7เรื่องราว รวมสู่1ความฝัน byเพจวิเคราะห์บอลจริงจัง

อยากให้แฟนวอลเล่ย์บอลได้อ่านบทความดีๆครับ

เครดิต:https://www.facebook.com/jingjungfootball/photos/a.1763433500538559/2826872517527980/

ปี 1997 สมาคมวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย กำลังมีความกลัดกลุ้ม เนื่องจากนักกีฬาของทีมชาติชุดใหญ่ แต่ละคนเริ่มมีอายุมากขึ้น มีวี่แววว่าจะปลดระวางในอนาคตอันใกล้
นั่นทำให้สมาคม จึงต้องการปั้นผู้เล่นดาวรุ่ง อีกหนึ่งชุดขึ้นมาเป็นทางเลือกเส้นใหม่ โดยมีเป้าหมายคือ เด็กๆเหล่านี้ ควรพร้อมใช้งานจริงในซีเกมส์ปี 2001
ไอเดียของสมาคมคือ นับจากปี 1997 กว่าจะถึงปี 2001 ก็อีก 4 ปี ถ้าเริ่มปั้นเด็กๆ อายุ 15-16 ตั้งแต่ตอนนี้ อีก 4 ปี เด็กๆ ก็จะมีอายุ 19-20 คือเริ่มแข็งแกร่ง และใช้งานได้พอดี
แต่ปัญหาคือ สมาคมจะเอาใครมาเป็นโค้ชล่ะ? เพราะการต้องคลุกคลี และปั้นเด็กวัยรุ่นสักกลุ่ม คุณต้องมีจิตวิทยาสูงพอสมควร มันไม่ใช่เรื่องง่ายนะ
หลังเจรจากับโค้ชหลายคน และไม่มีใครตอบตกลง ในที่สุดสมาคมก็ติดต่อกับ "โค้ชอ๊อต" เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร อดีตนักวอลเลย์บอลทีมชาติ ที่รีไทร์ไปทำงานที่บริษัท วิทยุการบิน ขอร้องให้หวนกลับคืนวงการอีกครั้ง
โค้ชอ๊อตมีทางเลือก 2 ทางในชีวิต ทางแรกคือเขาทำที่วิทยุการบินต่อ ซึ่งตอนนั้นเงินเดือนดี ตำแหน่งก็ขึ้นเรื่อยๆ เป็นหนทางชีวิตที่ดูจะปลอดภัยกว่า ส่วนอีกทาง คือทิ้งงานประจำ ไปเป็นโค้ชทีมชาติแทน
สุดท้ายโค้ชอ๊อตตอบรับข้อเสนอของสมาคม เนื่องจากสมัยเขาเป็นนักกีฬา ไม่สามารถพาทีมไปถึงดวงดาวได้ ดังนั้นมันจึงเป็นความฝันของเขา ที่จะปลุกปั้นเด็กสักกลุ่มขึ้นมา ให้ประสบความสำเร็จให้ได้ เพื่อชดเชยความผิดหวังในอดีตของตัวเอง
โค้ชอ๊อต เริ่มต้นกระบวนการสร้างทีมดาวรุ่ง โดยแผนของเขาคือจะตระเวนไปหาดาวรุ่งจากทั่วประเทศ แล้วเอามารวมตัวกัน ในแนวทางแบบ "ดรีมทีม" คือจับเด็กพรสวรรค์กลุ่มหนึ่งมารวมตัวกัน กินอยู่ด้วยกัน สร้างความเข้าใจกัน และฝ่าฟันการซ้อมไปร่วมกัน ถ้าเด็กคนไหน ผ่านการซ้อมที่โหดหินไปได้ ก็มีโอกาสแจ้งเกิดได้
นักกีฬาคนแรกๆ ที่เข้าร่วมกับดรีมทีมของโค้ชอ๊อตคือ วรรณา บัวแก้ว
วรรณา บัวแก้ว เป็นเด็กที่มาจากโรงเรียนที่ไม่ได้โดดเด่นเรื่องกีฬา คือโรงเรียนหนองกะพ้อ จังหวัดสระแก้ว วรรณาอยู่ในครอบครัวที่ยากจน พี่น้องทั้งหมด 6 คน ไม่เคยมีใครได้เรียนเกิน ป.4 ซึ่งตอนแรกเธอก็คิดว่า จะเดินตามรอยคนอื่นเหมือนกัน จบ ป.4 แล้วก็ไปทำเกษตรกรรม แต่พอเธอรู้จักวอลเลย์บอล ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป
เวลาเจอสิ่งที่ชอบ และทำได้ดี ชีวิตมันจะพุ่งทะยานไปอย่างรวดเร็วมาก วรรณาเล่นวอลเลย์บอลได้ยอดเยี่ยม ทักษะเธอดีอยู่แล้ว ยิ่งบวกกับการเติบโตมาจากพื้นฐานครอบครัวที่ลำบาก ทำให้เธอมีความอดทนสูงมากกว่าใคร
พอจบ ม.3 เธอได้ข้อเสนอจากโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สวนกุหลาบ สมุทรปราการ ให้เป็นนักกีฬาโรงเรียน โดยตอนแรกพ่อแม่ไม่อยากให้ไป เพราะกลัวไม่มีเงินส่งลูกเรียน จนจบ ม.6 แต่ สุดท้ายอาจารย์พยุง เข็มทอง โค้ชทีมวอลเลย์บอล ยืนยันว่าจะซัพพอร์ทเรื่องค่าใช้จ่ายเอง ทำให้วรรณาได้โอกาสเข้ามาเรียนที่สวนกุหลาบ สมุทรปราการในที่สุด
หลังจากเรียน ม.ปลายได้สักระยะ พรสวรรค์ของเธอ ไปเข้าตาโค้ชอ๊อต และดึงตัวไปติดชุดดรีมทีม ซึ่งจริงๆแล้ว ตำแหน่งแรกสุดของวรรณาคือหัวเสา แต่โค้ชอ๊อตบอกว่า "วรรณาคือลิเบโร่ ที่ดีที่สุดที่ผมเคยร่วมงานมา" เขาเห็นศักยภาพของวรรณา ว่าเด่นที่เกมรับมากกว่า จึงจับเธอไปเล่นลิเบโร่แทน ซึ่งโค้ชอ๊อตก็มองได้ถูกต้อง เพราะพอเวลาผ่านไป วรรณา ก็เหมาะกับลิเบโร่มากกว่าจริงๆ
ชุดดรีมทีมในปี 1997 ของโค้ชอ๊อต จะมีอีกชื่อหนึ่งว่า "ชุดยะลา" เพราะโค้ชจะจับเอาเด็กดาวรุ่งราว 15 คน ลงไปเก็บตัวที่จังหวัดยะลา อยู่กินด้วยกัน ตัดขาดจากโลกภายนอกไปเลย
ทำไมต้องไปยะลาะ? สาเหตุคือตอนนั้น สมพร ใช้บางยาง เป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา และเขาสามารถจัดหาสถานที่ให้นักกีฬาอยู่กินกันได้ ตัวโค้ชอ๊อตก็เลยคิดว่า การไปอยู่ต่างจังหวัด น่าจะเป็นบรรยากาศที่เอื้อกับการซ้อม มากกว่าการอยู่กรุงเทพ โดยทีมชุดยะลา นอกจากวรรณาแล้ว ก็มี กระแต-ปิยะมาศ ค่อยจะโป๊ะ และ ภาพ-สุภาพ ผงทอง เป็นต้น
ดาวรุ่งอีกหนึ่งคนที่มีประสบการณ์ ได้ใกล้ชิดกับโค้ชอ๊อต ตั้งแต่ที่ยะลา คือ กิฟท์-วิลาวัณย์ อภิญญาพงศ์
วิลาวัณย์ เรียนที่ โรงเรียนชุมชนหนองหัวฟาน อำเภอขามสะแกแสง จังหวัดนครราชสีมา หลังจบประถม เธอได้ทุนไปเรียนต่อที่ โรงเรียนสุรนารีวิทยา จากนั้นฝีมือก็พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสุดท้ายก็ไปเข้าตาโค้ชอ๊อตและทีมงาน ดึงตัวมาติดดรีมทีมด้วยอีกคน
ฝีมือของวิลาวัณย์ มีพัฒนาการที่เด่นชัดมาก จากยุวชนทีมชาติ กระโดดไปสู่เยาวชนทีมชาติ พร้อมๆกับ วรรณา บัวแก้ว และที่นี่เอง ที่เธอได้รู้จักเพื่อนใหม่ ที่คือหน่อง-ปลื้มจิตร์ ถินขาว
