ผ่อนบ้านไม่ไหว ทำอย่างไร ที่นี่มีคำตอบ

เมื่อเริ่มที่จะผ่อนบ้านไม่ไหว ต้องรีบประเมินสถานการณ์และกำลังทางการเงินของตนเองทันที แล้วเตรียมพร้อมเจรจาขอประนอมหนี้กับธนาคารก่อนที่ประวัติจะเสีย หรือติดเครดิตบูโร ซึ่งจะทำให้การแก้ไขสถานการณ์นั้นยากขึ้น มาดูกันว่าวิธีประนอมหนี้บ้านแบบไหนเหมาะกับสถานการณ์และผู้กู้ลักษณะไหน

การประนอมหนี้คืออะไร?
การประนอมหนี้เป็นการขอเจรจาข้อตกลงเรื่องหนี้สินกับเจ้าหนี้ เช่น ลดหย่อน ผ่อนผัน และ/หรือปรับเปลี่ยนข้อตกลง เพื่อช่วยชะลอหรือหยุดการดำเนินการจากเจ้าหนี้อันเนื่องมาจากการผิดนัดชำระหนี้ เช่น ฟ้องร้องและยึดทรัพย์สิน และช่วยลดภาระในการชำระหนี้โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ลูกหนี้กำลังตกอยู่ในสภาวะขาดสภาพคล่องทางการเงิน



ขอประนอมหนี้ 5 วิธี แบบไหนดีที่สุด เมื่อผ่อนบ้านไม่ไหว!

1. ขอลดอัตราดอกเบี้ย
มักเป็นไปได้ในกรณีที่อัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้นกว่าเมื่อแรกกู้ ในกรณีอื่น ธนาคารอาจให้ชำระเป็นเงินก้อนซึ่งสูงกว่าค่าผ่อนต่อเดือน หรือให้ชำระหนี้

ทั้งหมดภายในครั้งเดียว เหมาะกับสถานการณ์ ดังนี้
-ผู้กู้ยังคงมีรายได้เป็นประจำทุกเดือน แต่มีเหตุให้รายได้ต่อเดือนลดลงหรือมีรายได้เท่าเดิมแต่รายจ่ายสูงขึ้น

เหมาะกับผู้กู้ที่มีคุณสมบัติ ดังนี้
-มีประวัติการชำระค่าผ่อนบ้านดี
-เป็นไปได้ที่จะมีรายได้สูงพอสำหรับกรณีที่ต้องชำระเงินก้อนตามเงื่อนไขของธนาคาร
 

2. ขอชำระค่าผ่อนบ้านต่ำกว่าปรกติ
จะใช้วิธีประนอมหนี้นี้ได้ก็ต่อเมื่อจำนวนยอดชำระต่อเดือนนั้นสูงกว่ายอดดอกเบี้ยต่อเดือนอย่างน้อย 500 บาท โดยสามารถขอประนอมหนี้แบบนี้ได้เพียงครั้งเดียว และระยะเวลาในการชำระค่าผ่อนที่ต่ำกว่าปรกตินั้นต้องไม่นานเกิน 2 ปี

เหมาะกับสถานการณ์ ดังนี้
-ผู้กู้ยังคงมีรายได้เป็นประจำทุกเดือน แต่มีเหตุให้รายได้ต่อเดือนลดลงหรือมีรายได้เท่าเดิมแต่รายจ่ายเพิ่มขึ้น

เหมาะกับผู้กู้ที่มีคุณสมบัติ ดังนี้
-มีประวัติการชำระค่าผ่อนบ้านดี
-เป็นไปได้ที่จะสามารถจัดการกับรายจ่ายที่เป็นอุปสรรคต่อการผ่อนบ้านในจำนวนเดิมได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด
 

3. ขอขยายเวลาชำระหนี้
วิธีประนอมหนี้นี้จะทำให้ยอดค่าผ่อนต่อเดือนลดลงและขอขยายเวลากู้ได้จนอายุไม่เกิน 70 ปีเท่านั้น

เหมาะกับสถานการณ์ ดังนี้
-ผู้กู้ยังคงมีรายได้เป็นประจำทุกเดือน แต่มีเหตุให้รายได้ต่อเดือนลดลงหรือมีรายได้เท่าเดิมแต่รายจ่ายเพิ่มขึ้น

เหมาะกับผู้กู้ที่มีคุณสมบัติ ดังนี้
-อายุน้อยหรืออีกหลายปีกว่าจะอายุถึง 70 ปี
-สัญญากู้ปัจจุบันมีระยะเวลากู้ไม่ถึง 30 ปี
-มีรายได้ต่อเดือนเป็นประจำ เช่น รายได้จากการทำงานประจำหรือได้รับเงินปันผลทุกเดือน
 

4. ขอผ่อนผันการค้างชำระ
วิธีนี้ช่วยให้ผู้กู้สามารถแก้ไขหรือจัดการปัญหาทางการเงินที่เกิดขึ้นภายในระยะเวลาไม่เกิน 36 เดือน จากนั้นจึงค่อยชำระเงินที่ค้างไว้ตามรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งดังนี้

4.1 ขอชำระเป็นเงินก้อนเล็กทุกเดือน 
เหมาะกับสถานการณ์ ดังนี้
-ผู้กู้ขาดรายได้ มีรายได้ไม่คงที่ซึ่งไม่เพียงพอกับค่าผ่อนในแต่ละเดือน หรือยังคงมีรายได้ประจำเท่าเดิมหรือใกล้เคียง แต่มีรายจ่ายสูงอย่างต่อเนื่องจนไม่อาจชำระค่าผ่อนได้

