แชร์ประสบการณ์สาวไอทีตั้งแต่เรียนมัธยม ป.ตรี ป.โท ยันทำงาน

ใครสะดวกอ่านใน Medium สามารถเข้าไปที่ Link นี้ได้ค่ะ 

สวัสดีค่ะทุกคน วันนี้ต้องขอแทนตัวเองว่าพี่ (เอ๊ะ หรือป้าดีนะ) บทความนี้พี่จะมาเล่าประสบการณ์ของตัวเองที่ตัดสินใจเลือกเรียนวิศวะคอม โดยพี่จะเล่าตั้งแต่การเลือกสายเรียน, สอบเข้ามหาวิทยาลัย, ยันเรียนจบปี 4, การทำงาน, และเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น เพื่อให้น้องๆมัธยมที่กำลังสับสนกับชีวิตตัวเอง ได้เข้าใจมากขึ้นว่าการเรียนและทำงานสายคอมเป็นอย่างไรบ้าง เพื่อที่จะได้ตอบตัวเองว่า “วิศวะคอม ฉันเลือกนาย!!” หรือ “บ๊ายบาย ฉันไปเรียนคณะอื่นดีกว่า

ก่อนจะไปเริ่มอ่านกัน ขอบอกไว้เลยว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นเริ่มตั้งแต่ปี 2013 ต้องขอโทษด้วยที่ไม่ได้เขียนบทความให้เร็วกว่านี้เพื่อที่ข้อมูลจะได้อัพเดตทันต่อสถานการณ์ พี่เพิ่งมาตระหนักรู้ตัวว่าควรทำตัวให้เป็นประโยชน์แก่คนรุ่นหลังบ้างดีกว่านอนเล่นเลี้ยงแมวอยู่บ้าน หวังว่าน้องๆจะได้มีข้อมูลเก็บไว้ประกอบพิจารณาการตัดสินใจในชีวิตการเรียนกันนะคะ เอาละ พล่ามมาเยอะแล้ว มาเริ่มกันเลย…

เด็ก ม.3 กับ กระดาษชี้ชะตาชีวิต…
จุดเริ่มต้นของเรื่องราวทุกอย่างเกิดขึ้น ณ โรงเรียนหญิงล้วนแห่งหนึ่งตอนม.3 ที่ครูแนะแนวยื่นกระดาษแผ่นหนึ่งมาเพื่อให้พี่เลือกว่าจะเรียนสายไหนตอนม.ปลาย ในกระดาษมีตัวเลือกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นวิทย์-คณิต, ศิลป์-คำนวณ, ศิลป์-ภาษา ฯลฯ ตอนนั้นพี่รู้ตัวว่าชอบเรียนภาษาอังกฤษ เลยตัดสินใจจะเลือกห้องภาษา แต่พอนำใบไปให้ครูดู ครูแนะให้พี่ไปเรียนสายวิทย์-คณิตแทนเพราะที่ผ่านมาพี่ทำคะแนนได้ดี และให้ไปเรียนภาษาเป็นวิชาเสริมแทน ซึ่งหลังจากที่หลับหูหลับตาเชื่อตามครูบอก ก็ตัดสินใจเขียนลงกระดาษว่าจะเรียนสาย “วิทย-คณิต” หลังจากขึ้นม.ปลาย พี่สามารถเรียนเลข ฟิสิกส์ ชีวะ ได้ดี แต่จะแย่ที่วิชาภาษาไทยกับสังคม ส่วนวิชาที่ชอบมากที่สุดตลอดระยะเวลา 14 ปีที่เรียนในโรงเรียนหลักสูตรไทยคือวิชาภาษาอังกฤษ

