"บ้านครึ่งปูนครึ่งไม้" ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในยุค 80-90 เมื่อเวลาผ่านไปหลายปีบ้านก็เก่าไม่สวยเช่นเดิม แต่การจะตัดใจทุบรื้อเพื่อสร้างใหม่ก็อาจทำใจลำบาก ไหนจะงบประมาณที่อาจบานปลายอีกด้วย
ซึ่งการปรับปรุงบ้านเก่าไม่ใช่อยากตัด รื้อ เติม ตรงไหนก็ทำได้ทันทีนะครับ แม้จะรู้สึกว่าบ้านยังไม่ทรุดโทรมแต่ในแง่ของโครงสร้างก็ยังมีข้อควรระวังที่ต้องตรวจเช็คให้ดีก่อนจะเริ่มปรับปรุงบ้าน วันนี้ SCG Home Expert นำข้อควรระวังและเคล็ดลับที่จะทำให้การรีโนเวทบ้านครึ่งปูนครึ่งไม้สวยเหมือนใหม่ แบบประหยัด ปลอดภัย หมดกังวลเรื่องปัญหาหลังคารั่ว แถมไม่ร้อนมาฝากกันครับ
1.เช็คโครงสร้างเดิมโดยผู้เชี่ยวชาญก่อนต่อเติมและรื้อ
ภาพรวมของบ้านแม้ยังดูดีเมื่อมองด้วยสายตาของผู้อยู่อาศัย แต่ในรายละเอียดลึกเข้าไปในเชิงโครงสร้างผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นที่จะรู้ว่ามีปัญหาอะไรซ่อนอยู่ บ้านที่สร้างมานานแล้วอาจบ่มซ่อนปัญหาที่เราไม่รู้เอาไว้ ดังนั้น การปรับรื้อ ซ่อมแซมจึงต้องระมัดระวัง ซึ่งโดยปกติแล้วงานรีโนเวทมีทั้งความต้องการเปลี่ยนแปลงหน้าตาบ้านภายนอก และปรับปรุงพื้นที่ใช้สอยภายใน ซึ่งหลาย ๆ จุดสามารถรื้อได้ในทันที แต่บางจุดไม่ควรตัดสินใจรื้อหรือต่อเติมเอง ยกตัวอย่างเช่น การตัดเสาบางต้นทิ้ง รื้อคาน ทุบผนังรับน้ำหนัก หรือต่อเติมเพิ่มน้ำหนักให้บ้าน เพราะอาจทำให้บ้านทรุด เอียง พังได้ ดังนั้น ก่อนรีโนเวทที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างจึงต้องมีวิศวกรและสถาปนิกมาช่วยตรวจสอบเช็คตำแหน่งเสา เช็คสภาพคาน พื้น ว่าอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานหรือไม่ครับ
2.ไม่เพิ่มภาระให้โครงสร้างบ้านเก่า
บ้านยุคก่อนที่ออกแบบและก่อสร้างด้วยช่างพื้นถิ่น อาจไม่มีสถาปนิกและวิศวกรดูแล จึงไม่ได้คำนวณการรับน้ำหนักของเสา คาน และฐานรากเผื่อเอาไว้ เมื่อต้องการเพิ่มห้อง เปลี่ยนหลังคา หรือทำเคาน์เตอร์ครัวที่มีน้ำหนักมาก จึงต้องตรวจสอบก่อนว่าพื้นรับน้ำหนักได้หรือไม่ เพื่อป้องกันบ้านทรุดหรือผนังแยกจากบ้านเดิม หากไม่สะดวกติดต่อสถาปนิก วิศวกร ควรปลอดภัยไว้ก่อนด้วยการไม่เพิ่มภาระให้กับโครงสร้างมากเกินไป โดยการเลือกใช้วัสดุในการต่อเติมที่มีน้ำหนักเบา เช่น การแบ่งกั้นห้องภายในใหม่ด้วยผนังสมาร์ทบอร์ด ที่มีน้ำหนักน้อยกว่าการก่ออิฐ (น้ำหนักผนังก่ออิฐรวมฉาบปูน 2 ด้าน ประมาณ 180 กก./ตร.