เทคนิคดีๆ แก้ปัญหาน้ำซึมจากพื้นปูนและพื้นกระเบื้อง



ปัญหาน้ำซึมที่พื้นในช่วงฝนตก

เป็นปัญหาที่พบได้บ่อย ๆ ในช่วงหน้าฝน ทั้งปัญหาน้ำซึมจากพื้นกระเบื้อง พื้นปูน หรือบริเวณผนังบ้านเป็นประจำ ซึ่งสาเหตุก็มาจากน้ำฝนโดยตรงนั่นเอง โดยส่วนที่พบบ่อยมักจะเกิดขึ้นในบริเวณรอยต่อตามส่วนต่างๆ ของตัวบ้าน เช่น วงกบประตู-หน้าต่าง ระแนงบังแดด หลังคากันสาด หรือเกิดตามรอยแตกร้าวบนผนัง ซึ่งบางครั้งน้ำก็สามารถแทรกตัวมาทางผนังแล้วซึมออกมาทางพื้นได้เช่นกัน

ดังนั้น วิธีแก้ปัญหาน้ำซึมใต้พื้นในกรณีที่เกิดขึ้นในช่วงที่ฝนตกก็ต้องทำควบคู่ไปกับการซ่อมแซมจุดรั่วซึมต่างๆ บนผนังบ้านไปด้วย โดยหากผนังภายนอกบ้านมีรอยแตกร้าว ต้องทำการฉาบซ่อมแซมด้วยปูนฉาบซ่อมอเนกประสงค์ แล้วค่อยทาสีภายนอกทับเพื่อความเรียบร้อยสวยงาม ส่วนผนังภายในบ้าน หากเกิดอาการบวมพองก็ต้องทำการลอกสีที่มีปัญหาออก แล้วค่อยทาสีใหม่ หรือหากวัสดุผนังอย่างกระเบื้องผนังหรือวอลเปเปอร์หลุดล่อน ก็ต้องรื้อของเดิมออกและติดตั้งใหม่ครับ

บริเวณระหว่างวงกบประตู-หน้าต่าง กับผนังบ้าน หากมีการรั่วซึมให้พิจารณาดูว่าวงกบเป็นวัสดุแบบใด หากเป็นวงกบอลูมิเนียมต้องลอกซิลิโคนเดิมออกแล้วยาแนวด้วยซิลิโคนใหม่ แต่หากเป็นวงกบไม้ต้องทำความสะอาด แล้วอุดช่องว่างรอบ ๆ วงกบด้วยซิลิโคน หรือกาวโพลียูริเทน (กาว PU) เพื่อไม่ให้มีช่องว่างให้น้ำรั่วซึมเข้ามาได้

หากฝนตกต่อเนื่องเป็นเวลานานนั้นอาจทำให้เกิดอาการน้ำซึมจากใต้ดิน โดยเฉพาะบ้านที่พื้นที่อยู่ต่ำกว่าระดับถนนสาธารณะ และมีการวางโครงสร้างพื้นชั้นล่างเป็นพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กวางบนดิน แยกชิ้นส่วนโครงสร้างกับเสา และคานที่รับผนัง ทำให้มีพื้นที่รอยต่อระหว่างแผ่นพื้นกับคานและผนัง น้ำจึงสามารถซึมผ่านเข้ามาได้ กรณีนี้ การแก้ไขจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของปัญหา โดยการแก้ไขเบื้องต้นเพื่อชะลอน้ำซึมต้องใช้วิธีอุดช่องว่างที่ว่านี้ด้วยกาวซิลิโคน, กาวโพลียูริเทน (กาว PU) หรือใช้โฟมโพลียูรีเทนสำหรับช่องว่างที่มีขนาดกว้าง

แต่หากวิธีในเบื้องต้นเอาไม่อยู่ อาจจะต้องมาพิจารณาเรื่องการยกระดับพื้นบ้านชั้นล่างให้สูงขึ้น โดยหากเป็นพื้นคอนกรีตวางบนดินก็สามารถเทคอนกรีตทับพื้นเดิมได้เลย หรือสามารถเสริมคานและติดตั้งระบบพื้นแบบโครงสร้างเบา ซึ่งจะประกอบด้วยตงเหล็กและแผ่นซีเมนต์บอร์ด ส่วนความหนาของการปรับระดับพื้นใหม่ต้องคำนึงถึงระยะความสูงจากพื้นใหม่ถึงฝ้าเพดานด้วยนะครับ



ปัญหาน้ำซึมที่พื้นแม้ฝนไม่ได้ตก

กรณีที่เกิดปัญหาน้ำซึมใต้พื้นในช่วงที่ไม่ได้มีฝนตก นั่นเพราะภายในตัวบ้านกำลังเกิดปัญหาที่จุดใดจุดหนึ่ง วิธีแก้ไขให้หายขาดจึงต้องหาจุดที่เป็นปัญหาให้เจอเสียก่อน ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่มักจะเกิดบริเวณใกล้กับท่อน้ำ หรือเป็นพื้นที่ทางผ่านท่อประปาและท่อระบายน้ำ ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นพื้นบ้านเท่านั้น เพราะจุดรั่วซึมอาจอยู่ใต้ผนังที่เมื่อน้ำรั่วซึมสะสมแล้วทำให้มีการเก็บน้ำและซึมออกมาทางพื้นได้เช่นกัน

