.....เรื่องสั้น........ เรื่อง.......ลังเล........@@ โดย ลุงแผน

กระทู้สนทนา



             

                                                                                       ........( ลังเล )........
 
 
 
 
.........หมู่บ้านปลายนา เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ซึ่งถ้าเริ่มต้นจากร้านค้าของลุงผู้ใหญ่ แล้วขี่รถมอเตอร์ไซค์ตรงไปเรื่อย ๆ จนถึงโรงเรียนซึ่งอยู่ท้ายหมู่บ้าน จะใช้เวลาไม่เกินห้านาที  ช่วงกลางหมู่บ้านจะมีทางแยกขวาและซ้าย แยกขวาแรก ตรงหัวมุมจะเป็นต้นมะขามใหญ่  ซึ่งร้านกาแฟของเจ๊แตงตั้งอยู่ตรงนั้น 
 
         เมื่อเลี้ยวขวาผ่านร้านกาแฟไปจะเห็นบ้าน หรือ กระต๊อบ หลังไม่โตนัก ตั้งอยู่ห่าง ๆ กัน โดยไม่มีรั้วกั้นเป็นเขตอย่างถาวร มีเพียงพืชผักสวนครัวจำพวก ชะอม ต้นมะกรูด พุ่มตะไคร้ หรือ  ขิง ข่า กระชาย ซึ่งแต่ละบ้านพากันปลูกไว้แทนรั้ว ซึ่งสามารถใช้ประกอบอาหาร และแบ่งปันกันไปเมื่อใครต้องการ ส่วนผลไม้เช่น มะม่วง กล้วย มะละกอ นั้นมีให้เห็นแทบทุกบ้าน เมื่อเลยบ้านสองฟากข้างไปสักครู่หนึ่ง บ้านก็จะเริ่มห่างกัน แล้วก็เข้าเขตทุ่งนา 
 
          ถ้าไม่เลี้ยว แล้วเลยแยกขวาหน้าร้านกาแฟไปไม่ไกล จะมีแยกทางซ้ายมือเป็นทางดินเล็ก ๆ ซึ่งมีบ้านคนอยู่เพียงไม่กี่หลัง เป็นป่าโปร่งช่วงต้นทาง แล้วจะเป็นป่าไผ่ สลับกับไม้ยืนต้นนานาพรรณ เต็มเนื้อที่ไปจนสุดเขตหมู่บ้าน 
 
         ป่านี้มีเนื้อที่กว้างพอประมาณ เพียงพอสำหรับการเข้าไปหาของป่าบางชนิดของชาวบ้าน เช่น หน่อไม้ เห็ด และมันป่า ทำให้การเป็นอยู่ของชาวบ้านไม่เดือดร้อนและไม่ต้องดิ้นรนมากเกินพอดี ส่วนสัตว์ป่าบริเวณนี้จะมีแค่สัตว์ตัวเล็ก ๆ จำพวก นก กระรอก กระแต บ่าง และไม่มีใครทำร้ายเจ้าตัวน้อยพวกนี้แต่อย่างใด 
 
          เมื่อชาวบ้านปลายนาไม่นิยมการรังแกสัตว์ ดังนั้น ตั้งแต่ผมมาอยู่ที่นี่ จึงไม่เคยเห็นการละเล่นจำพวก กัดปลา ตีไก่ เหมือนกับบางหมู่บ้านที่เคยพบมา  ความบันเทิงส่วนใหญ่เป็นรูปแบบง่าย ๆ สบาย ๆ คือ ล้อมวงกินเหล้าบนแคร่ใต้ร่มไม้ ร้องรำทำเพลงไปตามประสา จนใกล้ดึกก็แยกย้ายกันไป  หรือตั้งวงหน้าร้านค้าอย่างเช่นลุงมิ่งกับลุงน้อย ซึ่งเป็นขาประจำยืนพื้นเสมอมา 
 
