*** ชำแหละข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน กับพลวัตการเมืองโลก ***

“ข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน” เป็นข้อตกลงว่าอิหร่านจะไม่พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ในปี 2015 แลกกับการยกเลิกคว่ำบาตร แต่ส่อเค้าล่มเมื่อทรัมป์ถอนตัวในปี 2018 อย่างไรก็ตาม จันทร์ที่ผ่านมานี้ (21 มิ.ย. 2021) มีข่าวว่าวงการทูตมีความคืบหน้าในการเจรจารื้อฟื้นข้อตกลงดังกล่าว ในเวลาไล่เลี่ยข่าวการเลือกตั้งประธานาธิบดีอิหร่านคนใหม่หมาด ๆ เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งผู้นำ “สายแข็ง” ได้รับเลือกตั้ง จึงเป็นประเด็นที่น่าติดตามต่อไปว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป

((( ย้อนมองข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน สรุปเข้าใจง่าย )))

1. ข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านเป็นข้อตกลงระหว่างชาติมหาอำนาจกับอิหร่านเพื่อป้องกันมิให้อิหร่านพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของตัวเอง โดยแลกกับการยกเลิก
มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของอเมริกา สหภาพยุโรป และประเทศมหาอำนาจอื่นๆ จัดทำขึ้นในปี 2015 สมัยอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา

2. แต่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ถอนตัวในปี 2018 โดยอ้างว่าโอบามายอมให้อิหร่านมากเกินไป

3. หลังจากนั้นสหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรอิหร่านรอบใหม่ แต่สมาชิกประเทศอื่นเห็นควรให้ข้อตกลงนี้ยังอยู่ต่อไป

4. ในปี 2019 อิหร่านประกาศจะไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขบางส่วน และเสริมสมรรถนะยูเรเนียมเกินข้อกำหนด แต่ประเทศต่าง ๆ ยังไม่มีท่าที

5. ดังนั้นสถานการณ์ปัจจุบันคือ ข้อตกลงยังได้ชื่อว่ามีผลอยู่ แม้ว่าอิหร่านจะมีการฝ่าฝืนข้อตกลงบางส่วน และสหรัฐฯ ถอนตัวไปแล้ว

6. รัฐบาลอิหร่านชุดที่แล้วพยายามเจรจารื้อฟื้นข้อตกลงดังกล่าวเพื่อให้ยกเลิกการคว่ำบาตรอิหร่าน ซึ่งทำให้เศรษฐกิจอิหร่านทรุด

7. ตัวแปรสำคัญที่มีจะผลต่อการรื้อฟื้นข้อตกลงใหม่ คือ ท่าทีของรัฐบาลใหม่ของอิหร่านที่เป็นผู้นำสายแข็ง และท่าทีของชาติตะวันตกต่อรัฐบาลชุดนี้


1. ** ปูพื้นเรื่องนิวเคลียร์: พลังงานมหาศาล หรืออาวุธมหาประลัย **

(1) ในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากนิวเคลียร์และการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ใช้ปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชัน (การแยกธาตุหนักเป็นธาตุเบา ซึ่งจะได้พลังงานมหาศาล) ทั้งคู่ โดยทั่วไปใช้ธาตุยูเรเนียมเป็นสารตั้งต้น

(2) ยูเรเนียมที่พบในธรรมชาติมี 2 ไอโซโทป (เป็นธาตุเดียวกัน แต่นิวตรอนต่างกัน) อยู่รวมกัน ได้แก่ ยูเรเนียม-235 และยูเรเนียม-238

(3) ไอโซโทปยูเรเนียม-238 ไม่ได้ปล่อยพลังงาน แต่หาพบได้ง่าย คือมีสัดส่วนถึงร้อยละ 99.3 ของยูเรเนียมที่พบในธรรมชาติทั้งหมด

(4) สิ่งที่อิหร่านถูกกล่าวหา คือเรื่องพฤติกรรม “การเสริมสมรรถนะยูเรเนียม” (uranium enrichment) หมายถึง การเพิ่มสัดส่วนของยูเรเนียม-235 ในยูเรเนียมทั้งหมด สัดส่วนนี้เรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า “ความบริสุทธิ์” ยิ่งบริสุทธิ์มากก็ยิ่งปล่อยพลังงานได้มาก