ปลื้มจิตร์ เรียนมัธยมต้น ที่โรงเรียนอ่างทอง ปัทมโรจน์ฯ ตอนแรกเธอชอบเล่นปิงปอง แต่พ่อมองว่าปิงปองน่าจะรุ่งยาก เลยขอให้เปลี่ยนไปเล่นวอลเลย์บอลแทน ปลื้มจิตร์เชื่อพ่อ เปลี่ยนมาเล่นวอลเลย์บอล แล้วเข้าร่วมชมรม ตั้งแต่ ม.1
ด้วยหน่วยก้านที่ดี ทำให้โรงเรียนบดินทร์เดชา ให้ทุนมาเรียนที่กรุงเทพฯ ซึ่งตอนแรกปลื้มจิตร์ เป็นแค่ตัวสำรองของโรงเรียนเท่านั้น ไม่ติด 1 ใน 6 ตัวจริงด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม วันหนึ่งโค้ชยะ-ณัฐพนธ์ ศรีสมุทรนาค ที่มาดูการแข่ง อยู่ๆก็ประทับใจจุดไหนก็ไม่รู้ เรียกตัวปลื้มจิตร์ติดเยาวชนทีมชาติเฉยเลย
ปลื้มจิตร์ เล่าว่า "งงสิคะ งงมาก หน่องได้มาซ้อมกับทีมชาติชุดนี้ได้ยังไง เพื่อนทั้งโรงเรียนก็งง เพราะเราไม่ใช่ 6 คนแรกเลยด้วยซ้ำ และมีคนเก่งกว่าเราตั้งเยอะ"
มีการวิเคราะห์กันว่า โค้ชยะ เห็นสรีระ และมองว่าเด็กคนนี้ปั้นได้ จึงลองเสี่ยงดู แต่เรื่องนี้ก็ทำให้ปลื้มจิตร์โดนคำครหาเยอะเหมือนกันในช่วงแรก ว่าเป็นเด็กเส้น ทั้งๆที่เธอก็เป็นเพียงเด็กต่างจังหวัดคนหนึ่ง ไม่มีแบ็กอัพอะไรเลย คือกว่าจะผ่านเสียงติฉินนินทามาได้ ก็ใช้เวลาพอสมควรเลยทีเดียว
การติดทีมชาติชุดเยาวชน ทำให้ปลื้มจิตร์ ได้สนิทสนมกับวิลาวัณย์ เพราะทั้งคู่ เป็นเด็กต่างจังหวัดสองคน อายุใกล้ๆกัน (ปลื้มจิตร์แก่กว่า 7 เดือน) ทำให้ทั้ง 2 คนกลายเป็นบัดดี้ซี้กันที่สุด
ทั้งคู่สนิทกันจนโดนเพื่อนในทีมแซวว่าเป็นแฟนกัน และได้ฉายาว่า "พลอย-โดม" สองดาราดังที่คบกันเป็นแฟนในช่วงนั้น
แน่นอนว่าจริงๆ ทั้งคู่ไม่ได้เป็นแฟนกัน แต่พวกเขาเป็นคนสำคัญของกันและกันอย่างไม่ต้องสงสัย วิลาวัณย์เล่าว่า ตอนเธอ จบ ม.6 เคยคิดจะเลิกเล่นวอลเลย์บอลแล้วไปเรียนหนังสืออย่างเดียว เพราะคิดว่าตัวเองไม่เก่งพอที่จะแย่งตำแหน่งจากรุ่นพี่ทีมชาติชุดใหญ่ แต่ปลื้มจิตร์ไปตามตื๊อให้วิลาวัณย์กลับมาเล่น สุดท้ายวิลาวัณย์ ใจอ่อน กลับมาในที่สุด และได้ติดทีมชาติในเวลาต่อมา
จากชุดดรีมทีมของโค้ชอ๊อต ตอนนี้ทั้งวรรณา วิลาวัณย์ และ ปลื้มจิตร์ ก็ค่อยๆกระโดดเข้าสู่ทีมชาติชุดใหญ่ทีละคนในช่วงเวลาใกล้ๆกัน
--------------------------------
[ เจ้าแม่ไหลหลัง และ อัจฉริยะเซ็ตเตอร์ ]
ในมุมของโค้ชอ๊อต ชุดดรีมทีมที่เซ็ตอัพในปี 1997 ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี คว้าแชมป์รายการต่างๆ ระดับอาเซียน และเอเชียเป็นว่าเล่น