         ส่วนวันเทศกาลสำคัญประจำปี เช่นวันสงกรานต์ ชาวบ้านจะทำกับข้าวและขนมตามที่ตัวเองถนัด แล้วพากันไปทำบุญที่วัด พอพระฉันเสร็จ ชาวบ้านก็นั่งล้อมวง กินข้าวกันไปคุยกันไป เรียบร้อยแล้วก็กลับบ้านใครบ้านมัน ส่วนคนแก่จะอยู่ฟังเทศน์ต่อช่วงบ่าย เป็นความสุขแบบเรียบ ๆ ตามวิถีชาวบ้านซึ่งไม่มีความซับซ้อนใด ๆ
 
 
          ตอนเย็นวันหนึ่ง  หลังระฆังสัญญาณเลิกเรียนดังได้ไม่กี่นาที ผมกำลังรวบรวมการบ้านเด็กบนโต๊ะมาถือไว้เพื่อนำกลับไปตรวจที่บ้านพักครู ก็ได้ยินเสียงเด็กนักเรียนคุยกันเมื่อเดินผ่านหน้าห้องเรียน จับใจความได้ว่า หมู่บ้านเราจะมีงานประจำปี ผมฟังแล้วรู้สึกแปลกใจ เพราะคำว่างานประจำปี ไม่เคยได้ยินมาก่อนในหมู่บ้านเล็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็นที่หมู่บ้านไหน นอกจากจะจัดกันตามตัวอำเภอ หรือไม่ก็ในจังหวัดนู่นเลย
 
          ครู่หนึ่งผ่านไป เมื่อผมทำทุกอย่างเรียบร้อย แล้วลุกขึ้นจากเก้าอี้เตรียมตัวกลับบ้านพัก เสียงรถมอเตอร์ไซค์ลุงน้อยก็วิ่งเข้าประตูรั้วโรงเรียนผ่านสนามบอลมาจอดหน้าอาคารเรียน พร้อมกับเสียงร้องเรียกผมท่ามกลางเสียงท่อไอเสียและกลิ่นควันโชยมาตามลม
 
          “แทร่ดๆๆๆๆๆๆๆ " 

          "ครู ครูครับ ครูมานะอยู่มั้ย ”
 
          ผมเดินได้อีกก้าวหนึ่งก็ออกพ้นประตูออกมาพอดี จึงมองหน้าลุงน้อยแล้วส่งยิ้มให้ พร้อมกับสายตามองเห็นปากลุงขยับคำว่า อ้อ โดยไม่มีเสียงออกมา
 
          “ไปไหนล่ะลุงยังวันอยู่เลย แล้วนี่ลุงมิ่งไม่มาด้วยรึ”
 
          ผมถามออกไปขณะก้าวลงบันไดแล้วเดินเข้าไปหาลุงน้อย ซึ่งกำลังใช้เท้าสองข้างยันพื้น ขยับรถถอยหน้าถอยหลังหันกลับไปทางหน้าโรงเรียน ก่อนหันมาพยักหน้าให้ผมแล้วเอ่ยออกมา
 
          “ไปด้วยกันครู เขาจะมาจัดงานที่บ้านเรา ผู้ใหญ่ให้ครูไปช่วยกันคิดเรื่องเตรียมงาน”
 
          ผมได้ยินแล้วนึกถึงที่เด็กน้อยคุยกัน ซึ่งน่าจะได้ยินมาจากพ่อหรือแม่ที่มารับอีกทีหนึ่ง แต่ความแปลกใจก็ยังคงอยู่อย่างเดิม เพราะทางเข้าหมู่บ้านสี่กิโลกว่านั้น ไกลพอสมควรสำหรับคนจะเข้ามาเที่ยวงาน จึงพูดแบบแบ่งรับแบ่งสู้กับลุงน้อยออกไป
 
          “เอ้า ทำไมไม่ไปหาครูใหญ่เล่าลุง ผมมาใหม่จะไปรู้เรื่องอะไรกับเขาล่ะ”
 
