เชียงใหม่-อาคารโรงเรียนนักธรรม สำนักเรียนวัดสระเกษ (วัดเกตการาม)

..........สร้างเมื่อ พ.ศ.2462 ในยุคที่เรียก วัดเกตการาม ปัจจุบันในชื่อของ "วัดสระเกษ" 



โดยจีนอินทร์ ซิ้มกิมฮั่วเซ้ง และนางจีบ ภริยา เพื่อใช้เป็นโรงเรียนสอนนักธรรม บาลี ปริยัติธรรมจนคนเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า โรงเรียนปริยัติฯ 



ต่อมาภายหลังไม่มีการเรียนการสอนนักธรรม จึงใช้เป็นกุฏิให้พระเณรพักอาศัยแทน

..........สำหรับจีนอินทร์ หรือพ่ออินทร์ ซิ้มกิมฮั่วเซ้งนั้น ท่านเป็นคนมาจากที่อื่น 
เข้ามาตั้งหลักฐานอยู่กับบ้านวัดเกตด้วยการแต่งงานกับแม่จีบ 
มีบ้านตั้งอยู่ที่ปัจจุบันนี้คือ บริเวณที่จอดรถข้าง ๆ บ้านเลขที่ 89 ถนนเจริญราษฎร์ ติดกับสะพานจันทร์สมทางทิศใต้ 



