จบไปแล้วกับซีซัน 2020/21 ที่มีความแปลกหลายอย่าง ทั้งตารางแข่งขันที่ถี่ยิบแบบไม่เคยเห็น, การลุ้นแมทช์เตะที่นอกจากดินฟ้าอากาศ ยังมีเรื่องของการระบาดของโควิด-19 มาวุ่นด้วย และยังมีบรรยากาศไร้แฟนบอลแบบเกือบจะเต็มซีซัน ซึ่งทำให้ฟุตบอลไม่เหมือนเดิมเลย
เตะกันแบบไร้คนดูมาอย่างยาวนาน เพิ่งมาเห็นภาพเริ่มคุ้นตากันใน 2 นัดสุดท้าย
ซีซันที่ยาวนานกว่า 8 เดือน สุดท้ายก็สิ้นสุดจบกันไปเรียบร้อยกับ GW38 ล่าสุด ดังนั้น EP นี้เราจะมาสรุปผลต่างๆ กัน ทั้งทีมของผมเองที่ใช้แชร์ในการเขียนบทความมาตลอด, การสรุปผลของ The.Macho League ที่ได้แชมป์เดือน พ.ค. และแชมป์ซีซันแล้ว รวมถึงบทสรุปน่าสนใจที่เราได้เห็นในซีซันนี้
สรุปผลประกอบการ
หน้าตาทีมส่งท้าย ที่การแหวกไม่เข้าเป้านัก หลุดอันดับ 100k ไปนิสนึง
คะแนน Gameweek 38 : 53 คะแนน
คะแนนรวม : 2,391 คะแนน
อันดับรวม : 102,008 (ตกมาจาก 94,250)
อันดับชาวไทย : 1,092 (ตกมาจาก 1,017)
อันดับ The.Macho League : 223 (ตกมาจาก 212)
อันดับรวมสูงสุด : 38,482 (GW19)
อันดับรวมต่ำสุด : 1,975,678 (GW2)
มูลค่ารวมทีมสุดท้าย : 105.8 ล้านปอนด์
ปิดฉาก GW38 ด้วยความพยายามฉีกซึ่งทำมาตลอดช่วง 2-3 วีคหลัง โดยการเปลี่ยนเปเป้เข้ามาแทนเบล ให้ผลลัพธ์ครึ่งๆ กลางๆ เพราะแม้เปเป้จะทำคะแนนได้ดี 16 คะแนน แต่เบลเองก็ลงมายิงเบิ้ล ทำไป 13 คะแนน ผลต่างเลยไม่มากเท่าไหร่
แม้จะเป็นแค่สำรอง แต่เบลก็ลงมายิง 2 ประตู พาสเปอร์ไปยุโรปสำเร็จ
กัปตันที่เลือกไปที่ TAA แม้จะเก็บคลีนชีตมาได้ แต่โบนัส และ attacking return ไม่มาตามนัด เก็บเพิ่มได้อีกแค่ 10 คะแนน ในขณะที่ตัวแตกต่างอื่นไม่เข้าเป้าเลย (ซาล่าห์ กับเคน ถือเป็นตัวที่มีคนถือเยอะ) ทำให้ได้ไป 53 คะแนน ดีกว่าค่าเฉลี่ยเล็กน้อย และอันดับหล่นมาจบที่ 102,008 ไม่อาจขยับเข้าไปใน 1% อย่างที่หวัง
พูดถึงอันดับที่จบ ความจริงแล้วดีกว่าอันดับที่ทำได้ในซีซันก่อน (จบที่ราว 300k) คงต้องเก็บไปพัฒนาต่อยอดต่อไป เพราะทีมที่ผมใช้เขียนบทความ ไม่มีแรงกดดันจากมินิลีก ทำให้เราต้องหาจุดคาดหวังให้มั่นคงกว่านี้หน่อย ในซีซันต่อไป
ผลสอบนักเตะแนะนำ
เปเป้ โชว์ยิงเบิ้ล 2 นัดติดต่อกัน เป็นทางเลือกที่ยอดเยี่ยมใน GW38
ผู้รักษาประตู : อลิสซง เบ็คเกอร์ (8 คะแนน)
กองหลัง : คีแรน เทียร์นีย์ (6 คะแนน), เทรนท์ อเล็กซานเดอร์-อาโนลด์ (5 คะแนน)
กองกลาง : โม ซาล่าห์ (6 คะแนน), นิโกลาส เปเป้ (16 คะแนน), ราฟินญ่า (5 คะแนน), แฟร์ราน ตอร์เรส (1 คะแนน / เป็นแค่สำรอง)
กองหน้า : มิคาอิล อันโตนิโอ (2 คะแนน)
สรุปสิ่งน่าสนใจซีซัน 2020/21
จุดเปลี่ยน GW38
มาเน่ ทีเด็ดในนัดสุดท้าย ที่ส่งผลต่อการคว้าแชมป์โลก และแชมป์ The.Macho League เลยทีเดียว
