5 วิธีสอนให้ลูกแก้ปัญหา ด้วยตัวเอง เพื่อให้เขาเติบโตเป็นเด็กที่เก่งและฉลาด

ใครว่าทักษะการแก้ปัญหาไม่สำคัญ ในชีวิตประจำวันของคนเรา เรามักจะเจอปัญหารูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะปัญหาเล็กน้อย หรือปัญหาใหญ่ ๆ ซึ่งคนเราจำเป็นต้องแก้ปัญหาที่พบเจอเหล่านั้น เพื่อให้การดำเนินชีวิตเป็นไปตามแผน หรือเพื่อให้ใช้ชีวิตอยู่ได้ในแต่ละวัน ในขณะที่ลูก ๆ ของเรากำลังเติบโต เราควรสอนให้เขารู้จักแก้ไขปัญหาได้ด้วยตัวเองตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้เขาพร้อมรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นตอนอยู่ที่โรงเรียน ตอนที่เล่นกับเพื่อน ๆ หรือตอนที่ใช้ชีวิตประจำวัน จะสอนลูก ๆ แก้ปัญหา ได้ด้วยตัวเองอย่างไรดี วันนี้เราจะมาแชร์เคล็ดลับให้คุณแม่ได้รู้กัน

 
 
ทำไมต้องสอนทักษะแก้ไขปัญหาเด็ก ๆ
อย่างที่ได้บอกไปแล้ว ว่าการรู้จักแก้ไขปัญหา จะทำให้เราใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างราบรื่น และทำตามแพลนที่วางไว้ได้ เมื่อลูก ๆ ของเราต้องไปโรงเรียน อาจจะมีบางวัน ที่เขาหาสมุดการบ้านไม่พบ ลืมพกหนังสือไปโรงเรียน หรือลืมเอาห่อข้าวอาหารกลางวันไปทานด้วย ซึ่งเด็กที่มีทักษะการแก้ไขปัญหาที่ดี ก็จะรู้วิธีจัดการกับอุปสรรคเหล่านี้ และรู้ว่าควรทำอย่างไรต่อไป นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยจากต่างประเทศในปี 2010 ชี้ว่า เด็ก ๆ ที่ขาดทักษะในการแก้ไขปัญหา อาจมีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าและฆ่าตัวตาย เพราะเมื่อพวกเขาเจอปัญหารุมเร้า พวกเขาจะไม่รู้ว่าควรจัดการกับปัญหา หรือความรู้สึกของตัวเองอย่างไร แถมยังไม่รู้ว่าควรจะไปปรึกษากับใครได้บ้าง

 
ซึ่งช่วงวัยเด็กที่เหมาะสมสำหรับการเรียนรู้ทักษะการแก้ปัญหา คือช่วงวัยก่อนเข้าเรียน จนถึงช่วงมัธยม เพราะเป็นช่วงที่เด็กพร้อมเรียนรู้ และยังไม่บรรลุนิติภาวะ ดังนั้น การสอนทักษะการแก้ไขปัญหา และคอยให้คำแนะนำในการใช้ชีวิตเด็ก ๆ ในช่วงอายุนี้ จึงเป็นสิ่งที่ควรทำ และนอกจากเด็กจะสามารถนำทักษะการแก้ปัญหาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้แล้ว ก็ยังนำไปใช้กับการเรียนหนังสือและการเล่นกีฬาได้อีกด้วย เมื่อต้องเรียนหนังสือ เด็กอาจจะต้องคิดว่า จะทำยังไงให้ส่งการบ้านได้ทันเวลา จะแก้โจทย์เลขได้ยังไง จะอ่านหนังสือกี่วันจึงจะทันวันที่สอบ หรือหากเด็กต้องลงสนามแข่ง เด็กก็อาจต้องคิดว่า จะทำยังไงให้ชนะคู่แข่งได้ โดยที่ไม่โกงใคร ปัญหาต่าง ๆ ล้วนอยู่ในชีวิตประจำวันเด็กทุกย่างก้าว ฉะนั้น หากเขามีทักษะการแก้ปัญหาที่ดี เขาก็จะสามารถใช้ชีวิตทุก ๆ วันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 