ม. ในขณะที่ผนังสมาร์ทบอร์ด รวมโครงคร่าวน้ำหนักเพียง 30 กก./ตร.ม.) หรือเปลี่ยนวัสดุมุงหลังคาจากกระเบื้องมาเป็นเมทัลชีท ซึ่งเป็นแผ่นโลหะรีดลอนที่มีความหนาเพียง 0.3 - 0.5 มม. จึงให้น้ำหนักเบากว่าวัสดุอื่น ๆ ประมาณตารางเมตรละ 4.2 – 6.2 กิโลกรัมเท่านั้น
3.บ้านเก่า มักมาพร้อมกับอาการรั่วซึม
บ้านเก่าหลายปีมักมาพร้อมปัญหาฝ้ารั่ว ซึ่งสาเหตุของอาการรั่วซึมบนฝ้าเพดานนั้น อาจมีที่มาต่อเนื่องมาจากการรั่วซึมบนหลังคา กระเบื้องหลังคาแตก อุปกรณ์หลังคาเสื่อมสภาพ การติดตั้งวัสดุมุงหลังคาผิดวิธี ตลอดจนโครงสร้างของงานหลังคาแอ่น ทำให้น้ำไหลย้อนเข้ามาทางรอยต่อได้ ทำให้ฝ้ามีร่องรอยน้ำซึม ก่อนที่จะทำการเปลี่ยนฝ้าใหม่ จึงต้องทำการแก้ไขปัญหาในส่วนนี้ให้เรียบร้อยเสียก่อน หาช่างที่มีความชำนาญมาซ่อมแซมในจุดที่มีปัญหา แต่หากหลังคาบ้านชำรุดเสียหายมาก การรื้อเปลี่ยนใหม่ทั้งผืนน่าจะตอบโจทย์และจบทุกปัญหาได้ดีกว่า
เมื่อทำการแก้ต้นตอของอาการรั่วซึมได้แล้ว มาถึงขั้นตอนการเลือกวัสดุฝ้าเพดาน เพื่อปกปิดระบบไฟ ระบบท่อ พรางสายตาให้บ้านแลดูเป็นระเบียบสวยงาม การเลือกใช้วัสดุฝ้าเพดานควรเลือกให้เหมาะสมกับลักษณะพื้นที่การใช้งาน ซึ่งวัสดุฝ้าเพดานที่นิยมใช้โดยทั่วไป ได้แก่
- ฝ้าเพดานยิปซัม ผลิตด้วยผงแร่ยิปซัมอัดแน่น ประกบด้วยกระดาษแข็ง น้ำหนักเบา กรีดตัดง่าย ขนย้ายสะดวก สามารถติดตั้งทั้งแบบฝ้าทีบาร์และแบบฝ้าฉาบเรียบ ฉาบรอยต่อให้เรียบเนียนได้ไม่ยาก
- ฝ้าเพดานไฟเบอร์ซีเมนต์ ผลิตจากเส้นใยเซลลูโลสผสมกับปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ เป็นวัสดุที่ทนความชื้นสามารถนำไปใช้งานภายในห้องน้ำได้ มีให้เลือกหลายแบบ ทั้งแบบเรียบ แบบเซาะร่อง รวมถึงลวดลายไม้ เหมาะกับการติดตั้งภายในบ้านแบบฝ้าทีบาร์ และแบบเว้นร่อง
- ฝ้าเพดานไม้ สำหรับบ้านที่ต้องการอารมณ์ธรรมชาติ จึงนำไม้จริงมาใช้ในงานฝ้า เช่น ไม้มะค่า ไม้แดง แต่การที่นำมาใช้งานนั้นจำเป็นต้องผ่านกระบวนการอบน้ำยา อบแห้งและการเคลือบกันปลวกก่อน เพื่อยืดอายุการใช้งานให้นานขึ้น
4.ไม้เก่าสภาพดีมีค่า เก็บไว้ใช้ประหยัดงบ