ขอพูดถึงจุดเปลี่ยนใน GW38 ซะหน่อย เพราะเป็นจุดพลิกผันให้หลายอันดับคะแนนมีการเปลี่ยนมือ โดยจุดแรกคือการมาตามนัดของมาเน่ ที่ยิงเบิ้ลในนัดสุดท้าย ในขณะที่ซาล่าห์ทำเพียง 1 แอสซิสต์ จุดนี้ทำให้ “Teddy Bears Utd” จากไอร์แลนด์ คว้าแชมป์โลก ได้สำเร็จ หลังเลือกซาดิโอเป็นกัปตัน (รายละเอียดผมมีอัปเดตไว้ในกลุ่มเฟซบุ๊ค ตามไปอ่านได้ครับ)
นอกจากนั้น นักเตะทางเลือกที่มาแรงในนัดสุดท้าย ไม่ว่าจะเป็น เอแดร์สัน, เปเป้, วิลล็อค, เบล ก็มีส่วนผลักดันให้หลายคนพลิกทำอันดับขึ้นมามากมาย บางรายทำเอาจ่าฝูงมินิลีกต้องสะเทือนในตอนเข้าเส้นชัย
นักเตะคะแนนสูงสุด
ถึงเอแดร์สันจะคว้าถุงมือทองคำ แต่มาร์ติเนซโกยเซฟ และโบนัสจนคะแนนเข้าป้ายที่ 1
เริ่มกันที่ผู้รักษาประตู ถึงแม้เอแดร์สันจะคว้าถึงมือทองคำด้วยคลีนชีตถึง 19 นัด แต่ด้วยจำนวนเซฟที่มากกว่ามหาศาล 142 ต่อ 66 ครั้ง ทำให้มาร์ติเนซเข้าวินได้คะแนนสูงสุดไปครอง โดยนายด่านวิลล่าเก็บได้ 186 คะแนน มาจากโบนัสมากถึง 27 คะแนน
ดัลลัสอีกหนึ่งนักเตะทำแต้มเซอร์ไพรส์ เพราะยืนกลางมากกว่าหลัง รับแต้มไปเพียบ
กองหลังคะแนนสูงสุดตกเป็นของดัลลัส ที่ถูกขยับไปเล่นกองกลางเป็นส่วนมากในซีซันนี้ โดยเจ้าของนักเตะยอดเยี่ยมของสโมสรลีดส์ ยิงไปถึง 8 ประตู และทำ 3 แอสซิสต์ เก็บคะแนนรวมได้ 171 คะแนน แม้ TAA และโรเบิร์ตสัน จะไล่มาได้เยอะในช่วงท้าย แต่ก็ไม่ทัน
ถึงตอนหลังจะเงียบไปนิด แต่ตลอดซีซัน บรูโน่ทำแต้มได้ยอดเยี่ยมสม่ำเสมอ
กองกลางต้องยกให้จอมแบกค่ายปีศาจแดง บรูโน่ยิง 18 ประตู บวกกับ 14 แอสซิสต์ ทำคะแนนรวม 244 คะแนน โดยเป็นโบนัสมากถึง 36 คะแนน ได้แต้มรวมมากกว่าซาล่าห์ที่ตามมาที่ 231 คะแนน โดยโมมาเบียดแซงอปป้าซนขึ้นที่ 2 ในนัดสุดท้ายนี่เอง
กองหน้าไม่ต้องมีใครแข่ง เคนคว้าทั้งดาวซัลโว และจอมแอสซิสต์ ในซีซันนี้ของลีกผู้ดี
แดนหน้าไม่ต้องแข่งเลย เคนโกยแต้มถึง 242 คะแนน เป็นเจ้าของดาวซัลโวของลีกที่ 23 ประตู และทำแอสซิสต์มากที่สุด ควบอีกตำแหน่งที่ 14 ครั้ง (เท่าบรูโน่ในการนับของ FPL) โดยมีแบมฟอร์ดตามมาเป็นอันดับ 2 ห่างๆ ที่ 194 คะแนน
การเล่นในบ้าน
การเล่นในบ้านแบบไร้แฟนบอล ส่งผลให้หลายทีมผลงานเกมเยือนดีกว่า แม้แต่ซิตี้เอง
จุดน่าสนใจที่มองข้ามไม่ได้ของซีซันนี้ คือการเล่นในบ้านที่ไร้ผู้ชมซะส่วนใหญ่ของซีซัน มันทำให้หลายทีมมีผลงานนอกบ้านดีกว่าในบ้าน ตัวอย่างเช่น แมนฯ ซิตี้, แมนฯ ยู, ลิเวอร์พูล, เชลซี ทีม 4 อันดับแรก ต่างเก็บคะแนนเกมเยือนได้ดีกว่าเกมในบ้านหมดเลย ยังไม่นับทีมอื่นอย่าง เลสเตอร์, เอฟเวอร์ตัน ที่จะจบอันดับ 3 และ 4 ของลีก หากนับคะแนนเฉพาะนัดเยือน
ปัจจัยนี้ทำให้ผลการแข่งขัน และตัวชี้วัดที่ทำให้เกิดคะแนนแฟนตาซี (เช่น คลีนชีต) คาดเดาได้ยากกว่าซีซันที่ผ่านมาพอสมควร เสียงเชียร์ และแรงกระตุ้นจากแฟนบอล ไม่ใช่เพียงนำความคุ้นเคยมาให้ทีมเหย้า แต่อาจจะส่งผลต่อการกระตุ้นแรงฮึด และแรงกดดันไปที่กรรมการได้อีกด้วย อันนี้ปฏิเสธไม่ได้เลย