สำหรับวิธีการหาจุดที่น้ำรั่วซึม หากเป็นปัญหาจากท่อประปารั่วจะสังเกตุได้จากมิเตอร์น้ำ เมื่อปิดน้ำทุกจุดแล้วมิเตอร์น้ำยังคงหมุนก็แสดงว่ามีจุดที่น้ำรั่วอยู่จริง ๆ แต่หากเป็นปัญหาท่อระบายน้ำรั่วอาจต้องพิจารณาจากแบบระบบสุขาภิบาลของบ้าน หรืออาจต้องคาดเดาเส้นทางการเดินท่อระบายน้ำ เมื่อหาตำแหน่งที่น้ำรั่วเจอแล้วจึงจัดการซ่อมแซมได้ กรณีที่จำเป็นต้องซ่อมแซมโดยการทุบสกัดพื้นหรือผนัง ก็อาจลองพิจารณาการเดินท่อชุดใหม่เพื่อใช้แทนของเดิมก็ได้ เมื่อซ่อมแซมจุดรั่วซึมเรียบร้อยค่อยจัดการฉาบเก็บงาน และปูพื้นหรือผนังส่วนที่มีการทุบรื้อให้กลับมาอยู่ในสภาพเดิมครับ

กรณีที่ปัญหาการรั่วซึมทำให้โครงสร้างพื้นหรือคานได้รับความเสียหาย ควรรีบซ่อมแซมอย่างเร่งด่วนตามลักษณะความเสียหายนั้น เช่น หากคอนกรีตกะเทาะจนเห็นเหล็กเส้นที่เป็นสนิม ให้ขัดสนิมออกด้วยกระดาษทราย ทาน้ำยาแปลงสนิม (Rust Converter) แล้วค่อยฉาบ หรือเลือกใช้คอนกรีตสำหรับงานซ่อมแซม (Non-Shrink Grout) มาหล่อให้คอนกรีตอยู่ในสภาพเดิม แต่หากมีปัญหาสนิมแบบที่กินเนื้อเหล็ก แนะนำว่าให้ติดต่อวิศวกรเข้ามาช่วยตรวจสอบเพื่อซ่อมแซมเพื่อความปลอดภัยของโครงสร้างบ้านครับ



ปัญหาน้ำซึมที่พื้นในช่วงน้ำท่วม

ในสถานการณ์น้ำท่วมที่หลายๆ พื้นที่ยังคงต้องเจออยู่เป็นระยะ หลายบ้านคงหาทุกวิถีทางมาป้องกันน้ำเข้าบ้านเต็มที่แล้ว ทั้งการกั้นกระสอบทราย การก่ออิฐฉาบปูนอย่างแน่นหนา หรือการใช้วัสดุต่างๆ ที่พอจะกันน้ำได้มาปิดกั้นไว้ แต่สุดท้ายก็ยังพบปัญหาน้ำซึมออกมาจากใต้พื้น หรือตามขอบเสา ขอบบัวผนัง หรือบางครั้งอาจเกิดน้ำผุดขึ้นมากลางบ้านเลยทีเดียว

กรณีที่เกิดน้ำซึมในช่วงน้ำท่วมโดยที่ระดับน้ำภายนอกยังไม่ได้สูงพ้นระดับกระสอบทรายกันน้ำเข้าบ้านเลย นั่นก็เพราะมวลน้ำที่ล้อมรอบตัวบ้านจะมีแรงดันที่สามารถซึมผ่านชั้นดินขึ้นมาได้ และเมื่อระดับน้ำในชั้นดินสูงขึ้นจนถึงระดับพื้นบ้านก็จะสามารถทำให้พื้นคอนกรีตเกิดรอยแตกร้าว และมวลน้ำจากภายนอกก็แทรกซึมเข้ามาตามรอยแตกเหล่านั้น จนเกิดเป็นปัญหาน้ำซึมหรือผุดขึ้นมาจากพื้นบ้านครับ

การที่แรงดันน้ำเกิดการดันตัวขึ้นมาในลักษณะนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้พื้นปูนเกิดการแตกร้าว หรือน้ำซึมจากพื้น อาจดันจนกระเบื้องหลุดล่อนหรือแตกร้าวได้ แต่ก็ยังมีวิธีแก้ไขอยู่ครับ นั่นคือการเจาะรูในน้ำที่อยู่ใต้ดินเพื่อให้น้ำสามารถผุดระบายออกมาได้ในตำแหน่งที่กำหนดเอง จากนั้นจึงต่อท่อเพื่อให้น้ำเดินทางไหลไปรวมกัน แล้วค่อยทำการสูบออกทีเดียว โดยการเจาะอาจเลือกเจาะไว้ตรงมุมห้องหรือมุมที่มองไม่ค่อยเห็นในบ้าน โดยจุดที่เจาะนี้สามารถเลือกใช้ได้ทั้งข้อต่อทองเหลือง หรือข้อต่อพีวีซีแบบเกลียวในพร้อมฝาจุกปิดหล่อปิดไว้เพื่อความเรียบร้อยเมื่อไม่ใช้งานได้ครับ ซึ่งนอกจากจะเป็นการระบายน้ำออกไปแล้วยังเป็นการช่วยปล่อยแรงดัน ทำให้โครงสร้างพื้นของบ้านยังคงแข็งแรงปลอดภัยครับ





HomeGuru by HomePro
อุ่นใจทุกเรื่องบ้านไปกับโฮมโปร และติดตามเคล็ดลับดีๆ เพื่อบ้านได้ทาง http://bit.ly/HomeGuru_Homepro
และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นปัญหาเรื่องบ้านกับ HomeGuru เพิ่มเติมได้ทาง https://bit.ly/3dQm4XE
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่