‘ชวิน เจียรวนนท์’ ทายาทเครือ CP จ่อระดุมทุน 1.6 หมื่นล้านบาท บุกธุรกิจ ‘บริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ’

กระทู้คำถาม
                                     
ในการให้สัมภาษณ์กับ Bloomberg ‘ชวิน เจียรวนนท์’ ทายาทเครือ CP กล่าวว่า กำลังวางแผนที่จะระดมทุน 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 1.6 หมื่นล้านบาทใน 9 Basil กองทุนไพรเวทอิควิตี้ โดยมีเป้าหมายที่จะใช้เงินใหม่ส่วนใหญ่เพื่อเพิ่มการซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ
 
9 Basil กำลังวางตำแหน่งตัวเองเพื่อรับประโยชน์จากสินเชื่อด้อยคุณภาพที่พุ่งสูงขึ้นจากระดับสูงสุดในรอบ 16 ปี เนื่องจากเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังต่อสู้กับภาวะถดถอยที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตเอเชียในช่วงปลายทศวรรษ 1990 
 
“นโยบายเกี่ยวกับการจัดการหนี้ด้อยคุณภาพนั้นไม่ยั่งยืน” ชวินในวัย 29 ปีกล่าวในการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับ Bloomberg “คำถามคือ ‘เมื่อไหร่’ มากกว่า ‘ถ้า’ จะมีหนี้ด้อยคุณภาพจำนวนมากที่ท่วมตลาด”
 
เนื่องจากความล่าช้าในการฉีควัคซีนซึ่งเป็นทางออกเดียวที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศผ่านพ้นวิกฤตโควิดไปได้ ทำให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan: NPL) ของไทยเพิ่มขึ้น 15% จากสิ้นปี 2562 มาอยู่ที่ 5.37 แสนล้านบาท สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2548 ตามข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย
 
ในขณะที่ รฐนนท์ ฟูเกียรติ ผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้สะท้อนมุมมองของชวินเกี่ยวกับแนวโน้มที่สินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่จะเข้าสู่ตลาดมากขึ้น โดยเขาเตือนนักลงทุนว่าอย่ารีบร้อนในการเข้าซื้อสินเชื่อเหล่านี้ 
 
“วิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบันจะเพิ่มอุปทานของสินเชื่อด้อยคุณภาพและสินทรัพย์ที่ธนาคารเสนอขาย ถึงกระนั้นต้องมีความระมัดระวังในการซื้อสินทรัพย์เหล่านั้น เนื่องจากราคาอาจร่วงลงอีกเมื่อโรคระบาดรุนแรงขึ้น” 
 
นอกจากเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นเป็น 2 เท่าในบริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) ที่เพิ่งระดุมทุน IPO ไปได้ 3.3 หมื่นล้านบาทในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบัน 9 Basil ถือหุ้นอยู่ 5% เงินที่ระดุมทุนใหม่นี้ ชวินระบุว่า จะถูกนำไปใช้เพื่อเพิ่มการถือครองใน Alpha Capital Asset Management Co. ซึ่งเป็นผู้จัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ โดยปัจจุบัน 9 Basil ถือหุ้น 49% ชวินกล่าวว่า Alpha Capital กำลังวางแผนเข้าจดทะเบียนในปีหน้า
 
กระนั้น “อุตสาหกรรมสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ คือ Red Ocean และจะยากสำหรับผู้มาใหม่” บรรยง วิเศษมงคลชัย ประธานกรรมการ บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าว “การแข่งขันเป็นไปอย่างดุเดือดมาก คุณต้องเสนอราคาในระดับที่สูง ในขณะที่ความเสี่ยงในการคืนหนี้หรือการขายทรัพย์สินเหล่านั้นก็สูงมากเช่นกัน”
 
หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทด้านธุรกิจจากมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา ชวินก็เข้าทำงานในธุรกิจของครอบครัว ซึ่งตามรายงานของ Bloomberg ในเดือนพฤศจิกายนระบุว่า ‘ตระกูลเจียรวนนท์’ ครอบครองทรัพย์สินกว่า 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 1.03 ล้านล้านบาท 
 
แม้ว่าจะเป็นมือใหม่ในธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ แต่ชวินก็ระบุว่าจะใช้ประสบการณ์จากธุรกิจของครอบครัวมาเป็นแนวทางในการทำธุรกิจ ซึ่งครั้งหนึ่งกลุ่ม CP ต้องขายธุรกิจของตัวเองเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตการเงินในเอเชียช่วงปี 1990 แต่ที่สุดก็อยู่รอดและขยายอาณาจักรให้ใหญ่ขึ้น ในขณะที่ธุรกิจอื่นๆ ต่างล้มหายไปจำนวนมาก 
 
“การจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพเป็นภาคส่วนที่ทำได้ดีมากในวงจรธุรกิจส่วนใหญ่” ชวินกล่าว “แม้ว่าการชะลอตัวในปีที่แล้วเนื่องจากแรงกดดันทางการเมือง แต่เราได้เพิ่มขนาดพอร์ตของเรามากกว่าสองเท่าในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาผ่านการเข้าซื้อกิจการต่างๆ”                                                                    เครดิต : https://thestandard.co/chawin-heir-of-the-cp-group-aimed-fundraising-for-non-performing-asset-management/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่