ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น : ชวลิต เสริมปรุงสุข ชีวิตที่มีศิลปะเป็นศาสนา

ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น 
ชวลิต   เสริมปรุงสุข ชีวิตที่มีศิลปะเป็นศาสนา
โดย วรา  วราภรณ์

                           
                                                     "พระเจ้าสร้างโลก  ศิลปินสร้างศิลปะ"  บางถ้อยคำจาก ชวลิต  เสริมปรุงสุข
                                                         (ภาพจาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/878853)

                      
                                    ในเงื้อมเงาโรคระบาดที่มีอานุภาพไม่ต่างจากสงครามที่ยังแลไม่เห็นจุดจบ ผู้เขียนคิดถึงเรื่องราวของศิลปินไทยอาวุโสท่านหนึ่งที่มีวันคล้ายวันเกิดในเดือนนี้และเพิ่งล่วงลับไปในเดือนเมษายนปี พ.ศ. 2563 ด้วยสาเหตุหนึ่งของการจากไปก็คือเชื้อโคโรนาไวรัส โควิด-19 ขณะที่เขาใช้ชีวิตในดินแดนแห่งแรงบันดาลใจด้านศิลปะ ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นเสมือนแผ่นดินที่สองรองจากบ้านเกิดเมืองนอน 

            ภาพของ ชวลิต  เสริมปรุงสุข ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ปี พ.ศ. 2557  ที่ปรากฏทางสื่อไทยในช่วงสิบปีที่ผ่านมาก็คือ ชายสูงวัยผิวขาว หนวดเคราบาง ๆ ท่วงทีกระฉับกระเฉง คำพูดชัดถ้อยชัดคำ สีหน้าและแววตามุ่งมั่น มักสวมหมวกและถือไม้เท้าเป็นบางครั้ง 

            ชื่อของเขาอาจไม่เป็นที่คุ้นหูสำหรับหลายคนโดยเฉพาะผู้ที่ไม่ได้อยู่ในวงการศิลปะ เหตุผลหลักก็คือเขาใช้ชีวิตในต่างแดนตั้งแต่ปี พ.ศ.  2504 ทว่า ในแวดวงศิลปกรรมสากล เขาคือศิลปินผู้สร้างสรรค์งานที่มีความเป็นตัวของตัวเองอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ทั้งในฐานะศิลปินที่ได้รับการอุปถัมภ์จากรัฐบาลเนเธอร์แลนด์เป็นเวลาต่อเนื่องยาวนานถึงสิบแปดปี และศิลปินอิสระ

            การเป็นศิลปินไทยคนแรกและคนเดียวที่อยู่ในระบบรัฐอุปถัมภ์ของเนเธอร์แลนด์คือสิ่งที่ทำให้ชื่อของ ชวลิต  เสริมปรุงสุข มีความน่าทึ่งและน่าสนใจอย่างยิ่ง แต่ที่น่าทึ่งไปกว่านั้นคือ นี่เป็นเป้าหมายที่เขาทำตามความมุ่งหวังด้วยความสำเร็จ เพราะเขาบอกทุกคนเสมอมาว่า “ผมเกิดมาเป็นศิลปิน” กับ “เป้าหมายของผมคือการใช้ชีวิตเป็นศิลปินตลอดชีวิต”

            เขาตั้งใจอธิบายเสมอว่า “การเกิดมาเป็นศิลปิน” เช่นตัวของเขานั้นเป็นคนละความหมายกับ “ความอยากเป็นศิลปิน” โดยอธิบายจากตนเองว่า เขาไม่มีความสามารถอื่นใดอีกแล้วที่นอกเหนือไปจากการวาด เขียนรูป หรือการปั้น เมื่อรู้ตัวว่า “ผมทำอย่างอื่นไม่ได้” เขาจึงมุ่งเดินไปบนถนนสายเดียวเท่านั้นคือการเป็นนักเรียนศิลปะ โดยหลังจากจบชั้นมัธยมจากวชิราวุธวิทยาลัยแล้วก็เรียนต่อที่โรงเรียนศิลปศึกษา และมหาวิทยาลัยศิลปากร ตามคำแนะนำของ ไพทูรย์ เมืองสมบูรณ์ ครูผู้สอนงานปั้นให้เขาในชั้นมัธยมซึ่งท่านได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) ปี พ.ศ. 2529 (เสียชีวิตปี พ.ศ. 2542)     