          ผมยืนอยู่ข้างรถมองหน้าลุงซึ่งนั่งคร่อมบนเบาะอย่างสบายใจขณะตอบกลับมา
 
          “ก็ครูใหญ่นั่นแหละ บอกให้มาคุยกับครูมานะ เรื่องในหมู่บ้านพวกผมจัดการกันได้ แต่ผู้ใหญ่ว่าเรื่องผังงาน กับเรื่องจัดนักเรียนอยู่ตามจุด ต้องให้ครูเป็นคนจัดการ”
 
          ผมหันมองไปรอบโรงเรียนซึ่งเด็กเริ่มบางตา ส่วนครูคนอื่นก็จูงรถจักรยานออกมาจากโรงเก็บ แล้วขี่ตามกันออกนอกโรงเรียนไป โดยที่ผมยังไม่ทันได้พูดอะไรกับใคร ผมจึงถอนใจออกมาแล้วเดินนำหน้าลุงน้อยไปทางบ้านพักครู
 
          “ไปก็ไป เดี๋ยวผมเอาสมุดเด็กไปเก็บบนบ้านก่อน วันนี้ให้ทำในห้องกันสามวิชาต้องตรวจให้เสร็จเย็นนี้ พรุ่งนี้จะได้ขึ้นบทใหม่กัน”
 
          ผมพูดเหมือนคุยกับตัวเองขณะก้าวเดินไปทางบ้านพักครู มือก็หอบสมุดการบ้านเด็กไปด้วย ขณะลุงน้อยขี่รถตามมาช้า ๆ และเมื่อถึงหน้าบ้านพัก เด็กและครูคนอื่น ๆ ก็ไม่มีใครเหลืออยู่ในโรงเรียนสักคนเดียว
 
          เมื่อขึ้นไปบนบ้านและวางข้าวของไว้บนโต๊ะเรียบร้อย ผมก็เดินลงบันไดพร้อมกับมองไปยังสนามฟุตบอลของโรงเรียน ซึ่งไม่กว้างยาวเท่าไหร่นัก ส่วนมากเอาไว้ให้เด็กวิ่งเล่นตอนพักกลางวันกับตอนทำกิจกรรม ฟุตบอลนั้นถ้าเล่นกันจริง ๆ วางลูกบอลไว้หน้าโกล์ฝั่งหนึ่ง แล้วออกแรงเตะเบา ๆ ก็ถึงโกล์อีกฝั่งได้อย่างสบาย อีกอย่างหญ้าในสนามก็ไม่ค่อยมีเท่าไร เพราะทั้งนักเรียน ครู และผู้ปกครอง พากันเดินผ่านไปผ่านมา ระหว่างอาคารเรียนกับโรงอาหาร ซึ่งอยู่คนละฟากสนาม จนหญ้าเตียนลงเหลือแต่พื้นดินเป็นส่วนใหญ่เท่านั้นเอง 
 
         ผมนึกในใจว่าถ้าจะจัดงานตรงนี้ แค่ตั้งเต็นท์สามหลังก็น่าจะเต็มพื้นที่แล้ว และริมสนาม จะวางโต๊ะยาวซึ่งนำออกมาจากโรงอาหาร ได้อีกไม่เกินสิบตัว ส่วนจะมีอะไรมาวางแสดงบ้าง ผมยังนึกไม่ออก เพราะว่ายังไม่รู้แนวทางของงานว่าจะจัดในรูปแบบใด
 
          ถ้าจะเป็นการแสดงสินค้าเกษตร ก็แน่นอนว่าจะต้องนำผลิตผลจากการเกษตรมาวางแสดงในเต็นท์ ซึ่งคงหนีไม่พ้น ข้าวและพืชผักผลไม้ ส่วนโต๊ะโดยรอบก็น่าจะเป็นของกิน ทั้งที่เป็นของสดและอาหารซึ่งทำจากผลผลิตนั้น ๆ เช่น ข้าว ข้าวโพด มันเทศ มะม่วง มะละกอ กล้วย 
 
