมีผู้ชมบางคนคิดถึงและจดจำภาพความหลังอันติดตาเหล่านั้น

แต่ก็ยังไม่รู้ให้แน่ชัดว่ารายการนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร หรือกว่าจะมาเป็นรายการขวัญใจเด็ก ๆ ในอดีตนั้นเคยผ่านความหนักหนามาได้อย่างไร และยังมีความเคลื่อนไหวอย่างไรอีกบ้าง

ในโอกาสนี้เราจึงขอล้วงลึกถึงเรื่องของ "สุดยอดรายการเด็กแห่งตำนาน" ผ่านคำบอกเล่าของผู้จัดและพิธีกรรายการที่แฟน ๆ คุ้นหน้าค่าตากันดี...

บทความและบทสัมภาษณ์ต่อไปนี้เหมาะสำหรับผู้ที่เคยผ่านการรับชมรายการหนูทำได้มากว่าร้อยครั้งเท่านั้น!!!

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

"หนูทำได้"-น้องใหม่ค่าย 7 สี
(เรียบเรียงจากรายงานพิเศษ เรื่อง "รายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก เกิดยาก ตายง่าย จริงหรือ?" 
รายงานโดย จำเนียม อินยา, ตีพิมพ์ในนิตยสาร "กรุงเทพ 30" ฉบับเดือนสิงหาคม 2533)


                อายุเพิ่งครบขวบปีเมื่อเดือนที่ผ่านมานี้ รายการ "หนูทำได้" ทางช่อง 7 สี วิกตลาดหมอชิต ดำเนินรายการโดยพิธีกรชื่อดังและคุ้นหน้า "อัจฉราพรรณ ไพบูลย์สุวรรณ" คนรักเด็กและมีกิจกรรมที่เกี่ยวกับเด็กมากมายก่ายกอง และร่วมกับเพื่อน ๆ จัดตั้งกองทุนเด็กฯ แจกจ่ายทุนการศึกษาแก่เด็กยากจนไปแล้วหลายร้อยคน

                ฉะนั้นการเห็นอัจฉราพรรณปรากฏบนจอโทรทัศน์ในฐานะนักจัดรายการเด็กคนหนึ่งจึงเป็นภาพที่ไม่แปลก เธอเล่าถึงที่มาของรายการว่า สนใจเกี่ยวกับเด็กอยู่แล้วและอยากทำรายการเด็ก ประกอบกับได้คลุกคลีกับเด็กมานาน โดยเฉพาะเด็กแฟนต้ายุวทูตมา 5 ปี และจากงานนั้นจึงเห็นความสามารถของเด็กและให้ผู้ใหญ่ได้เห็นด้วย และอีกอย่างอยากจะเป็นตัวอย่างแก่เด็กด้วยกัน

                เธอได้เล่าถึงความยากกว่าจะเป็น "หนูทำได้" ว่าต้องใช้เวลาไม่น้อย

                “พยายามชะเง้อหาเวลาทำรายการนานมาก ที่ช่อง 7 ก็ไม่คิดว่าจะได้ เพราะคนต้องการมาก มีคนบอกว่าหาเวลายาก ในที่สุดก็ได้มา พี่โทรศัพท์หาคุณแดง-สุรางค์ เปรมปรีดิ์ บอกว่าอยากทำรายการเด็ก คุณแดงก็บอกว่าให้เสนอมา

                หลังเสนอรูปแบบรายการ คุณแดงก็บอกว่าอีก 2 อาทิตย์ให้มาทำรายการ ก็ตกใจเพราะทำอะไรไม่ทัน ถึงแม้จะมีรูปแบบรายการแล้วก็ตาม

                ก็พยายามทำโดยรวบรวมเพื่อน ๆ ที่สนใจเรื่องเด็กมาร่วมทุนกันและใช้วิธีกู้ธนาคาร อย่างน้อยก็มีค่าเช่าเวลาที่จะจ่าย”

                หลังจากได้เวลามาแล้วก็ระดมสมองกับเพื่อน ๆ ผลิตรายการออกมาได้ทันเวลาทั้ง ๆ ที่แรก ๆ นั้นไม่รู้ด้วยซ้ำว่าค่าเช่าเวลา ค่าเตรียมการนานาจิปาถะนั้นต้องใช้เท่าไร ซึ่งบางทีก็เป็นผลดีสำหรับมือใหม่ที่จะกระโดดเข้าสู่วงการ เพียงแต่ความอยากจะทำและใจรักเท่านั้น

                “เมื่อไม่รู้เรื่องค่าใช้จ่ายจึงไม่กลัว คนที่เขารู้ว่าค่าใช้จ่าย 1-2 เดือนต้องใช้เป็นล้าน เขาก็กลัวไม่กล้าเสี่ยง ขณะที่เรารู้อย่างเดียวว่ามีภาพที่ชัดเจนของรูปแบบรายการซึ่งเด็กสามารถทำได้ การนำเสนอและการหาเด็กมาร่วมรายการ รู้ว่าจะหาเด็กเก่ง ๆ ซึ่งเป็นตัวอย่างแก่เด็กทั่วไปหาได้จากไหน เลยไม่มีความกลัวว่าจะไม่มีวัตถุดิบ ขณะที่เรื่องการตลาดนั้นไม่รู้เลย”

                รูปแบบรายการ “หนูทำได้” แรก ๆ นั้นจะให้เด็ก ๆ แสดงความสามารถโดยการให้เด็กออกไปเล่าเรื่องจากรูปภาพและเล่นกันเป็นทีม เพื่อช่วยเขาในด้านการกล้าแสดงออกและสร้างสรรค์จินตนาการ

