สารานุกรมปืนตอนที่ 619 The Gun of Japan in Sengoku

"ขอขอบคุณเพจ Siam Samurai Club อย่างสูงครับ"

https://www.facebook.com/siamsamuraiTH/

วันนี้แอดมินจะมานำเสนอเรื่องราวและรายละเอียดต่างๆของ"ปืนคาบชุด (Matchlock) หรือ ฮินาวะจู (Hinawaju : 火縄樹) ในช่วงสงครามเซนโกคุ กันนะครับ ไปติดตามและรับชมกันได้เลย




เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ.1543 เรือสำเภาสัญชาติโปรตุเกสได้ถูกพายุซัดขึ้นฝั่งที่ "Tanegashima" บนเรือลำนั้นมีอาวุธชนิดหนึ่งที่จะเปลี่ยนรูปแบบการทำสงครามของญี่ปุ่นครั้งใหญ่ นั้นก็คือ "ปืนคาบชุด" (Matchlock) หรือ "ปืนอาร์ควิบัส" (Arquebus) ผู้ปกครองเกาะนามว่า "ทาเนกาชิมะ โทคิทากา" (Tanegashima Tokitaka) ได้ขอซื้อปืนจำนวน 2 กระบอก และได้สั่งให้ช่างตีดาบนามว่า "ฮาจิบัง คินเบย์" (Hachiban Kinbei) ทำการลอกแบบและสร้างมันขึ้นมา
ในที่สุดปีถัดมา ปืนคาบชุดญี่ปุ่นก็ถือกำเนิดขึ้น ว่ากันว่า 1ปีหลังจากการเปิดตัว ก็สามารถผลิตได้อีกหลาย 10 กระบอก หลังจากนั้นบรรดาเหล่าพ่อค้าจากเมือง Sakai และเหล่าช่างฝีมือต่างๆได้มาเยี่ยมชมและเรียนรู้เทคนิควิธีการผลิตปืนจากทาเนกาชิมะ และนำไปเผยแพร่ต่อ จึงทำให้กลายเป็นที่รู้จักในชื่อของ"ปืนทาเนกาชิมะ" นั้นเอง
(ในภาษาญี่ปุ่นคำว่า "เทปโป" (Teppou : 鉄砲) เป็นคำเรียกปืนทั่วไป ส่วน "ฮินาวะจู" (Hinawaju : 火縄樹) เป็นคำเรียกของปืนที่ใช้สายชนวนในการจุดประกายไฟเพื่อใช้ในการยิง แบบเดียวกับปืนคาบชุด)

ที่มา :
จากเว็บไซต์

https://shibayan1954.blog.fc2.com
https://www.touken-world.jp/tips



หนึ่งในหลักฐานที่สนับสนุนเกี่ยวกับทฤษฎีการกำเนิดปืนญี่ปุ่นว่ามาจาก ทาเนกาชิมะ นั้นก็คือหนังสือ เทปโปกิ (Teppoki) ที่เขียนโดยนักบวชเซน นามว่า นัมโป บุนชิ (Nampo Bunshi)
Teppoki เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ที่ถูกเขียนขึ้นในปี ค.ศ.1606 (ประมาณครึ่งศตวรรษหลังปี ค.ศ. 1543) กล่าวกันว่า "เทปโปกิ" เป็นหนังสือที่แนะนำให้ผู้คนได้รู้จัก ทาเนกาชิมะ โดยในเนื้อหาจะกล่าวถึงความสำเร็จของ "ทาเนกาชิมะ โทคิทากะ" ที่เป็นผู้เผยแพร่ปืนเข้าสู่เเผ่นดินญี่ปุ่นนั้นเอง

ที่มา :
จากเว็บไซต์
https://www.touken-world.jp/tips/40366/?fbclid=IwAR3LPtdo7xQti6yUIrSoxTnUmsEA3F16USBluaTvZ_uxANVqPAC8LOSk6eo#anchor00



