[Brisbane 2032] ไอโอซีเลือกเมืองบริสเบนเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกและพาราลิมปิกฤดูร้อนปี 2032

© The Australian Olympic Committee

ข่าวล่าค่ะ วันนี้ (21 ก.ค.) คณะกรรมการโอลิมปิกสากลได้ลงคะแนนรับรองเมืองบริสเบน ประเทศออสเตรเลีย เป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกฤดูร้อนปี 2032 (พ.ศ. 2575) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยการรับรองเมืองเจ้าภาพปี 2032 ที่เกิดขึ้นในวันนี้เป็นส่วนหนึ่งในการประชุมใหญ่ไอโอซี ครั้งที่ 138 ที่โรงแรมโอกุระ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ที่เริ่มตั้งแต่เมื่อวานจนถึงวันนี้ นั่นหมายความว่าออสเตรเลียจะได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเป็นครั้งที่ 3 หลังเคยทำหน้าที่นี้มาแล้วในปี 1956 ที่เมลเบิร์น และปี 2000 ที่ซิดนี่ย์

ที่เราใช้คำว่ารับรองแทนที่จะบอกว่ารับเลือกนั้น เพราะครั้งนี้มีแค่เมืองบริสเบนเมืองเดียวที่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพค่ะ (แหงสิ เศรษฐกิจแบบนี้ คงไม่มีเมืองไหนอยากท้าชิงด้วยหรอก) และการลงมติของสมาชิกไอโอซีเพื่อหาเมืองเจ้าภาพครั้งนี้เป็นการรับรองว่าสมควรให้เมืองนี้เป็นเจ้าภาพหรือไม่ ตามระบบการคัดเลือกแบบใหม่เพื่อไม่ให้สิ้นเปลืองงบประมาณในการเสนอตัวและแก้ปัญหาการล๊อบบี้เสียงคะแนนด้วย ผลคือที่ประชุมรับรอง 72 เสียง ไม่รับรอง 5 เสียง และงดออกเสียง 3 เสียง 


โธมัส บาค ประธานไอโอซี ทำหน้าที่ประกาศรับรองเมืองบริสเบนเป็นเจ้าภาพ 



คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ


แน่นอนว่าคนในเมืองบริสเบนที่รวมตัวเพื่อลุ้นการรับรองเมืองเจ้าภาพจะสำเร็จไหม พอรู้ผล คนในเมืองฉลองกันยกใหญ่ท่ามกลางสถานการณ์โควิด แต่ก็ยังรวมตัวเหมือนปกติ ทั้งที่เปอร์เซ็นต์การฉีดวัคซีนโควิดอย่างน้อย 1 เข็มมีเพียงแค่ 18 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น 

© Getty Images

© Getty Images




มาทำความรู้จักเมืองนี้กัน เมืองนี้ตั้งอยู่รัฐควีนส์แลนด์ ทางภาคตะวันออกของประเทศ เป็นเมืองใหญ่อันดับ 3 ของประเทศ ต่อจากซิดนี่ย์และเมลเบิร์น
© The Australian Olympic Committee


แม้ว่าเมืองนี้อาจจะไม่คุ้นสำหรับคนไทยและไม่ได้หวือหวาเท่าซิดนี่ย์ แต่ใครจะมาเรียนต่อและชอบหาดทราย เมืองนี้ก็ไม่น้อยหน้าใครเช่นกัน



ในส่วนแผนการเป็นเจ้าภาพ เท่าที่ดูมาบ้านเขาเหมือนเซฟๆพอสมควร ไม่ได้ทำให้หวือหวาอลังการเกินไป เพราะคงเรียนรู้จากเจ้าภาพครั้งก่อนๆในเรื่องเงินๆทองๆ แต่เขาก็แสดงศักยภาพว่าเมืองนี้ดีพอในการจัดทั้งโอลิมปิกและพาราลิมปิกเช่นกัน โดยสนามที่มีแผนทั้งสร้างใหม่และปรับปรุง เท่าที่ดูมาสนามในแผนส่วนหนึ่งเป็นชั่วคราวเสียมากกว่า แต่ในสนามหลักในการเป็นเจ้าภาพจะใช้สนามคริกเก็ตชื่อสนามว่า Brisbane Cricket Ground หรือสนามแก๊บบ้าที่คนในเมืองเรียกกันจนติดปาก โดยจะปรับปรุงสนามจากสนามความจุ 42,000 ที่นั่ง เป็น 50,000 ที่นั่ง (เหมือนเขาทำรังแต่พอตัวไม่ได้เน้นยิ่งใหญ่เหมือนตอนจัดที่ซิดนี่ย์) 

