การจัดท่านอนในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง

ผู้ป่วยโรคหลออดเลือดสมองมีโอกาสนอนเตียงระยะยาวโดยไม่มีการเคลื่อนไหว หรือเคลื่อนไหวได้เพียงเล็กน้อย
จึงส่งผลให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย เช่น กล้ามเนื้อลีบ มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต
ระบบปัสสาวะขับถ่าย รวมไปถึงผิวหนังเกิดแผลกดทับ
                 ผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกที่ไม่ได้มีการจัดท่านอน มักจะนอนในลักษณะเข่าและสะโพกงอ ข้อมือและข้อศอกงอ
เมื่อผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นทำให้ไม่สามารถใช้แขนและขาข้างนั้นได้อย่างเต็มที่เนื่องจากมีข้อติดจากการนอนท่าเดิมนานๆ
ซึ่งเป้าหมายสำคัญของการจัดท่านอนคือเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆที่จะเกิดขึ้น  และให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี
โดยผู้ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ต้องเปลี่ยนท่านอนอย่างน้อยทุก 2 ชั่วโมง

การจัดท่าผู้ป่วยในท่านอนหงาย
                 จัดให้ลำตัวและศีรษะของผู้ป่วยอยู่ในแนวตรง  หมอนที่ใช้หนุนให้อยู่ในระดับพอดีไม่สูงมากเกินไป
และความกว้างของหมอนสามารถรองรับส่วนศีรษะและไหล่  แขนเหยียดสบายวางข้างลำตัว  ข้อมือตรงจะคว่ำหรือหงายก็ได้
โดยให้ผู้ป่วยกำลูกบอลหรือผ้าขนหนู
                 ใช้หมอนหรือผ้าขนหนูรองใต้เข่าเพื่อให้เข่างอเล็กน้อย  และวางหมอนหรือผ้าขนานกับต้นขาผู้ป่วยทั้งสองข้าง
พร้อมจัดขาให้อยู่ในท่าทางปกติเพื่อป้องกันไม่ให้กระดูกต้นขาของผู้ป่วยหมุนออกด้านนอก
ในส่วนของปลายเท้าใช้ผ้าขนหนูเล็กรองที่ด้านล่างของข้อเท้าเพื่อให้เท้าตั้งตรงและป้องกันการเกิดแผลกดทับ

การจัดท่าผู้ป่วยในท่านอนตะแคงทับข้างที่ปกติ
                 ใช้หมอนหนุนศีรษะให้อยู่ในระดับพอดีไม่สูงมากเกินไปและความกว้างของหมอนสามารถรองรับส่วนศีรษะและไหล่
ศีรษะโน้มไปทางด้านหน้าเล็กน้อย  จับแขนผู้ป่วยข้างที่อ่อนแรงยื่นมาข้างหน้าจากนั้นใช้หมอนรองใต้แขน
ข้อศอกเหยียดและมือกำลูกบอลหรือผ้าขนหนูวางคว่ำบนหมอน  หนุนหลังด้วยหมอนหรือผ้าห่ม
                 ใช้หมอนรองที่สะโพกจนถึงปลายเท้าข้างที่อ่อนแรง และให้เข่างอประมาณ 30 องศา
จัดปลายเท้าให้อยู่ในแนวปกติโดยใช้หมอนหรือผ้าหนุนที่ปลายเท้าทั้งสองข้างเพื่อป้องกันปลายเท้าตก

การจัดท่าผู้ป่วยในท่านอนตะแคงทับข้างอ่อนแรง
                 ใช้หมอนหนุนศีรษะให้อยู่ในระดับพอดีไม่สูงมากเกินไปและความกว้างของหมอนสามารถรองรับส่วนศีรษะและไหล่
ศีรษะโน้มไปทางด้านหน้าเล็กน้อย  จับแขนผู้ป่วยข้างที่อ่อนแรงยื่นมาข้างหน้า ข้อศอกเหยียดและมือกำลูกบอล
หรือผ้าขนหนูในท่าหงายมือ ให้ผู้ป่วยนอนกอดหมอน  หนุนหลังด้วยหมอนหรือผ้าห่ม
                 ขาข้างที่อ่อนแรง จัดให้สะโพกเหยียดตรง เข่างอเล็กน้อย  ขาข้างที่มีแรงจัดท่าให้เข่างอจากนั้นใช้หมอนรอง
จัดปลายเท้าให้อยู่ในแนวปกติโดยใช้หมอนหรือผ้าหนุนที่ปลายเท้าทั้งสองข้างเพื่อป้องกันปลายเท้าตก

บทความโดย ฟิสิคอลคลินิกกายภาพำบัด
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่