สอนลูกให้รู้จักแก้ปัญหา ด้วยเทคนิคง่าย ๆ
ทักษะการแก้ปัญหา สามารถสอนกันได้ตั้งแต่ยังเด็ก ยิ่งลูก ๆ เรามีทักษะการแก้ปัญหาที่ดีมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งได้เปรียบ และใช้ชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ แถมยังเป็นประโยชน์ต่อการเรียน การเล่นกีฬา หรือการทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับคนอื่นในอนาคตด้วย โดยคุณแม่เอง อาจสอนน้อง ๆ ให้แก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง ด้วยวิธีต่อไปนี้

 
1. ระบุให้ได้ว่าอะไรคือปัญหา
ขั้นแรกเลย ต้องสอนให้เด็ก ๆ ระบุว่าอะไรคือปัญหา หรือสิ่งที่เขาต้องแก้ไข และเมื่อเขารู้ว่าอะไรคือปัญหาแล้ว ก็สอนให้เขาพิจารณาว่า ปัญหาน้ันเกิดจากต้นตอหรือสาเหตุอะไร เพราะการที่เด็กรู้ว่าต้นตอของปัญหาคืออะไร จะช่วยให้เด็กรู้ว่าต้องจัดการกับปัญหานั้นยังไงบ้าง

 
2. ลองคิดหาวิธีแก้ปัญหา
หลังจากรู้ว่าอะไรคือปัญหา และต้นตอหรือสาเหตุของปัญหา ก็ลองให้เด็กคิดหาวิธีแก้ปัญหานั้นมาสัก 5 วิธี เพราะบางวิธี อาจใช้แก้ปัญหาไม่ได้ตามที่คิด จึงต้องคิดวิธีอื่น ๆ สำรองไว้ใช้ด้วย โดยในช่วงแรก อาจจะช่วยเด็ก ๆ คิดก่อนก็ได้หากเด็กยังคิดไม่ออก จากนั้นจึงค่อย ๆ ปล่อยให้เขาคิดเอง
 
 
3. ระบุข้อดีและข้อเสียของวิธีแก้ปัญหา
เมื่อได้วิธีแก้ปัญหามาแล้ว 5 วิธี ให้ช่วยเด็ก ๆ ดูว่าแต่ละวิธี มีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันอย่างไรบ้าง ช่วงแรกอาจจะลองให้เด็กคิดดูก่อน หากเด็กคิดไม่ออกก็ค่อยคิดช่วย หากเด็กตอบไม่ตรงใจหรือไม่ถูกต้อง ก็อย่าเพิ่งดุหรือต่อว่าลูก เพราะอาจทำให้ลูกรู้สึกแย่ และไม่อยากเรียนรู้เกี่ยวกับการแก้ปัญหาอีกเลยก็เป็นได้ คุณแม่ควรค่อย ๆ พูดกับน้อง ๆ และอธิบายอย่างใจเย็น

4. เลือกวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุด
เมื่อพิจารณาดูแล้วว่า วิธีแก้ปัญหาแต่ละวิธี มีข้อดีและข้อเสียต่างกันยังไง ก็ควรสอนให้ลูก ๆ วิเคราะห์ว่าวิธีไหนที่ดีที่สุด น่าจะมีผลเสียน้อยที่สุด และดูจะมีประสิทธิภาพมากที่สุด

 
5. นำไปใช้จริง
เมื่อลูก ๆ เลือกวิธีแก้ปัญหาได้แล้ว ก็ควรแนะนำให้เขาเอาวิธีที่เลือก ไปใช้ในการแก้ปัญหาจริง ๆ และคอยสอดส่องว่าเด็กสามารถแก้ปัญหาได้จริง ๆ หรือไม่ ในระหว่างนี้ คุณแม่ควรพูดคุยกับน้อง ๆ บ่อย ๆ หากเด็กต้องการความช่วยเหลือ ก็สามารถช่วยได้

 
การแก้ปัญหาให้ได้ดีนั้น เป็นสิ่งที่ต้องฝึกฝนกันเยอะ ๆ ไม่ใช่ว่าสอนคืนเดียวแล้วจะเก่งและทำได้เลย ดังนั้น คุณแม่ควรใจเย็น ค่อย ๆ สอนเขา และอย่ารบเร้าเด็ก ๆ จนเกินไป เพราะหากเด็กรู้สึกเครียด เขาอาจทำได้ไม่ดีพอ หรืออาจจะไม่อยากทำอีกก็ได้ ทั้งนี้ หากมีครั้งไหนที่เด็กสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง ก็อย่าลืมชมเขา ให้กำลังใจเขา เพื่อที่เด็ก ๆ จะได้มีกำลังใจสู้ต่อไปนะคะ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่