ตำรวจยึดรถได้กรณีใดบ้าง🌟🌟

ตำรวจยึดรถได้กรณีใดบ้าง🌟🌟
1. ยึดรถตามคำสั่ง คสช.46/2558 ได้แก่       
      1.1 การรวมกลุ่มเพื่อแข่งรถในทาง และ
      1.2 ขับรถยนต์ รถจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะโดยประมาทหรือมีแอลกอฮอล์ในร่างกายเกิน กฎหมายกำหนด ยึดรถได้ไม่เกิน 7 วัน และควบคุมคนเพื่ออบรมได้ไม่เกิน 7 วัน ยึดใบขับขี่ได้ไม่เกิน 30 วัน
2. ยึดรถตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก ฯ ม.78 ขับชนแล้วหลบหนี ถ้าเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองไม่แสดงตัวภายใน 6 เดือน นับแต่วันเกิดเหตุ ให้ถือว่ารถนั้นเป็นทรัพย์สินที่ใช้กระทำผิดหรือเกี่ยวกับการกระทำผิดและให้ตกเป็นของรัฐ
3. ยึดเพื่อการสืบสวน เนื่องจากสงสัยว่าเป็นรถที่ถูกโจรกรรมมา หรือไม่ได้จดทะเบียนถูกต้อง โดยมีพฤติการณ์ประกอบ เช่น ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน , ติดแผ่นป้ายทะเบียน ไม่ตรงเลขเครื่อง เลขตัวรถ หรือไม่ตรงป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษี ซึ่งสอดคล้องกับประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ข้อ 9.2 
4. ยึดรถที่มีไว้เป็นความผิด ได้ใช้กระทำความผิด ได้มาจากการกระทำผิด หรือใช้เป็นพยานหลักฐาน ในการพิสูจน์ความผิด หรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา เป็นอำนาจสืบสวนของเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ตาม ป.วิ อาญา มาตรา 17 และ อำนาจสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวน ตาม ป.วิ อาญา มาตรา 132 เช่น เป็น รถที่ใช้ก่อเหตุชิงทรัพย์ 
5. ยึดเนื่องจาก ผู้ขับขี่ไม่ได้อยู่ในสภาพที่จะขับขี่ไปได้โดยความปลอดภัย เช่น เมาสุรา มีอาการป่วยอันเป็นอันตรายต่อการขับขี่ ขับยังไม่ชำนาญหรือขับไม่เป็น เป็นคนแก่ เด็ก คนท้องแก่ (ดูสภาพอาการผู้ขับขี่ ลักษณะการขับรถ และการได้รับใบอนุญาตขับขี่หรือไม่ประกอบกัน) บรรทุกของพะรุงพะรังจนน่าจะเกิดอันตรายได้ สภาพรถไม่อยู่ในสภาพปลอดภัย เช่น เบรคเสีย โดยยึดไว้เพื่อป้องกันภัยสาธารณะอันเกิดจากการผู้ขับขี่ไม่มีสมรรถภาพในอันที่จะขับขี่รถให้ปลอดภัยต่อตนเองและผู้อื่นได้ หรือ จากสภาพรถที่อันอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อตนเองและผู้อื่นได้ 
6. ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยและความเดือดร้อนของผู้อื่น อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก ฯ มาตรา 43(8) เช่น ขับแซงซ้ายแซงขวา ขับยกล้อ ขับฉวัดเฉวียนไปมา เป็นต้น
