JJNY : FDAสอบกรณีเจ&เจ-แอสตร้าปนเปื้อน│กู้พุ่ง ชดเชยสูงกว่าปีก่อน│โรงแรมส่อปิดชั่วคราวมากขึ้น│อุดรฯเล็งเลื่อนฉีดวัคซีน

เอฟดีเอสอบกรณีวัคซีนเจ&เจ-แอสตร้าปนเปื้อน
https://www.matichon.co.th/foreign/news_2756932
 
\
 
เอฟดีเอสอบกรณีวัคซีนเจ&เจ-แอสตร้าปนเปื้อน
 
เว็บไซต์โพลิติโค รายงานเมื่อวันที่ 2 มิถุนายนนี้ ว่า องค์การอาหารและยา (เอฟดีเอ) ของสหรัฐอเมริกา ร้องขอให้บริษัทแอสตร้าเซนเนก้า และบริษัท จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (เจแอนด์เจ) ประเมินความเสี่ยงของวัคซีนที่ทั้งสองบริษัทว่าจ้าง บริษัท อีเมอร์เจนท์ ไบโอโซลูชัน ผลิต หลังจากเกิดอุบัติเหตุโรงงานผลิตของอีเมอร์เจนท์ ที่นครบัลติมอร์ นำเอาสารออกฤทธิ์ในการผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ไปปนเปื้อนกับวัคซีนเจแอนด์เจ ที่ผลิตอยู่ในที่เดียวกัน 15 ล้านโดสเมื่อเดือนมีนาคม เป็นเหตุให้เอฟดีเอ สั่งหยุดการผลิตของโรงงานไปตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา เพื่อสอบสวนกรณีที่เกิดขึ้น
 
รายงานข่าวอ้างผู้ที่รู้เรื่องดี 2 รายระบุว่า วิธีการตรวจสอบของเอฟดีเอ สามารถบ่งชี้ได้เพียงแค่ปัญหาการปนเปื้อนสำคัญๆ แต่ไม่สามารถตรวจหาร่องรอยการปนเปื้อนเล็กน้อยที่อาจส่งผลต่อสุขภาพได้ เป็นที่มาให้มีการร้องขอให้บริษัทดำเนินการตรวจสอบเพื่อประเมินการปนเปื้อนเล็กน้อยที่อาจมีผลต่อสุขภาพอีกครั้ง ซึ่งอาจจำเป็นต้องใช้เวลาอีกหลายสัปดาห์ โดยทางเอฟดีเอ เตรียมจะประกาศผลการสอบสวนว่า วัคซีนทั้งของเจแอนด์เจและของแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตจากโรงงานผลิตอีเมอร์เจนท์ที่บัลติมอร์ปลอดภัยต่อการนำมาใช้หรือไม่
 
ทั้งนี้ เป็นไปได้ที่ผลการตรวจสอบของแอสตร้าฯ และเจแอนด์เจ จะพบการปนเปื้อนเล็กน้อยในวัคซีนล็อตดังกล่าว แต่ก็ไม่ได้จำเป็นว่าการปนเปื้อนจะเป็นปัญหาไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพเสมอไป แหล่งข่าวของโพลิติโคระบุ
 
วัคซีนที่ต้องประเมินความปลอดภัยใหม่นี้มีส่วนหนึ่งเป็นของแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งทางการสหรัฐจัดส่งให้กับแคนาดา และเม็กซิโก ไปแล้วเมื่อเดือนมีนาคมก่อนหน้าที่จะรู้เรื่องอุบัติเหตุดังกล่าว และทำให้แผนการส่งต่อวัคซีนเหลือใช้กับราว 40 ประเทศ ที่ร้องขอมาผ่านกระทรวงต่างประเทศต้องชะงักลง เพื่อรอผลการตรวจสอบความปลอดภัยดังกล่าวนี้อีกด้วย
 
รายงานจากกรุงปักกิ่งในวันเดียวกันระบุว่า จีนกำลังเดินหน้าเร่งความเร็วในการกระจายวัคซีนเต็มพิกัด ทำสถิติที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในโลกด้วยการฉีดวัคซีน 100 ล้านโดส ภายในเวลาเพียง 5 วันเมื่อเดือนพฤษภาคม ทำให้ทั้งเดือนสามารถฉีดวัคซีนให้กับประชากรไปกว่าครึ่งของจำนวนที่ฉีดไปแล้วทั้งหมด 680 ล้านโดสในเวลานี้ ทั้งนี้ เพื่อให้ทันกับเป้าการฉีดให้ได้ 80 เปอร์เซ็นต์ของประชากร 1,400 ล้านคนภายในสิ้นปีนี้
   


กู้พุ่ง! ส่องฐานะการคลังช่วง 7 เดือนแรก รัฐบาลกู้ชดเชยขาดดุลสูงกว่าปีก่อน 68.6%
https://www.prachachat.net/finance/news-683170
  
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เผยฐานะการคลังช่วง 7 เดือนแรก รัฐบาลกู้ชดเชยขาดดุลสูงกว่าปีก่อน 68.6%
  
เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2564 นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสด ในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 (ตุลาคม 2563-เมษายน 2564) รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น จำนวน 1,282,854 ล้านบาท ในขณะที่มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้น จำนวน 1,916,480 ล้านบาท โดยรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 451,810 ล้านบาท ส่งผลใหเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนเมษายน 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 372,784 ล้านบาท
  
