JJNY : เปิดเอกสาร WHO ประเมินซิโนแวค│พบสายพันธุ์แอฟฟริกาใต้เพิ่ม 8 ราย│หนี้ครัวเรือนทะลุ14ล้านล้านบาท│เตียงไอซียูทิพย์!

เปิดเอกสาร WHO ประเมินวัคซีน ซิโนแวค ป้องกันอาการได้ 67% ป้องกันแอทมิท 85%
https://www.matichon.co.th/foreign/news_2739251
 
 
เว็บไซต์องค์การอนามัยโลก เอกสารองค์การอนามัยโลก (WHO) เรื่อง การประเมินหลักฐาน วัคซีน Sinovac สำหรับให้คำแนะนำโดย กลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่ปรึกษาเชิงยุทธศาสตร์ (SAGE) ด้านการฉีดวัคซีน โดยเอกสารดังกล่าวจัดทำโดย กลุ่มคณะทำงาน SAGE เรื่องวัคซีนโควิด-19 เผยแพร่ออกมาตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา
 
ทั้งนี้ผลสรุปการประเมินวัคซีน Sinovac จากหลักฐานข้อมูลต่างๆ SAGE สรุปเอาไว้ว่าวัคซีน Sinovac สามารถ
 
– ป้องกันอาการโควิด-19 ได้ที่ระดับ 67%
 
– ป้องกันการแอดมิดเนื่องจากโควิด-19 ได้ 85%
 
– ป้องกันการเข้า ICU เนื่องจากโควิด-19 ที่ระดับ 89%
 
– ป้องกันการเสียชีวิตเนื่องจากโควิด-19 ที่ระดับ 80%
 
ขณะที่ผลสรุปการประเมินในเอกสารดังกล่าวระบุเอาไว้ว่า
 
SAGE มีความมั่นใจระดับสูงว่าการฉีดวัคซีน Sinovac 2 โดส จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตรวจพบเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มคนวัยผู้ใหญ่อายุ 18-59 ปีได้
 
SAGE มีความมั่นใจระดับปานกลาง ว่าความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงร้ายแรงหลังฉีดวัคซีน 1 หรือ 2 โดสในกลุ่มคนวัยผู้ใหญ่อายุ 18-59 ปี อยู่ในระดับต่ำ
 
SAGE มีความมั่นใจระดับปานกลาง ว่าการฉีดวัคซีน Sinovac 2 โดส จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตรวจพบเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มคนสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป
 
SAGE มีความมั่นใจระดับปานกลาง ว่าการฉีดวัคซีน Sinovac 2 โดส จะมีประสิทธิภาพ กับกลุ่มผู้มีโรคประจำตัว หรือปัญหาสุขภาพที่เพิ่มความเสี่ยงอาการรุนแรงหากติดโควิด-19
 
อย่างไรก็ตามเอกสารการประเมินดังกล่าว ออกเผยแพร่ตั้งแต่เดือนเมษายนและยังไม่ชัดเจนว่า WHO จะอนุมัติให้ใช้วัคซีน Sinovac ใช้เป็นกรณีฉุกเฉิน (EUL/PQ) โดยเอกสารสถานะการขอขึ้นทะเบียนดังกล่าว วัคซีน Sinovac ยังมีสถาน “อยู่ระหว่างกระบวนการ” โดยมีกำหนดพิจารณาตัดสินใจอนุมัติภายในเดือนพฤษภาคม
 
คลิกอ่าน อนามัยโลกรับรองวัคซีนต้านโควิด ‘ซิโนฟาร์ม’
 

 
ด่วน! พบสายพันธุ์แอฟฟริกาใต้ เพิ่ม 8 ราย! กรมวิทย์ฯ ยัน ยังอยู่ในคลัสเตอร์ อ.ตากใบ
https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_2739439
 
เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การตรวจหาสายพันธุ์ของเชื้อไวรัส ต่างจากการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ที่ทราบเพียงว่าติดเชื้อ แต่ระบุสายพันธุ์ไม่ได้ ซึ่งการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัส สามารถดำเนินการได้ 3 ระดับ คือ 

1. การใช้น้ำยาตรวจเฉพาะจุดของไวรัสของสายพันธุ์นั้นๆ 
2. การตรวจชิ้นส่วนหรือบางท่อนของไวรัส(Targeted Sequencing) โดยใช้เครื่องตรวจในห้องปฏิบัติการ(แล็บ)ขนาดใหญ่ รอผล 1-2 วัน 
และ 3. ตรวจจีโนมของไวรัสทั้งตัว(Genome Sequencing) ทำได้เฉพาะแล็บขนาดใหญ่และใช้เวลาหลายวัน
  
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า การตรวจหาสายพันธุ์ไวรัส ด้วยการตรวจจีโนมทั้งตัว ต้องใช้เวลานาน เราจึงตรวจในตัวอย่างเชื้อที่สุ่มมาก่อน และเมื่อพบว่ามีสายพันธุ์ใดก็จะขยายผลตรวจพื้นที่รอบนอกออกไปอีก เพื่อดูว่ามีการกระจายของสายพันธุ์นั้นๆ ไปที่ใดบ้าง โดยหลังจากที่แล็บของโรงพยาบาลรามาธิบดี ตรวจหาเชื้อกลายพันธุ์ในผู้ป่วยโควิด-19 อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ทำให้พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์แอฟริกาใต้ 3 รายตามที่รายงานไปแล้ว กรมวิทยฯ ก็ขอให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 สงขลา เก็บตัวอย่างจากพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เพิ่มเติม
 
