วิกฤตผู้ติดเชื้อ COVID-19 ต้องนอนรอเตียงรอตายอยู่ที่บ้าน... รัฐบาล สปส. สธ.และสปสช. ต้องรีบแก้ไขและป้องกันปัญหาโดยด่วน

ปัญหามีผู้ติดเชื้อโควิด 19 จำนวนไม่น้อย ต้องนอนรอเตียง รอความตายอยู่ที่บ้าน นับเป็นปัญหาที่คาราคาซัง เรื้อรังมานานหลายวันแล้ว หน่วยงานต่าง ๆ ก็โยนกันไปโยนกันมา จนกลายเป็นปัญหาวิกฤตที่เพิ่มขึ้นทุกวัน ๆ อย่างน่าสมเภชเวทนาเป็นอย่างยิ่ง ตามปริมาณจำนวนผู้ติดเชื้อฯ จนถึงบัดนี้ก็ยังมองไม่ออก มองไม่เห็นว่าใครควรจะเป็นผู้รับผิดชอบสูงสุดเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการแก้ปัญหานี้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ
 
ประเทศไทยเรามีองค์กรคล้าย ๆ บริษัทประกันสุขภาพของรัฐที่ใหญ่มาก ๆ 2 แห่ง มีเงินกองทุนของแต่ละองค์กรจำนวนนับแสนล้านบาท ที่ต้องรับผิดชอบตามกฎหมายต่อการประกันสุขภาพของประชาชนคนไทยทั่วประเทศเกือบทุกคนในยามเจ็บป่วย คือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) และสำนักงานประกันสังคม(สปส.)
 
หากเปรียบเทียบกับบริษัทประกันเอกชนบางแห่งที่เพิ่งจะมีข่าวประกาศเทลูกค้าประเภท"เจอ จ่าย จบ" และหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่กำกับฯ ก็รีบเข้าไปแก้ไขปัญหาดังกล่าวทันทีโดยให้ยกเลิกประกาศดังกล่าวนั้นเสีย... แก้ปัญหาจบปัญหาได้ภายในไม่เกิน 24 ชั่วโมง !
 
หันมามองลูกค้าประกันสุขภาพของรัฐ ของบริษัทสำนักงานประกันสังคม(สปส.) และลูกค้าของบริษัทสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือคนยากคนจน ลูกจ้าง และชาวบ้านทั่วไปจำนวนไม่น้อย ต่างก็ประสบกับเหตุการณ์โดนเทกันมาหลายครั้งหลายคราว หลายวาระ หลายกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นการฉีดวัคซีนฯ  การตรวจหาเชื้อฯ   การรอเตียง จนกลายเป็นรอตายอยู่ที่บ้าน
 
สำนักงานประกันสังคม(สปส.)และสำนักงานหลักประกันสุขภาพ(สปสช.) จะต้องเป็นองค์กรหลักของรัฐตามกฎหมายในการรับผิดชอบลูกค้าประชาชนผู้บริโภคที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับหน่วยบริการ โรงพยาบาลต่าง ๆ ทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน ในยามเจ็บป่วย ให้ได้รับความเป็นธรรม ให้ได้รับบริการต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ต้องได้รับบริการที่รวดเร็วทันต่อสถานการณ์ มีมาตรฐาน มีคุณภาพและประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง
 
มีตัวอย่างของโรงพยาบาลหน่วยบริการบัตรทอง 30 บาทฯ ทั้งของภาครัฐและเอกชน ที่พยายามพัฒนาศักยภาพให้สามารถดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด 19 ได้อย่างมีคุณภาพและได้มาตรฐาน ไม่ให้ผู้ติดเชื้อต้องรอเตียงรอตายอยู่ที่บ้าน เช่น...
 
โรงพยาบาลพิปูน นครศรีธรรมราช แม้จะมีฐานะเป็นแค่โรงพยาบาลเล็ก ๆ ประจำเภอ  แต่ได้เตรียม Cohort ward สำหรับผู้ติดเชื้อ ฯ ในพื้นที่รับผิดชอบและพื้นที่ใกล้เคียงด้วยใจเกินร้อย https://www.facebook.com/ssjnakhon/posts/4107645129312297
 
หรือโรงพยาบาลเอกชนอย่าง โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ของคุณหมอเหรียญทอง แน่นหนา ที่ได้พัฒนาศักยภาพของโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนามมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การระบาดรอบแรก เพื่อรองรับผู้ป่วยบัตรทองและผู้ป่วยประกันสังคมที่ลงทะเบียนไว้กับโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะเป็นหน่วยบริการ  รวมถึงผู้ติดเชื้อฯ จากที่อื่น ๆ ด้วย จะได้ไม่ต้องรอเตียงรอตายกันอยู่ที่บ้าน
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

แต่โรงพยาบาลทั้ง 2 แห่ง ที่ผมได้ยกตัวอย่างดังกล่าวแล้วนี้ ต่างก็ได้พัฒนาศักยภาพของตัวเองด้วยความสมัครใจ ด้วยใจเกินร้อย ไม่ได้มีหน่วยงานไหนของรัฐมีข้อกำหนดหรือข้อบังคับให้ต้องดำเนินการแต่ประการใด
 
เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตดังกล่าว สปส.และ สปสช.ตลอดจนถึงรัฐบาลควรจะต้องมีนโยบายที่ชัดเจนที่จะต้องมีข้อกำหนดให้โรงพยาบาลหน่วยบริการทั้งของภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศตั้งแต่ระดับโรงพยาบาลชุมชนประจำอำเภอขึ้นไปทุกแห่ง จะต้องพัฒนศักยภาพให้มี  Cohort ward สำหรับผู้ติดเชื้อ COVID-19 ทุกคนในเขตรับผิดชอบที่อาการไม่รุนแรง อย่างน้อยอำเภอละ 1 แห่ง เพื่อป้องกันการระบาดแพร่กระจายของเชื้อโรคฯ แก้ปัญหาการรอเตียงรอตายอยู่ที่บ้าน
 
รัฐบาล สปสช.และ สปส. ควรมีนโยบายที่ชัดเจนในการที่จะต้องสนับสนุนงบประมาณ เครื่องไม้เครื่องมืออย่างเต็มที่ให้แก่โรงพยาบาลหน่วยบริการฯ ทั้งของภาครัฐและเอกชน ทุกแห่ง ทุกระดับทั่วประเทศ ในการพัฒนาศักยภาพให้มี  Cohort ward สำหรับผู้ติดเชื้อ COVID-19 ทุกคนในเขตรับผิดชอบที่อาการไม่รุนแรง อย่างน้อยอำเภอละ 1 แห่ง เพื่อป้องกันการระบาดแพร่กระจายของเชื้อโรคฯ  และแก้ปัญหาการรอเตียงรอตายอยู่ที่บ้าน
 
ก็ได้แต่หวังว่าลูกค้าประกันสุขภาพของบริษัท สปส. และบริษัท สปสช. ทั่วประเทศ จะได้ไม่โดนเท ในการฉีดวัคซีนฯ การตรวจหาเชื้อฯ และการรอเตียงจนต้องรอตายอยู่ที่บ้านกันอีกต่อไป.


https://www.facebook.com/ssjnakhon/posts/4107645129312297
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่