บ้านสมัยก่อนมักปูพื้นและกรุผนังชั้นสองด้วยงานไม้จริง โดยเฉพาะไม้สักที่หาได้ไม่ยากและมีคุณสมบัติเด่นตรงที่ทนทานต่อสภาพอากาศร้อนชื้น ปลวกไม่กิน ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นไม้ราคาสูง หากไม้เก่ายังมีสภาพดีอยู่ถือเป็นเสมือนขุมทรัพย์ชั้นดี จึงควรระมัดระวังในการรื้อถอน เพื่อให้สามารถนำมาใช้งานต่อได้ ด้วยการนำไปขัดผิวหน้าเดิมออกหรือย้อมสีใหม่ ส่วนบ้านที่ต้องการลุคโมเดิร์นมินิมอลทำได้โดยการนำไม้สักไปฟอกสีให้ดูสีขาวสว่างขึ้น จะช่วยสร้างบรรยากาศให้บ้านดูสมัยใหม่กว่าเดิม
แต่งผนังภายนอกให้สวยในสไตล์โคโลเนียล ด้วยไม้ฝา รุ่นโคโลเนียล ในโทนสีอบอุ่นอย่างสีงาช้าง
แต่หากไม้จริงมีสภาพผุพังแล้ว แต่เจ้าของยังต้องการอารมณ์บ้านไม้เช่นเดิม อาจเลือกใช้วัสดุทดแทนไม้ที่ง่ายต่อการดูแลรักษา ปลวกและแมลงไม่กิน เช่น ไม้ฝา รุ่นคูลพลัส ที่ป้องกันรา ตะไคร่ และแบคทีเรียได้ 99.9% มีเฉดสีหลากหลาย เพื่อให้ครอบคลุมกับบ้านทุกสไตล์ อาทิ สีเทาแพลตินั่มคูลพลัส สีสักทองประกายเงาคูลพลัส สีไนท์เกรย์คูลพลัส และสีเพิร์ลคูลพลัส สีสวยทน ไม่ลอกล่อนด้วยเทคโนโลยี คัลเลอร์ล็อค พลัส นอกจากนี้ยังสามารถกันความร้อนด้วยเทคโนโลยี รีเฟลคชั่น พลัส สะท้อนความร้อนได้มากกว่าไม้ฝาทั่วไปถึง 4 เท่า
5.บ้านไม้มักร้อน ต้องมีตัวช่วยเสริม
หากใครเคยอยู่บ้านที่ก่อชั้นล่างด้วยปูน กรุผนังชั้นบนด้วยไม้ ย่อมรู้ดีว่าในฤดูร้อนภายในห้องไม้จะอบอ้าวจนอยู่อาศัยได้ยากในช่วงเวลากลางวัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะช่องเปิดของบ้านเก่ามักมีขนาดค่อนข้างเล็ก ความร้อนจึงสะสมอยู่ภายใน การปรับปรุงใหม่จึงควรเปิดช่องลมให้เหมาะสม ปรับขนาดหน้าต่างให้กว้างขึ้นเพื่อให้มีความกว้างมากพอในการรับลมเข้ามาหมุนเวียนภายในบ้าน หรือเปลี่ยนรูปแบบหน้าต่างจากบานทึบเป็นกระจกใสบานเลื่อนที่มีคุณสมบัติในการสะท้อนแสง และควรใช้วัสดุกันร้อนมาเป็นตัวช่วยลดความอบอ้าวที่ถ่ายเทโดยตรงลงมาจากหลังคาด้วยวัสดุลดร้อนใต้หลังคา เช่น
- แผ่นสะท้อนความร้อนบนหลังคา ซึ่งมีคุณสมบัติสกัดร้อน สะท้อนกลับ สามารถสะท้อนรังสีความร้อนได้สูงถึง 95% ทำการติดตั้งขนานไปกับแป ควรติดตั้งพร้อมกับการมุงกระเบื้องหลังคาเพื่อให้ได้งานที่เรียบร้อย
- ฉนวนกันความร้อนบนฝ้าเพดาน มีทั้งแบบที่เหมาะกับการติดตั้งบนแปบริเวณโครงหลังคา แบบปูบนฝ้าเพดานบนฝ้าทีบาร์และฉาบเรียบ ติดตั้งได้ง่ายใช้ได้ทั้งบ้านเก่าและสร้างใหม่
