ลูกเป็นสิว มีวิธีรักษาอย่างไร ทั้งสิวเด็กเล็ก สิวเด็กในวัยเรียน?

ลูกเป็นสิว ปัญหาผิวหนังของลูกที่คุณแม่กังวลใจ ทั้งสิวในเด็กทารก วัยอนุบาล หรือชั้นประถม จบเติบโตไปจนถึงชั้นมัธยม เชื่อว่า ยิ่งลูกอายุน้อยเท่าไร ยิ่งสร้างความหนักใจให้คุณแม่ยิ่งนัก เพราะไม่น่าจะเกิดขึ้นกับผิวที่บอบบาง ลองไปดูกันว่า สิวประเภทต่างๆ เกิดขึ้นได้อย่างไร แต่แก้ปัญหาอย่างไรได้บ้าง

ลูกเป็นสิว ได้อย่างไร
จริงๆ แล้ว ลูกเป็นสิว เป็นเรื่องปกติมาก ทั้งเด็กและผู้ใหญ่วัยหนุ่มสาวส่วนใหญ่จะเกิดในช่วงอายุระหว่าง 11 - 30 ปีตั้งแต่วัยแรกรุ่น แต่อย่างไรก็ตาม สิวสามารถเกิดได้ทุกเพศทุกวัย บางคนวัย 40 ขึ้นไปยังมีอากาสเป็นได้ ทั้งนี้สิวมีหลายประเภทที่ส่งผลต่อทารกแรกเกิด เด็กเล็ก เด็กโตและวัยรุ่น



สิวทารก (Neonatal Acne)
เราได้ยินถึงสิวประเภทนี้บ่อยๆ เมื่อคุณแม่ค้นหาว่าทำไมลูกน้อยจึงเกิดมามีสิวทั้งที่ยังแบเบาะอยู่ จริงๆ แล้วเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 สัปดาห์ ก็มีโอกาสเป็นสิวได้ เพียงแต่พบน้อยมากๆ อันมีสาเหตุมาจาก การอุดตันของไขมัน พบได้ทั้งสิวหัวขาวและหัวดำ บริเวณหนังศีรษะ ช่วงอกใต้ลำคอและแผ่นหลัง บางคนอาจเกิดสิวบริเวณแก้มคางและหน้าผากคล้ายผดร้อน ซึ่งจะหายได้เองไม่เกิดอันตรายต่อผิวหนังแต่อย่างใดค่ะ ที่น่าสนใจคือ
 - ต่อมไขมันนั้นตอบสนองต่อแอนโดรเจนหรือ ฮอร์โมนเพศชาย เป็นฮอร์โมนที่ทำให้เพศชายในวัยรุ่นมีสรีระที่เปลี่ยนแปลงไป
 - แอนโดรเจนยังช่วยกระตุ้นต่อมไขมันและทำให้เกิดความมันส่วนเกินมากขึ้นส่งผลให้เกิดสิวฮอร์โมน
 - ปริมาณแอนโดรเจนจะค่อยๆ ลดลงในช่วงที่ทารกมีอายุครบ 1 ปี และร่างกายจะเริ่มมีการผลิตแอนโดรเจนอีกครั้งในช่วงอายุ 7 ปี

สิวเด็กน้อย (Infantile Acne)
เมื่อลูกอายุประมาณเดือนครึ่งไปจนถึง 1 ขวบ อาจจะมีสิวอุดตัน สิวอักเสบ ทั้งตุ่มใหญ่ตุ่มเล็ก บริเวณแก้ม ซึ่งสิวประเภทนี้จะอักเสบเป็นหัวหนองเล็กๆ ถ้าไปแกะเกาอาจจะทิ้งรอยแผล แต่จะหายไปเองตามการเจริญเติบโตของผิวหนัง อย่างไรก็ตาม สิวประเภทนี้เด็กบางคนอาจเป็นไปเรื่อยๆ จนถึงวัยรุ่นทีเดียว
 
สิวช่วงวัยประถม (Mid-Childhood Acne)
เด็กอายุประมาณ 5-10 ขวบ พวกเขาจะมีสิวเกิดขึ้นน้อยมาก ซึ่งคุณแม่มักจะเข้าใจว่าเป็นอาการอักเสบของผิวหนังหรือผดผื่น ทำให้การรักษาเบี้องต้นเป็นไปอย่างผิดวิธี ถูกต้องที่สิวชนิดนี้พบยากมากๆ ในเด็กวัยนี้ ซึ่งมักจะเกี่ยวข้องกับปัญหาฮอร์โมนภายในร่างกาย คุณแม่จึงควรปรึกษาแพทย์ผิวหนังผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจว่าเป็นปัญหาเกี่ยวกับการมีฮอร์โมนแอนโดรเจนมากกว่าปกติหรือไม่

