“ณ ดินแดนอันไกลแสนไกล เหล่าเทเลทับบีส์ออกมาวิ่งเล่น 1 2 3 4 ทิงกี วิงกี ดิปซี ลาลา โพ เอ๊ะโอ!” สิ้นเสียงแนะนำตัวของเหล่าสิ่งมีชีวิตไม่ทราบสายพันธุ์ ซึ่งดังขึ้นหลังพระอาทิตย์หน้าทารกสาดแสงส่องลงมา ก็หมายความว่าวันใหม่ของ ‘เทเลทับบีส์ แลนด์’ เริ่มต้นขึ้นแล้ว
ทิวทัศน์ที่มีสภาพเป็นเนินดินสูงต่ำ ปูด้วยหญ้าสีเขียว พุ่มดอกไม้น้อยใหญ่ขึ้นเป็นหย่อมรอบบริเวณสิ่งปลูกสร้างที่มีลักษณะคล้าย ‘บ้าน’ เหล่าผู้ใหญ่ที่เคยมีวัยเด็กในยุค 90s จำภาพเหล่านี้กันได้ไหม?
นี่คือ เทเลทับบีส์ (Teletubbies) รายการสำหรับเด็กยามเช้าตรู่ ที่หลายคนเคยรีบตื่นมาดูอย่างไรล่ะ!
เทเลทับบีส์ คือรายการทีวีสำหรับเด็ก ๆ วัยก่อนเข้าเรียน ที่เริ่มต้นออกอากาศทางช่อง BBC มาตั้งแต่ปี 1997 จนถึงปี 2001 เป้าหมายหลัก ๆ ของรายการก็คือ สร้างความเพลิดเพลินและสนุกสนาน ผ่านตัวละครหลักอย่างทิงกี วิงกี, ดิปซี, ลาลา และโพ สี่พี่น้องที่รักความครื้นเครงเป็นที่สุด พวกเขาทั้งวิ่ง กลิ้งไปกลิ้งมา พวกเขาชอบเล่นหัวเราะ และกอดกันตลอดเวลา ไม่ต่างจากเด็กเล็ก ๆ ที่ใช้ชีวิตอย่างไร้กังวล บนดินแดนเทเลทับบีส์อันกว้างใหญ่
แต่ทันใดนั้นเอง เมื่อกังหันลมพิศวงจู่ ๆ ก็เริ่มทำงาน เหล่าเทเลทับบีส์ก็ต้องมารวมตัวกัน เพื่อลุ้นว่า คราวนี้หน้าจอบนท้องของใครจะปรากฏภาพหรือคลิปวิดีโอสนุก ๆ แฝงความรู้ปรากฎขึ้นมาให้เหล่าเทเลทับบีส์ รวมถึงผู้ชม ได้ดูกันอีก แต่ละวันนอกจากจะมีเจ้ากังหันลมลึกลับ ก็ยังมีเจ้าเครื่องดูดฝุ่นที่ดูเหมือนสัตว์เลี้ยง มีพระอาทิตย์ที่หน้าเหมือนทารก ซึ่งจะขึ้นและตกในช่วงเปิด ปิดรายการ แถมยังมีเจ้าสปีกเกอร์ที่จู่ ๆ ก็ปรากฏขึ้นมาแจ้งว่า “หมดเวลาสนุกแล้วสิ” เพื่อให้เหล่าเทเลทับบีส์กลับไปนอนเอาแรงและกลับมาเริงร่าต่อในวันถัดไปอีกด้วยนี่คือองค์ประกอบและสีสันที่เกิดขึ้นในแต่ละวันของเหล่าเทเลทับบีส์ รายการของเด็กที่ดูเหมือนจะสร้างความสนุกเป็นหลัก แต่เมื่อ แอนน์ วูด (Anne Wood) ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของแร็กดอลล์
โปรดักชัน และ แอนดรูว์ ดาเวนพอร์ท (Andrew Davenport) คนเขียนบท ผู้อยู่เบื้องหลังเนื้อหารายการทั้ง 365 ตอน ออกมาเล่าว่าแต่ละองค์ประกอบของรายการกว่าจะได้มามันไม่ง่าย พวกเขาก็หมายความตามนั้นจริง ๆ
“BBC อยากให้มีรายการสำหรับเด็กเล็กสักรายการเพื่อฉายตอนเช้า และเราก็สนใจว่าผลตอบรับของเด็ก ๆ จะเป็นอย่างไร เมื่อได้เห็นตัวละครและองค์ประกอบทางเทคโนโลยีที่เรามองว่ามันใหม่มากสำหรับยุค 90s”
วูดเล่า พวกเขาลองวาดภาพตัวอย่างของเทเลทับบีส์ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก ‘นักบินอวกาศสวมผ้าอ้อม’ ไปเสนอแก่สถานีโทรทัศน์ ไม่น่าเชื่อว่า สุดท้ายไอเดียนี้จะชนะใจทาง BBC จนมีโอกาสเกิดขึ้นมาได้จริง ๆ