            แม้ตนเองเป็นลูกข้าราชการ แต่การที่เขาเลือกเป็นนักเรียนศิลปะยุคก่อน พ.ศ. 2500 ซึ่งยังถูกคนทั่วไปมองว่าแปลกและไม่มีความมั่นคงในด้านวิชาชีพ ทว่า กลับไม่เป็นที่ขัดใจของคุณพ่อที่เป็นแพทย์และคุณแม่ที่เป็นนางพยาบาล โดยเฉพาะคุณพ่อที่เขาเล่าว่า “เป็นประชาธิปไตยมาก”

            ชีวิตนักศึกษาคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรสมัยนั้นจริงจังกับการเรียนมาก ทั้งยังมีความหมายเป็นพิเศษกับการที่เขาคือศิษย์รุ่นสุดท้ายของ “อาจารย์ฝรั่ง” หรือศาสตราจารย์ศิลป์  พีระศรี และได้เรียนกับผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน ยกตัวอย่างเช่น ประยูร  อุลุชาฎะ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ปี พ.ศ. 2535 ที่สอนเขาให้เข้าใจในศิลปะ (เสียชีวิต พ.ศ. 2543)

            “ท่านสอนว่าศิลปะทำให้เราคิด ให้เราสร้างสรรค์ ศิลปะต้องหลุดพ้นจากฝีมือไปให้ได้ อย่าติดกับคำว่าวาดรูปเก่งแต่ต้องพิสูจน์ว่าเรามีพรสวรรค์ไหม ทุกคนต้องทำงานหนักจึงจะเห็นพรสวรรค์ได้ ส่วนเรียนกับอาจารย์ศิลป์ก็ทำให้เราได้ความรู้ ได้ความมั่นใจมากขึ้น คือไม่ใช่แค่คำพูดอย่างเดียว แต่เราจะได้ความศรัทธาในศิลปะ เราจะได้ความเชื่อมั่นในการได้เกิดมาทำงานศิลปะ อันนี้สำคัญมาก เพราะถ้าคุณทำศิลปะแบบไม่เชื่อมั่น คุณก็ทำครึ่ง ๆ กลาง ๆ ไม่ทุ่มเทเต็มที่ ไม่เอาชีวิตเข้าไปเสี่ยงด้วย

             “อย่างอาจารย์ศิลป์ ท่านรักศิลปะทั้งชีวิต ตัวท่านก็เป็นศิลปะทั้งชีวิต ท่านศรัทธาศิลปะแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นท่านเชื่อศิลปะ ท่านก็สอนให้เราเชื่อศิลปะ สอนให้เราเห็น คือ ดูซิว่าทำไมอาจารย์ศิลป์จึงทุ่มเทให้งานศิลปะ ศิลปะมันต้องมีค่ามากพอที่ทำให้ท่านทุ่มเทให้ได้ ท่านทำให้เราเชื่อมั่นว่าชาตินี้ถ้าทำศิลปะแล้วมันคุ้ม”
            
             หลังจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร เขาตัดสินใจแสวงหาความรู้เพิ่มเติมจากต่างประเทศโดยเริ่มต้นจากการสมัครขอรับทุนสนับสนุนไปเนเธอร์แลนด์ตามความใฝ่ฝัน เพราะที่นั่นเป็นแหล่งรวมชีวิตและผลงานของจิตรกรเอกที่เขาประทับใจ ไม่ว่าจะเป็น Rembrandt, Piet Mondrian, Van gogh ซึ่งนับเป็นโชคที่ครั้งแรกเขาได้รับทุนโดยไม่ต้องสอบ กระทั่งเมื่อข้อตกลงสิ้นสุด เขาก็ยังไม่กลับเมืองไทย แต่พยายามหาวิธีจนพบช่องทางใหม่ คือ สมัครร่วมโครงการอุปถัมภ์ศิลปินรวมทั้งศิลปินต่างชาติ กระทั่งเงื่อนไขทุนสิ้นสุดลงและผลงานยังไม่ผ่าน เขาก็ยังไม่ละความพยายาม
            