พอโตมาจนอายุย่างใกล้สามสิบก็เข้าใจโลกแห่งความเป็นจริงสองอย่างคือ
1) ระบบการศึกษาไทยนั้นเอื้อผลประโยชน์ให้แก่คนที่เรียนสายวิทย์-คณิตมากกว่าสายศิลป์ ทั้งๆที่แต่ละสายมีความซับซ้อนในตัวของมัน แต่ละบุคคลก็มีความถนัดไม่เหมือนกัน หากตอนนี้น้องๆยังตัดสินใจไม่ได้ว่าควรจะไปสายไหน พี่ก็จะชี้นกชี้ไม้ให้เกาะวิชาวิทย์กับเลขไว้ก่อนเป็นหลัก แต่ถ้าน้องๆค้นพบตัวเองแล้วว่าอยากเรียนสายภาษาหรือศิลปะจริงๆ พี่ก็เชียร์ให้ไปทางนั้นเลยนะ
2) ภาษาต่างประเทศเป็นสิ่งที่เอื้อให้เราไปได้ไกลกว่าคนอื่นในสายงานเราโดยที่เราไม่จำเป็นต้องเรียนถึงรากเหง้าของภาษา ส่วนตัวแล้วพี่เชียร์ให้เลือกสายงานวิชาชีพที่ขาดแคลนในตลาดเป็นอันดับแรก และให้เสริมการเรียนภาษาต่างประเทศให้ถึงขั้นที่สามารถสื่อสารในการทำงานได้

เด็ก ม.6 กับ การสุ่มเลือกคณะ…
จนกระทั่งตอนม.6 ซึ่งถึงเวลาที่พี่ต้องตัดสินใจว่าจะเรียนคณะอะไรดี พี่ยังเลือกไม่ได้ รู้แค่ว่าเกลียดวิชาภาษาไทยและเบื่อกับการเรียนหลักสูตรไทยมา 14 ปี เลยหาคณะที่มีหลักสูตรสองภาษาหรือนานาชาติ จนได้มาพบเจอกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, จุฬา, ลาดกระบัง, ธรรมศาสตร์, SIIT และคณะ ICT ของมหิดล เราตระเวนสมัครเรียนหลายที่ ติดหลายที่ ได้ทุนบ้างบางที่ แต่สุดท้ายก็เลือกเรียนที่ม.เกษตร เพราะว่าใกล้บ้านและเดินทางสะดวก

สมัยนั้นหลักสูตรนานาชาติมีให้เลือกแค่ 3 ภาควิชา คือ ซอฟต์แวร์ (คอมพิวเตอร์), เครื่องกล และไฟฟ้าเครื่องกลการผลิต การเลือกภาควิชาเรียนมีผลมาก เพราะมันคือการกำหนดชีวิตการทำงานของเราหลักจากที่เรียนจบ เอาตรงๆนะ ตอนพี่เป็นเด็กอายุ 18 ก็ไม่รู้หรอกว่าเรียนไปจบมาแล้วลักษณะงานมันเป็นแบบไหน ตอนนั้นคิดแค่ขอให้มีที่เรียนก็พอ แต่โชคดีที่คุณแม่เล่าว่า “เรียนคอมทำงานในออฟฟิศ เรียนภาคอื่นต้องไปอยู่โรงงาน อยู่ร้อนๆไหวไหม” แน่นอนว่าเราเป็นสาววิศวะแล้ว ก็ต้องตอบอย่างมั่นใจว่า “ไม่ไหวจ้า กลัวผิวไหม้ กลัวไม่สวย” สุดท้ายเลยตัดสินใจเลือกเรียนสายคอมที่ทำงานในห้องแอร์แทน…
 
เด็ก ปี 1 กับ การซิ่วทุกวัน …
“กูจะซิ่ว” เป็นคำพูดที่พูดบ่อยมากเวลาอยู่กับเพื่อนๆ เนื่องจากพี่ไม่เคยมีประสบการณ์อะไรเกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาก่อนเลย อยู่โรงเรียนหญิงล้วนก็จะเน้นสอนกุลสตรี ทำอาหาร เย็บปักถักร้อย ประมาณนี้ เลยยังปรับตัวกับวิชาใหม่ในระดับมหาวิทยาลัยไม่ทัน เทอมแรกเจอวิชา Programming ภาษา Java ไปหน้าแทบหงาย เพราะเรียนไม่รู้เรื่องเลย การบ้านก็ทำไม่ได้ หากมีเวลาว่างต้องไหว้วานพวกเพื่อนๆเทพคอมมาสอนตลอด เป็นช่วงที่รู้สึกเป็นคนโง่ตลอดเวลา จนทำให้อยากย้อนกลับไปซิ่วหาคณะเรียนใหม่ที่ง่ายกว่านี้