         นึกถึงตรงนี้ผมต้องหยุดความคิดลง เพราะเท่าที่เห็นในหมู่บ้าน ผลผลิตทางการเกษตรนั้น ส่วนใหญ่ปลูกไว้เพื่อกินในครัวเรือน ถ้าจะนำมาออกงานกันจริง ๆ ทั้งหมู่บ้านรวม ๆ กันแล้ว ใช้โต๊ะแค่สองตัวก็น่าจะพอ แต่ถ้าไม่ใช่งานแสดงเกี่ยวกับพืชผักผลไม้ ผมก็ยิ่งนึกไม่ออก ว่าจะเอาอะไรมาวางแสดง ให้สมกับเป็นงานประจำปีได้
 
          ผมก้าวขึ้นนั่งซ้อนท้ายรถพลางขยับตัวให้เข้าที่ ขณะลุงน้อยค่อย ๆ เร่งเครื่องออกจากโรงเรียน เมื่อมองไปตามทาง เด็กน้อยสี่ห้าคนยังคงเดินเห็นหลังไม่ไกล มีเด็กคนเดียวเท่านั้นที่ใส่ชุดนักเรียนครบ รวมทั้งถุงเท้าและรองเท้าผ้าใบ อีกสองคนใส่รองเท้าแตะนอกนั้นเดินเท้าเปล่า พร้อมหยอกล้อ เล่นกันไปอย่างมีความสุข ตามประสาเพื่อนร่วมโรงเรียน และเพื่อนในหมู่บ้านเดียวกัน
 
          ผมมองเด็กคนที่ไม่ได้ใส่รองเท้าแล้วเกิดความรู้สึกบางอย่างขึ้นมา ส่วนเสื้อนักเรียนของเจ้าหนูก็เก่าและใหญ่เกินตัว น่าจะเป็นเสื้อของใครบางคนให้ต่อมาอีกที เพราะสีเริ่มเป็นสีน้ำตาลอ่อน ๆ และขนาดที่ว่าใหญ่นั้น ก็คือยาวลงมาจนคลุมกางเกง ซึ่งกางเกงนั้นน่าจะเป็นกางเกงใส่เล่นมากกว่ากางเกงนักเรียน 
 
         ผมเห็นภาพเหล่านี้จนชินตา เด็กนักเรียนบางคนใส่กางเกงเก่า ๆ ไม่มีตะขอเกาะ ต้องใช้เชือกมัดหูกางเกงด้านหนึ่งไว้กับอีกด้านหนึ่งเพื่อกันมันหลุดลงไป ส่วนเสื้อนั้น บางครั้งเขาก็ใส่เสื้อยืดสำหรับใส่อยู่บ้าน ซึ่งเก่าพอ ๆ กับกางเกง รองเท้านักเรียนกับถุงเท้านั้นไม่ต้องพูดถึง ทั้งโรงเรียนมีเด็กไม่ถึงสิบคนที่ใส่ชุดนักเรียนครบมาโรงเรียน ผมมองเห็นภาพนี้มานานนับปี แต่ความรู้สึกสะท้อนใจเพิ่งเกิดขึ้นในครั้งนี้  ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไรเหมือนกัน 
 