ฉากทุ่งหญ้าและบ้านของเหล่าเทเลทับบีส์ไม่ได้แค่ถ่ายกันในสตูดิโอเฉย ๆ แต่เป็นการก่อสร้างและเซ็ตสถานที่ดังกล่าวขึ้นมาจริง ๆ เทเลทับบีส์ แลนด์ ตั้งอยู่ในเมืองวิมพ์สโตน มณฑลวอร์รอคเชียร์ ประเทศอังกฤษ ทีมงานตัดสินใจเช่าพื้นที่นี้เพราะตกลงเซ็นสัญญาออกอากาศเทเลทับบีส์ไว้ถึง 100 ตอนไปก่อนหน้านั้นแล้ว การเซ็ตสถานที่ไว้สำหรับถ่ายทำจึงดูเป็นตัวเลือกที่ชาญฉลาด
ด้านนักแสดง วูดบอกว่า ไม่ใช่แค่ว่ามีทุนแล้วจะจ้างใครมาเล่นก็ได้ “เราต้องออดิชันนักแสดงเป็นร้อย ๆ เพื่อหาคนที่เข้าใจตัวตนของเทเลทับบีส์จริง ๆ เราไม่ได้ต้องการให้พวกเขามาเพื่อเล่นละครเป็นเด็กเล็ก แต่พวกเขาต้องดึงดูดและเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เด็ก ๆ ด้วย” และกล่าวเพิ่มว่า
“ความสำเร็จของเราคือ ในที่สุดเราก็หานักแสดงเหล่านั้นมาได้ นักแสดงที่สามารถพัฒนาคาแรคเตอร์ของเหล่าเทเลทับบีส์ออกมาได้อย่างมีเอกลักษณ์ พวกเขาแต่ละคนต่างก็มีเสน่ห์ของตัวเอง”
เบื้องหลังคาแรคเตอร์เด็ก 3 ขวบไม่ทราบเผ่าพันธุ์ คือนักแสดงที่ถูกคัดมาให้มีความแตกต่างกัน ทั้งรูปร่างหน้าตา สีผิว และเชื้อชาติ ทีมงานจากสตูดิโอแร็กดอลล์ ออกมาคอนเฟิร์มว่า การออกแบบเทเลทับบีส์ให้มีส่วนสูงที่แตกต่างกัน รวมถึงมีสีบนใบหน้าที่ทั้งเข้มและอ่อน ก็เป็นความตั้งใจที่ต้องการสอดแทรกแง่มุมของความหลากหลายเข้าไปในตัวละครเหล่านี้
ปุย ฟาน หลี่ (Pui Fan Lee) นักแสดงที่สวมชุด โพ (สีแดง) ซึ่งเป็นชาวแคนาดาเชื้อสายจีน ก็สามารถนำเสนอภาพลักษณ์ของโพออกมาได้อย่างน่ารักน่าชังด้วยภาษาอังกฤษสำเนียงกวางตุ้งที่เหมาะกับโพอย่างไม่น่าเชื่อ
ลาลา (สีเหลือง) ผู้ร่าเริงสดใส แสดงโดย นิคกี้ สเมดลีย์ (Nickey Smedley) นักออกแบบท่าเต้นชาวอังกฤษ สามารถดึงเอาคาแรคเตอร์ของเด็กซุกซน ที่ไม่สนว่าใครเดือดร้อนจากพฤติกรรมพิเรนทร์ของตัวเองออกมาได้อย่างตลกขบขัน
จอห์น ซิมมิท (John Simmit) นักแสดงตลกผิวสี ผู้รับบทเป็น ดิปซี (สีเขียว) ก็ออกแบบทั้งการพูดจาและท่าทางของดิปซีให้ออกมามีกลิ่นอายของชาวจาไมกันแท้ ๆ ซิมมิทบอกว่า ทั้งหมดเป็นความตั้งใจของทั้งทางสตูดิโอและตัวเขา “พวกเขาไว้ใจให้เราออกแบบตัวตนของเจ้าทับบีส์ได้ตามที่ใจเราอยาก” ซิมมิทเล่า “ดิปซีของผมก็เลยออกมาเหมือนทารกจอมซน ที่เดินไปก็ฮัมเพลงเร้กเก้ในตำนานจากสตูดิโออันดับหนึ่งของจาไมก้าไปด้วยไงล่ะ”
สำหรับพี่ใหญ่สีม่วง ทิงกี วิงกี คงไม่กล่าวถึงไม่ได้ เพราะถ้าไม่มีประเด็นของเจ้าตัวนี้ ก็อาจไม่มีใครหันมาสนใจเรื่องราวของนักแสดงผู้อยู่เบื้องหลังตัวละครสุดแปลกมากเท่าที่เป็นอยู่ แต่เพราะในปี 1999 หลังเทเลทับบีส์ฉายมาได้ 2 ปี ก็มีนักวิจารณ์รายการทีวี ชื่อ เจอรรี ฟาลเวลล์ (Jerry Falwell) ผู้นับถือศาสนาคริสต์ นิกายโปรเตสแตนต์ ออกมาเขียนบทความโจมตีเทเลทับบีส์ โดยใช้ชื่อ ‘Parents Alert: Tinky Winky Comes Out of the Closet’ หรือแปลไทยว่า ‘เหล่าพ่อแม่เอ๋ย จงระวังเจ้าทิงกี วิงกีไว้ซะ’