โค้ชอ๊อตจะมีแนวทางคือ ซ้อมหนักๆไว้ก่อน เขาเคยกล่าวว่า "ผมต้องการให้นักกีฬาของผม มีร่างกายทนทาน ใกล้เคียงกับทีมระดับโลก" ตัวอย่างการซ้อม เช่น จะบังคับให้ทั้งทีม 12 คน วิ่ง 2,000 เมตร ใน 9 นาทีครึ่ง หากใครในทีมวิ่งไม่ทัน ทุกคนวิ่งใหม่พร้อมกันตั้งแต่แรก
นอกจากนั้น ยังคิดอะไรฉีกแนวแปลกใหม่ เช่น เมื่อก่อนผู้หญิงเสิร์ฟก็จะยืนเสิร์ฟกันหมด แต่โค้ชอ๊อตเปลี่ยนมาใช้ การกระโดดเสิร์ฟแบบผู้ชาย "ถ้าคุณอยากชนะในวอลเลย์บอลคุณต้องทำแต้ม แล้วการทำแต้มจะทำจากไหนได้ อย่างแรกคือการตบ แต่การตบมันก็อยู่ที่ดวงด้วย ว่าเพื่อนรับบอลแรกดีไหม คนเซ็ต เซ็ตมาดีหรือเปล่า อย่างที่สองคือการบล็อค ถ้าคุณกระโดดบล็อคสัก 4 ครั้ง ได้มา 1 แต้ม ก็ถือว่าดีแล้ว ดังนั้นการเสิร์ฟต่างหาก เป็นวิธีทำแต้มที่ผู้เล่นควบคุมได้มากที่สุด เพราะบอลอยู่ในมือเรา" ดังนั้นโค้ชอ๊อตจึงให้ผู้เล่น หัดกระโดดเสิร์ฟกันทุกคน ถ้าใครทำได้ ก็จะเป็นอาวุธเด็ดไว้โจมตีคู่แข่ง
ในปี 1998 รายการยุวชนชิงแชมป์เอเชีย ไทยเจอไต้หวัน เริ่มเซ็ตแรก ไทยนำ 10-0 และทั้ง 10 แต้ม มาจากการกระโดดเสิร์ฟทั้งหมด
พัฒนาการของชุดดรีมทีมของโค้ชอ๊อต ทำให้เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นเฮดโค้ชทีมชาติชุดใหญ่ ในปี 2001 และคราวนี้ โค้ชอ๊อต ก็ค้นพบเพชรงามอีกหนึ่งเม็ด ที่ชื่อ แจ๊ค-อำพร หญ้าผา
อำพร เป็นเด็กนครสวรรค์ แต่ย้ายมาเรียน ที่โรงเรียนสตรีนนทบุรี ก่อนจะติดทีมวอลเลย์บอลของโรงเรียน ในระดับมัธยมเธอเล่นได้ดี แต่เมื่อเข้าร่วมทีมชาติ เธอยังมีความ Raw หรือดิบอยู่ ซึ่งโค้ชอ๊อตก็ต้องค่อยๆ ขัดเกลาเธอให้เฉียบคมยิ่งขึ้น และสอนในหลายๆสิ่งที่เธอยังไม่รู้
"ตอนแรกที่เข้ามาซ้อมกับทีมชาติ ด้วยความที่เราเป็นเด็ก และหน้าใหม่มาก แทบไม่มีเบสิคอะไรเลย อาจารย์ต้องเริ่มสอนตั้งแต่อันเดอร์บอล เซ็ตบอล ตีบอล สร้างเบสิคที่ดีให้ อาจารย์จัดหนักตลอด แบบว่าทุกอย่างต้องหนักกว่ารุ่นพี่"
"อย่างเวลาวิ่ง ก็ต้องวิ่ง 5 รอบสนามฟุตบอล โดยคนอื่นกำหนดเวลาไว้ 9 นาทีครึ่ง แต่ของหนูจะต้องวิ่งให้ถึงเส้นชัยภายใน 8 นาทีกว่าๆ เท่านั้น ถ้าทำไม่ได้ก็วิ่งใหม่ ซึ่งตอนแรกมันก็ท้อ แต่ก็อาศัยแรงฮึด ทำให้ผ่านมาได้ตลอด"
อำพร เป็นหนึ่งในคนที่พัฒนาได้ไวมากที่สุด ตอนแรกเธอเล่นตำแหน่งบอลหัวเสา เพราะชอบตีบอลโค้ง แต่เธอค่อยๆ เปลี่ยนมาเล่นตำแหน่งบอลเร็ว และกลายเป็นว่า มันคือตำแหน่งที่เธอเล่นได้ดีจริงๆ
อำพรสร้างทีเด็ดของตัวเองขึ้นมา คือการตี "ไหลหลัง" กล่าวคือเป็นสไตล์การเล่นบอลเร็ว ที่ตัวเซ็ตจ่ายออกไปด้านหลัง แล้วเธอจะวิ่งไปที่จุดนัดพบ ตบเปรี้ยงลงไป