             “พอหมดทุนแรก เราก็ทำงานสารพัด เป็นกรรมกรขนทิวลิป ทำฉากละคร รับแต่งร้าน ทำหมดทุกอย่างเพื่อเอาเวลาเสาร์อาทิตย์ไปทำงานศิลปะเพื่อเสนอขอทุน ช่วงนั้นลำบากมาก เรามีเงินน้อย แต่เรารู้เป้าหมายว่าไม่ยอมตาย ถ้าฝรั่งทำได้ เราก็ต้องทำได้ ถ้าตอนนั้นใจไม่แข็งจริง ไม่เชื่อในศิลปะ หรือไม่ศรัทธาในศิลปะคงกลับบ้านแล้ว เพราะเสนอครั้งแรกไม่ผ่าน ผมก็เอาใหม่ ทำงานอีกหกเดือน แล้วเสนออีกครั้ง สุดท้ายเขาก็รับ”
            
             เดือนพฤษภาคม 2557 เขาตอบคำถามในห้องสนทนากับกลุ่มคนไทยที่โรงงานเพชรแห่งหนึ่งในกรุงอัมสเตอร์ดัม เมื่อ ดร.วรภัทร์  ภู่เจริญ นักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงด้านบริหารองค์กรถามว่า เพราะเหตุใดเขาจึงได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการชุดนั้น      
            
             “ฝรั่งเขาเชี่ยวชาญทางศิลปะมาก กรรมการเขามีความรู้ทั้งนั้น ศิลปะไม่ใช่เชื้อชาติ มันเป็นสากล ตอนนั้นงานเรากำลังเริ่ม อายุยี่สิบสอง ยังไม่ perfect เขาเอาอะไรมาวัดเราก็ไม่รู้ เพราะเราไม่ได้เจอกรรมการสักคน เขาคงดูว่ามีพรสวรรค์ไหม เอาจริงไหม เพราะฉะนั้นเขาต้องมองเห็นว่าคน ๆ นี้มันมีพรสวรรค์  มันต้องไปไกล เขาเห็นแล้วว่าหกเดือนเรายังไม่ทิ้ง เราไม่มีรายได้ที่ไหนเราก็ยังยอมไปทำงานทุกอย่างเพื่อให้มีเวลาแบ่งมาทำศิลปะ

             “ฝรั่งเขาสนับสนุนผม เขาไม่เคยดูตัวผม เขาดูที่งานอย่างเดียว ไม่มีตำแหน่งให้ แต่เขาให้เงิน ให้เราอยู่ได้ ให้เราทำงาน ศิลปินต้องมีเสรีภาพในการทำงาน คุณต้องไม่ขึ้นกับการค้า คุณต้องหลุดพ้นออกไปจากเกียรติยศ จากการยกยอปอปั้น คุณถึงจะไปสู่เส้นทางที่คุณตั้งใจไว้ได้ ถ้าคุณหวังเรื่องเงิน งานคุณจะเสีย เพราะคุณทำงานตามใจคนอื่น นี่เป็นจุดประสงค์ของรัฐบาลดัทช์ที่สนับสนุนดีมากซึ่งเมืองไทยไม่มี”
            
             คำตอบรับที่เสมือนรางวัลสำหรับศิลปินนักสู้ผู้นี้ก็คือ เงินเดือน ที่พักและสวัสดิการต่าง ๆ ที่เอื้อต่อการทำงานศิลปะอย่างที่สุด สมดังความมุ่งมั่นที่เขารู้ตัวเองว่าเกิดมาเพื่อเป็นศิลปิน และสำหรับเขานั่นคือเชื้อไฟที่ดีแห่งการสร้างสรรค์งานในรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาตนเองตลอดเวลาโดยไม่ต้องคิดเรื่องอื่น
            
             “อยู่ในระบบมาสิบแปดปี เป็นช่วงที่สบาย แล้วเหมาะกับนิสัยผม ผมไม่ชอบทำการค้า ผมชอบทำงาน เพราะฉะนั้นกินเงินเดือนนี่เหมาะกับผมมากเพราะผมไม่ต้องสนใจเรื่องแกลเลอรี่ และผมก็ไม่จำเป็นต้องมีชื่อเสียงด้วย”

                                                                                                                                                       
                             แก่นของการทำงานศิลปะคือ ความเป็นตัวของตัวเอง    
                  (ภาพจาก https://mgronline.com/celebonline/detail/9560000113735)

(ต่อกรอบล่าง)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่