ทางศูนย์ฯ เขาส่งมา 18 ตัวอย่าง ซึ่งเป็นตัวอย่างไม่มีคุณภาพ 3 ตัวอย่าง ตรวจได้ 15 ตัวอย่าง พบว่าเป็นสายพันธุ์แอฟริกาใต้ 8 ตัวอย่าง และที่เหลือเป็นสายพันธุ์อังกฤษ โดยเชื้อแอฟริกาใต้ยังอยู่ในพื้นที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส แต่ในนี้มี 2 ตัวอย่างที่เก็บจาก จ.ปัตตานี ซึ่งไม่พบเชื้อแอฟริกาใต้” นพ.ศุภกิจ กล่าว
 
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบรายละเอียด และไทม์ไลน์ของผู้ติดเชื้อสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ที่พบใหม่ 8 ราย เพื่อดูว่ามีความเชื่อมโยงกับ 3 รายก่อนหน้านี้อย่างไร แต่ที่ทราบตอนนี้ คือ ทั้งหมดอยู่ในคลัสเตอร์เดียวกัน ที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส
 
อย่างไรก็ตาม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประสานกับผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพในพื้นที่ ขอให้เก็บเชื้อตัวอย่างจากจังหวัดรอบๆ มาจนถึงอ.หาดใหญ่  จ.สงขลา และส่งมาให้เราตรวจเพิ่มเติม เพื่อแจ้งผลให้ทราบต่อไป


 
หนี้ครัวเรือนทะลุ 14 ล้านล้านบาท สภาพัฒน์คาดปี’64 ก่อหนี้บัตรเครดิตเพิ่มขึ้น
https://www.prachachat.net/finance/news-675559
 
สภาพัฒน์ ชี้ไตรมาส 4 ของปี 2563 หนี้ครัวเรือนไทยทะลุ 14 ล้านล้านบาท สินเชื่อกล่าวถึงพิเศษพุ่ง 6.8% คาดปี’64 ครัวเรือนขาดสภาพคล่องมากขึ้น การก่อหนี้บัตรเครดิต-สินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น
 
วันที่ 24 พฤษภาคม 2564 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า หนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาส 4 ของปี 2563 มีมูลค่า 14.02 ล้านล้านบาท ขยาย 3.9% จาก 4% ในไตรมาสก่อน หรือคิดเป็นสัดส่วน 89.3% ต่อ GDP เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่หดตัว แม้หนี้ครัวเรือนจะขยายตัวในอัตราที่ช้าลง สะท้อนให้เห็นว่าครัวเรือนยังระมัดระวังในการก่อหนี้
 
อย่างไรก็ดี ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนปรับตัวดีขึ้น แต่ยังต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากสัดส่วนสินเชื่อค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน (สินเชื่อกล่าวถึงพิเศษ) ยังอยู่ในระดับสูง โดยในไตรมาส 4 ปี 2563 สัดส่วน NPLs ของสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.84% ลดลงจาก 2.91% ในไตรมาสก่อน เป็นผลจากการดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ในช่วงที่ผ่านมาของสถาบันการเงิน
 
นายดนุชา กล่าวว่า สินเชื่อกล่าวถึงพิเศษยังอยู่ในระดับสูง หรือมีสัดส่วนต่อสินเชื่อรวม 6.8% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน สะท้อนถึงความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนบางกลุ่มด้อยลง และมีโอกาสที่จะกลายเป็นหนี้เสียมากขึ้น อย่างไรก็ดี รัฐบาลอยู่ระหว่างพิจารณามาตรการทางการเงินมาช่วยส่วนนี้เพิ่มเติมด้วย
 
ส่วนแนวโน้มการก่อหนี้ของครัวเรือนในปี 2564 คาดว่าสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP จะยังคงอยู่ในระดับสูง จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวกลับไปในระดับก่อนโควิด-19 ประกอบกับตลาดแรงงานอาจได้รับผลกระทบที่รุนแรงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อรายได้ของแรงงานและทำให้ครัวเรือนประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องมากขึ้น โดยเฉพาะครัวเรือนรายได้น้อย ทำให้ปี 2564 ครัวเรือนจะระมัดระวังการใช้จ่าย โดยเฉพาะการชะลอการซื้อสินค้าในกลุ่มสินค้าคงทน ทำให้ความต้องการสินเชื่อที่อยู่อาศัยและรถยนต์ชะลอตัวลง
 
ขณะที่ความต้องการสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลอาจปรับตัวเพิ่มขึ้น จากปัญหาการขาดสภาพคล่อง รวมทั้งมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับประชาชนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ อาทิ ธนาคารออมสิน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างเหมาะสม ควบคุมดูแลการให้สินเชื่อให้สอดคล้องกับระดับรายได้ รวมทั้งเฝ้าระวังการก่อหนี้นอกระบบโดยเฉพาะกับครัวเรือนผู้มีรายได้น้อย ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ครัวเรือนมีรายได้ และสามารถรักษาระดับการบริโภคไว้ในระดับเดิม
 
อย่างไรก็ดี พบว่าในไตรมาส 1 ของปี 2564 การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ลดลง โดยบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ลดลง 2.8% โดยการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง 4.2% และการบริโภคบุหรี่ลดลง 0.4% ทั้งนี้ ยังต้องเฝ้าระวังการซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้าที่ยังมีการลักลอบจำหน่ายโดยผิดกฎหมายเป็นจำนวนมาก และมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งยังต้องให้ความสำคัญกับการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความตระหนักถึงโทษของบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนนักสูบรุ่นใหม่ที่นิยมสูบบุหรี่ไฟฟ้า
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่