- ตั้งฝ้าแบบมีรูระบายอากาศ อย่างฝ้าชายคาสมาร์ทบอร์ด กลุ่มระบายอากาศ-โพรเทคชั่น ที่มีรูระบายอากาศเล็ก ๆ ช่วยในการถ่ายเทความร้อนแล้ว ทั้งยังติดตั้งตาข่ายกันแมลงมาจากโรงงาน ช่วยกันไม่ให้แมลงเข้าสู่ภายใน
5.ดีไซน์สวย ต้องมาพร้อมกับความกลมกลืน
บริบทของชุมชนที่สวยงาม มักเกิดจากการออกแบบอาคารบ้านเรือนที่สอดรับกัน แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขรูปทรงและดีไซน์ของบ้านได้นะครับ เพียงแค่ต้องยืนอยู่บนพื้นฐานที่ดูเข้ากันได้ โดยให้สังเกตบ้านเรือนรอบด้านแล้วหาจุดร่วม อาจเชื่อมโยงด้วยสีโทนเดียวกัน ใช้วัสดุที่คล้ายคลึงกัน หรือจัดภูมิทัศน์รอบบ้านให้มีความเป็นธรรมชาติ ก็จะทำให้บ้านเก่าที่ปรับปรุงใหม่ดูสวยงามขึ้น แต่ยังมีความเป็นมิตรกับชุมชนเช่นเดิม
แต่หากต้องการให้บ้านมีความทันสมัยมากขึ้น สามารถเลือกใช้วัสดุหรือเติมฟังก์ชันสมัยใหม่เข้าไป เช่น ติดตั้งฟาซาดไม้ระแนง ฟาซาดพลาสวูดฉลุลาย ติดตั้งผนังกระจกบานใหญ่ในด้านที่ต้องการเชื่อมโยงกับสวน หรือเปลี่ยนวัสดุหลังคาเป็นหลังคาแผ่นเรียบ เปลี่ยนรูปทรงหลังคาให้โมเดิร์นขึ้นเป็นหลังคาทรงเพิงแหงน ซึ่งก่อนปรับเปลี่ยนอย่าลืมตรวจสอบโครงสร้างหลังคาเดิมก่อนว่ารองรับน้ำหนักได้มากน้อยแค่ไหนด้วยนะครับ
หากผู้อ่านท่านใดต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมของวัสดุตกแต่งบ้าน ที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันความร้อน สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/34Bm0sV
ข้อควรระวังที่ต้องรู้ ก่อนรีโนเวทบ้านครึ่งปูนครึ่งไม้
ซึ่งการปรับปรุงบ้านเก่าไม่ใช่อยากตัด รื้อ เติม ตรงไหนก็ทำได้ทันทีนะครับ แม้จะรู้สึกว่าบ้านยังไม่ทรุดโทรมแต่ในแง่ของโครงสร้างก็ยังมีข้อควรระวังที่ต้องตรวจเช็คให้ดีก่อนจะเริ่มปรับปรุงบ้าน วันนี้ SCG Home Expert นำข้อควรระวังและเคล็ดลับที่จะทำให้การรีโนเวทบ้านครึ่งปูนครึ่งไม้สวยเหมือนใหม่ แบบประหยัด ปลอดภัย หมดกังวลเรื่องปัญหาหลังคารั่ว แถมไม่ร้อนมาฝากกันครับ
- ฉนวนกันความร้อนบนฝ้าเพดาน มีทั้งแบบที่เหมาะกับการติดตั้งบนแปบริเวณโครงหลังคา แบบปูบนฝ้าเพดานบนฝ้าทีบาร์และฉาบเรียบ ติดตั้งได้ง่ายใช้ได้ทั้งบ้านเก่าและสร้างใหม่
- ตั้งฝ้าแบบมีรูระบายอากาศ อย่างฝ้าชายคาสมาร์ทบอร์ด กลุ่มระบายอากาศ-โพรเทคชั่น ที่มีรูระบายอากาศเล็ก ๆ ช่วยในการถ่ายเทความร้อนแล้ว ทั้งยังติดตั้งตาข่ายกันแมลงมาจากโรงงาน ช่วยกันไม่ให้แมลงเข้าสู่ภายใน