จองวัคซีน ฉีดวัคซีน และการพยายามอยู่กับโควิดแบบ SME

ในฐานะ SME รายหนึ่ง วันนี้ เลยอยากมาขอแชร์ประสบการณ์  การอยู่กับโควิด ปัญหาที่เจอและการบริหารจัดการ รวมถึงการ(พยายาม)เอาตัวรอดไปให้ได้ในช่วงโควิด-19 นี้นะคะ

ตอนโควิดเริ่มขึ้นในช่วงต้นปีที่แล้ว  เราก็พยายามรณรงค์เกี่ยวกับเรื่องการสวมแมสก์ เว้นระยะห่าง การล้างมือบ่อย ๆ และอะไรต่อมิอะไรต่าง ๆ ตามประกาศของรัฐบาล คู่ค้าเองก็เมล์มาขอทราบนโนบายและมาตรการการจัดการต่าง ๆ ด้วย ทำให้เราต้องค่อย ๆ เริ่มกำหนดขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อรับมือ เช่น จัดเตรียมเจลล้างมือกระจายหลายจุดทั่วที่ทำงาน  ปีก่อนนั้น แมสก์แพงมาก ๆ และหาซื้อแทบไม่ได้ เราก็ต้องจัดหาแมสก์ผ้าให้พนักงานพร้อมทั้งบังคับให้ใส่

ปีหนึ่งผ่านไป ความโกลาหลเหมือนจะเงียบลงพักหนึ่ง ก่อนจะมาปะทุใหม่ในช่วงปีนี้

ตอนนั้น ราว ๆ สักต้นปี เริ่มมีการรณรงค์ให้ฉีดวัคซีนผ่านหมอพร้อม หลังจากจองให้ญาติผู้ใหญ่เราแล้ว   เราบอกน้องที่ทำงานว่า ให้ลองดูว่าที่ไหนมีการจองวัคซีนในนามบริษัท ให้ไปลงชื่อรีบจอง

บริษัทเราเลยลงจองกับทั้งของ จังหวัด (ตระกูลพร้อม กับ ตระกูลชนะทั้งหลายนั่นแหละค่ะ) ลงจองกับประกันสังคม และวันหนึ่ง สภาอุตฯส่งข้อความมาถามสมาชิกว่า ได้โควต้า SINOPHARM มาส่วนหนึ่งสำหรับให้กับบริษัทต่าง ๆ เป็นวัคซีนทางเลือก  สนใจจะจองไหม ? 

มีรายละเอียดและวิธีการดังนี้

1.วัคซีนทางเลือกแปลว่า วัคซีนที่รัฐไม่ได้จัดหาได้ เพราะฉะนั้น เราต้องยอมลงทุนเอง โดย มีข้อกำหนดสำหรับบริษัทว่า สามารถยื่นขอจองตามจำนวนที่ต้องการได้ และบวกเพิ่มอีก 10% สำหรับการบริจาค  โดยโดสหนึ่งของ SINOPHARM อยู่ที่ 888 บาท
เช่น เราจอง สำหรับ 200 คน คนละ 2 โดส คือ 400 โดส 
แต่เวลาชำระเงิน ต้องชำระ 400 + 40 (10% ของ 400)
เป็น 440 x 888 = 390,720 บาท
แต่จะได้รับจริง ๆ 400 โดส ส่วนอีก 40 โดสนั้น ถือเป็นโควต้าที่ต้องบริจาคไป โดยทางราชวิทยาลัยจะได้ทำการจัดสรรบริจาคไปยังกลุ่มต่าง ๆ ต่อไป
ดังนั้น ต้นทุนค่าวัคซีนของเราจริง ๆ จึงอยู่ที่ 976.80 บาท ต่อโดส (390,720/400) บวกค่าฉีด (จ่ายตรงให้กับโรงพยาบาล) ซึ่งคิดโดสละ 100 บาท รวมเป็น 1,076.80 บาท รวมสองโดสจะเป็น 2,153.60บาท

2.หลังจากจองแล้ว ให้โอนเงินไปที่สภาอุตฯ

3.เมื่อวัคซีนใกล้มาถึง สภาอุตฯ จะแจ้งให้ทราบ จากนั้น ให้เราติดต่อโรงพยาบาลในเครือข่ายที่รับฉีด SINOPHARM เพื่อขอรับการฉีดวัคซีนและจ่ายค่าฉีดให้กับโรงพยาบาลนั้น
พอใกล้ ๆ วันที่กำหนดวัคซีนจะมาถึง สภาอุตฯ เปลี่ยนวิธีการดำเนินการ และทำการโอนเงินคืนให้กับสมาชิกทั้งหมด และให้สมาชิกไปจองตรงเองกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

สรุปแล้ว เราลงจองทั้งหมด 3 platform
คือ ลงของจังหวัด ลงกับประกันสังคม และจอง SINOPHARM
สองที่แรก เงียบหายไป ไม่มีคำตอบให้