          รถมอเตอร์ไซค์ผ่านกลุ่มเด็กน้อยซึ่งกำลังหัวเราะกันอย่างร่าเริง มีเสียงแว่ว ๆ ว่า สวัสดีครับคุณครู ดังมาจากเด็กคนหนึ่ง ก่อนที่เสียงหัวเราะหยอกล้อกันจะดังต่อไป ผมถอนใจพร้อมกับนึกถึงชีวิตของเด็กพวกนี้ โอกาสของแต่ละคนมองดูแล้วน้อยเต็มที เพราะอาชีพชาวไร่ชาวนาที่ไม่ได้มีเครื่องไม้เครื่องมือทันสมัย และไม่ได้มีที่ทางมากมาย ผลผลิตที่ได้ออกมาก็แค่พอกินในครอบครัว จะเหลือไว้ขาย เพื่อให้ได้เงินมาก ๆ มาซื้อเครื่องอำนวยความสะดวก หรือจับจ่ายอย่างอื่น รวมทั้งส่งลูกหลานให้ได้เรียนในเมือง คงเป็นไปได้ยากพอควร 
 
            ผมหยุดคิดเมื่อรถใกล้ถึงร้านลุงผู้ใหญ่ มองข้ามไหล่ลุงน้อยไปเห็นรถเก๋งรุ่นเก่าคันเล็กสีน้ำเงินซีด จอดอยู่ตรงป่ากล้วยก่อนถึงหน้าร้านหนึ่งคัน เมื่อลุงน้อยเข้าไปจอดริมถนนใกล้กับโต๊ะหินอ่อน ผมจึงเห็นลุงมิ่ง ลุงผู้ใหญ่ และชายกลางคนรูปร่างท้วม ใส่เสื้อเชิ้ตแขนยาวสีขาว  กางเกงขายาวสีกรมท่า สวมเสื้อกั๊กของกรมการปกครองมีเครื่องหมายอยู่ตรงหน้าอกด้านซ้าย และอกด้านขวามีรูปธงชาติ พร้อมกับมีตัวอักษรระบุหน่วยงานอยู่ใต้ธงชาติ ดูท่าทางภูมิฐานเหมือนมาจากหน่วยงานใหญ่ ๆ ในตัวจังหวัดหรืออำเภอ
 
          ลุงผู้ใหญ่ลุกขึ้นแล้วเข้าไปทำงานต่อในร้านเป็นการส่งต่อแขกให้ผม เมื่อผมเดินเข้าไปจึงยกมือไหว้ชายผู้นั้นขณะเสียงลุงมิ่งเอ่ยออกมา 
 
          “อ้อ ครูมาพอดี นี่ครูมานะครับ นี่คุณอนันต์นะครู เขามาจากในจังหวัด บอกมีงบพัฒนามาให้ตามหมู่บ้านเล็ก ๆ เลยปรึกษากันว่าจะจัดงานอะไรกันดีไหม เพราะว่าเงินก้อนไม่ใหญ่มาก จะแจกทุกบ้านก็จะได้คนละไม่เท่าไร”
 
          ลุงมิ่งแนะนำให้รู้จักกันพอเป็นพิธี ก่อนคุณอนันต์ที่ว่าจะมองหน้าผมแล้วส่งยิ้มให้ พลางขยับตัวนิดหนึ่งเมื่อผมนั่งลงตรงข้าม พร้อมกับพูดด้วยเสียงทุ้ม ๆ ออกมา
 
          “ผู้ใหญ่บอกให้ผมปรึกษาคุณครู เพราะผมเห็นว่าหมู่บ้านนี้มีรายได้ต่อครัวเรือนไม่มากเท่าไร เลยเอางบพัฒนามาลงที่นี่  เราจะล้อมรั้วจัดงานให้ชาวบ้านเอาของมาขาย มีลิเก ดนตรี รำวง แล้วเก็บเงินค่าเข้า คิดว่าจะใช้สถานที่ในโรงเรียนดีไหมครู”
 
          เขาพูดจบมองหน้าผมแล้วยิ้มรอคำตอบ ขณะผมนึกในใจถึงความเป็นไปได้เกี่ยวกับสถานที่ในโรงเรียน  และความสะดวกของคนที่จะเข้ามาในหมู่บ้านเพื่อเที่ยวงาน ซึ่งความเป็นไปได้นั้นมีน้อยเกินไป …….
 
 
 
         ( มีต่อครับ )
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่