ในช่วงต้นของสงครามเซนโกคุ แม้ว่าอาวุธปืนจะถูกนำมาใช้ในกองทัพของเหล่าไดเมียวอยู่บ้างแล้ว แต่มันยังไม่เป็นที่เเพร่หลายมากนัก เพราะด้วยราคาต่อกระบอกที่ค่อนข้างแพง และต้องใช้เวลาในการบรรจุกระสุนที่ค่อนข้างนาน ซึ่งถ้าเทียบกับการใช้ธนูในการยิงแต่ละดอกจะไวกว่า จึงทำให้ในช่วงแรกอาวุธปืนยังไม่จำเป็นสำหรับการรบที่เน้นหอกดาบและธนูเป็นหลัก
ต่อมาได้มีไดเมียวหนุ่มนามว่า โอดะ โนบุนากะ ได้ทำการผูกขาดการค้าขายอาวุธปืนจากเมืองท่า "ซาไก" (Sakai) นอกจากนี้โนบุนากะยังได้ทำการฝึกชาวนา,อาชิการุ ให้จับอาวุธฝึกฝนการใช้ปืน และได้จัดตั้ง "กองพลปืน" (Teppoutai : 鉄砲隊) ขึ้นเพื่อใช้ในการสู้รบ ซึ่งเหตุการณ์ที่สร้างชื่อให้กับกองพลปืนของโอดะ นั้นก็คือ ศึกที่"ทุ่งนากาชิโนะ" (Battle of Nagashino ในปีค.ศ.1575)
ในศึกนี้เองเคล็ดลับในการเอาชนะกองทัพม้าของตระกูล
ทาเคดะ นั้นก็คือ การจัดเรียงพลปืนออกเป็น 3แถว โดยเมื่อแถวแรกยิงออกไป แถวที่2 จะเข้ามาแทนที่และต่อด้วยแถวที่3 และเมื่อแถวที่3ยิงเสร็จ แถวที่1 ที่บรรจุกระสุนเสร็จแล้วก็จะเข้ามายิงต่อ และวนสลับกันแบบนี้ต่อไป ด้วยการยิงสลับแถวกันของกองพลปืนโอดะ ทำให้สามารถกลบข้อด้อยของการบรรจุกระสุนปืนที่ต้องใช้เวลานาน ทำให้สามารถยิงได้ต่อเนื่องจนสามารถหยุดกองทัพม้าอันเกรียงไกรของตระกูลทาเคดะลงได้นั้นเอง

ที่มา :
จากหนังสือญี่ปุ่นยุคเซ็นโกคุ (เรียบเรียงโดย ยศไกร ส.ตันสกุล)



ในหน่วยพลปืนของกองทัพโอดะ จะถูกแบ่งหน้าที่หลักๆออกเป็น 3 แบบ ได้แก่
1.พลปืน (Teppoutai : 鉄砲隊) ทำหน้าที่ประจำการรบ
2.พลชี้เป้า จะมีไม้กะระยะยิงที่เรียกว่า "มาชาคุ" (Ma-Shaku :間尺) ทำหน้าที่คอยบอกระยะยิงให้กับพลปืนและคอยจ่ายสายชนวนที่ติดไฟอยู่ตลอดให้กับพลปืนเมื่อสายชนวนเกิดดับหรือหมด
3.หน่วยสนับสนุน จะมีกล่องไม้ที่เรียกว่า "ทามาบาโคะ" (Tama-Bako : 玉箱) ไว้สำหรับแจกจ่ายกระสุนและดินปืนให้กับพลปืน

ที่มา :
จากหนังสือ The History of Japanese Armor [Volume 2] From the Warring States period to Edo period ( ผู้เขียน Ritta Nakanishi)



อุปกรณ์ต่างๆที่พลปืน1นายจะได้รับ ประกอบไปด้วย
1.คุจิกุสุริอิเระ (Kuchi-Gusuri-ire) :กระปุกใส่ดินปืน
2.โดบิ (Doubi) : ไม้ชะลอการดับของสายชนวน
3.คิริฮินาวะ (Kiri-Hinawa) : สายชนวน
4.โดรัน (Douran) : กระเป๋าสำหรับใส่กระสุนและดินปืน
5.ฮายาโก (Hayagou) : กระบอกโหลดไวสำหรับใส่ดินปืนและกระสุน