สิวเด็กมัธยมต้น (Preadolescent Acne)
เด็กนักเรียนช่วงมัธยมต้น หากมีสิวจะคล้ายกับเป็นเรื่องปกติ เด็กบางคนที่ไม่มีจะรู้สึกแปลกด้วยซ้ำว่าทำไมไม่มีสิวเหมือนเพื่อน เพราะการมีสิวในเด็กวัยนี้ คือสัญญาณในการเข้าสู่ช่วงวัยเจริญพันธุ์ จะเกิดในลักษณะของสิวอุดตัน สิวหัวเปิด (ตอดำ) สิวอักเสบหัวหนอง ชำๆ แดงๆ มักจะขึ้นบริเวณแก้ม ส่วนสิวอุดตันสีขาวคล้ายๆ ผด จะเกิดบริเวณ T-Zone คือหน้าผาก ลงมาตามจมูกและคาง ยกเว้นช่วงแก้ม

การเกิดสิวในช่วงวัยรุ่นต่างจากช่วงวัยเด็กต่างๆ อย่างไร
เราจะเห็นว่า เด็กบางคนไม่เคยเป็นสิวเลย ไม่ว่าจะเป็นช่วงประถมศึกษาหรือมัธยมต้น แต่พอถึงช่วงมัธยมปลายจนเข้ามหาวิทยาลัย หรือเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นเต็มตัว เด็กๆ จะมีสิวเกิดขึ้นอย่างน่าแปลกใจ และมาทราบว่าจะรักษาอย่างไรดี ซึ่งแท้จริงๆ แล้วเด็กวัยรุ่นช่วงนี้มีการเกิดสิวหลายสาเหตุจากปัจจัยภายนอกมากกว่าฮอร์โมนหรือการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย

1. การเปลี่ยนแปลงช่วงเข้าสู่วัยรุ่นเต็มตัว
เด็กผู้หญิงบางคนมีประจำเดือนตอนมัธยมต้น และไม่มีสิวเลย แต่มาปรากฏว่ามีสิวตอนมัธยมปลาย หรือในเด็กผู้ชายจะมีระดับฮอร์โมนที่เพิ่มมากขึ้นๆ เนื่องจากเซลล์ผิวหนังและต่อมไข่มัน
 
2. การใช้เครื่องสำอาง
ปัจจุบันมีการผลิตเครื่องสำอางสำหรับเด็กวัยมัธยมมากขึ้น และเด็กช่วงนี้จะสนุกกับการออกไปเที่ยววันหยุดตามสถานที่เก๋ๆ ต่างๆ ถ่ายรูปลงโซเชียล ซึ่งเกี่ยวแน่นอนกับการที่พวกเขาต้องแต่งหน้าและใช้เครื่องสำอาง อย่างการใช้ครีมกันแดดซึ่งเป็นสกินแคร์ที่ก่อให้เกิดความอุดตันง่ายมากๆ รวมไปถึงเครื่องสำอางต่างๆ
 
3. การดูแลความสะอาด
ต่อเนื่องจากข้อ 2 ในการใช้สกินแคร์ เครื่องสำอาง หากล้างไม่สะอาดย่อมทำให้เกิดการอุดตันของสารเคมีในผิวหนัง เด็กๆ ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ล้างเครื่องสำอางอย่างสะอาดหมดจด เช่น ใช้ Makeup Remover ให้เหมาะสมกับสภาพผิว ถึงจะใช้แค่ครีมกันแดดก็ควรทำความสะอาดขั้นตอนนี้ก่อนจะใช้คลีนซิ่งล้างให้สะอาดอีกครั้งด้วย ทั้งเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายวัยรุ่นเลยค่ะ
 
 
4. การดูแลเสื้อผ้า
เด็กวัยรุ่นมักชอบการแต่งตัวตามเทรนด์ แต่ในวันที่อากาศร้อนจัด ไม่ควรใส่เสื้อผ้าที่รัดและระคายเคืองต่อผิวหนัง เพราะจะทำให้เหงื่อออกมากเกินไปจนเกิดความอับชื่น ควรเลือกใส่เสื้อผ้าที่รู้สึกสบาย หากอาการร้อนมาก อาจจะหาเสื้อคลุมไปสวมระหว่างวัน
 