โดยแผนของเจ้าภาพเมื่อปรับปรุงสนามนี้จะหน้าตาแบบนี้แอบเหมือนของลอนดอน 2012 แฮะ เชื่อเถอะพอจบจากงานนี้ก็คงรื้อลู่และลานกรีฑากลับมาเป็นสนามคริกเก็นตามเคยเหมือน 2 ครั้งที่ผ่านมา สามารถอ่านเพิ่มเติมที่กระทู้ อดีต-ปัจจุบัน สนามหลักในโอลิมปิกฤดูร้อน 1896-2012 ที่เราตั้งเมื่อ 5 ปีที่แล้วค่ะ
© The Australian Olympic Committee


© The Australian Olympic Committee


ทางเจ้าภาพได้แบ่ง 3 โซนในการจัดเป็นเจ้าภาพ ได้แก่ โซนเมืองบริสเบนซึ่งเป็นโซนหลัก โซนเมืองโกลด์โคสต์ (ชอบเมืองนี้มาก แถมเมืองนี้มีต้นทุนในการจัดกีฬาเครือจักรภพปี 2018 มาแล้ว) และโซนเมืองซันชายน์โคสต์ ซึ่งทั้งสามโซนจะมีหมู่บ้านนักกีฬาเพื่อลดการเดินทางข้ามเมือง แม้ระยะทางไม่ได้ไกลมากและคมนาคมสะดวกอยู่แล้วก็ตาม ซึ่งนักกีฬาที่แข่งกีฬาในเมืองที่กำหนดก็จะได้พักหมู่บ้านนักกีฬาในเมืองนั้นได้เลย สะดวกดี
© The Australian Olympic Committee


นอกจากสามเมืองที่ว่ามา จะมีเมืองอื่นๆทำหน้าที่ร่วมจัดในการแข่งฟุตบอลรอบแบ่งกลุ่มด้วย ตามภาพเลย

© The Australian Olympic Committee


สามารถดูคลิปแผนการเป็นเจ้าภาพของเมืองนี้ตามคลิปนี้เลย มาดูกันว่าชนิดกีฬาจะไปแข่งกันที่ไหน 
ใครที่ชอบวอลเล่ย์ และวอลเล่ย์ลายหาด แข่งที่โกลด์โคสต์ ใครที่ชอบว่ายน้ำ แบดมินตัน มวย และเทควันโด้แข่งที่บริสเบน เป็นต้น
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

แม้เมืองบริสเบนมีระบบขนส่งมวลชนอยู่แล้ว จากภาพมีระบบรถไฟชานเมืองหลายสาย แต่ในการเป็นเจ้าภาพทั้งโอลิมปิกและพาราลิมปิก ทางเจ้าภาพจะมีการอัพเกรดระบบรถไฟ รวมถึงการก่อสร้างเพิ่มเติมด้วย

ภาพจาก urbanrail.net

โดยโครงการก่อสร้างรถไฟ Cross River Rail ซึ่งเป็นรถไฟชานเมืองแบบใต้ดินลอดแม่น้ำบริสเบน โดยมีกำหนดเสร็จปี 2024 

และโครงการก่อสร้าง Brisbane Metro ซึ่งเป็นระบบรถบีอาร์ทีจำนวนสองสาย กำหนดเสร็จปี 2023 

ซึ่งทั้งสองโครงการจะเชื่อมใจกลางเมืองและเชื่อมสนามกีฬาที่ใช้จัดการแข่งขันด้วย สังเกตได้ว่าเมืองนี้ไม่กล้าลงทุนสร้างรถไฟใต้ดินระบบ MRT เหมือนที่เมืองซิดนี่ย์กำลังทำ เพราะมีเรื่องงบเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย


และแน่นอนว่าในคลิปแผนในการจัดจะมีการยกระดับระบบคมนาคมและระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเตรียมการเป็นเจ้าภาพด้วย 

ดูเหมือนครั้งนี้ออสเตรเลียดูเซฟๆ แต่หวังว่าอีก 11 ปีต่อจากนี้งบจะไม่บานเบอะเหมือนโตเกียวครั้งนี้นะ

ส่วนโลโก้อย่างเป็นทางการและรายละเอียดอื่นๆนั้น รอก่อนค่ะ ต้องติดตามกันต่อไป

ส่วนกำหนดการจัดโอลิมปิก 2032 จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 23 กรกฎาคม - 8 สิงหาคม และ พาราลิมปิก 2032 จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 24 สิงหาคม - 5 กันยายน 2032 ค่ะ



ปิดท้ายด้วยคลิปโปรโมตการเป็นเจ้าภาพปี 2032 กัน และหวังว่าจะได้เห็นอะไรดีๆในปี 2032 นะคะเจอกันที่บริสเบนค่ะ

© The Australian Olympic Committee


คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ


แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่