เหมาะกับผู้กู้ที่มีคุณสมบัติ ดังนี้
-เป็นไปได้ที่จะแก้ไขสถานการณ์ขาดรายได้หรือรายได้ไม่พอรายจ่ายโดยการหางานประจำทำหรือสร้างอาชีพให้มีรายได้มั่นคงต่อเดือนภายในระยะเวลาที่กำหนด

4.2 ขอชำระเป็นเงินก้อนโดยแบ่งเป็นงวด ๆ
เหมาะกับสถานการณ์ ดังนี้
-ผู้กู้ขาดรายได้ชั่วคราว มีรายได้ต่อเดือนไม่คงที่ หรือมีรายได้เป็นประจำแต่มีรายจ่ายสูงชั่วคราว

เหมาะกับผู้กู้ที่มีคุณสมบัติ ดังนี้
-เป็นไปได้ที่จะชำระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ (ซึ่งส่งผลกระทบให้ไม่สามารถชำระค่าผ่อนบ้านได้) ในช่วงเวลาผ่อนผันการชำระเงิน และสามารถหารายได้มาชำระหนี้คงค้างได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด
-เป็นไปได้ที่จะมีรายได้จำนวนมากเป็นครั้งคราวหรือรายได้พิเศษสูง

4.3 ขอชำระเงินคงค้างทั้งหมดภายในระยะเวลาหนึ่ง
เหมาะกับสถานการณ์ ดังนี้
-ผู้กู้ขาดรายได้ชั่วคราว มีรายได้ต่อเดือนไม่เพียงพอต่อค่าผ่อนบ้าน หรือยังคงมีรายได้ประจำเท่าเดิมหรือใกล้เคียงแต่มีรายจ่ายสูงอย่างต่อเนื่องจนไม่อาจชำระค่าผ่อนได้
-จำนวนเงินค้างชำระต่ำหรือไม่สูงมาก

เหมาะกับผู้กู้ที่มีคุณสมบัติ ดังนี้
-เป็นไปได้ที่จะชำระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ (ซึ่งส่งผลกระทบให้ไม่สามารถชำระค่าผ่อนบ้านได้) ในช่วงเวลาผ่อนผันการชำระเงิน และสามารถหารายได้มาชำระหนี้คงค้างได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด
-เป็นไปได้ที่จะมีรายได้สูงภายในระยะเวลาที่กำหนด เช่น โบนัส รายได้จากการขายหุ้น รายได้จากการขายสินทรัพย์มูลค่าสูงอย่างบ้าน คอนโด ที่ดิน รถ เป็นต้น

5. ขอโอนหลักทรัพย์เป็นของธนาคารชั่วคราวและจะซื้อคืนการประนอมหนี้แบบนี้คล้ายกับการขายฝากแล้วเช่าบ้านตัวเองอยู่ โดยค่าเช่าหลักทรัพย์คิดอยู่ที่ 0.4-0.6% ของมูลค่าหลักทรัพย์ และมักทำสัญญาเช่าเป็นรายปี ทั้งนี้หากจำนวนหนี้สูงกว่าราคาประเมินของหลักทรัพย์ ผู้กู้จำเป็นต้องชำระส่วนต่างภายในวันโอน

เหมาะกับสถานการณ์ ดังนี้
-ผู้กู้ขาดรายได้และไม่น่าจะกลับมามีรายได้ภายใน 1 ปี หรือมีรายได้เป็นประจำหรือไม่คงที่ต่อเดือนแต่มีรายจ่ายสูงต่อเนื่องนานเกิน 1 ปี

เหมาะกับผู้กู้ที่มีคุณสมบัติ ดังนี้
-มีเงินมากพอที่จะสามารถชำระส่วนต่างระหว่างหนี้และราคาประเมินหลักทรัพย์
-มีกำลังที่จะสามารถจ่ายค่าเช่าต่อเดือนแก่ธนาคารได้
-เป็นไปได้ที่จะมีรายได้สูงภายในระยะเวลาที่กำหนด เช่น โบนัส รายได้จากการขายหุ้น รายได้จากการขายสินทรัพย์มูลค่าสูงอย่างบ้าน คอนโด ที่ดิน รถ เป็นต้น
 
ขอให้พิจารณาเลือกใช้วิธีประนอมหนี้ธนาคารที่คิดว่าน่าจะสามารถทำได้จริง เพราะการประนอมหนี้บ้านแล้วจ่ายไม่ไหวจะยิ่งทำให้มีโอกาสบ้านหรือคอนโดหลุดได้ ที่สำคัญ ยิ่งเริ่มการประนอมหนี้ได้เร็วเท่าไรก็ยิ่งเป็นผลดี

เนื่องจากประวัติการผ่อนชำระจะยังไม่เสียหาย การเจรจากับธนาคารก็จะง่ายขึ้น และโอกาสที่จะได้รับประโยชน์ก็จะมากขึ้นด้วย หากปล่อยไว้เนิ่นนานบานปลายจนธนาคารยื่นฟ้องร้องแล้ว ก็จะต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการทำเรื่องต่าง ๆ ทางกฎหมาย เช่น ขอชะลอการฟ้องร้อง ขอชะลอการยึดทรัพย์ ขอชะลอการขายทรัพย์สินทอดตลาด ขอถอนฟ้อง และขอยอมความ ขึ้นอยู่กับสถานภาพของคดี

ที่มา : ddproperty.com/คู่มือซื้อขาย/ผ่อนบ้านไม่ไหว-ขอประนอมหนี้แบบไหนดีที่สุด-16490
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่