เหตุผลที่ทำให้พี่ลังเลสองจิตสองใจไม่ยอมซิ่วเพราะวิชาเลขและฟิสิกส์ ที่ยังพอประคองเรียนไหว เลยใช้ความขยันเข้าสู้ พยายามอ่านเอกสารการเรียนที่เป็นภาษาอังกฤษหมดทั้งๆที่พื้นฐานภาษาก็ไม่ค่อยแน่นมาก ศัพท์ไหนที่อ่านไม่ออกก็ต้องอ่านให้ได้ และก็อ่านมันทุกวัน อ่านซ้ำๆจนสอบฟิสิกส์ได้เต็มไปรอบหนึ่ง ส่วนวิชาโปรแกรมมิ่งที่ทำไม่ได้ก็ให้เพื่อนสอนซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเข้าหัว คะแนนสอบออกมาได้กลางๆพอผ่าน ซึ่งแค่นี้เราก็ดีใจมากแล้ว ตอนนั้นเป็นช่วงชีวิตที่เหนื่อยและหนักใจ แต่ก็ทนเพราะแม่บอกว่ามันเป็น “สาขาวิชาแห่งอนาคต อย่าซิ่วไปเรียนคณะอื่นเลย” หลังจากพยายามไปสักระยะ พี่ก็ค้นพบว่าวิชาพวกนี้มันไม่ได้ยากเกินความขยันของตัวเรา พี่ไม่ใช่คนหัวไว คิดเลขก็ช้า คิดในใจไม่ได้ด้วย สิ่งที่ทำได้คือบอกกับตัวเองว่าจะเอาความขยันเข้าสู้แทน

เด็ก ปี 2–3 กับ การโดนถีบจมน้ำ…
ในความรู้สึกของพี่หลักสูตรที่นี่เน้นภาคปฏิบัติเยอะมาก ทุกวิชาทฤษฎีจะมีวิชาภาคปฏิบัติประกบด้วยเสมอ การบ้าน, งาน, โปรเจกต์เดี่ยวและกลุ่ม มีมาให้ทำอยู่เรื่อยๆ เช่น งานเดี่ยวสร้างเกมบนเว็บโดยใช้ภาษา JavaScript ซึ่งอาจารย์ไม่สอนเขียนภาษา นักเรียนจะต้องไปศึกษาวิธีการเขียนและออกแบบเกมเอง เหมือนโดนถีบให้จมน้ำทั้งๆที่เราว่ายน้ำไม่เป็น แต่สุดท้ายนักเรียนก็หาทางออกได้โดยเรียนตามคลิป Youtube ที่ส่วนมากสอนด้วยครูอินเดีย หรือเว็บ Stackoverflow (เว็บไซต์ที่รวมคำถามทุกอย่างเกี่ยวกับไอที) ส่วนอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยจะเป็นผู้ที่คอยแนะนำ ตบเราให้เข้าร่องเข้ารอยกับเป้าหมายงานที่ต้องทำ และคอย Challenge งานเราอยู่เรื่อยๆ นอกจากนี้พี่ยังขอให้พวกเพื่อนเทพคอมมาเป็นติวเตอร์ให้พี่ ซึ่งพวกเขาก็เป็นเพื่อนที่แสนดีคอยแนะนำและช่วยเหลือคนอื่นๆอยู่เสมอ นั่นเลยเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้คนในภาควิชาเรากว่า 30 คนสนิทกันมาก