เราเลยพุ่งความหวังทั้งหมดไปที่ SINOPHARM วันที่น้องส่งข้อความมาบอกว่า เราได้จัดสรรโควต้า SINOPHARM เป็นวันเสาร์ตอนค่ำ  วันอาทิตย์ เรารีบพุ่งไปออฟฟิศ จัดการโอนเงินลงทะเบียน เลือกโรงพยาบาลอะไรเสร็จสรรพในทันที
ขั้นตอนวุ่น ๆ อยู่นิดหนึ่ง ความจริง โรงงานเราควรได้ฉีดตั้งแต่ราว ๆ วันที่สิบกว่า ๆ แต่มีข้อผิดพลาดด้านการประสานงานและความเข้าใจผิดบางอย่างเกี่ยวกับโรงพยาบาลที่รับฉีดเลยเลื่อนไปประมาณวันที่ 20

ก่อนถึงวันที่ 20 ประกันสังคม ก็โทรมาแจ้งว่า บริษัทเราได้โควต้าฉีดวัคซีน Astra เช่นกัน โดยต้องส่งชื่อภายในเย็นวันนั้นเลย  
น้องที่ออฟฟิศเราพร้อมอยู่แล้ว เลยรีบส่งชื่อไปที่ประกันสังคมและขอฉีดเลยในอาทิตย์ต่อมา
เราเลยให้คนของเรากว่า 90% เข้ารับการฉีด Astra กับประกันสังคม ก่อนที่ SINOPHARM ที่จองไว้จะมาถึงในอาทิตย์ต่อมา
ตอนนั้น ยอดผู้ติดเชื้อยังไม่สูงขนาดนี้ ยังอยู่ประมาณแค่หลักพัน  แต่เราไม่ได้คิดอะไรมากนอกจากว่า “รีบให้ทุกคนฉีดให้เร็วที่สุด” 

ประเด็นและปัญหาที่เราเจอและอยากมาแชร์มีอะไรบ้าง

1.มีความสับสน ความเข้าใจไปเองจากเนื้อหาที่แชร์กันมาทางโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับวัคซีน

พนักงานบางคนกลัววัคซีน ถามว่าทำไมไม่ลงชื่อรับวัคซีน เค้าตอบกลับมาสั้น ๆ เสียงสั่น ๆ ว่า “พี่...หนูกลัวตาย” 

พนักงานเราบางคน เต็มใจฉีด และดีใจที่บริษัทจัดหาวัคซีนให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

บางคน พอรู้ว่าเป็น SINOPHARM ซึ่งตอนนั้นยังเพิ่งเข้ามาเป็น lot แรก ๆ ก็เอาไปพูดกันว่า “เห็นเค้าเป็นหนูทดลอง” เราได้แต่มองบนแล้วนึกในใจว่า  “เค้าฉีดกันจะเป็นพันล้านแล้วทั่วโลก   ถ้าเธอเป็นหนู คงเป็นตัวที่พันล้านสิบห้า กระมัง” 

พนักงานเราบางคนท้อง บางคนเป็นภูมิแพ้ค่อนข้างรุนแรง เราก็จะให้พวกเขาไปปรึกษาหมอที่รักษากันอยู่ว่าแนะนำให้ฉีดวัคซีนอะไร จะเลือก Astra ก็ได้ หรือเลือกของ SINOPHARM ก็ได้  แต่ละคนก็วาดข้อสรุปตามแต่ข้อมูลที่ตัวเองได้รับมา เช่น รู้สึกว่า Astra แรง ขอ SINOPHARM ดีกว่า บางคนก็บอกว่าอยากได้ Astra เพราะน่าจะป้องกันสายพันธุ์ DELTA ได้ดีกว่า

2.สำหรับการฉีดวัคซีน Astra ที่จัดโดยประกันสังคม   แม้ว่าสถานที่จัดการฉีดวัคซีนจะสะอาดและโปร่งพอสมควร แต่การรอคิวค่อนข้างนานมาก คิวเราฉีดตอนบ่าย เราไปลงทะเบียนประมาณ สิบเอ็ดโมง กว่าจะเสร็จทุกอย่าง ประมาณสี่โมงกว่า แต่มีเก้าอี้ให้นั่ง และมีช่วงเวลาหลังจากได้บัตรคิวแล้วที่เค้าจะอนุญาตให้ไปทานข้าวแล้วกลับมารอในแถวได้  แต่สรุปคือ รอจนเมื่อยเหมือนกัน  ตอนประเมินอาการหลังฉีด บอกตรง ๆ ว่าเราไม่แน่ใจว่า เมื่อยเนื้อตัวเพราะวัคซีน หรือเพราะนั่งนานกันแน่

ไปเห็นฐานฉีดวัคซีนในกรุงเทพบางแห่งที่คอยคิวยืนกันยาวเหยียดแล้ว ต้องบอกว่า เราคิดว่าตัวเองคงทำบุญมาดี ถึงต้องรอ ก็ยังมีเก้าอี้ ไม่ต้องไปแออัดยัดเยียดยืนรออย่างศูนย์ฉีดบางแห่ง

