แก้ปัญหาก๊อกอ่างล้างจานมีน้ำรั่วซึม น้ำหยดตลอดเวลาแบบง่ายๆ ประหยัดเวลา



ปัญหาก๊อกอ่างล้างจานเริ่มมีน้ำรั่วซึม หรือน้ำหยดตลอดเวลา อาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าก๊อกซิงค์อ่างล้างจานที่ใช้งานอยู่กำลังเสื่อมสภาพ หรืออาจเกิดปัญหา ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นนอกจากจะทำให้น้ำหยดตลอดเวลาแล้ว ยังทำให้น้ำไหลไม่ทันใช้อีกด้วย แต่ HomeGuru มีวิธีรับมือกับปัญหาน้ำรั่วซึมจากหัวก๊อกอ่างล้างจานที่รับรองว่าง่ายแถมประหยัดเวลาแน่นอน



ต้นเหตุของน้ำรั่วซึม

ในบรรดาปัญหาของน้ำรั่วซึมนั้น มีสาเหตุที่แตกต่างกันออกไป ซึ่ง HomeGuru จะมาสรุปสาเหตุหลัก ๆ ได้แก่
• วาล์วหมุนเปิด-ปิดก๊อกหัวก๊อกอ่างล้างจานมีเศษหรือคราบหินปูนติดอยู่
• คราบหินปูนสะสมบริเวณสายน้ำดี
• ความบกพร่องของตัวเปิด-ปิดน้ำ หรือหัววาล์ว
• ซีลยางเสื่อม ทำให้เกิดการรั่วซึม
• การรั่วซึมบริเวณจุดเชื่อมต่อสายน้ำดี
• การกัดกร่อนภายใน ที่ไม่สามารถล้างทำความสะอาดได้
• กลไกด้านในมีปัญหา



อุปกรณ์ที่ต้องใช้สำหรับซ่อมก๊อกอ่างล้างจาน

หากต้องการซ่อมก๊อกซิงค์อ่างล้างจานด้วยตัวเอง เบื้องต้นต้องเตรียมอุปกรณ์สำหรับซ่อมและแก้ไขก่อน นั่นก็คือ
• คีมประปา คีมล็อก หรือประแจเลื่อน ที่มีขนาดพอดีกับก๊อกซิงค์ที่มีปัญหา
• ก๊อกซิงค์อ่างล้างจาน ในกรณีที่ต้องเปลี่ยนก๊อก เช่น มีการกัดกร่อนภายในหรือมีปัญหาที่กลไกของก๊อกน้ำ
• เศษผ้าสำหรับหุ้มบริเวณหัวก๊อกน้ำ
• ยางกันน้ำรั่วซึม เมื่อพบว่ายางเสื่อมสภาพและต้องการเปลี่ยนยาง
• กระดาษทรายสำหรับขัดยางกันน้ำรั่วซึม หากยางที่ใช้เปลี่ยนมีขนาดหนาเกินไป
• เทปพันเกลียว กรณีที่ต้องซ่อมหรือแก้ไข



เทคนิคแก้น้ำรั่วซึมจากก๊อกอ่างล้างจาน

การแก้ไขโดยส่วนมากแล้ว ต้องตรวจเช็กภายในก๊อกว่ามีปัญหาในส่วนไหน เพื่อจะได้หาวิธีการแก้ไขได้อย่างถูกต้อง ซึ่ง HomeGuru จะมาสรุปวิธีการแก้ปัญหาดังกล่าวนี้ตั้งแต่ต้นจนจบ ครบทุกสาเหตุของปัญหาให้ครับ

1. ตรวจสอบสาเหตุที่ทำให้น้ำรั่วซึม
เมื่อพบว่ามีน้ำรั่วซึมจากหัวก๊อกอ่างล้างจาน ให้ทำการตรวจสอบร่องรอยการรั่วซึมของก๊อกว่าอยู่บริเวณไหน โดยวิธีการสังเกต ให้ดูตรงบริเวณรอยหยดหรือรอยน้ำที่เกิดขึ้นว่าใช่บริเวณรอยข้อต่อของก๊อกน้ำหรือไม่ หากพบว่าใช่ ให้ทำการปิดวาล์วน้ำให้เรียบร้อย โดยให้ปิดเฉพาะวาล์วที่จ่ายน้ำมายังก๊อกที่มีน้ำหยดเท่านั้น

2. หมุนก๊อกออกจากกัน
เมื่อปิดวาล์วและเช็กบริเวณรอยรั่วซึมเรียบร้อยแล้วให้นำเศษผ้าที่เตรียมไว้มาหุ้มบริเวณหัวก๊อก หลังจากนั้นให้นำประแจ คีม หรือสกรูที่เตรียมไว้มาไขเพื่อคลายหัวก๊อก โดยให้หมุนในทิศทวนเข็มนาฬิกา หรืออีกกรณีสามารถไขตัวก๊อกได้เลยโดยไม่ต้องใช้เศษผ้าหุ้มก็ได้

3. สังเกตรอยกัดกร่อนและคราบหินปูน
เมื่อไขก๊อกซิงค์อ่างล้างจานเรียบร้อยแล้วก็จะสามารถยกก้านจับออกมาได้เลย ในส่วนของตัวครอบนั้นไม่ได้มีผลกับการไหลของน้ำ แต่หากสังเกตแล้วเห็นว่าภายในมีคราบสกปรกอยู่มากมาย นั่นอาจทำให้น้ำไหลช้าได้ ซึ่งก็สามารถล้างทำความสะอาดได้เลยครับ