เนื้อหาบางส่วนของฟาลเวลล์ พยายามจะชักจูงให้หลายคนเข้าใจว่า เจ้าเทเลทับบีส์ตัวนี้มันเป็นเกย์ เพราะสีม่วงน่ะเป็นสีของเกย์ เสาอากาศบนหัวมันก็เป็นรูปสามเหลี่ยม สัญลักษณ์ของ gay pride ชัด ๆ รายการนี้อาจนำพาให้เด็ก ๆ กลายเป็นเกย์ได้ ดังนั้น มันจึงไม่ปลอดภัยและไม่เหมาะสมที่จะฉายให้เด็ก ๆ ดูเด็ดขาด
ในปีเดียวกัน ฟาลเวลล์ยังไปกล่าวไว้ในรายการทีวีชื่อ Today show อีกว่า “เด็กผู้ชายวิ่งเล่นไปมา พร้อมถือกระเป๋าเหมือนผู้หญิง ทิ้งความเป็นชายและแสดงออกแบบตุ้งติ้ง เพื่อให้คนคิดว่าการเป็นเกย์มันโอเค นั่นไม่ใช่สิ่งที่เหล่าคริสเตียนเห็นด้วย”
ฝั่ง ไซมอน บาร์นส์ (Simon Barnes) นักบัลเลต์ชาวอังกฤษ ผู้สวมชุดทิงกี วิงกี ออกมาให้สัมภาษณ์กรณีนี้ว่า “ผมโดนถามตลอดเลยว่าทิงกี วิงกีเป็นเกย์หรือเปล่า แต่ตัวละครที่ผมเล่นมันเป็นแค่เด็ก 3 ขวบเองนะ คำถามพวกนี้มันไม่งี่เง่าไปหน่อยเหรอ” แต่ไม่ว่าตัวทิงกี วิงกีจะเป็นตัวแทนเหล่า LGBTQIA+ ในหมู่เด็ก ๆ จริงหรือไม่ ถึงอย่างไร มันก็ทำให้หลายคนหันมาสนใจตัวละครทั้งสี่จากรายการเด็กมากขึ้น
ภายในเวลาไม่กี่ปี ชื่อเสียงในอังกฤษของเทเลทับบีส์ก็พุ่งแรงชนิดฉุดไม่อยู่ ถามว่าประสบความสำเร็จแค่ไหน บทความของสื่อบางสำนักถึงกับยกให้เป็น The Beatles ของเหล่าเด็กเล็กในยุค 90s มีการซื้อลิขสิทธิ์รายการไปฉายใน 120 ประเทศทั่วโลก มีการดัดแปลงและปรับเปลี่ยนเนื้อหาไปตามแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมที่แตกต่าง
แม้เทเลทับบีส์เวอร์ชันต้นฉบับ (มีเวอร์ชันรีบูตในปี 2015) จะออนแอร์ตอนสุดท้ายไปเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2001 แต่เอกลักษณ์และองค์ประกอบบางอย่างของรายการ ทั้งการสร้างคาแรคเตอร์ใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน หรือการสอดแทรกเกร็ดความรู้ขึ้นมาระหว่างโชว์ ก็ยังเป็นโมเดลตัวอย่างที่รายการเด็กในยุคนี้พยายามหยิบจับมาใช้
เทเลทับบีส์จะยังคงเป็นที่จดจำในฐานะรายการเด็กที่ทั้งสนุก ให้ความรู้ และสอนให้เด็ก ๆ รับเอาตัวละครที่มีสีสันอันแตกต่างเข้าไปอยู่ในหัวใจ พวกเขากลายเป็นความทรงจำดี ๆ ในวัยที่โลกแห่งจินตนาการของเด็ก ๆ จะมีแต่ทุ่งหญ้าสีเขียวสุดลูกหูลูกตา รวมถึงมีพระอาทิตย์หน้าเด็กที่เข้ามาทักทายและบอกลาเราอย่างรักใคร่ในทุก ๆ วัน
เรื่อง : พาขวัญ ศักดิ์ขจรยศ
ขอขอบพระคุณบทความจาก The poeple
"เทเลทับบี้" บทเรียนแห่งความหลากหลาย ที่แฝงไว้หลังการทักทาย “เอ๊ะโอ”