5. การใช้ยาบนผิวหนัง
ยาที่เด็กๆ วัยรุ่นต้องระวังคือ คอร์ติโคสเตียรอยด์ เป็นยาประเภทที่ให้ผลดีต่อผิวหนังอย่างเห็นได้ชัด แต่ไม่ควรใช้ติดต่อกันเกิน 7 วัน หรือควรใช้ยานี้ในการดูแลของแพทย์ เพราะเป็นยาอันตรายหากใช้จนติด อาจก่อให้เกิดสิวได้ง่ายมากกว่าการใช้เพ่อดูแลแก้ปัญหาผิว

หากอาการไม่รุนแรง แพทย์จะรักษาอย่างไร
1. แพทย์จะแนะนำให้ใช้เบนซอยล์เพอรอกไซด์
ยาชนิดนี้จะออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อ ผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์ล้างหน้า เจลแต้มสิว ครีมหรือโลชั่นทาทั่วใบหน้า จะเป็นสารที่ทำงานโดยละลายหัวสิวใต้ผิวหนังซึ่งหากผิวมีอาการแพ้ง่ายให้ใช้ในปริมาณความเข้มข้นต่ำประมาณ 2.5% โดยการใช้ยาชนิดนี้ในความเข้มข้นสูงอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองและผิวแห้งได้

2. ยารักษาสิวที่ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์
คนท้องห้ามใช้ยากลุ่มนี้เด็ดขาด คือ ยากลุ่มเรตินอยด์ เช่น เทรทินอยด์และอะดาพาลีน มีส่วนผสมของสารสกัดจากวิตามินเอ โดยหากผิวมีอาการแพ้ง่ายและแห้งสามารถใช้ร่วมกับมอยซ์เจอไรซ์เซอร์ที่ปราศจากน้ำมันได้ โดยทาลงบนบริเวณที่มีอาการให้ทั่ว ประมาณ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์แล้วจึงค่อยเพิ่มปริมาณ แต่จริงๆ แล้ว ถ้าไม่จำเป็นไม่แนะนำให้เด็กๆ ใช้เลยค่ะ

 
หากสิวของลูกวัยมัธยมมีอาการอักเสบมากขึ้น
มาถึงตรงนี้แพทย์อาจจะต้องให้รับประทานยาควบคู่ไปกับการรักษาในระดับการใช้ครีมและโลชั่นเบื้องต้น โดยรับประทานยาไอโซเทรโทโนอินซึ่งเด็กๆ สามารถใช้ยาชนิดนี้ในประมาณโดส 0.2 - 1 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ใช้ได้ตั้งแต่เด็กทารกอายุ 5 เดือนขึ้นไปที่มีอาการสิวรุนแรง นอกจากนี้สิวอักแสบแดงที่ฝังลึกสามารถรักษาได้โดยการฉีดไทรแอมซิโนโลน แอซิโทไนด์ความเข้มข้นต่ำ 2.5 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตรได้เช่นเดียวกัน

การดูแลรักษาสิวเพื่อไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน
สิวเด็กเล็ก เด็กวัยรุ่นอาจเป็นอาการระยะยาว หากการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ สามารถช่วยป้องกันหรือลดการเกิดสิวรุนแรงของลูกคุณได้โดย
 - เตือนลูกอย่าสัมผัส บีบ หรือเจาะสิวเอง ซึ่งอาจติดเชื้อและทำให้เกิดแผลเป็นได้
 - พาลูกไปพบแพทย์ผิวหนัง รักษาแบบค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป
 - อย่าหยุดรักษาปุบปับ ค่อยๆ ลดการรักษาลงแม้จะหายดี
 - ยังคงรักษาผิวหน้าต่อไปเรื่อยๆ ก่อน จนกว่าคุณหมอจะให้หยุดการรักษาเอง
 - ดูแลความสะอาดอย่างอ่อนโยนที่สุด
 
เวลาเราไปพบแพทย์แล้วไม่หายทันที หรือคุณหมอยังนัดไปตรวจผิวหน้าแม้จะหายดีแล้ว คุณแม่มักจะเข้าใจว่า คุณหมอเลี้ยงไข้หรือเปล่า ซึ่งจริงๆ แล้ว การดูแลรักษาสิวควรทำสม่ำเสมอแม้ผิวหน้าจะกลับมาดีแล้วก็ตาม จนแน่ใจว่าผิวแข็งแรง และไม่ต้องไปรักษาโดยการใช้ยาหรือรับประทานยาอีกแล้ว แต่ทั้งนี้ ด้วยสภาพอากาศ ฝุ่นละอองในบ้านเรา คุณแม่จึงต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในเรื่องความสะอาดของเสื้อผ้า ฝุ่นที่เกาะตามผิวหน้า ผิวหนังของลูก นอกจากปัจจุยภายในอย่างเรื่องฮอร์โมนแล้ว ปัจจัยภายนอกจึงเป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้เลยค่ะ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่