พ่ออินทร์ท่านเป็นพ่อค้าขายของโชวห่วยใหญ่โตที่บ้านวัดเกต ท่านไม่มีลูกสืบตระกูล
..........แม่จีบนั้น ท่านเป็นหลานของหม่อมลมัย สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้เป็นเจ้าของบ้านเลขที่ 89 ถนนเจริญราษฎร์นั่นเอง ความเป็นญาติของหม่อมลมัยกับแม่จีบนั้นเป็นดังนี้
ก. หม่อมลมัย มีพี่น้อง 4 คน สกุลเดิม แซ่ฉั่ว
..........ยายแช 
..........ยายกิม 
..........หม่อมลมัย ชื่อเดิม แม่ตุ่น 
..........พระยาจันทร์ ชื่อเดิม ตายืน (รูปลงจอบแรก คนมีหนวด)
ข. ยายกิม มีลูก 4 คน ดังนี้
..........แม่จีบ 
..........แม่เลี้ยง 
..........แม่สร้อย 
..........แม่เปลี่ยน เป็นลูกเลี้ยง (ลูกบุญธรรม)
..........1. แม่จีบไม่มีลูก แต่งงานกับพ่ออินทร์ แซ่ซิ้ม มีร้านขายของโชวห่วย ชื่อร้าน "ซิ้มกิมฮั่วเซ้ง" ตั้งร้านอยู่ตรงหลังวัดเกตด้านหลังติดกับแม่น้ำปิง ผู้สร้างอาคารโรงเรียนนักธรรมวัดสระเกษถวายไว้ที่วัดเกต เมื่อ พ.ศ.2462 แม่จีบไม่มีลูกขอลูกของน้องสาวมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม ชื่อบุญลอง ฉิมพลี
..........2. แม่เลี้ยงแต่งงานกับคนในสกุลฉิมพลี มีลูกชาย 2 คน คือ บุญลอง กับ ก้านเลียง ฉิมพลี
..........3. แม่สร้อย แต่งงานกับคนในสกุล อุทกภาช มีบุตรชาย 2 คน คือ พ.ต.ท.ชะลอ อุทกภาช ทำงานในกองสลาก อีกคนจำชื่อไม่ได้
..........4. แม่เปลี่ยนเป็นลูกบุญธรรม มีลูกสาว 2 คน ลูกชาย 1 คน คือ แม่คำตุ้ย ปัญจสังข์ ครูกิมเซ็ง ปัญจสังข์ และนางสาวทองสุข ปัญจสังข์
แม่คำตุ้ยมีลูก 4 คน คือ
..........นางสมจิตต์ ตียพันธ์
..........นางสมพร ลักษณ์ศิริ (ร้านพรภัณฑ์ เฟอร์นิเจอร์ ช้างม่อย เชียงใหม่)
..........นายสมพงษ์ คุณพัฒน์วัฒนา (พงษ์ภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ ช้างม่อย เชียงใหม่)
..........นางสาวสมคิด คุณพัฒน์วัฒนา
..........ที่บ้านยายกิม พี่สาวหม่อมลมัยพร้อมด้วยลูก ๆ มีฝีมือในการทำขนมไทยระดับที่เจ้าในคุ้มหลวงมีการมีงานแล้วละก็ ขนมไทยของที่บ้านยายกิมเป็นต้องได้ขึ้นโต๊ะเสมอ ภาพที่หลาน ๆ คุ้นตาคือ แม่ตุ่น (หม่อมลมัย) จะหาบขนมไปส่งให้คุ้มหลวงด้วยตัวเองเสมอ เจ้าแก้วนวรัฐจึงได้ขอแม่ตุ่นให้แต่งงานกับเจ้าคุณกลาโหม
..........หม่อมลมัยเคยแต่งงานครั้งแรกกับเจ้าคุณกลาโหม มีบ้านอยู่ที่มุมขัวเหล็ก (สะพานนวรัฐ) ด้านทิศตะวันตก ไม่แน่ใจว่ามุมด้านทิศเหนือหรือทิศใต้ ภายหลังยกให้หลวงไป เมื่อเจ้าคุณถึงแก่กรรม หลังจากนั้นจึงมาเป็นหม่อมของหม่อมเจ้าพร้อมพงษ์อธิราช มีลูกสาว 2 คน
..........1. คุณหญิงใหญ่ (จำชื่อไม่ได้) แต่งงานมีลูกชายชื่อ ม.ร.ว.พัฒนไชย ไชยยันต์ ทำงานสภากาชาดไทย
..........2. คุณหญิงเล็ก คือ ม.ร.ว.อุไร สนิทวงศ์ แต่งงานกับ ศ.ดร.อภัย ชมุนี มีบุตรชาย 1 คน คือ คุณไพโรจน์ ชมุนี
..........พระยาจันทร์ (ตายืน) มีภรรยาชื่อบัวผัน พระยาจันทร์นามสกุล ธุรกิจสุเทพ ด้วยพระยาจันทร์ได้ช่วยครูบาศรีวิชัยทำถนนขึ้นดอยสุเทพ จากรูปลงจอบแรกของเจ้าแก้วนวรัฐจะเห็นคนมี "หนวดโง้ง" (หนวดโค้งเป็นวง) นั่นแหละคือ พระยาจันทร์
(รูปลงจอบแรกโดยเจ้าแก้วนวรัฐ ส่วนพญาจันทร์ คือ คนยืนกลางมีหนวดโง้ง ถือสลุงเงิน และหลวงศรีประกาศ คือ คนขวามือ)


..........กาลเวลาผันผ่าน สรรพสิ่งย่อมถึงการทรุดโทรมเป็นธรรมดา 
ในปี พ.ศ.2543 ชมรมทัวร์ป่าภาคเหนือ ททท.ร่วมกับคณะศรัทธาชาวบ้านวัดเกตจัดงานทอดผ้าป่าสามัคคีทางน้ำได้เงินตั้งต้นเพื่ออนุรักษ์อาคารโรงเรียนปริยัติฯนี้ 2 หมื่นกว่าบาท 

และต่อมาในปี พ.ศ.2544 ลูกหลานตระกูลอุนจะนำปุรณะพรรค์และโสภโณดร โดยมีคุณโกสินทร์ เกษทอง ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ขณะนั้น ผู้เป็นลูกหลานตระกูลพร้อมด้วยคุณนายจิตรลดา เกษทอง เป็นประธานการทอดกฐินผ้าป่าสามัคคี ได้เงินอีก 2 แสนกว่าบาท รวมกับเงินทางวัดสมทบให้อีก นำมาซ่อมแซมอาคารหลังนี้จนแล้วเสร็จ เมื่อปี พ.ศ.2547 นี้เอง ปัจจุบันใช้เป็นที่อยู่ของพระเณรและรับแขกของทางวัด

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่