ส่วนบริเวณสายน้ำดี เมื่อถอดออกมาแล้วให้นำไปทำความสะอาดให้เรียบร้อย หลังจากนั้นให้ใช้ไขควงแคะหินปูนออกให้หมด หากแคะหินปูนออกหมดแล้วสังเกตว่าไม่มีร่องรอยกัดกร่อน หรือข้างในยังมีพื้นผิวที่เรียบเสมอกันก็สามารถใช้ก๊อกน้ำต่อได้เลย แต่หากมีรอยกัดกร่อนชัดเจน แสดงว่าอาจจะต้องเปลี่ยนก๊อกน้ำใหม่แทน



4. ทำการเช็กหัววาล์ว ว่าปกติดีหรือไม่
หลังจากที่ทำความสะอาดส่วนต่าง ๆ ของก๊อกซิงค์อ่างล้างจานเรียบร้อยแล้ว ให้มาตรวจเช็กดูว่าตัววาล์วหมุนเปิด-ปิดก๊อกเสื่อมสภาพหรือมีเศษอะไรติดอยู่หรือไม่ หากไม่มีแสดงว่าปัญหาของน้ำรั่วซึมที่เกิดขึ้น ไม่ได้มีสาเหตุมาจากความบกพร่องของตัวเปิด-ปิด น้ำ เมื่อทำความสะอาดเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ สามารถใส่กลับเข้าไปตามเดิมได้เลย โดยการใส่กลับให้ใช้ประแจเลื่อนไขกลับในทิศทางตามเข็มนาฬิกา เพื่อให้ก๊อกแน่นหนาอย่าลืมใส่โอริง หรือ O-Ring (ยางวงสีดำ หรือขาว) กลับเข้าไปด้วย

จากนั้นให้ลองเปิด-ปิดน้ำดูว่ายังมีปัญหาน้ำรั่วซึมอีกหรือไม่ หากไม่มีแสดงว่าทุกอย่างปกติดี ซึ่งสาเหตุที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่าเวลาใช้งานอาจจะทำให้ตัววาล์วขยับเขยื้อนหรือคลายออกจากเดิม โดยนอกจากจะลองเปิด-ปิดเพื่อตรวจเช็กการรั่วซึมหรือน้ำรั่วแล้ว ควรทดลองบิดปลายท่อก๊อกด้วย ถ้าไม่มีน้ำซึมออกมาแสดงว่าเรียบร้อยดี แต่หากยังขยับอยู่ ไม่แน่นพอ ก็ให้ทำการขันก๊อกน้ำใหม่เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาน้ำซึมอีกครับ

5. วิธีแก้หากพบว่ามีรอยกัดกร่อน หรือยางรั่วซึมเสื่อมสภาพ
ในกรณีที่คอก๊อกมีการรั่วซึม ส่วนมากมักจะเกิดจากการเสื่อมสภาพของยางกันรั่ว เพราะฉะนั้นต้องทำการเปลี่ยนยางวงที่เสื่อมสภาพออก แล้วใส่ยางวงที่มีขนาดเท่าของเดิมหรือหนามากกว่าเข้าไปแทน แต่หากยางที่ใส่มีความหนาเกินไป สามารถใช้กระดาษทรายมาขัดให้ยางบางลงได้ เมื่อประกอบเสร็จแล้ว ให้ใส่อุปกรณ์ต่าง ๆ กลับเข้าไปตามเดิม แล้วตรวจเช็กว่ายังมีปัญหาการรั่วซึมอีกหรือไม่

นอกจากนี้หากบริเวณจุดเชื่อมต่อของสายน้ำดีมีปัญหา ในขั้นตอนของการถอดสายน้ำดีออกให้ทำการพันเกลียวใหม่ด้วยเทปพันเกลียว หลังจากนั้นจึงประกอบส่วนต่าง ๆ กลับเข้าไป ถ้ามีซีลยางอย่าลืมใส่กลับเข้าไปตามเดิมด้วยเช่นกันครับ

6. การเปลี่ยนก๊อกซิงค์อ่างล้างจานใหม่
หากในขั้นตอนการถอดส่วนประกอบต่าง ๆ ออกมาแล้วพบว่ามีร่องรอยการผุกร่อนที่ชัดเจน ไม่ใช่แค่คราบหินปูน หรือซีลยางไม่สนิทจนทำให้น้ำไหลซึมโดยไม่ผ่านวาล์วเปิด-ปิดน้ำที่เป็นเซรามิก แสดงว่าต้องทำการเปลี่ยนก๊อกซิงค์ใหม่แทนเท่านั้น เพราะถึงแม้จะแก้ไขไปตามขั้นตอนข้างต้นแล้วท้ายที่สุดน้ำก็ยังคงรั่วซึมเช่นเดิมครับ



เป็นอย่างไรบ้างครับ กับวิธีรับมือกับปัญหาน้ำรั่วจากก๊อกอ่างล้างจานจาก HomeGuru ที่ทำได้ง่าย ๆ แถมยังประหยัดต้นทุนในการซ่อมแซมบริเวณอ่างล้างจาน จะได้ไม่ต้องปวดหัวกับน้ำหยดบริเวณหัวก๊อกอ่างล้างจานอีกต่อไป


HomeGuru by HomePro
อุ่นใจทุกเรื่องบ้านไปกับโฮมโปร และติดตามเคล็ดลับดีๆ เพื่อบ้านได้ทาง http://bit.ly/HomeGuru_Homepro
และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นปัญหาเรื่องบ้านกับ HomeGuru เพิ่มเติมได้ทาง https://bit.ly/3dQm4XE
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่