โปรแกรมการแข่งขัน
โปรแกรมสับเปลี่ยนปวดหัว ทำให้เราได้เห็นแมนฯ ยู จัดชุดนี้ เพราะเจอ Triple Gameweek
นอกจากโปรแกรมเตะถี่ ซึ่งทุกคนทราบดีตั้งแต่เริ่มซีซัน เพราะระยะเวลาแข่งทั้งซีซันมันสั้นลง ปัจจัยเรื่องของโควิด-19 ยังส่งผลกระทบในหลายครั้งเพิ่มเติม เช่น การระบาดในแคมป์ของนิวคาสเซิล, วิลล่า ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงการเลื่อนเตะในบางวีค กุนซือบางท่านถึงกับใช้ตัวช่วยเสียเปล่าไปในวีคเหล่านั้น
ช่วงท้ายเรายังได้เห็นเรื่องการประท้วงของแฟนบอล ที่ทำให้แมนฯ ยู ต้องเตะ Triple Gameweek ที่ไม่เห็นใน FPL มานานนับสิบปี เป็นสีสันที่แตกต่าง โดยมีเรื่องระยะเวลาที่บีบมากๆ เป็นตัวแปรสำคัญ
โปรแกรมถี่ตามมาด้วยการโรเตชัน ที่เป๊บ และทูเคิลเล่นงานกุนซือแฟนตาซีซะมึนตึ้บ
นอกจากเรื่องโปรแกรมที่มีการปรับเปลี่ยน และเตะกันถี่จนมึนแล้ว การโรเตชันยังเป็นปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องนี้เช่นกัน หลายคนคงปวดหัวกับ เป๊บ, ทูเคิล และอาจจะรวมถึงอาร์เตต้า ในช่วงหลัง เดายากจนเพจทางการแมนฯ ซิตี้ ให้ทาย 11 ตัวจริงเป็นกิจกรรมชิงเสื้อ คิดดูละกัน!
การเตะกันถี่แบบไม่บันยะบันยัง ยังมีส่วนทำให้เกิดอาการบาดเจ็บบ่อยครั้งขึ้น โดยเฉพาะอาการทางกล้ามเนื้อของนักเตะ ที่เกิดเพิ่มมากขึ้นหลายสิบ % จนบางทีมต้องเจอสภาพทีมพิการในบางช่วงของซีซัน จะใช้คำแบบนั้นคงไม่ผิดนัก
VAR และกฎกติกา
ใช้งานเป็นซีซันที่ 2 แต่ VAR กลับมีข้อกังขาบานเบอะกว่าซีซันแรกเพียบ
ซีซันนี้ไม่ใช่ซีซันแรกที่มีการใช้ VAR ในพรีเมียร์ลีก แต่เป็นซีซันที่มีการปรับกฎต่างๆ เยอะแยะจนน่าเวียนหัว โดยเฉพาะการแฮนด์บอล และการล้ำหน้า ซึ่งไม่เพียงแต่ปรับก่อนซีซันจะเริ่ม ยังมีการปรับระหว่างซีซันเตะอีกต่างหาก ปวดหัวกันทั้งคนเชียร์บอล และกุนซือแฟนตาซีเลย
จุดกังขาต่างๆ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเป็นงานหนักอึ้งที่พรีเมียร์ลีกต้องเอาไปปรับปรุงเปลี่ยนแปลง โดยต้องทำให้มันเป็นมาตรฐานเดียวกัน และเกิดความเคลียร์ในการตัดสินให้มากกว่านี้ เพราะแม้จะมี VAR ช่วย แต่มันเป็นเพียงเครื่องมือทางเทคโนโลยี ไม่มีชีวิตจิตใจในการฟันธงตัดสินใจสุดท้าย
ตัวอย่างการตีเส้นที่เป็นประเด็นหลายครั้งหลายหนที่ VAR เข้ามาเกี่ยวข้อง
คนที่ตีเส้น, คนที่ฟันธง ยังคงเป็นผู้ตัดสินที่เป็นคนนี่แหละ ดังนั้นต้องทำให้เข้าใจตรงกันว่ามี VAR แล้วมีประโยชน์ และก่อให้เกิดความยุติธรรมจริงๆ ตามเจตนารมณ์ที่เราหันมาเลือกใช้มันแต่แรก
(ขออนุญาตต่อส่วนที่เหลือในคอมเมนท์)
มิตรรัก นักแฟนตาซี : SS 2 EP 42 บทสรุปซีซัน เข้าเป้า? ใครแชมป์? มีอะไรน่าสนใจบ้าง?