จากคนที่ไม่คุ้นเคยกับการเล่นไหลหลัง พอได้ฝึกจริงๆ จังๆ นี่กลายเป็นอาวุธไม้ตายของเธอ จนแฟนๆกีฬา ขนานนามเธอว่า "เจ้าแม่ไหลหลัง" จนถึงปัจจุบัน
ทีมชาติไทยตอนนี้ มีตัวหัวเสา มีบอลเร็ว มีลิเบโร่แล้ว อีกหนึ่งตำแหน่งที่โค้ชทุกคนเฝ้าฝันถึงมาตลอดก็คือ "ตัวเซ็ต"
เพราะในเกมวอลเลย์บอล ตัวเซ็ตเกรดเอ จะนำแต้มมาให้ทีมอย่างมหาศาล นี่จะเป็นคนใช้มันสมอง ในการแอสซิสต์ สร้างสรรค์จังหวะให้เพื่อน
และในที่สุดก็ทีมชาติไทย ก็ค้นพบเด็ก ม.5 อัจฉริยะจากโรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี ที่ชื่อ นุช-นุศรา ต้อมคำ
นุศรา เป็นเด็กจังหวัดราชบุรี เธอเรียนที่โรงเรียนวัดบ้านฆ้องน้อย ในอำเภอบ้านโป่ง ซึ่งในการแข่งขันกีฬาระดับประเทศ เป็นโรงเรียนที่โนเนมมาก แต่ด้วยความสามารถของนุศรา เธอพาวัดบ้านฆ้องน้อย คว้าแชมป์มินิวอลเลย์บอลของปลากระป๋องปุ้มปุ้ยทัวร์นาเมนต์ จนได้สิทธิ์ไปแข่งที่ประเทศไต้หวัน
เด็กคนเดียว สามารถแบกทีมให้ประสบความสำเร็จขนาดนี้ ไม่แปลกที่ตอนจะจบ ม.3 โรงเรียนดังๆ ทั่วไทย ยื่นข้อเสนอให้เธอไปอยู่ด้วย แต่เธอตัดสินใจเลือกสุรศักดิ์มนตรี และเหมือนจะเป็นทางเลือกที่ถูก เพราะก่อนจบ ม.4 (ปี 2002) นุศราติดเยาวชนทีมชาติ ไปแข่งขันชิงแชมป์เอเชียที่เวียดนาม ซึ่งไทยได้รองแชมป์กลับมา
ปริม อินทวงศ์ ตำนานทีมชาติไทย เมื่อเห็นฟอร์มการเล่นของนุศรา ถึงกับยอมรับว่า "เด็กคนนี้ มีคุณลักษณะพิเศษต่างจากคนอื่น เธอรอแค่เวลาเท่านั้น"
ในปี 2003 ตอนนุศรา อยู่ ม.5 สองตัวเซ็ตทีมชาติ จิ๋ม-วัลภา จิตรอ่อง และ นก-สุวิตา หีบแก้ว อำลาทีมไป และโค้ชก็เรียกนุศราติดทีมชาติชุดใหญ่แทน คือ เด็ก ม.5 หลายคนยังไม่รู้จะเอายังไงกับชีวิตเลย แต่เธอก้าวไปติดทีมชาติแล้ว ซึ่งถ้าดูจากพรสวรรค์ของเธอ ที่ไม่ใช่เรื่องเซอร์ไพรส์อะไรนัก
นอกจากนั้น ยังเป็นจังหวะดีของนุศราด้วย ที่เธอได้โอกาสเทรนตัวต่อตัว กับปริม อินทวงศ์ มันส่งผลต่อวิธีคิด และวิธีการเล่นของเธอจนถึงปัจจุบัน โดนนุศรากล่าวว่า "พี่ปริมสอนทุกอย่าง ให้เทคนิค ให้ความรู้ สอนการวางตัว เรียกได้ว่าไม่หวงวิชาเลย พี่ปริมมีเท่าไหร่ ใส่ให้นุชหมด"
กรกฎาคม 2003 นุศรา เด็ก ม.5 จากสุรศักดิ์มนตรี ติดทีมชาติชุดใหญ่ไปแข่งรายการเวิลด์กรังด์ปรีซ์ที่อิตาลี และต่อจากนี้ไม่นานนัก ทั้งโลกจะได้รู้จักเธอ ในฐานะหนึ่งในตัวเซ็ตที่สม่ำเสมอที่สุดในโลก
--------------------------------
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่