(5) การใช้ยูเรเนียมเป็นเชื้อเพลิงในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์นั้นใช้ยูเรเนียมเสริมสมรรถนะเพียงเล็กน้อย (สัดส่วนยูเรเนียม-235 ร้อยละ 3 ถึง 5) ก็ได้แล้ว แต่ยูเรเนียมเกรดอาวุธต้องใช้ยูเรเนียม-235 ถึงร้อยละ 90

(6) ข้อมูลในปี 2021 พบว่าอิหร่านมีศักยภาพเสริมสมรรถนะได้ที่ร้อยละ 63 ซึ่งแม้ยังผลิตอาวุธไม่ได้ แต่มีความสงสัยว่าอิหร่านไม่ได้เสริมสมรรถนะยูเรเนียมเพื่อผลิตพลังงานเท่านั้น 


2. ** ที่มาและพัฒนาการโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน **

โครงการนิวเคลียร์อิหร่านมีที่มาจากโครงการพลเรือนที่ได้รับการสนับสนุนจากอเมริกาในปี 1957 (สมัยพระเจ้าชาร์) ชาติตะวันตกสนับสนุนโครงการนี้เรื่อยมาจนมีการปฏิวัติอิสลามในปี 1979

สนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (Non-Proliferation Treaty) ซึ่งมีสมาชิกเข้าร่วม 191 ประเทศ รวมทั้งอิหร่าน พยายามจำกัดประเทศที่สามารถถือครองอาวุธนิวเคลียร์ แต่ยังให้สิทธิ์ทุกรัฐใช้พลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติอยู่

อย่างไรก็ตาม หลังมีกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐบาลอิหร่านเปิดโปงการพัฒนานิวเคลียร์อย่างลับ ๆ ในปี 2002 ทำให้นานาชาติไม่ไว้ใจอิหร่าน เนื่องจากไม่รายงานการมีอยู่ของเตาเสริมสมรรถนะยูเรเนียมและเตาปฏิกรณ์น้ำมวลหนัก (heavy water หรือ D20; น้ำที่มีไอโซโทปไฮโดรเจน-2 และมีคุณสมบัติ
นิวเคลียร์) ต่อทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA)

ปัจจุบันอิหร่านมีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 1 เตา ที่บูเชห์ (Bushehr) เริ่มจากการลงนามข้อตกลงกับรัสเซียเพื่อก่อสร้างในปี 1992 จนเปิดใช้การได้ในปี 2013

ในภาพ: ผู้นำสูงสุดอิหร่าน อาลี คาเมเนอี ตรวจโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน

3. ** ปฏิกิริยานานาชาติต่อโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน **

สหรัฐมีมติคว่ำบาตรอิหร่านรวมเวลาหลายทศวรรษ และสหภาพยุโรปกับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมีมติคว่ำบาตรต่อโครงการนิวเคลียร์อิหร่านเพิ่มเติมในช่วงปี 2006-2015 แต่ยกเลิกไปหลังมีข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน เพื่อแลกกับการที่อิหร่านยอมหยุดการพัฒนาโครงการนิวเคลียร์

การคว่ำบาตรมีผลมากต่อจีดีพีของอิหร่าน ปริมาณการส่งออกน้ำมันลดลง ค่าเงินเรียลอ่อนลงและค่าครองชีพสูงขึ้น และเชื่อว่าอิหร่านอาจเสียโอกาสการลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมพลังงานถึง 5-6 หมื่นล้าน USD

ด้านอิสราเอลมีท่าที่เป็นปรปักษ์กับโครงการนิวเคลียร์อิหร่านอย่างชัดเจน โดยมีรายงานว่ามอสซาดอยู่เบื้องหลังการลอบสังหารนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์หลายคนระหว่างปี 2007 ถึง 2020 และเมื่อปี 2021 เชื่อว่าอิสราเอลอยู่เบื้องหลังการโจมตีไซเบอร์ต่อเตาเสริมสมรรถนะเชื้อเพลิง (fuel enrichment plant) ที่นาตานซ์ (Natanz) อีกด้วย (อิสราเอลไม่บอกตรงๆ ว่าตัวเองมีอาวุธนิวเคลียร์ แต่พยายาม imply ว่ามีอยู่ตลอด เพื่อขู่ศัตรู)