ศูนย์ที่เราไปรับการฉีด บริหารจัดการได้ดีพอสมควร มีการเว้นระยะห่าง เจ้าหน้าที่สุภาพ พูดเสียงดัง ฟังชัด และดูเหมือนจะรับมือกับกลุ่มคนมาก ๆ ได้ดี  เราคุยกับเค้าก็ได้รู้ว่า หลายคนเป็น ไกด์ตกงาน ที่มารับจ๊อบ organize การฉีดวัคซีน

มิน่า เสียงดังฟังชัด พูดจามีลูกล่อลูกชน จัดระเบียบแถวได้เด็ดขาดแต่สุภาพ มีเล่นมุขแก้เครียดนิด ๆ หน่อย ๆ ได้ด้วย

3.การติดต่อทางโทรศัพท์กับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เกี่ยวกับเรื่อง SINOPHARM ทำได้ยากมากทางโทรศัพท์  ติดต่อทางโทรศัพท์แทบไม่ได้เลย เข้าใจว่า ทางสถาบันอาจยังทำระบบรองรับตรงนี้ได้ไม่ทัน  แต่ข้อดีอย่างหนึ่งที่ต้องชมเชย คือ โรงพยาบาลที่อยู่ในเครือข่ายฉีด SINOPHARM ทางเว็บของราชวิทยาลัย จะให้เบอร์ติดต่อเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลนั้น ๆ ทั้งเบอร์ปกติ และเบอร์มือถือ พร้อมชื่อผู้ติดต่อ  ดังนั้น ถึงติดต่อราชวิทยาลัยโดยตรงไม่ได้ เราสามารถติดต่อโรงพยาบาลที่เราไปทำการขอฉีดวัคซีนได้ จึงประสานงานซักถามได้ไม่ยาก

4.เราทำอย่างไรกับโควต้า SINOPHARM ที่จ่ายเงินไปแล้ว ?
  พนักงานเราบางคน (เช่น ที่ท้อง หรือบางคนที่เป็นภูมิแพ้)  เลือกฉีด SINOPHARMส่วนที่เหลือ  คือนักศึกษาฝึกงาน และเราปันโควต้านี้ไปให้กับคนรู้จักที่ทำงานใกล้ชิด เช่น ญาติของพนักงาน ผู้รับเหมาช่วงที่เข้ามาทำงานในสถานที่เรา คนงานในแคมป์ก่อสร้าง และบรรดาพนักงานต่างชาติหรือต่างด้าวของคนรู้จักที่ยังหา platform ลงทะเบียนไม่ได้

  ขอนอกเรื่องนิดหนึ่ง หลายคนอาจสงสัยว่า ต่างชาติ กับต่างด้าวต่างกันอย่างไร ?

เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองที่ทำเรื่องเอกสารขออนุญาตทำงาน บอกเราว่า ถ้าพูดว่าต่างชาติ เค้าจะหมายถึง expat หรือ พนักงานต่างชาติที่ถูกส่งมาทำงานในเมืองไทย มักจะเป็นพวกวิชาชีพเฉพาะ กับพวกต่างด้าวจะหมายถึง พนักงานต่างชาติจากประเทศเพื่อนบ้านที่มักจะมาทำงานเป็นแม่บ้านหรือพนักงานในไลน์ผลิตตามโรงงาน

5.ฉีดวัคซีนแล้ว มีคนติดโควิดหรือไม่ ? ถ้าติดหลังจากฉีดเข็มแรกแล้วจะต้องทำอย่างไร ?

  เท่าที่เราเจอ คนที่ฉีดแล้ว เวลาติด อาการมักจะไม่รุนแรง อยู่กักตัวที่บ้านหรือ home isolation กินยาจนหายที่บ้านเลยเป็นส่วนใหญ่
  หลังจากหายแล้ว ต้องรออีกอย่างน้อย 3 เดือน จึงจะไปขอฉีดวัคซีนได้
  มีบางคนที่ฉีด SINOPHARM ไปแล้ว ติดโควิด เนื่องจาก SINOPHARM มีระยะห่างการฉีดเพียง 3 อาทิตย์ 

ทางเลือกของเราในกรณีนี้มีดังต่อไปนี้คือ 
1.หากเราต้องการเก็บ SINOPHARM เข็มสองไว้ฉีดต่อ ทางโรงพยาบาลคิดค่าเก็บ 3000 บาท ต่อโดส ต่อเดือน นั่นแปลว่า เก็บสามเดือน จะมีค่าใช้จ่าย 9000 บาทต่อโดส (บ้าไปแล้ว)
2.บริจาคไปเลย
3.หาคนมาฉีดต่อ แต่คนนั้นจะไม่ได้รับการประกันหากแพ้วัคซีน SINOPHARM เช่น หากมีคนไม่มาฉีดเข็มสองจำนวน 4 คน เท่ากับเรามี 4 โดสเหลือ เราสามารถยก 4 โดสนี้ให้กับคน 2 คนได้ (ต้องฉีดคนละ 2 โดส)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่