นอกจากวิชา Programming แล้ว วิศวะคอมก็เรียนวิชาเลขหลายตัว เช่น Maths for engineers (ต่อยอดจากแคลคูลัสตอนม.ปลาย), Probability & Statistics, Discrete Maths และ Algorithm พื้นฐานทุกอย่างของคอมพิวเตอร์คือวิชาเลข เพราะฉะนั้นการเรียนเลขจึงสำคัญมาก นอกจากนี้วิชาอื่นๆก็มีโปรเจกต์กลุ่มให้ทำหลากหลายชิ้น ทำให้นักเรียนเข้าใจว่าในการทำงานสาย IT มีตำแหน่งการทำงานในทีมอย่างไรบ้าง เช่น Project Manager, Product Owner, Scrum Master, Developer, Tester, Quality Assurance etc ซึ่งนักเรียนแต่ละคนก็จะสวมบทบาทแต่ละตำแหน่งงานไปเพื่อผลักดันโปรเจกต์ให้สำเร็จ ระหว่างการทำโปรเจกต์ก็ได้เรียนรู้การทำงานแบบ Agile อีกด้วย การทำงานเป็นทีมไม่ง่ายอย่างที่คิดเนื่องจากเราต้องพบเจอกับอุปสรรคระหว่างทาง เช่น ความเห็นคนในกลุ่มไม่ลงรอยกัน งานไม่เสร็จตามเวลาที่กำหนดไว้ ฯลฯ 
งานกลุ่มบางชิ้นที่เกี่ยวกับการเขียนโปรแกรม พี่ไม่ใช่คนหลักที่ลงมือทำเพราะไม่ถนัดเรื่อง Programming เลยทำงานจิปาถะแทน แต่พี่สังเกตุได้อย่างชัดเจนว่าเมื่อเวลาผ่านไป เพื่อนๆคนที่ใส่ใจในรายละเอียดการเขียนโค้ดและฝึกเขียนบ่อยๆ ปัจจุบันการงานก้าวหน้ากันมากมาย และเราก็ยินดีกับพวกเขาด้วยเสมอมา

เด็ก ปี 4 กับ การฝึกงาน
หลักสูตรที่เราเรียนบังคับให้ฝึกงานเป็นระยะเวลาประมาณ 6 เดือน คือเริ่มตั้งแต่ตอนซัมเมอร์ขึ้นปี 4 ยาวถึงจบปี 4 เทอม 1 ช่วงเวลานั้นนักเรียนไม่ต้องลงเรียนวิชาอะไรเลย ไม่ต้องเข้ามหาวิทยาลัย ไปทำงานที่บริษัทแทน ซึ่งการฝึกงานก็มีให้เลือกตั้งแต่ฝึกในบริษัทที่ประเทศไทย หรือว่าจะไปฝึกงานที่ Lab วิจัยของมหาวิทยาลัยต่างประเทศที่มี Connection กับที่ม.เกษตร เช่น ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ฟินแลนด์ ฯลฯ นักเรียนแต่ละคนก็สามารถเลือกได้ว่าอยากจะฝึกที่ไทยทั้งเทอม, ต่างประเทศทั้งเทอม หรือไทยครึ่งหนึ่งต่างประเทศครึ่งหนึ่งก็ได้ นอกจากการฝึกงานตามที่หลักสูตรกำหนด เพื่อนๆหลายคนในชั้นเรียนก็เริ่มฝึกงาน (แบบไม่เก็บหน่วยกิต) ตั้งแต่ซัมเมอร์ปี 2 เพื่อเก็บเกี่ยวทักษะและประสบการณ์ แน่นอนว่าพี่ไม่ได้ไปฝึกงาน เพราะพี่หนีไปเรียนแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่ญี่ปุ่น =w= 