ในภาพ: ภาพประวัติศาสตร์ รมว. ต่างประเทศอิหร่าน ซาริฟ จับมือกับ รมว. ต่างประเทศสหรัฐฯ จอห์น เคอร์รี ในการเจรจาวันสุดท้าย

4. ** ข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน **

ข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน หรือมีชื่อว่า “แผนปฏิบัติการร่วมแบบเบ็ดเสร็จ” (Joint Comprehensive Plan of Action) เป็นข้อตกลงของชาติมหาอำนาจต่าง ๆ (รวมจีนและรัสเซีย) และอิหร่าน จัดทำขึ้นในปี 2015 เพื่อรับประกันว่าอิหร่านจะไม่พัฒนาโครงการอาวุธนิวเคลียร์ แลกกับการเลิกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ข้อตกลงดังกล่าวเป็นสนธิสัญญาที่กว้างขวางที่สุดนับแต่สงครามโลกครั้งที่สอง

ใจความของข้อตกลงดังกล่าว ได้แก่:

(1) จำกัดการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมที่ร้อยละ 3.67

(2) ลดเครื่องมือหมุนเหวี่ยงซึ่งใช้เสริมสมรรถนะยูเรเนียมดังกล่าว และ

(3) ลดยูเรเนียมสมรรถนะต่ำและปานกลางในคลังของอิหร่าน ข้อตกลงนี้มีกำหนดอายุ 15 ปี

ข้อตกลงดังกล่าวมีขึ้นในสมัยประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานี (Hassan Rouhani) ซึ่งเป็นนักการทูตอาชีพ และมีความคิดสายกลาง

อย่างไรก็ตาม บางประเทศรวมทั้งอิสราเอลไม่เห็นด้วยกับแผนดังกล่าว เพราะเชื่อว่าข้อตกลงมีช่องโหว่ให้อิหร่านพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ต่อ ในปี 2018 อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศถอนตัวออกจากข้อตกลงนี้ โดยอ้างว่าเป็นข้อตกลงที่อิหร่านได้ประโยชน์ข้างเดียว และคว่ำบาตรอิหร่านรอบใหม่ แต่พันธมิตรของสหรัฐฯ รวมทั้งสหภาพยุโรปไม่รับรอง และจะไม่ปฏิบัติตามมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ

ผลจากการถอนตัวของสหรัฐฯ และการคว่ำบาตรรอบใหม่ ทำให้สายแข็งในอิหร่านมีอิทธิพลมากขึ้น และเศรษฐกิจอิหร่านได้รับความเสียหายหนัก คือ ทำให้เศรษฐกิจหดตัว และอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงถึงร้อยละ 30-40


5. ** สถานการณ์ล่าสุด **

การเจรจาเพื่อพยายามรื้อฟื้นข้อตกลงดังกล่าวขึ้นมาใหม่ เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. เป็นการเจรจารอบที่ 6 และมีคำให้สัมภาษณ์ว่าเข้าใกล้บรรลุข้อตกลงแล้ว แต่ยังมีประเด็นต่าง ๆ ที่ยังหาข้อตกลงไม่ได้ เช่น:

(1) อิหร่านต้องการหลักประกันว่าสหรัฐฯ จะไม่ถอนตัวออกจากข้อตกลงใหม่,
(2) จะทำอย่างไรกับยูเรเนียมที่อิหร่านผลิตและวิจัยในช่วงที่ฝ่าฝืนข้อตกลงในช่วงปี 2020 รวมทั้ง
(3) กำหนดการยกเลิกการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ และการกลับมาปฏิบัติตามข้อตกลงของอิหร่าน

การเจรจาเพื่อรื้อฟื้นข้อตกลงในปีนี้เริ่มตั้งแต่ เม.ย. อย่างไรก็ตาม นักการทูตตะวันตกหลายคนอ้างว่าทีมเจรจาอิหร่านเตะถ่วงการเจรจาเพื่อไม่ให้รัฐบาลที่กำลังหมดวาระได้รับความชอบจากการเจรจานี้

เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. อิหร่านเลือกตั้งอิบราฮิม ไรซี ประธานผู้พิพากษาซึ่งมีความคิดฝ่ายขวา เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ โดยเขาถูกมองว่าเป็นตัวแทนของกลุ่มอนุรักษนิยมและฝ่ายความมั่นคงของประเทศ เขาถูกสหรัฐและสหภาพยุโรปคว่ำบาตรจากเหตุการณ์ประหารชีวิตหมู่นักโทษการเมืองใน
ปี 1988 ด้าน รมช. ต่างประเทศอิหร่าน ยืนยันว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีอิหร่านจะไม่มีผลต่อความคืบหน้าของการเจรจา

แม้ไรซีจะได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 62 แต่การเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้ออกมาใช้สิทธิเพียงร้อยละ 48.8 ซึ่งต่ำที่สุดนับตั้งแต่มีการเลือกตั้งอิหร่าน เนื่องจากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งตัดสินใจคว่ำบาตรเพราะผู้สมัครหลายคนถูกฝ่ายศาสนาห้ามลงเลือกตั้ง และปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ

วันที่ 20 มิ.ย. ที่ผ่านมา ทางการอิหร่านประกาศว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์บูเชห์ได้ปิดฉุกเฉินชั่วคราวเพื่อ “ปรับปรุงทางเทคนิค” แต่ไม่มีคำอธิบายเพิ่มเติม


6. ** บทวิเคราะห์ **

เชื่อว่าข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านน่าจะถูกรื้อฟื้นขึ้นมาได้ในที่สุด แต่ยังต้องติดตามว่าในส่วนข้อผูกพันของสหรัฐฯ อาจมีการแก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่เนื่องจากการถอนตัวไปเมื่อปี 2018

สำหรับประธานาธิบดีอิหร่านคนใหม่นั้นน่าจะต้องการให้สหรัฐฯ ยกเลิกการคว่ำบาตรโดยเร็วเพื่อกอบกู้เศรษฐกิจ ซึ่งตรงกับความเห็นของนักการทูตตะวันตกหลายคนที่มองว่ารัฐบาลใหม่อิหร่านน่าจะรีบตอบรับข้อตกลงนี้

สำหรับสหรัฐฯ ประธานาธิบดีโจ ไบเดนมีแนวทางชัดเจนในการสานต่อนโยบายของโอบามา และพันธมิตรชาติตะวันตกน่าจะใช้อิทธิพลเพื่อโน้มน้าวสหรัฐฯ ให้รื้อฟื้นข้อตกลงขึ้นมาได้
ประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับแผนดังกล่าว เช่น อิสราเอลและซาอุดีอาระเบียอาจจะใช้อิทธิพลเพื่อต่อต้านข้อตกลงดังกล่าวต่อไป ซึ่งก่อนหน้านี้อิสราเอลก็เคยลงมือปฏิบัติการลับต่อโครงการนิวเคลียร์อิหร่านแล้ว และอิสราเอลน่าจะเป็นกลุ่มคนแรก ๆ (นอกเหนือจากชาวอิหร่านที่ต่อต้านรัฐบาล) ที่จะออกมาเปิดโปงหากในอนาคตอิหร่านพยายามพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อีก

::: อ้างอิง :::
world-nuclear ดอต org/information-library/nuclear-fuel-cycle/conversion-enrichment-and-fabrication/uranium-enrichment.aspx
reuters ดอต com/world/middle-east/iran-has-enriched-uranium-up-63-purity-iaea-report-says-2021-05-11/
world-nuclear ดอต org/information-library/country-profiles/countries-g-n/iran.aspx
theguardian ดอต com/world/2021/apr/12/iran-blames-israel-attack-natanz-nuclear-plant
bbc ดอต com/news/world-middle-east-48119109
bloomberg ดอต com/news/2010-12-01/sanctions-cost-iran-60-billion-in-oil-investments-burns-says.html
nytimes ดอต com/2018/05/08/world/middleeast/trump-iran-nuclear-deal.html
reuters ดอต com/world/middle-east/nuclear-talks-closer-than-ever-deal-important-issues-remain-top-iran-delegate-2021-06-17/
euronews ดอต com/2021/06/20/diplomats-back-in-vienna-for-iran-post-election-nuclear-talks
reuters ดอต com/world/middle-east/irans-sole-moderate-presidential-candidate-congratulates-raisi-his-victory-state-2021-06-19/
bbc ดอต com/news/world-middle-east-57541346
reuters ดอต com/world/middle-east/irans-bushehr-nuclear-power-plant-temporarily-shutdown-state-tv-2021-06-20/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่