                “เด็กที่มาในรายการที่พยายามให้มีประชาชนเด็กเยอะ ๆ ทีมละ 3 คน มีพิธีกรร่วม 2 คน คือ "หน่อยแนะ" และ "มูฮัมหมัด" เพื่อให้ดูเป็นรายการเด็กจริง ๆ”

                และเด็กทุกคนที่ไปร่วมรายการ ทางผู้จัดจะให้หาของฝากติดมือไปด้วยทุกครั้ง เช่นตุ๊กตาที่เลิกเล่นแล้ว เสื้อผ้า หนังสือการ์ตูน ฯลฯ เพื่อเป็นการค่อย ๆ ป้อนความรู้สึก “ให้” แก่เด็ก ๆ เมื่อเขามีโอกาสสนุกสนานกันแล้วก็ควรจะแบ่งปันให้คนอื่นได้รับบ้าง ต่อมารูปแบบก็เปลี่ยนแปลงเป็นการตอบคำถาม มีช่วงของสิ่งแวดล้อมแทรกเข้ามา มีช่วงหนูเป็นเด็กดี...ที่ให้คนทางบ้านเขียนมาบอกอาจจะเป็นพ่อแม่หรือคนอื่น ๆ ก็ได้ สำหรับคนที่ได้รับการชื่นชมในรายการก็จะได้รับ “เสื้อสามารถ” เป็นสิ่งตอบแทน เพราะรายการนี้ไม่เน้นการตอบแทนด้วยเงิน ผู้จัดบอกว่ากลัวจะไปสร้างความ “อยาก” ได้เงินให้แก่เด็กแล้วอาจจะมีรายการหลอกกันได้

                ปัญหาหนึ่งที่หลายคนเป็นห่วงว่า การโฆษณาในรายการเด็กจะเป็นการมอมเมาหรือไม่ แต่โฆษณาก็เป็นประหนึ่งโลหิตที่หล่อเลี้ยงรายการให้อยู่รอด ในเรื่องนี้คุณอัจฉราพรรณมีความเห็นว่าตัวเองไม่ได้ทำธุรกิจ แต่ทำด้วยความอยากจะทำ

                “พี่ทำเพื่ออยากให้มีรายการเด็กขึ้นมาอีกรายการหนึ่ง แล้วก็ให้ตัวพี่มีงานทำและได้ทำในสิ่งที่ชอบ เพราะฉะนั้นเราจะพิจารณาดูว่าสปอนเซอร์รับข้อเสนอของเราได้ไหม ช่วงแรก ๆ หาลำบากมาก ปีที่แล้วพี่มีหนี้ 4 แสนบาท ทั้ง ๆ ที่ทีมงานผู้จัดไม่ได้เงินเดือน แต่ก็ไม่มีใครสนใจ เพราะแต่ละคนก็มีอาชีพประจำอยู่แล้ว คนที่อยากให้เขียนถึงคือ คุณพรวุฒิ สารสิน พอพี่รู้ว่าได้เวลาก็วิ่งไปหาเขา เขาก็ยินดีสนับสนุนทั้ง ๆ ที่ไม่รู้เลยว่ารูปแบบรายการเป็นอย่างไร ถ้าไม่ได้เขาพี่คงเริ่มต้นยาก การทำรายการเกี่ยวกับเด็กเป็นการลงทุนที่เยอะมาก และจะทำให้ประสบผลสำเร็จนั้นขึ้นอยู่กับความตั้งใจของคนทำงานเป็นอันดับหนึ่ง และรูปแบบของรายการเป็นเรื่องต่อมา”

                “หนูทำได้” เป็นรายการสำหรับเด็กที่เน้นความสนุกสนานที่สอดแทรกสาระและคุณธรรมในแต่ละช่วงของรายการ โดยให้ออกมาเป็นความสนุก ไม่ใช่ต้องมานั่งโต๊ะขบคิดอะไรให้เครียดสมอง ฉากประกอบรายการก็ให้ความรู้สึกเพลินตา สีสันสดสวย ดูแจ่มใสร่าเริงสมวัยเด็ก และเด็กทุกคนที่ไปร่วมรายการ พิธีกรก็จะต้องมอบกล้าไม้กลับไปปลูกที่บ้าน เป็นการช่วยสร้างสำนึกร่วมรับผิดชอบและรักป่าไม้ ซึ่งนับวันก็จะไม่มีให้เห็นเสียแล้ว

                การที่รายการเด็กหลายรายการเกิดขึ้นและหายไปจากจอในเวลาอันรวดเร็วจะเป็นด้วยเหตุผลใดก็ตาม เจ้าของรายการหนูทำได้ฝากทัศนะไว้ว่า “ถ้าทำรายการเพื่อยังชีพแล้วไม่ได้รายได้เพียงพอก็ต้องเลิก กรณีพี่ไม่ใช่ทำอะไรตรงนี้เพื่อเอารายได้มาเลี้ยงชีพ พี่มีงานอื่นด้วย เพราะฉะนั้นตรงนี้พี่ไม่คิด”

                “พี่คิดว่าการทำรายการเด็กนั้นเริ่มแรกไม่ควรคิดถึงด้านธุรกิจ น่าจะคิดถึงรูปแบบของรายการว่าควรจะทำอะไร เนื้อหาสาระจะเป็นอย่างไรมากกว่า”

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
คลิปจาก Youtube : มนต์รัก เพลงเด็ก

ข่าวจาก นสพ.ข่าวสด, 3 เม.ย. 2539

- - - - - - - - - - สวัสดี. - - - - - - - - - -
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่