ทั้งนี้ จากข้อมูลของกระทรวงการคลัง พบว่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีงบประมาณก่อน ในปีงบประมาณนี้ รัฐบาลมีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลในช่วง 7 เดือนแรกสูงขึ้น 183,790 ล้านบาท หรือสูงขึ้น 68.6% โดยในเดือนเมษายน 2564 รัฐบาลได้กู้ชดเชยขาดดุลเพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 อีก 65,000 ล้านบาท
  
ขณะที่การนำส่งรายได้เข้าคลังช่วง 7 เดือนแรก พบว่าปีนี้ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 55,950 ล้านบาท หรือลดลง 4.2% ส่วนรายจ่ายก็มีการเบิกต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนถึง 106,020 ล้านบาท หรือลดลง 5.2%
 


ธปท.เปิดผลสำรวจโรงแรมอ่วมพิษโควิดระบาดรุนแรง ส่อปิดกิจการชั่วคราวมากขึ้น
https://www.prachachat.net/finance/news-683308
 
ธปท.เปิดผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรมเดือน พ.ค. ชี้โรงแรมอ่วมพิษโควิดระบาดรุนแรง ส่อปิดกิจการชั่วคราวมากขึ้น ขณะที่ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกปรับลดลงต่อเนื่อง
 
เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2564 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรม (Hotel business operator Sentiment Index: HSI) เดือนพฤษภาคม 2564 ซึ่งจัดทำโดยสมาคมโรงแรมไทย พบว่า ผู้ประกอบการที่พักแรมได้รับผลกระทบมากขึ้นจากเดือนก่อน และคาดว่าผลกระทบจะต่อเนื่องไปจนถึงเดือนมิถุนายน เนื่องจากสถานการณ์ของ COVID-19 ที่รุนแรงขึ้น โดยอัตราการเข้าพักอยู่ในระดับต่ำมาก ทำให้มีการตัดสินใจปิดกิจการชั่วคราวมากขึ้น
 
โดยในเดือนพฤษภาคม 2564 ระดับการฟื้นตัวของธุรกิจในภาพรวมทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน ซึ่งถูกกดดันจากกำลังซื้อที่ยังอ่อนแอ และผลของการแพร่ระบาด COVID-19 ระลอกเดือนเมษายนที่ขยายวงกว้าง โดยเฉพาะภาคที่มิใช่การผลิตที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโรคต่อเนื่องจากเดือนก่อน ขณะที่ภาคก่อสร้างเริ่มได้รับผลจากการติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ในแคมป์คนงาน อย่างไรก็ดี ภาคการผลิตยังสามารถฟื้นตัวได้ตามคำสั่งซื้อที่ทยอยกลับมา
 
ทั้งนี้ แต่ละธุรกิจมีมุมมองต่อผลกระทบจากการแพร่ระบาดระลอกเดือนเมษายนแตกต่างกัน โดยภาคท่องเที่ยวคาดว่าจะถูกกระทบมากที่สุด รองลงมาเป็นภาคอสังหาริมทรัพย์ และภาคการค้า ขณะที่ภาคการผลิตได้รับผลกระทบน้อยที่สุด สอดคล้องกับการปรับตัวที่ทำได้มากกว่าธุรกิจอื่น
 
สถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ในไทยที่มีแนวโน้มกลับมารุนแรงขึ้น ทำให้ธุรกิจส่วนใหญ่มีการใช้นโยบายสลับกันมาทำงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน ขณะที่ธุรกิจในภาคที่มิใช่การผลิตมีการใช้นโยบายอื่น ๆ เพิ่มเติม อาทิ ลดชั่วโมงทำงาน และ Leave without Pay รวมถึงปลดคนงานเพิ่มในบางธุรกิจ
 
ขณะที่ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกปรับลดลงต่อเนื่อง ตามการแพร่ระบาด COVID-19 ระลอกเดือนเมษายนที่รุนแรงขึ้น อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการยังเชื่อมั่นว่าสถานการณ์จะปรับดีขึ้นในอีก 3 เดือน จากผลของการเร่งกระจายวัคซีน
 
สำหรับประเด็นพิเศษในเดือนดังกล่าว ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ประเมินว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคแย่ลงจากเดือนก่อนค่อนข้างมาก จากการระบาดที่รุนแรงและยืดเยื้อที่ส่งผลต่อทั้งรายได้ และความกังวลของผู้บริโภค รวมถึงมาตรการสาธารณสุขที่เข้มงวดในหลายพื้นที่ นอกจากนี้ 41% ของผู้ตอบแบบสำรวจ ได้ปรับลดการจ้างงานลงและมีแนวโน้มที่รายได้ลดลงตามชั่วโมงการทำงานและค่าธรรมเนียมขายลดลง และ 39% ของผู้ตอบแบบสำรวจมีสภาพคล่องไม่เกิน 6 เดือน
 
ส่วนผู้ประกอบการที่พักแรมได้รับผลกระทบมากขึ้นจากเดือนก่อน และคาดว่าผลกระทบจะต่อเนื่องไปจนถึงเดือนมิถุนายน เนื่องจากสถานการณ์ของ COVID-19 ที่รุนแรงขึ้น โดยอัตราการเข้าพักอยู่ในระดับต่ำมาก ทำให้มีการตัดสินใจปิดกิจการชั่วคราวมากขึ้น
 

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่