7. ยึดเนื่องจากไม่มีใบอนุญาตขับขี่ ไม่เคยทำใบอนุญาตขับขี่มาก่อน หรือใบขับขี่สิ้นอายุ ไม่ใช่ มีแต่ไม่พกใบอนุญาตขับขี่ติดตัวมาด้วย เมื่อตำรวจออกใบสั่ง และ อนุญาตให้ผู้ขับขี่ซึ่งไม่มีใบอนุญาตขับขี่ ขับต่อไป ตำรวจจะมีความผิดฐาน เป็นผู้สนับสนุนให้ผู้ซึ่งไม่มีใบอนุญาตขับขี่ขับรถ และผู้ขับขี่จะมีความผิดอีกกรรมหนึ่ง ในข้อหาอย่างเดียวกัน ต่างกรรมต่างวาระ คือ ขับรถโดยไม่มีใบอนุญาตขับขี่ เป็นความผิดครั้งใหม่ อีกกรรมหนึ่ง ดังนั้น ตำรวจจึงมีอำนาจยึดชั่วคราว เพื่อคืนให้ผู้มีใบอนุญาตขับขี่ซึ่งเป็นตัวแทนหรือรับมอบอำนาจจากเจ้าของหรือผู้ต้องหามารับไป หรือถ้าตำรวจมีความเมตตา ก็ควรนำผู้ต้องหาและรถไปส่งถึงบ้านเจ้าของรถหรือผู้ต้องหา ในทางกลับกัน ถ้าหากตำรวจยึดรถ แล้วเขาไม่มีค่ารถกลับบ้าน ติดต่อสื่อสารใครไม่ได้ ต้องเดินด้วยเท้ากลับบ้านหลายกิโลเมตรแล้วไปโดนฉุดคร่าอนาจาร ข่มขืน หรือถูกรถเฉี่ยวชนระหว่างเส้นทางกลับบ้าน ตำรวจก็อาจถูกฟ้องทางแพ่งได้  ดังนั้น การยึดรถกรณีไม่มีใบอนุญาตขับขี่นั้น จะต้องมีมาตรการรองรับ ส่งผู้ขับขี่กลับบ้าน หรือ ไปยังจุดหมายปลายทาง หรือให้ค่ารถ หรือเป็นธุระติดต่อญาติให้มารับกลับด้วย 
🌟กรณีตาม ข้อ 7. นี้ มีความแตกต่างจากคำพิพากษาศาลแพ่งกรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ 9172/2542 และคดีหมายเลขแดงที่ 8143/2546 ข้อเท็จจริงตำรวจยึดรถจับกุมผู้ขับขี่ในข้อหา ไม่พกใบอนุญาตขับขี่ ,ขับรถไม่ชิดขอบทางด้านซ้าย และปลอมและใช้ใบประกันภัยปลอม จำเลยซึ่งเป็นตำรวจผู้ยึดรถอ้างว่า ยึดเพื่อส่งไปตรวจสอบตามระเบียบ ซึ่งระเบียบไม่ได้กำหนดไว้ให้ยึดได้ กรณีไม่พกใบอนุญาตขับขี่ ให้ยึดได้เฉพาะรถไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน จึงเป็นการต่อสู้คดีที่ ไม่สามารถโต้แย้งคำกล่าวหาฝ่ายโจทก์ได้ 
🌟🌟จึงตั้งข้อสังเกตไว้ ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษา เป็นข้อหา ไม่พกใบอนุญาตขับขี่ หมายความว่า ผู้ขับขี่เป็นบุคคลซึ่งได้รับใบอนุญาตขับขี่แล้วแต่ตามวันเวลาที่เกิดเหตุไม่ได้พกติดตัวมาด้วย ตำรวจจึงไม่มีอำนาจยึดรถ ซึ่งต่างจากกรณีผู้ขับขี่ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ กรณีนี้ตำรวจมีอำนาจยึดรถ สอดคล้องกับที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติตอบข้อหารือ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ กรณี ผู้ขับขี่ ไม่มีใบอนุญาตขับขี่แล้วถูกตำรวจจราจรยึดรถ ตำรวจยึดได้เพื่อเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย แม้ผู้ขับขี่จะชำระค่าปรับแล้ว ก็ไม่สามารถอนุญาตให้ขับขี่ต่อไปได้ ตำรวจต้องเก็บรักษารถไว้ โดยออกบันทึกการตรวจยึดรถไว้เพื่อให้บุคคลที่มีใบอนุญาตขับขี่มารับรถกลับไป  
               พ.ต.ท.ภูมิรพี   ผลาภูมิ  ผู้เขียน/เรียบเรียง✅
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่