การที่หลักสูตรไม่มีวิชาเรียน แต่บังคับให้นักเรียนไปฝึกงานเลยเป็นอะไรที่วิเศษมาก เพราะนักเรียนสามารถใช้ระยะเวลานานพอสมควรในการพัฒนาทักษะทางด้าน IT และใช้มันกับปัญหาธุรกิจของจริง อีกทั้งยังได้เรียนรู้และเข้าใจวัฒนธรรมองค์กร หากฝีมือเข้าตาบริษัท พอเรียนจบแล้วก็เหมือนมีตั๋วเบิกทางให้เข้าทำงานต่อที่บริษัทได้ง่ายขึ้นกว่าคนที่ยื่นสมัครผ่านเว็บต่างๆ
หลังจากฝึกงานปี 4 เทอม 1 จบ ก็จะเป็นเวลาให้นักเรียนจับกลุ่มสามคนทำโปรเจกต์ที่สนใจตลอดเทอม 2 ผลงานที่เพื่อนๆทำมาก็มีตั้งแต่ เกม, แอพมือถือ และอื่นๆที่น่าสนใจมากมาย ส่วนตัวพี่นั้นไม่ได้อยู่ทำโปรเจกต์กับเพื่อนๆ เพราะว่าพี่ขอทางภาควิชาไปเรียนแลกเปลี่ยนที่อังกฤษตอนปี 4 แต่พี่ยังต้องเก็บชั่วโมงฝึกงานแบบคนอื่นและทำโปรเจกต์จบตามที่หลักสูตรกำหนดไว้ ตอนปี 3 พี่เลยต้องวิ่งขอบริษัทให้รับพี่ฝึกงานแบบ Part-time โดยที่พี่ไปเรียนที่ม.เกษตรช่วงเช้า แล้วก็เดินทางไปสาทรตอนบ่ายเพื่อฝึกงาน พอเข้าสู่ช่วงซัมเมอร์ก็สามารถฝึกงานแบบ Full-time ทั้งวันที่บริษัทได้

เด็ก ปี 4 กับ การแลกเปลี่ยนที่อังกฤษ...
โปรแกรมนักเรียนแลกเปลี่ยนเริ่มต้นจากการที่พี่เห็นภาควิชาอื่นในคณะวิศวะส่งนักเรียนไปเรียนตอนปี 4 พี่เลยเสนอเรื่องไปยังภาควิชาคอมบ้างตั้งแต่พี่อยู่ประมาณปี 2 หลังจากภาควิชาอนุมัติพี่ก็เป็นรุ่นแรกที่ได้ไปเรียนเป็นระยะเวลาหนึ่งปี ซึ่งการเรียนแลกเปลี่ยนของพี่ไม่ใช่การไปเรียนชิลๆแบบเรียนไปเที่ยวไป เพราะพี่ต้องไปทำวิทยานิพนธ์และเก็บหน่วยกิตเพื่อให้จบปริญญาของที่ม.เกษตร วิชาที่เรียนแบ่งออกเป็นสองแบบ ได้แก่ วิชาบังคับเพื่อโอนหน่วยกิตกลับมา และวิชาอื่นที่เราสนใจเรียน 

การไปเรียนแลกเปลี่ยนไม่ใช่เรื่องง่ายถึงแม้มหาวิทยาลัยจะมี Connection กัน เพราะทางอังกฤษบังคับว่านักเรียนที่จะไปได้ต้องมีเกรดอย่างต่ำ 3.50, IELTS 6.0+ และต้องเขียน Statement of purpose ส่งไปว่าทำไมถึงอยากไปเรียน… โอ้คุณพระ ขั้นตอนแบบนี้คือการยื่นสมัครเข้ามหาวิทยาลัยใหม่อีกรอบนี่เอง และม.เกษตรก็ไม่สามารถการันตีรับรองหากนักเรียนไม่ผ่านเกณฑ์พวกนี้ หลังจากที่พี่เตรียมตัวทุกอย่างอยู่หลายปีก็ผ่านเกณฑ์ จนได้บินไปเรียนจริงๆ ที่ Newcastle University 

[ อ่านต่อในความเห็นที่ 1 ]

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่