ที่มา :
จากหนังสือ
The History of Japanese Armor [Volume 2] From the Warring States period to Edo period ( ผู้เขียน Ritta Nakanishi)



ส่วนประกอบของ ปืนคาบชุด หรือ ฮินาวะจู (Hinawaju : 火縄樹)
1.สาคิเมอาเทะ (Sakimeate) : ศูนย์หน้า
2.ซึซึ (Tsutsu) : ลำกล้องปืน
3.สุจิวาริ (Suji-Wari) : ศูนย์หลัง
4.ฮิอานะ (Hi-Ana) : รูสำหรับใส่ดินปืน
5.ฮิบาสามิ (Hi-Basami) : นกหนีบสายชนวน
6.คิริฮินาวะ (Kiri-Hinawa) : สายชนวน
7.ไดคาบุ (Daikabu) : พันท้ายปืน
8.ฮิคิกาเนะ (Hiki-Gane) : ไกปืน
9.เคบิกิกาเนะ (Kebiki-Gane) : แหนบสปริง
10.ฮิซาระ (Hizara) : จานรองดินปืน
11.ฮิบุทะ (Hibuta) : ฝาปิดจานรองดินปืน
12.ไดกิ (Daigi) : ไม้รางปืน
13.เมคุกิ (Mekugi) : ช่องสำหรับตอกยึดหมุดทองเหลือง
14.คารุคา (Karuka) : ไม้กระทุ้ง

ที่มา :จากหนังสือ The History of Japanese Armor [Volume 2] From the Warring States period to Edo period ( ผู้เขียน Ritta Nakanishi)



ประเภทของปืนญี่ปุ่นหลักๆจะถูกแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่
หมวดปืนทั่วไป
-ฮินาวะจู (Hinawaju :火縄樹) เป็นปืนประจำการทั่วไปในหมู่ทหารราบอย่างอาชิการุ
-ชิทสึทสึ (Shitsutsu : 士筒) เป็นปืนที่มีราคาค่อนข้างแพงจึงมักถูกใช้โดยซามูไรที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดีและมีฐานะทางการเงินที่มั่งคั่ง
หมวดปืนพก
-ทันจู (Tanju : 短銃) เป็นปืนพกที่มีขนาดเล็ก จึงมักนิยมใช้กันในหมู่ของทหารม้า
หมวดปืนใหญ่
-โอทสึทสึ (Otsutsu :大筒) เป็นปืนถือด้วยมือขนาดใหญ่ บางกระบอกที่มีขนาดใหญ่มักถูกนำมาทำเป็นปืนใหญ่ติดตั้งบนฐานไม้หรือกองฟางข้าวบรรจุด้วยทรายเพื่อใช้ในการโจมตีปราสาทและการรบทางเรือ
-ไทโฮ (Taihou :大砲) เป็นปืนใหญ่ชนิดพิเศษกว่า ปืนโอทสึทสึ บางกระบอกก็ผลิตขึ้นในญี่ปุ่น แต่ส่วนใหญ่มักจะนำเข้าจากต่างประเทศ แต่ด้วยความที่มันใช้ทรัพยากรที่ค่อนข้างเยอะทั้งเงินทุน การผลิตและการใช้ดินปืนสำหรับบรรจุในการยิงแต่ละครั้ง จึงทำให้มันมักถูกใช้เหตุการณ์สำคัญต่างๆ อาทิเช่น สงครามเซกิกาฮาระ,การปิดล้อมปราสาทโอซาก้า เป็นต้น

ที่มา :
จากเว็ปไซต์
https://ja.wikipedia.org/wiki/%E7%81%AB%E7%B8%84%E9%8A%83...
https://www.touken-world.jp/search-arquebus/...


สวัสดีครับ






แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่