บทความวันจันทร์ (14 มิ.ย.64) : เรียกว่า "กำไร" ในช่วงโควิด

บทความวันจันทร์ (14 มิ.ย. 64) 
เรียกว่า “กำไร” ในช่วงโควิด
โดย  วรา  วราภรณ์

            ไม่ว่าบ้านเมืองเราถูกโรคระบาดโควิด-19โจมตีระลอกแรกหรือระลอกสอง สำหรับคนที่ใช้ชีวิตในชนบทเช่นผู้เขียนก็สบายใจได้ข้อหนึ่งว่าไม่ต้องเสี่ยงกับการอยู่ในที่ชุมชน มีคนแออัด เหมือนคนในเขตเทศบาลหรือในตัวเมือง ยังคงสูดอากาศเข้าปอดได้เต็มที่โดยเฉพาะยามเดินออกกำลังกายตอนเช้า

            แต่ก็ไม่ได้หมายถึงจะวางใจได้เสียทีเดียว เวลาออกจากบ้านไปร้านค้าหรือตลาดนัดก็ยังต้องสวมหน้ากากอนามัยและใช้แอลกอฮอล์ล้างมือเสมอ ผู้เขียนทราบจากคุณ อสม.ว่ารัฐบาลให้แอลกอฮอล์มาทุกหมู่บ้าน หมู่บ้านละหนึ่งแกลลอนเบ้อเริ่ม เวลามีกิจกรรมในหมู่บ้านก็เอาออกไปใช้ อย่างการจัดผังทางเดินเข้า-ออกตลาดนัด หรือเวลานัดประชุมคณะกรรมการหมู่บ้านและลูกบ้าน

            ในหมู่บ้านของผู้เขียนซึ่งห่างจากตัวอำเภอประมาณสิบห้ากิโลเมตร รู้สึกน่าทึ่งที่ยังเห็นภาพเวลาชาวบ้านเดินทางไปไร่ไปนาหลายคนสวมหน้ากากอนามัยไปด้วย ก็ต้องถือว่าชีวิตวิถีใหม่ค่อย ๆ เกิดขึ้นในชุมชนของเราได้เหมือนกัน

            ร้านค้าของชำใกล้บ้านทันสมัยมาก มีขาตั้งติดที่วัดอุณหภูมิแบบให้บริการหยดเจลล้างมือลงมาพร้อมสรรพ แถมยังใส่กลิ่นหอมฉุนตลบอบอวลเสียด้วย เป็นเอกลักษณ์ว่าใครเข้าร้านนี้ต้องมีกลิ่นติดตัวกลับบ้านไป 

            ชีวิตผู้เขียนในรอบสองไตรมาสดำเนินไปอย่างช้า ๆ จากเดิมที่ช้าอยู่แล้ว การค้าขายในชุมชนยังไม่คล่องตัว แม้กลับมาเปิดตลาดนัดอีกครั้ง แต่พ่อค้าแม่ค้ากลับมีจำนวนมากกว่าคนช็อปที่พยายามใช้เงินกันอย่างระมัดระวังเหลือเกิน มีร้านที่เข้าร่วมโครงการเยียวยาอย่าง “เราชนะ” ด้วยเหมือนกัน แต่กลับใช้สิทธิแค่เพดานขั้นต่ำเพราะเกรงต้องเสียภาษี จึงรองรับลูกค้าได้ไม่นานก็เต็มและต้องปิดบริการ น่าเสียดายจริง ๆ  

            สำหรับตนเอง เมื่องานหดหายไปตามสภาวะ ผู้เขียนจึงใช้เวลากับเรื่องอาหารที่ยังไม่เคยทดลองทำมาก่อนแต่เป็นเมนูชื่นชอบตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียน ประถม ด้วยการหัดทำ ขนมกุยช่ายไส้ผัก โดยทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยน้องสาวที่ตั้งใจทำขายตามสั่ง คือเป็นคนปั้นแป้ง ทำให้เป็นแผ่นบาง แล้วตักผักกุยช่ายที่เตรียมไว้ใส่ลงบนนั้นแล้วห่อปิด ไม่ถึงกับยาก แต่ก็ไม่ง่าย ข้อดีมาก ๆ ของอาหารนี้ก็คือ ปรุงง่าย ไม่ซับซ้อนเลย งานนี้ภูมิใจและถือว่าเป็นกำไรชีวิตมากเพราะได้ผ่านการพิสูจน์แล้วว่าเป็นคนปั้นขายได้จริง แต่ประเมินแล้วว่าน่าจะเป็นได้เพียงลูกมือเท่านั้น ยังไม่น่าจะไปถึงขั้นผู้ประกอบการที่ต้องจัดการขั้นตอนต่าง ๆ เองทั้งหมด

(ภาพถ่ายยืนยันฝีมือผู้ช่วยมือใหม่ ปั้นกลมก่อนเพราะยังจับจีบไม่เป็นค่ะ)

            กำไรชีวิตอีกเรื่องหนึ่งในช่วงเก็บเนื้อตัวเก็บตัวกันก็คือ พาคุณแม่วัยเจ็ดสิบสาม เต้นพาสโลป (paslop) ยามเย็น 

            พาสโลปคือ การเต้นแบบชาว สปป.ลาว เน้นการใช้เท้าที่ไม่เร็วเกินไป มีจังหวะให้คนเป็นหมู่คณะได้เต้นได้พร้อมกัน ผู้เขียนตั้งใจชวนแม่ทำเพื่อช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองและคลายเหงาให้ท่านด้วย ทั้งที่จริง ๆ แล้วแม่เป็นคนขยันมาก ปลูกพืชผักสวนครัว ดายหญ้า รดน้ำเป็นประจำแทบไม่มีเวลาว่าง แต่นั่นคือการทำงานที่ไม่ได้ช่วยผ่อนคลาย ผู้เขียนจึงชวนแม่เต้นรำด้วยกันแทนทำสวนในช่วงเย็น โดยศึกษาจากวิดีโอใน YouTube ปรากฏว่าจากที่แม่เป็นคนเต้นรำไม่เป็นและไม่แม่นเรื่องจังหวะก็กลับเป็นสาวรำวงที่เต้นได้ถึงสามจังหวะแล้วโดยใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ทั้งท่าพื้นฐาน ท่า 13 จังหวะ และบาสโลป ชะชะช่า เราแม่ลูกเต้นแข่งกันทุกเย็น 

            ออกกำลังกายแล้วไม่ผิดหวังเลย ภูมิคุ้มกันโควิดน่ะได้แน่ แถมยังมีความสุขระเบิดออกมาพร้อมสารเอนโดฟินทุกครั้งที่เต้น กับมีเสียงหัวเราะ รอยยิ้ม ได้ขับเหงื่อ เบาเนื้อเบาตัว ที่สำคัญอาการนอนไม่ค่อยหลับของแม่หายไปเลยจริง ๆ 

                                                                           
                                                                           คุณแม่วัยเจ็ดสิบสองของผู้เขียน

(ขอบคุณนักอ่านทุกท่านค่ะ)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่