สวัสดีครับ คงมีเพื่อน ๆ ไม่น้อยเลยที่เคยประสบปัญหาเกี่ยวกับเรื่องข้างบ้านกัน และยังเชื่ออีกว่าเราอาจมีการใช้วิธีพูดหรือบอกกล่าวไปบ้างแล้ว แต่ถ้ายังไม่ดีขึ้น วันนี้ บ้านบ้าน จะมาแอบบอกว่าปัญหาเหล่านี้มีกฎหมายคุ้มครองอยู่นะครับ ทีนี้เรามาดูวิธีการแก้ปัญหาเหล่านี้กัน ว่าเราสามารถจัดการปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง
ปัญหาที่มักพบเจอบ่อย ๆ ?
1. จอดรถขวางหน้าบ้าน
“หน้าบ้านตัวเองไม่ยอมจอด ชอบมาจอดหน้าบ้านเรา” แม้ถนนนั้นจะเป็นทางสาธารณะ แต่เมื่อมีรถมาจอดขวางประตูบ้าน จนเป็นเหตุให้เจ้าของบ้านไม่สามารถนำรถเข้าหรือออกจากบ้านได้ ถือเป็นการก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่เจ้าของบ้าน
( ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง : มาตรา 397 ผู้ใดกระทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท )
2. การใช้เสียง หรือส่งเสียงดัง
ปัญหาฮอตฮิตตลอดกาลของหลาย ๆ คน หากเพื่อนบ้านส่งเสียงดังรบกวน จนเกิดความเดือดร้อน ไม่ว่าจะโดยการตั้งวงดื่มสุรา เมาแล้วส่งเสียงดังเอะอะโวยวาย เปิดเพลงเสียงดัง หรือทะเลาะวิวาทกัน ถือว่าเป็นความผิดอาญา
( ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง : มาตรา 370 ผู้ใดส่งเสียง จนทำให้ประชาชนตกใจหรือเดือดร้อน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท )
( ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง : มาตรา 397 ฐานสร้างความเดือดร้อนรำคาญ )
3. ต้นไม้ของเพื่อนบ้านรุกล้ำพื้นที่บ้านเรา
การเติบโตของต้นไม้บางประเภท อาจทำให้กิ่ง ก้าน ใบ ล้ำเข้ามาในเขตบ้าน และเราอาจะได้รับผลกระทบบางอย่างเช่น กิ่งไม้รุกเข้ามาเกะกะขวางทางเดิน หรือใบไม้อาจหล่นร่วงลงพื้น ทำให้เราต้องคอยทำความสะอาด
( ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง : มาตรา 434 ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะเหตุที่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นก่อสร้างไว้ชำรุดบกพร่องก็ดี หรือบำรุงรักษาไม่เพียงพอก็ดี ท่านว่าผู้ครองโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น ๆ จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่ถ้าผู้ครองได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรเพื่อปัดป้องมิให้เกิดเสียหายฉะนั้นแล้ว ท่านว่าผู้เป็นเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน )
( ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง : มาตรา 1374 เจ้าของที่ดินอาจตัดรากไม้ซึ่งรุกเข้ามาจากที่ดินติดต่อและเอาไว้เสีย ถ้ากิ่งไม้ยื่นล้ำเข้ามา เมื่อเจ้าของที่ดินบอกผู้ครอบครองที่ดินติดต่อให้ตัดภายในเวลาอันสมควรแล้ว แต่ผู้นั้นไม่ตัด ท่านว่าเจ้าของที่ดินตัดเอาเสียได้ )
4. ปัญหาสัตว์เลี้ยง
เวลาเพื่อนบ้านเลี้ยงสุนัข หรือแมวมักจะชอบพาน้องออกไปเดินเล่น ปัญหาที่จะตามมาคือ การถ่ายเรี่ยราด, สุนัขเห่าทั้งวัน เห่าไม่หยุด จนส่งเสียงให้เกิดความรำคาญ, สัตว์เลี้ยงไปไล่กัดคนหรือสร้างความอันตรายนำไปสู่อุบัติเหตุต่าง ๆ
( ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง : มาตรา 377 ผู้ใดควบคุมสัตว์ดุ หรือสัตว์ร้าย ปล่อยปละละเลยให้สัตว์นั้นเที่ยวไปโดยลำพัง ในประการที่อาจทำอันตรายแก่บุคคล หรือทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ )
( ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง : มาตรา 397 ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ ต่อผู้อื่นอันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท )
( ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง : มาตรา 433 ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่าเจ้าของ สัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของ จำต้องใช้ค่าสินไหม ทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่สัตว์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่นหรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น )
ทีนี้อาจมีเพื่อน ๆ บางคนที่ประสบปัญหาเหล่านี้ แต่คงไม่อยากให้เกิดความวุ่นวาย หรือทำให้เป็นเรื่องใหญ่เรื่องโต แต่คิดไม่ออกว่าจะเข้าหา หรือแจ้งกับผู้กรณีอย่างไร ลองมาใช้วิธีเบา ๆ เหล่านี้ดูนะครับ
1. บอกกล่าวตรง ๆ : วิธีที่ง่ายที่สุด และเข้าใจที่สุด แต่อาจเสี่ยงต่อความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนบ้าน แนะนำว่าควรคิดคำพูดไว้ก่อน ใช้คำสุภาพ และไม่ใช้อารมณ์นะครับ
2. เขียนโน๊ตแปะ : วิธีคลาสสิกที่หลายคนนำไปใช้แล้วได้ผล อีกทั้งยังช่วยลดการปะทะแบบต่อหน้าได้ แต่ความเป็นไปได้ในการแก้ปัญหาก็ยังไม่เท่ากับการพูดตรง ๆ ต่อหน้าอยู่ดี อยู่ที่นิสียของเพื่อนบ้านเราด้วย
3. แจ้งผู้เกี่ยวข้อง : ในกรณีถ้าเราอยู่ในชุมชม หรือโครงการบ้านจัดสรรค์ ในที่อยู่อาศัยเหล่านี้จะมีประธานชุนชม หรือนิติบุคคล เพราะเรื่องบางเรื่องก็ไม่ใช่หน้าที่ของเราที่จะต้องจัดการเองโดยตรง เราเพียงแค่แจ้งปัญหากับบุคคลเหล่านี้ ที่มีอำนาจมากกว่าใช้เข้ามาช่วยได้
เชื่อว่าหลายคนคงไม่อยากเป็นเพื่อนบ้านเจ้าปัญหา ทั้งนี้ต้องเราเองก็ต้องรู้จักเคารพสิทธิ์ของผู้อื่นด้วย และถ้าหากไม่เป็นรบกวนอะไรกับตัวเราเองมากนัก ลองสร้างสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนบ้านของเราดูนะครับ ไม่แน่ว่าความสัมพันธ์อันดีเหล่านี้จะช่วยเหลือเราในอนาคตในบางเรื่องหากเกิดปัญหาขึ้นมา
เบื่อไหมกับปัญหาข้างบ้าน มาดูวิธีการแก้ปัญหาด้วยข้อกฏหมายกัน